หลังจากเสาไฟฟ้าพร้อมรูปปั้นกินรี ของ อบต.แห่งหนึ่งใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่จัดซื้อจัดจ้างด้วยเงินหลายร้อยล้านบาท จำนวนอย่างน้อย 6,700 ต้น กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ จนทั้ง ป.ป.ช.และ สตง.ต้องส่งคนมาดูงานในพื้นที่
ก็มีคนแห่แชร์รูป ‘เสาไฟฟ้าประติมากรรม’ ในจังหวัดของตัวเอง แทบจะทั่วเมืองไทย ทั้งเสาไฟฟ้าพร้อมรูปปั้นปลาบึก เครื่องบิน แม่ค้าพายเรือ นักษัตร เรือสุพรรณหงส์ ช้าง ทุเรียน มนุษย์โบราณ กุมารทอง พระอินทร์ พญานาค ฯลฯ แล้วแต่ความครีเอทีฟของผู้บริหารท้องที่นั้นๆ
แต่เราเห็นเสาไฟฟ้าตั้งอยู่โด่เด่ อยากรู้กันไหมว่าใช้เงินกี่บาทในการสร้าง? หรืออยากรู้กันบ้างไหมว่าแถวบ้านของคุณมีเสาไฟฟ้าประติมากรรมตั้งอยู่บ้างไหม?
The MATTER มีเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยหาคำตอบและอยากแนะนำให้ทุกๆ คนไปใช้กัน นั่นคือเว็บไซต์ ACT Ai https://actai.co/ ฐานข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐกว่า 22 ล้านโครงการ ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่มีวิธีใช้ง่ายๆ เหมือนค้นหาข้อมูลต่างๆ ในกูเกิ้ล เช่น ถ้าอยากรู้ราคาของเสาไฟฟ้าประติมากรรมไหน ก็ลองใช้ keyword “เสาไฟฟ้าประติมากรรม” เข้าไปค้น แล้ว filter เงื่อนไขต่างๆ เช่น หน่วยงานจัดซื้อ จังหวัด หรือปีงบประมาณไป
โดยสามารถค้นข้อมูลย้อนหลังได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 หรือตั้งแต่สิบปีก่อนโน่น (แต่ข้อมูลที่สมบูรณ์จะอยู่ระหว่างปีงบประมาณ 2558 – ปัจจุบันนะ)
อย่างไรก็ตาม เท่าที่เราคุยกับทีมงานของ ACT Ai พบว่า ตัวฐานข้อมูลยังมีข้อจำกัด เนื่องจากใช้วิธีดึงชื่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ จากระบบ eGP ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นระบบที่ค่อนข้างเก่า ทำให้การดึงข้อมูลอาจจะช้าเล็กน้อย ประกอบกับชื่อโครงการที่แต่ละหน่วยงานจะไปตั้งกันเอง ทำให้แม้จะเป็นโครงการ ‘เสาไฟฟ้าประติมากรรม’ เหมือนกัน แต่การตั้งชื่ออาจจะเป็น “เสาไฟฟ้าส่องสว่างพร้อมประติมากรรม” “เสาไฟฟ้าแสงสว่างประติมากรรม” “โคมไฟประติมากรรม” “เสาไฟฟ้าสาธารณะแบบประติมากรรม” ซึ่งต้องใช้ keyword ในการค้นหาที่แตกต่างกันไป
(เครื่องหมายต่างๆ จะคล้ายกับการค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ลเลย เช่น ใช้ “ “ คลุมกลุ่มคำที่ต้องการค้นหา ใช้ + ถ้าต้องการค้นหาคำ/กลุ่มคำที่อาจเขียนไม่ติดกัน เป็นต้น)
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องราคาในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ แล้ว ในเว็บไซต์ ACT Ai ยังให้เราดูขั้นตอนการประมูลว่ามีบริษัทไหนเข้าร่วมประมูลบ้าง การเสนอราคาเป็นอย่างไร มีความผิดปกติหรือไม่ (เช่น ชนะประมูลโดยเสนอราคาต่ำกว่าคู่เทียบนิดเดียว) โดยมีการนำข้อมูลจากระบบ DBD ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาเทียบเคียง ทำให้พอเห็นว่า บริษัทไหนๆ มักได้งานจากหน่วยงานใด หรือมักได้งานในพื้นที่ไหนเป็นประจำ เป็นต้น
แม้ ฐานข้อมูลนี้จะยังไม่อาจเรียกได้ว่าสมบูรณ์ 100% แต่ทางทีมงานก็อยากให้ทุกๆ คนมาลองใช้กันดู แล้วฟีดแบ็กไปทางเว็บไซต์ ACT Ai หรือทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้เลย
ทั้งนี้ ทีมงานของ ACT Ai ยังได้พัฒนาโปรเจ็กต์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อสร้างความโปร่งใสอีก 2-3 โครงการ เช่น โครงการติดตามการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 https://covid19.actai.co/ (เปิดใช้แล้ว รออัพเดทข้อมูล) โครงการ CoST Thailand ที่จะให้เราดูโครงการก่อสร้างใกล้ๆ ตัวในรัศมี 20 กิโลเมตร (ทดลองใช้แล้ว จะเปิดเต็มรูปแบบในปี 2565) และโครงการเชื่อมโยงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ กับบริษัทที่อาจเกี่ยวข้องกับเครือญาติของผู้มีอำนาจ ชื่อว่า Corrupt0 (อยู่ระหว่างพัฒนา) เป็นต้น
หนึ่งในวิธีป้องกันคอร์รัปชั่นที่ดีที่สุด ก็คือการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (open data) ให้ได้มากที่สุด และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ ไม่ใช่ปากบอกว่า “โปร่งใส ตรวจสอบได้” แต่พอจะขอดูข้อมูลอะไร ก็ไม่ให้ สร้างขั้นตอนที่ยุ่งยาก อ้างนั่นอ้างนี่เพื่อถ่วงเวลา หรือเพื่อจะไม่เปิดเผย
#Brief #TheMATTER