งาน San Diego Comic-Con ประจำปี ค.ศ. 2019 จบลงไปพร้อมกับเสียง “ว้าว” ของผู้เสพข่าวสารในงาน ทั้งการเปิดตัวซีรีส์ The Witcher ที่ดูดีไม่เบา, Star Trek ที่ตัวละคร Picard จะกลับมาเป็นตัวละครเด่นอีกครั้ง และที่สำคัญที่สุดก็คงไม่พ้นการเปิดเผยรายละเอียดแรกของ Marvel Cinmatic Universe ใน phase 4 ที่แม้ฮีโร่หลายๆ ตัวจะไม่ได้ไปโลดแล่นในจอภาพยนตร์ แต่จะขอผันตัวลงไปเล่นซีรีส์บ้าง
และปัญหาเจ้ากรรมที่ชวนให้คิด คงจะเป็นซีรีส์ทั้งหลายที่เราพูดถึงไปนั่นแหละ เพราะเรื่องราวเหล่านี้ ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 นี้ แทบทุกเรื่องอาจจะไม่ได้ฉายอยู่ใน Netflix ที่เดียวอีกแล้ว จริงอยู่ว่า The Witcher จะต้องฉายผ่านทางเจ้าของเงินทุนอย่าง Netflix แน่นอน แต่ซีรีส์อื่นๆ อย่างเช่น Star Trek: Picard จะขยับไปฉายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Amazon Prime Video ทั้งที่ภาคก่อนหน้านี้ก็ฉายบน Netflix ส่วนฝั่งของ MCU นั้นมีการประกาศนานแล้วว่า ทั้งหนังและซีรีส์ใหม่ๆ จะโยกไปให้บริการบน Disney+ อย่างแน่นอน
Netflix กำลังจะโดนโค่นลงจากบัลลังก์หรือเปล่า!? แล้วคนดูแบบเราจะทำตัวอย่างไรดี?
เกิดอะไรขึ้นกับ Netflix ช่วงนี้
ก่อนจะไปมุมอื่นๆ เราอาจจะต้องโฟกัสมายัง Netflix ที่เป็นเหมือนตัวละครหลักของเรื่องราวในครั้งนี้ เพราะข่าวที่เกี่ยวพันกับซีรีส์หรือหนัง มักจะมีการแย็บเบาๆ ตอนท้ายว่า ‘กระเทือนถึง Netflix แน่นอน’
ที่มีการอ้างถึง Netflix กันแบบชัดแจ้งนี้ ก็เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการปรับราคาค่าบริการในพื้นที่หลายแห่ง ทำให้มีหลายคนตัดสินใจเลือกใช้บริการรับชมรายการออนไลน์เจ้านี้ไป โดยเฉพาะในฝั่งอเมริกาที่เป็นบ้านเกิด กับฝั่งยุโรป ซึ่งส่วนนี้ทาง Netflix เคยแจ้งกับผู้ถือหุ้นว่า “เป็นการคาดการณ์ผิดพลาดในทุกพื้นที่บริการ แต่เกิดการผิดคาดมากในพื้นที่ซึ่งมีการเพิ่มค่าบริการ”
ซึ่งจริงๆ แล้วเดิมทีแผนการขึ้นราคานี้ถูกปรับแผนมาเพื่อหาทางทำกำไรให้มากขึ้นจากช่วงไตรมาสสี่ของปี ค.ศ. 2018 ที่ยอดผู้ใช้งาน Netflix มีเพิ่มขึ้นจริง แต่ยอดกำไรลดลง เพราะไปลงทุนกับการสร้างผลงานที่จะฉายบนแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น
ถึงเราจะบอกว่ามีเรื่องร้ายๆ เยอะ แต่ตอนนี้ Netflix ก็ยังถือว่าเป็นผู้นำของแพลตฟอร์มรับชมรายการออนไลน์อยู่ดี และถึงยอดผู้ใช้งานในอเมริกาและยุโรปจะลดลงไปจากการขึ้นราคาค่าบริการ แต่ในฝั่งทวีปเอเซียที่มีจำนวนประชากรอยู่เยอะกว่ามากนั้น ทาง Netflix กลับเลือกที่จะเดินแผนการสร้างแพ็กเกจรับชมรายการใหม่ที่มีราคาถูกลง ซึ่งเหมาะกับบางประเทศที่สามารถหาซื้อสมาร์ทโฟนได้ในราคาถูก
อีกส่วนที่เป็นการพยายามซื้อใจผู้ใช้บริการในฝั่งเอเซีย ก็คือ การทำเนื้อหาเฉพาะถิ่น อย่างการพากย์เสียงภาษาประจำชาติลงไป หรืออย่างในกรณีของประเทศไทย ก็มีการนำเอาซีรีส์ที่เคยฉายเฉพาะบน Netflix ไปลองฉายบนโทรทัศน์ หรือทำการซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยมาฉายหลังออกจากโรงแบบแวบเดียว ทำให้กลุ่มคนที่ไม่เคยคิดจะดู Netflix ก็เริ่มสนใจที่จะเสียเงินให้ผู้ใช้บริการเจ้านี้กันแล้ว
และนั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ชมในพื้นที่ใดของโลก ปัจจัยที่จะทำให้คนดูที่ยอมชำระค่าบริการก็คือตัว ‘คอนเทนต์’ หรือเนื้อหา ที่จะมาฉายบทแพลตฟอร์มต่างๆ มีความน่าสนใจแค่ไหน และนั่นทำให้เราจะต้องไปดูกันว่าเนื้อหาของผู้ให้บริการรับชมรายการแต่ละเจ้ามีอะไรอยู่ในมือกันบ้าง
Netflix กับ คู่แข่งทั้งเก่า-ใหม่ และคอนเทนต์ทั้งหลายของพวกเขา
ในส่วนนี้จะขอพูดถึงคอนเทนต์ที่อยู่ในมือของ Netflix กันก่อน เพราะเดิมทีจุดแข็งดั้งเดิมของ Netflix คือการที่เนื้อหาทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี มีรางวัลติดตัวมาฉายในที่เดียวกันอย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี แต่เมื่อเริ่มมีคู่แข่งเจ้าใหญ่ๆ กระโดดเข้ามาแข่งขัน ทาง Netflix ก็ไม่ได้ชะล่าใจ และเริ่มทำการซื้อสิทธิ์ขาดในการฉายมาตั้งแต่ปี 2013 ก่อนที่จะพัฒนาตัวเองเป็นผู้ร่วมลงทุนในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ของตัวเองไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ สารคดี อนิเมชั่น ไปจนถึงภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ขนาดยาว
แต่ถึงจะมีคอนเทนต์จำนวนมากอยู่ในมือ และหลายเรื่องก็เป็นที่นิยมอย่าง Stranger Things, Orange Is The New Black ภาพยนตร์อย่าง Roma, Bird Box หรือสารคดีแบบ The Great Hack, Evil Genius แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีคอนเทนต์อีกก้อนหนึ่งของทาง Netflix ที่ถูกผู้ชมมองว่า เนื้อหาที่มีนั้นไม่ได้ดีมากพอจะรับชมเท่าใดนัก หรือต่อให้เป็นรายการที่ฉายมาเป็นเวลานาน ก็เกิดเหตุฟอร์มตกไม่ชวนตามให้ดูต่อ เลยทำให้มีคนเริ่มเหล่มองไปยังคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่กำลังจะมาเปิดให้บริการเร็วๆ นี้
และคู่แข่งรายสำคัญของ Netflix ที่ทำให้ผู้บริโภคใจสั่นที่สุดก็คงไม่พ้น Disney+ ที่มีเจ้าพ่อคอนเทนต์อย่างดิสนีย์เป็นเจ้าของ ซึ่งทางดิสนีย์ประกาศมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้แล้วว่าพวกเขาจะทำการดึงเอาคอนเทนต์ออกจากทาง Netflix เพื่อมาลงในแพลตฟอร์มของตัวเอง ความจริงแค่ประกาศว่าจะดึงเอาภาพยนตร์ Star Wars กับภาพยนตร์ของทาง Marvel Cinematic Universe และภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Walt Disney Animation Studios ไหนจะ Pixar รวมถึงคอนเทนต์ส่วนหนึ่งจากทาง 20th Century Fox ที่ดิสนีย์ไปซื้อกิจการมา ก็มีแรงจูงใจมากพอให้คนดูเตรียมใช้บริการของแอพพลิเคชั่นตัวนี้ ทางดิสนีย์ยังสมทบมาด้วยว่า ตัวเนื้อหาสารคดีจาก National Geographic ก็จะออกฉายบนแอพฯ ดังกล่าวด้วย
ดิสนีย์ไม่ได้มีบริการรับชมรายการออนไลน์แค่ Disney+ เท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่าดิสนีย์ยังเป็นเจ้าของหุ้นกว่า 67% ของ Hulu บริการรับชมรายการออนไลน์อีกเจ้าหนึ่งที่ทำตลาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2007 ที่เป็นบ้านของคอนเทนต์ซึ่งหลายคนสนใจอย่างเช่น The Handmaid’s Tale ซีรีส์แนวดิสโทเปียที่คว้ารางวัลมาหลายเวที หรือ The Castle Rock ซีรีส์แนวลึกลับเขย่าขวัญที่เอาตัวละครและองก์ประกอบจากนิยายของสตีเฟน คิง หลายๆ ตัวมาเผชิญหน้ากันในเมืองแคสเทิลร็อก
หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมดิสนีย์ไม่ควบบริการรับชมรายการออนไลน์ทั้งสองตัวให้เป็นตัวเดียวกันไปเลย นั่นก็เพราะดิสนีย์ต้องการให้ฝั่ง Disney+ เป็นบริการที่ปลอดภัยต่อครอบครัว ส่วน Hulu นั้นจะมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า และทางดิสนีย์ยังเป็นผู้ให้บริการ ESPN+ บริการรับชมรายการออนไลน์ไว้สำหรับคอกีฬาทั้งหลายอีกด้วย แต่ ณ เวลานี้ ทางฝั่ง Hulu กับ ESPN+ นั้นยังไม่มีแผนที่จะเปิดให้บริการทั่วโลก เหมือนกับทาง Disney+ ที่ดิสนีย์ออกตัวแต่เริ่มว่าจะเปิดให้บริการทุกภูมิภาคทั่วโลก
มากันที่ HBO Max บริการสตรีมมิ่งอีกหนึ่งเจ้าที่ยังไม่เปิดให้บริการ แต่ประกาศไลน์อัพคอนเทนต์ที่ดูแล้วแข็งปั๋งในแทบจะทุกฝั่ง เพราะทาง WarnerMedia ต้องการใช้แบรนด์ HBO ที่คนจำได้อยู่แล้วในการทำตลาดบริการรับชมรายการออนไลน์ที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ตัวคอนเทนต์จะมีรายการจากทาง HBO (รวมถึงภาพยนตร์ของทาง 20th Century Fox ที่มีการเซ็นสัญญากันไว้ก่อนที่ดิสนีย์จะเข้าซื้อ) เนื้อหาจากฝั่ง New Line Cinema แล้วก็ยังมีรายการจากทาง The CW อย่าง The 100, Super Natural, ซีรีส์ของ DC (Arrow, The Flash, Supergirl ฯลฯ) รวมถึงเนื้อหาจากทาง Warner Media และ Warner Brothers ซึ่งมีคอนเทนต์ยอดฮิตในมือหลายเรื่อง
เรื่องหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อ Netflix โดยตรงก็คือเรื่อง Friends ที่มีกำหนดการจะไปฉายบน HBO Max ในปี 2020 และน่าจะเป็นผลกระทบไม่น้อยเพราะตามสถิติแล้ว ซีรีส์ซิทคอมเรื่องนี้มีผู้ชมมากเป็นอันดับสองของรายการทั้งหมดบน Netflix เสียด้วย
นอกจากนี้ Warner Media และ AT&T ที่เป็นเจ้าของ มีบริษัทแนวสื่อบันเทิงในมืออยู่มาก เลยทำให้มีการดึงเนื้อหาจากบริษัทในเครืออย่าง Cartoon Network ที่เน้นการ์ตูนฝรั่ง กับ Crunchyroll ที่ถนัดเรื่องการ์ตูนจากญี่ปุ่น เข้ามาฉายบนแอพพลิเคชั่นตัวนี้ด้วย และถ้ามองไปยังคอนเทนต์ที่พัฒนาเพื่อฉายเฉพาะ HBO Max ก็มีการสร้างซีรีส์ Dune ที่จะเป็นภาคคู่ขนานกับภาพยนตร์ที่มีกำหนดฉายในปี พ.ศ. 2020 กับ Gossip Girl ฉบับรีบูตรอเข้าฉายอยู่ รวมถึงยังมีความพยายามจะนำเอาการถ่ายทอดสดรายการกีฬาลงบนแพลตฟอร์มตัวนี้ด้วย
แม้ว่าจะยังไม่มีการระบุชัดว่า HBO Max จะให้บริการทั่วโลก เหมือนกับฝั่ง Netflix กับ Disney+ แต่จากการประกาศไลน์อัพก็มากพอจะทำให้ผู้ชมต้องเหลียวมามองบริการเจ้านี้อย่างละสายตาไม่ลง
Amazon Prime Video เป็นอีกบริการรับชมรายการออนไลน์เจ้าสำคัญที่อยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2006 แต่เพิ่งขยับมาเปิดให้บริการทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2016 นี้เอง แต่ที่ดูเงียบเหงาในประเทศไทยไปสักหน่อยก็อาจจะเป็นเพราะบริการรับชมรายการเจ้านี้ยังไม่มีอะไรซัพพอร์ตผู้ชมชาวไทยโดยตรง ถึงอย่างนั้นทาง Amazon ก็เคยออกมาเปิดเผยยอดตัวเลขผู้ชมในช่วงปี พ.ศ. 2018 ว่ามีผู้ใช้บริการกว่า 100 ล้านไอดีแล้ว
รายการที่โดดเด่นของบริการรับชมรายการออนไลน์นี้ ก็คือ The Grand Tour ที่มี Jeremy Clarkson, Richard Hammond และ James May สามอดีตพิธีกรจากรายการ Top Gear ออกมาโลดแล่นในรายการของตัวเองที่ยังเกี่ยวกับรถยนต์แต่ก็มีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หรือ Good Omens ซีรีส์แนวตลกประชดประชันเล่าเรื่องของเทวดากับปิศาจผู้ชื่นชอบวิถีชีวิตของมนุษย์ ที่พยายามจะหาทางเลื่อนวันทำลายล้างโลกออกไปแทนเสียอย่างนั้น
และเมื่อไม่นานนี้ทาง Amazon ก็ได้เตรียมดึงดูดลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วยการประกาศสร้างซีรีส์ใหม่อย่าง The Lord of the Rings ที่ ณเวลานี้มีการเปิดเผยว่าจะเป็นซีรีส์ให้ติดตามกันหลายซีซั่น แต่ก็คงต้องดูด้วยว่า Amazon จะขยับเกมรุกเพื่อตีตลาดท้องถิ่นเอเซียแบบจำเพาะในแต่ละประเทศหรือไม่
บริษัทใหญ่อีกเจ้าอย่าง NBCUniversal ก็ประกาศว่าจะดึงเอา The Office ที่ถือว่าเป็นรายการยอดนิยมออกจากทาง Netflix เพื่อไปลงในบริการของพวกเขาเอง แต่ยังไม่มีการแจ้งว่า แพลตฟอร์มที่จะเปิดตัวในช่วงปี พ.ศ. 2021 ของพวกเขาจะเอารายการอะไรออกจาก Netflix ไปบ้าง
และต้องอย่าลืมบริการรับชมรายการของ Apple TV+ ที่ทางแอปเปิลได้มือโปรในการสร้างคอนเทนต์อย่าง Oprah Winfrey, Steven Spielberg, Jennifer Aniston, Reese Witherspoon, Octavia Spencer, J.J. Abrams, Jason Momoa, M. Night Shyamalan และ Jon M. Chu มาสร้างรายการให้ ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ได้แยกเป็นแพลตฟอร์มใหม่ แต่ก็น่าจะดึงดูดคนไปใช้บริการของแอปเปิลเพิ่มได้พอสมควร ยังไม่รวมว่าทางแอปเปิลก็พัฒนา Apple TV Channels ให้สามารถรับชมคอนเทนต์จากทาง HBO, Hulu, Amazon ได้ด้วยอีกนะ
และอย่าลืมว่าในพื้นที่แต่ละประเทศก็จะมีผู้ให้บริการรับชมรายการออนไลน์ท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งบางเจ้าก็ใช้วิธีการเปิดให้รับชมในราคาต่ำมากๆ หรือขอให้เป็นสมาชิกของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ไม่ก็อินเทอร์เน็ต ก็สามารถรับชมรายการบนแพลตฟอร์มท้องถิ่นได้แล้ว
แล้วคนดูแบบเราควรจะเปย์ให้ใครดี
ถ้าจะตอบคำตอบนี้แบบกำปั้นทุบดิน ก็คงต้องบอกว่า ‘ไลฟ์สไตล์คุณสอดคล้องกับบริการไหนมากที่สุด ก็ใช้บริการเจ้านั้น’
แต่ถ้าให้ระบุกันสักหน่อย ณ ตอนนี้ ก็คงต้องบอกว่า สำหรับปี ค.ศ. 2019 นั้น Netflix จะยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับหลายๆ คนเพราะรายการต่างๆ ยังมีให้รับชมอยู่มากนั่นเอง และด้วยการทำตลาดที่เอาใจคนท้องถิ่น ทั้งการนำเอาหนังดังในประเทศต่างๆ มาลงฉายบนแพลตฟอร์ม หรือการลงคำแปลไม่ก็เสียงพากย์ในภาษาถิ่นที่มีการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ถ้านับความคุ้มค่า Netflix ก็ยังจะเป็นตัวเลือกที่ดีแน่นอน
แต่พอเข้าปี ค.ศ. 2020 แล้ว อาจจะต้องแยกกันสักนิดว่าคุณแฟนของซีรีส์อะไรบ้าง เพราะถ้าคุณเป็นแฟนหนังดิสนีย์กับ Marvel รวมถึงยังอินกับ MCU ก็น่าจะเป็นการดีกว่าที่คุณจะใช้บริการของ Disney+ ซึ่งจะยกเอาซีรีส์เหล่านี้ไปฉายทั้งหมด รวมถึงมีซีรีส์ใหม่เฉพาะแพลตฟอร์มรอฉายอยู่อีกหลายเรื่อง และจากการทำตลาดของดิสนีย์ก็ทำให้เราคาดไว้ว่าแพลตฟอร์มเจ้านี้จะมีบริการภาษาไทยแน่นอน แต่อาจจะไม่ได้มาพร้อมกับการเปิดตัวเลย
ถ้าชื่นชอบอะไรที่หลากหลาย HBO Max ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ อย่างที่เรากล่าวไปว่าคอนเทนต์ของทาง WarnerMedia ค่อนข้างจะกว้าง สำหรับชาวไทยก็อาจจะลุ้นแค่ว่า แพลตฟอร์มตัวนี้จะมาให้บริการในบ้านเราพร้อมกับมีคำแปลภาษาไทยตามมาด้วยหรือไม่ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่แพลตฟอร์มตัวนี้ตกหล่นไปก็จะเป็นตัวภาพยนตร์ท้องถิ่นที่อาจจะต้องรอกันอีกระยะใหญ่ถึงจะมีให้ชมกัน
ฝั่ง Hulu อาจจะกินเงินคนไทยยากสักหน่อยเพราะยังไม่มีการทำตลาดต่างประเทศแบบชัดเจน ส่วน Amazon Prime Video ก็ยังไม่ขยับตลาดในไทยแบบจริงจัง แม้ว่าจะมีคำแปลภาษาอังกฤษเกือบทุกเรื่อง แต่ย่อมไปสู่มวลชนที่อยากได้คำแปลภาษาไทยได้ยากสักหน่อย
และอีกอันที่เราคิดว่าอาจจะต้องใช้เป็นตัวประเมินว่าควรจะจ่ายเงินให้แพลตฟอร์มใด นอกจากเงินทุนในกระเป๋าก็คงจะเป็นการที่ว่าเราจะมีเวลาดูรายการทั้งหมดหรือไม่เสียมากกว่า!
อ้างอิงข้อมูลจาก