อย่านะ อย่าคิดว่ามันจบแล้ว อย่าคิดว่าร่างกฎหมายนี้ตายไปแล้ว เพราะจริงๆ มันยังไม่จบ แค่รอเวลากลับมาใหม่เท่านั้น
เรากำลังพูดถึง ‘ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ’ ซึ่งที่ประชุม ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564 และส่งให้รัฐสภาพิจารณาต่อ แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก ทั้งจากแคมเปญ #ไม่เอาพรบข้อมูลข่าวสาร ของภาคีนักเรียนสื่อ เพราะมองว่าจะออกมา ‘ปิดหูปิดตาประชาชน’ จากสารพัดข้อห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจากกฎหมายเดิม แถมยังกำหนดอัตราโทษผู้ฝ่าฝืนไว้สูงถึงจำคุก 10 ปี ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 18,000 รายชื่อ ขณะที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกแถลงการณ์ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จะทำให้ความโปร่งใสของภาครัฐเลวร้ายลงกว่าเดิม ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และแย้งกับแผนปฏิรูปประเทศ
จนที่สุด รัฐบาลก็ยอมถอย มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ให้ถอนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ กลับจากรัฐสภา เพื่อมาทบทวน โดยอ้างเหตุผลหลักจากกรณีที่ ACT ออกแถลงการณ์คัดค้าน
วันที่ 1 ก.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ว่าจะเดินต่อไปอย่างไรดี โดยมีอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ(สขร.), ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกฯ, มงคลชัย สมอุดร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ และตัวแทนจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เข้าร่วมด้วย
ผลสรุปก็คือ จะนำข้อทักท้วงต่างๆ ส่งไปให้คณะอนุกรรมการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการและอนุบัญญัติ ของ สขร. ซึ่งมี นันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประธาน (แต่งตั้งโดยคำสั่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารที่ 3/2563) พิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และให้ส่งกลับมา ‘โดยเร็ว’ แม้ไม่ได้ระบุกรอบเวลาว่าต้องภายในเมื่อใด
ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกฯ กล่าวกับ The MATTER ว่า ในการประชุมเพื่อทบทวนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่วิษณุเป็นประธาน ในวันที่ 1 ก.ค.2564 ไม่ได้คุยลงรายละเอียดเป็นรายมาตราว่าจะต้องปรับแก้ไขอะไรบ้าง เพียงแต่คุยในภาพรวมว่าร่างกฎหมายนี้ถูกคัดค้านเรื่องอะไร ก่อนจะมีมติให้ส่งไปให้คณะอนุกรรมการยกร่างฯ ใน สขร. พิจารณาปรับปรุงแก้ไข และให้ส่งกลับคืนมาโดยเร็ว ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขเนื้อหาของร่างกฎหมายจนเปลี่ยนไปจากเดิม ก็อาจจะต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ก่อนจะส่งไปที่รัฐสภา
ปลัดสำนักนายกฯ ยังบอกด้วยว่า ความจริงร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาแล้วหลายครั้ง ก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564 “ตอนแรกจึงคิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว” แต่ในเมื่อผ่าน ครม.แล้วมีเสียงคัดค้าน เราก็ยินดีนำข้อสังเกตเพิ่มเติมนั้นๆ มาปรับปรุงแก้ไข
ด้าน มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวกับ The MATTER ว่า การประชุมวันนั้น คุยกันในภาพรวมว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงจะต้องรับฟังเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนด้วย
มานะมองว่า การแก้ไขร่างกฎหมายนี้จะต้องพิจารณาเรื่องหลักๆ ใน 3 ประเด็น
1.) เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ vs การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล/ข้อมูลความมั่นคง
2.) มาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูล ทั้งเรื่องการเปิดเผยบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ การรับผิดของเจ้าหน้าที่กรณีเปิดเผย-กรณีไม่เปิดเผย และการให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญในกรณีเร่งด่วน
3.) หลักการเรื่องประโยชน์สาธารณะ ที่ต้องเหนือกว่า ประโยชน์ของราชการ/ส่วนบุคคล
มานะให้ข้อมูลตรงกับธีรภัทรว่า ที่ประชุมซึ่งวิษณุเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564 กำหนดให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายนี้ ‘โดยเร็ว’ เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศที่ค้างคามานาน รวมถึงในปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และรอบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาอยู่แล้ว
สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯฉบับประยุทธ์ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติเคยไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นการรวม 2 กฎหมายคือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เดิม ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2540 (ซึ่งที่เน้นรับรองสิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ) กับร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับราชการ (ซึ่งว่าด้วยการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ) เข้าด้วยกัน “เพื่อไม่ให้มีกฎหมายมากเกินจำเป็น” โดย กมธ.บางคนตั้งข้อสังเกตกับ The MATTER ว่า เป็นการรวมกฎหมายที่ประหลาด เพราะทำให้กฎหมายที่ควรว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูล (open data) มีหลักการบิดเบี้ยว และไปเน้นเนื้อหาที่ว่าด้วยการปกปิดข้อมูลของราชการมากกว่าการเปิดเผย
พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ของไทย เคยถูกยกย่องว่าดีที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ตอนออกมาในปี 2540 แต่ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษถูกปรับปรุงแก้ไขน้อยมาก จนทำให้หน่วยงานของรัฐใช้ช่องโหว่ ‘ไม่เปิดเผยข้อมูล’ เช่นที่ The MATTER เคยขอข้อมูลผลสอบคดีนาฬิกาหรูจาก ป.ป.ช. หรือขอรายชื่อทหารเกษียณแต่ยังอยู่ในบ้านหลวงจากกองทัพบก ที่ปัจจุบันทั้ง 2 หน่วยงานก็ใช้สารพัดข้ออ้าง ยังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้กับเรา
ในขณะที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯฉบับประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำให้การ open data ดีขึ้น เพราะกำหนดข้อมูลข่าวสาร ‘ห้ามเปิดเผย’ ไว้หลายสิบรายการ และบอกว่า ใครฝ่าฝืนจะถูกจำคุก 10 ปี
เรื่องนี้จึงยังไม่จบ ยังต้องติดตามกันต่อไป
#Brief #TheMATTER