เรามีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแค่ไหนกันนะ?
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิทธิสำหรับประชาชน เพื่อให้เราทุกคนสามารถตรวจสอบการทำงานของราชการและประเด็นต่างๆ ได้
แต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. อันเป็นฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยตอนนี้ กำลังเตรียมส่งให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
แม้ว่าจะยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับเต็ม แต่รายละเอียดจากมติ ครม.ที่ออกมานี้ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นที่จับตามองกันอยู่หลายประการ ดังนี้
ข้อ 8 กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัยจะเปิดเผยไม่ได้
ข้อ 9 กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลและข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดจะเปิดเผยไม่ได้
ข้อ 11 กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการเงินการคลังของประเทศ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้
จากประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสถกเถียงว่า ร่างกฎหมายที่ออกมาใหม่นี้อาจเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ยิ่งกว่านั้น ยังขยายไปถึงขั้นที่ว่า ต้องตีความเจตนาของผู้ได้รับข้อมูลด้วยว่าจะเอาไปใช้อย่างไร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐและสถาบันกษัตริย์หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่คนพูดถึง ข้อ 10 ที่ระบุว่า กำหนดให้การพิจารณาคดีในศาลในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ และห้ามเปิดเผยเนื้อหาสาระของข้อมูลและวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในคำพิพากษาหรือคำสั่ง
และข้อ 12 ที่ระบุว่า การพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผยในกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย และในกรณีข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหาร และการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลและข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด จะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นการลับ ส่วนการพิจารณาที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผยตามมาตรา 15 ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิให้ข้อมูลข่าวสารนั้นเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดที่ไม่จำเป็นแก่การพิจารณา
The MATTER ได้สอบถาม สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระถึงประเด็นดังกล่าว โดย อ.สฤณี ตั้งข้อกังวลถึงร่างกฎหมายฉบับใหม่อยู่ 3 ประการ คือ
ประการแรก สฤณีเล่าถึงข้อ 14 ขอมติ ครม. ที่ระบุว่า “กำหนดให้โอนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เฉพาะที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งการพิจารณาเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ย การสั่งลงโทษปรับทางปกครอง และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารดังกล่าว มาเป็นของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการหรือคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้วแต่กรณี”
สฤณีเล่าว่า เดิมทีที่เรามี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปี 40 เรายังไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ตอนนี้เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว แม้ว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกเลื่อนการบังคับใช้ไปถึงพฤษภาคมปีนี้ ร่างกฎหมายนี้ไปอ้างถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยบอกว่า อำนาจหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของรัฐที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ ให้ดึงออกมาจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เอามาโยนไว้ให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารแทน
สฤณี กล่าวว่า นี่เป็นความลักลั่นของกฎหมายฉบับใหม่ เพราะเจตนาของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่การมาของกฎหมายฉบับนี้ กลับมาก้าวก่าย พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยการลิดรอนอำนาจของคณะกรรมการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แล้วก็เอาอำนาจมาโปะให้กับคณะกรรมการตามกฎหมายข้อมูลข่าวสาร โดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นข้อมูลของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“พูดง่ายๆ เหมือนไปลดอำนาจของคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่ตอนที่ร่างกฎหมายนี้มันก็ผ่านการถกเถียงกันมาเยอะแล้ว ระหว่างข้อมูลที่อยู่กับรัฐ กับเอกชนอะไรต่างๆ มันจบไปแล้วว่า ต้องให้มันมีมาตรฐานเดียวกันในการคุ้มครอง ไม่ว่าข้อมูลนี้จะอยู่ที่ไหน แต่เหมือนกับว่า ใครก็ตามที่ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ไม่ได้ใส่ใจในข้อถกเถียงซึ่งมีข้อสรุปแล้วเหล่านั้น แล้วกลับไปดึงออกมา แน่นอน มันจะทำให้การคุ้มครองข้อมูลลำบากและลักลั่นมาก”
“สมมติเราไปโรงพยาบาล การดูแลคุ้มครองข้อมูลเราระหว่างเราไปโรงพยาบาลเอกชน อันนี้เขาจะทำตามข้อมูลส่วนบุคคล แต่ว่าถ้าเป็น รพ.รัฐ เขาอาจจะอ้างว่าต้องทำตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ ซึ่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการมันไม่ได้ตั้งตนมาด้วยการ ‘คุ้มครอง’ มันตั้งใจจะให้ ‘เปิดเผย’ ข้อมูลสาธารณะ คือมันตีกันเองอยู่แล้วในทางหลักการ เพราะฉะนั้น อันนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่ตลกมากและมันก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น”
ประการที่สอง ขอบเขตหรือเหตุผลที่จะไม่เปิดเผยข้อมูล ตามเดิมในหลักการและบทบัญญัติของกฎหมายข้อมูลข่าวสาร มีการให้เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจเพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการทำหน้าที่ของหน่วยงาน ประโยชน์ของสาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องได้
“พูดง่ายๆ คือให้คุณชั่งน้ำหนักเอา ถ้าคิดว่าประโยชน์สาธารณะมันสูงกว่าประโยชน์เอกชน กรณีนั้นคุณก็ตัดสินให้เปิดได้ ไม่จำเป็นต้องปิด มันเปิดช่องให้อยู่ เพราะงั้นก็รวมไปถึงข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ แล้วถ้าเกิดว่า หน่วยงานเขาชั่งน้ำหนัแล้วตัดสินว่า ไม่ควรเปิด คนที่ร้องขอข้อมูลก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ เพราะถ้าคุณจะไม่ให้ข้อมูล ก็ต้องเขียนอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน”
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่นี้ ยังกล่าวถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจากกฎหมายฉบับเก่า ระบุไว้ว่า ข้อมูลที่ถ้าเปิดเผยแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยมิได้ แต่สฤณีกล่าวว่า ในกฎหมายฉบับใหม่นี้ กลับเขียนไปไกลกว่านั้น โดยระบุว่า ถ้าเกิดเปิดเผยแล้ว ‘อาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์’ จะเปิดเผยมิได้ ซึ่งถือเป็นการจินตนาการล่วงหน้าไปว่า ข้อมูลเหล่านั้นอาจมีคนเอาไปทำอะไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่า เป็นการสร้างความเสียหาย
“คำถามก็คือว่า มันมีข้อมูลอะไรบ้างล่ะ ที่เราจะมั่นใจได้ว่า ไม่มีทางที่จะเอาไปใช้ให้เกิดความเสียหาย”
สฤณีกล่าวว่า ในความเป็นไปได้ที่แย่ที่สุดคือ เขาจะตีความว่า ข้อมูลทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร อาจนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ทั้งสิ้น ดังนั้น ก็ไม่เปิดเผย โดยไม่ได้พูดถึงตัวข้อมูลด้วยซ้ำว่า ตัวข้อมูลอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แต่มันถูกนำมาขยายว่า อาจนำไปใช้ในทางที่ก่อความเสียหาย
“สมมติกฎหมายไม่ได้ห้ามเราซื้อดินสอ แม้ว่าเราอาจจะเอาดินสอไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ เช่น เอาดินสอไปทิ่มตาเพื่อน แต่ถ้าเราแก้กฎหมายใหม่ เราบอกว่า เราไม่ได้ห้ามการขายอาวุธนะ เราห้ามขายสิ่งใดก็ตามที่อาจนำไปใช้ในทางที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น สุดท้ายแล้ว ถ้าเราสร้างสรรค์มากๆ อะไรก็ทำให้คนอื่นบาดเจ็บได้ทั้งนั้นแหละ อย่างสมมติ ซื้อกระดาษมา 10 รีม คุณทุ่มใส่เพื่อนเขาก็บาดเจ็บได้ เพราะงั้น อันนี้เป็นการเขียนกฎหมายที่แย่มาก เป็นการเขียนที่จินตนาการเปิดช่องให้ตีความได้แบบมโหฬาร แล้วไปคาดหวังถึงการใช้งานล่วงหน้า”
ประการสุดท้าย ที่ อ.สฤณีกล่าวถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ โดยกฎหมายระบุว่า ห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐในด้านต่างๆ รวมถึง ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งแปลกว่า การเปิดเผยข้อมูลจะขึ้นอยู่กับ ครม. ด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารอย่างเดียว
“มันมีความสุ่มเสี่ยงว่า ทุกอย่างจะเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐหมด เพราะฉะนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ งบการซื้ออาวุธของกลาโหม ซึ่งก็มีประชนชนตั้งคำถาม สื่อมวลชนก็ตั้งคำถาม เขาก็ตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง ล่าสุดก็มีเรื่องรถบัสกองทัพบก ซึ่งสำนักข่าวอิสราก็ยื่นขอข้อมูลแล้วเขาก็ไม่ให้ บอกว่าไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งมันก็ตลกมาก ประชาชนทุกคนมีส่วนใดส่วนเสียอยู่แล้ว เพราะว่าเราเสียภาษี ถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมา เขาก็จะมีเหตุผลมาให้เรามากขึ้นว่า นี่เปิดไม่ได้ เพราะเป็นข้อมูลความมั่นคง”
สฤณีตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า ความมั่นคงของรัฐ เราได้เห็นจากการใช้กฎหมาย วิธีการใช้กฎหมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของยุค คสช. ว่าอะไรก็เป็นความมั่นคงได้หมดเลย ประชาชนชุมนุม เขาก็มาจับในข้อหายุยงปลุกปั่น โดยบอกว่า เป็นภัยต่อความมั่นคง
“เพราะงั้น ถึงที่สุดแล้วการตั้งคำถามถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐ อย่างเช่น การจัดหาวัคซีน หรือเราชนะ เขาก็ตีความได้ทั้งนั้นแหละว่านี่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ นี่เป็นยุคที่รัฐบาลตีความความมั่นคงของรัฐ เท่ากับความมั่นคงของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้แยกแยะแล้วระหว่างความมั่นคงของชาติ กับความมั่นคงของรัฐ”
สฤณีเล่าว่า การเขียนตัวบทกฎหมายเช่นนี้ สะท้อนว่า รัฐอยากจะปิดข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับข้อมูลที่เขาตีความว่าเป็นความมั่นคงของรัฐ จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะถึงที่สุดแล้ว เราก็พูดได้ว่าข้อมูลอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องการทุจริต ข้อมูลที่เป็นเบาะแส หรืออะไรที่ดูไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ สุดท้ายก็พูดได้ว่า อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาล
“ส่วนตัวมองว่า รัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช.เป็นต้นมา เขามีแนวโน้มแบบนี้แหละที่จะตีความความมั่นคงของตัวเขาเอง เท่ากับความมั่นคงของชาติ เพราะงั้นอะไรก็ตามที่เป็นข้อมูลที่เราคิดว่าสำคัญ ที่จะบอกถึงความไร้ประสิทธิภาพ หรือการทำงานของรัฐบาล เขาก็ตีความได้หมดว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ”
“พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเดิมมันก็ไม่ได้เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าเจตนารมย์มันจะดี จะชัดเจน แต่หลายคนก็พูดแล้วว่า ต้องปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเดิมบอกว่า ให้จัดเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนได้ดู นั่นคือก่อนยุคข้อมูลออนไลน์ ข้อมูล open data เพราะงั้น ถ้าเราจะแก้ง่ายๆ ก็เขียนไปเลยว่า ไม่ใช่มีหน้าที่จัดเตรียมให้ประชาชนดู คุณต้องอัพโหลดข้อมูลทั้งหมดนี้ เข้าในฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐาน open data ของสากล อันนี้เป็นวิธีแก้ที่โปร่งใส แล้วก็ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น”
สฤณี ปิดท้ายว่า ในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น รัฐจะต้องมีความโปร่งใส โดยใช้ open data เป็นเครื่องมือ เพราะตอนนี้ออนไลน์ต้นทุนไม่ได้เยอะแล้ว ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างก็เอาขึ้นให้ประชาชนดูได้ นอกจากนี้ ยังต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพราะหลายครั้งที่เกิดการคอร์รัปชั่น เกิดขึ้นอย่างไกลหูไกลตาคน
ดังนั้น สิ่งสำคัญในการลดการคอร์รัปชั่น คือการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุด