คุณจะไม่มีวันรู้ว่า ‘สูญเสีย’ อะไรไป / หากข้อมูลสำคัญ ถูกทำให้ (ล่องหน) / เมื่อมองไม่เห็น จึงไม่รู้ว่าเคยมีอยู่ ???
นี่คือปัญหาของ ‘ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ’ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เร็วๆ นี้ ที่บางฝ่ายวิพากษ์ว่าจะทำให้ความโปร่งใสของภาครัฐน้อยลง (เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น) และบางฝ่ายมองว่าไม่ต่างกับปิดหูปิดตาประชาชน (เช่น ภาคีนักเรียนสื่อ)
ในโอกาสที่รัฐสภากลับมาทำงานอีกครั้งตามสมัยประชุม The MATTER ขอสรุปสาระสำคัญของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ นี้อีกครั้ง โดยเราให้ชื่อร่างกฎหมายนี้ว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ (ล่องหน)’ เพื่อสปอยล์ล่วงหน้าว่า สิ่งที่เราจะเขียนนั้น จะเน้นประเด็นอะไรบ้าง
1. ห้ามเปิดเผย! ข้อมูลข่าวสารที่อาจนำไปใช้ ทำให้สถาบันกษัตริย์เสียหาย
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์ จะเพิ่มหมวด 1/1 ว่าด้วย #ข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ขึ้นมา โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย (มาตรา 13/1)
2. ห้ามเปิดเผย! ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น อาวุธ ยุทโธปกรณ์ และยุทธภัณฑ์
ในหมวด 1/1 ของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์ นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ยังห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ที่ #เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐ อีก 6 ประการ (มาตรา 13/2 ถึงมาตรา 13/7) ได้แก่
– ด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ซึ่งรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์
– ด้านการข่าวกรอง
– ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย
– ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ
– ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคล
– ด้านอื่นๆ ตามที่ ครม.ประกาศกำหนด
3. การพิจารณาคดีในศาลเกี่ยวกับข้อมูลห้ามเปิดเผย ให้ทำเป็นการ ‘ลับ’
ยังอยู่กับหมวด 1/1 มีการกำหนดว่า การพิจารณาคดีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ให้พิจารณาเป็นการ ‘ลับ’ และห้ามเปิดเผยสาระสำคัญของข้อมูลและวิธีการได้มา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดหรือบางส่วนในคำพิพากษาหรือคำสั่ง (มาตรา 13/9)
4. ‘ผู้ใด’ เปิดเผยข้อมูลที่ห้ามเปิดเผย โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
มีบทห้ามแล้ว ย่อมกำหนดบทลงโทษ ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์ กำหนดไว้เลยว่า ‘ผู้ใด’ ซึ่งหมายถึงใครก็ได้ ข้าราชการ สื่อมวลชน หรือประชาชนทั่วไป ไปเปิดเผยข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยตามมาตรา 13/1 (สถาบันพระมหากษัตริย์) และมาตรา 13/2 (ความมั่นคงของรัฐ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงมากๆ (มาตรา 41/2)
5. ไม่เปิดเผยข้อมูลได้ ถ้ามองว่าผู้ขอ ขอบ่อย / ขอมาก / ก่อกวน / สร้างภาระ / ไม่สุจริต
นอกจากการเพิ่มหมวด ‘ข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย’ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์ ยังเพิ่มเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลยพินิจไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารกับผู้มียื่นขอก็ได้ ใน 4 กรณี (มาตรา 11/1)
– ขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
– มีลักษณะเป็นการก่อกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ
– มีผลเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่หน่วยงานของรัฐ
– เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
6. ข้อมูลความมั่นคงให้เปิดเผยได้เมื่อครบ 30 ปี (แต่ขยายเวลาได้อีกนะ)
ตามปกติแล้ว ข้อมูลข่าวสารใดๆ ต่อให้กำหนดว่าห้ามเปิดเผย แต่จะไม่ห้ามไปชั่วกัลปาวสาน แต่จะกำหนดให้เปิดเผยเพื่อพ้นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เช่น ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระกษัตริย์ที่ห้ามเปิดเผย จะเปิดได้เมื่อพ้น 75 ปีไปแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปี 2540 ก็กำหนดไว้เช่นนี้ แต่ที่เปลี่ยนแปลงก็คือ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเดิมหากเข้าเกณฑ์ไม่ต้องเปิดเผย จะให้เปิดเผยได้เมื่อพ้น 20 ปี แต่ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์ เพิ่มเป็น 30 ปี และให้ขยายระยะเวลาการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้อีก
นี่คือสาระคร่าวๆ ของร่างกฏหมายที่ The MATTER ขอเรียกว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ (ล่องหน)’ เพราะเป็นไปได้ว่าจะมีข้อมูลข่าวสารสำคัญจำนวนมาก ‘หายไป’ จากการรับรู้ของสาธารณชน ถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่านมาบังคับใช้จริงๆ
Illustration by Sutanya Phattanasitubon