ในระหว่างที่มีสารพัดข่าวใหญ่ให้เราติดตามกันแบบใจหายใจคว่ำ ทั้งเหตุไฟไหม้โรงงาน หรือการเรียกร้องวัคซีน COVID-19 ที่ดีกว่า ก็มีร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่อาจกระทบกับชีวิตของหลายๆ คน อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นอยู่บนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ
ร่างกฎหมายที่ว่า ก็คือ ‘ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ที่เปิดรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.2564 เป็นต้นมา และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 9 ก.ค.2564 ที่น่าสนใจก็คือ มีผู้ไปร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ ‘หลักหมื่น’ ราว 10,000-20,000 คนแล้ว! ต่างจากร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เวลาเปิดให้รับฟังความเห็น มักมีผู้มาร่วมแสดงความเห็น ‘หลักสิบ’ หรือ ‘หลักร้อย’ เท่านั้น
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีคนเข้าไปแสดงความเห็นกันมาก น่าจะมาจากการรณรงค์ของผู้เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เช่น เจ้าของร้าน ผู้ประกอบการรายย่อย และคนทั่วๆ ไป) บนโลกออนไลน์ ที่ชักชวนให้ไปร่วมแสดงความเห็น ‘ไม่รับ’ เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ทุกมาตรา
เพราะมองจะมีผลกระทบต่อทุกๆ คน เช่น
- ถ้าโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนโลกออนไลน์ หากเป็นร้านค้าจะถูกปรับเงินสูงถึง 1,000,000 บาท คนทั่วไปถูกปรับเงิน 500,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ส่วนแบ่ง 60-80% จากค่าปรับดังกล่าว (เป็นเงินรางวัล) โดยไม่ต้องเสียภาษี
- ร่างกฎหมายนี้ยังอาจกระทบกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น บาร์เทนเดอร์ เบียร์เทนเดอร์ ซอมเมอลิเย่ร์ ที่จะหายไป
- ร่างกฎหมายนี้จู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมา เหมือนเป็นการแอบทำ-ลักหลับ และจะเร่งเอาเข้าสภาในวันที่ 9 ก.ค.2564
- ฯลฯ
( แต่ขอหมายเหตุไว้ตัวโตๆ ว่า ข้อความข้างต้น เป็นสิ่งที่ใช้กันในการรณรงค์เพื่อให้ไปแสดงความเห็น ‘ไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ฉบับกรมควบคุมโรค ยังไม่ใช่สิ่งที่เราสรุปว่าเป็นข้อเท็จจริง เพราะเนื้อหากฎหมายบางส่วนต้องการการตีความและคำอธิบาย )
The MATTER มีโอกาสได้คุยกับ นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนากฎหมายและรอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ที่ชี้แจงถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับกรมควบคุมโรค ทั้งในเชิงกระบวนการและเชิงเนื้อหา เช่น หลังรับฟังความคิดเห็นจบในวันที่ 9 ก.ค.2564 ก็จะยังไม่ได้ไปสภาโดยทันที แต่ต้องเสนอไปตามกระบวนการ เช่น นำเข้า ครม. ให้กฤษฎีกาตรวจแก้ ถึงจะไปสภาได้
“ยืนยันว่าไม่ใช่การแอบทำ เพราะการรับฟังความเห็นก็ยังเปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค ทั้งที่จริงๆ ตอนนี้น่าจะมีแค่เรื่อง COVID-19 ด้วยซ้ำ และประเด็นแก้ไขต่างๆ ก็ได้มาจากการจัดเวทีรับฟังความเห็น ช่วงปลายปี 2562”
นพ.พงศ์ธรยังกล่าวถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ในหลายๆ เรื่อง ทั้งที่มาของตัวเลขค่าปรับสำหรับคนทั่วไปหากทำผิดกรณีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่ายอด 500,000 บาทนั้นเป็น ‘เพดาน’ ความจริงแล้วจะมีการปรับเป็นขั้นบันได แถมมีการลดหย่อนให้ในกรณีต่างๆ เช่น ทำผิดครั้งแรก และจริงๆ ตัวเลขนี้ก็ใช้มาตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับปี 2551 แล้ว ไม่ใช่เนื้อหาใหม่ ที่เพิ่มมาคืออัตราโทษสำหรับผู้ผลิต/ผู้นำเข้าที่จะคูณสองจากโทษปกติ ทำให้เพดานค่าปรับสูงถึง 1,000,000 ล้านบาท กรณีเงินสินบนรางวัลก็ไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ แต่อยู่ในประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับปี 2554 หากจะปรับแก้ หรือไม่ให้มี ก็จะต้องไปคุยกับกระทรวงการคลัง

The MATTER เคยเทียบเนื้อหาใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับปี 2551 กับร่างแก้ไขที่เสนอโดยกรมควบคุมโรค vs ประชาชนหมื่นรายชื่อ โดยเน้นที่ ม.32 ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ยังมีอีกหลายๆ ประเด็นที่หัวหน้ากลุ่มพัฒนากฎหมายและรอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้แจงกับ The MATTER ถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับกรมควบคุมโรค ซึ่งต้องใช้พื้นที่ในการอธิบาย เราจะขออนุญาตนำเนื้อหาทั้งหมดมาเผยแพร่ ในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ ในเวลาเดียวกัน มีร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 ฉบับ อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ นอกจากฉบับของกรมควบคุมโรค ก็ยังมีฉบับที่ประชาชนหมื่นรายชื่อไปเสนอต่อสภา
นพ.พงศ์ธรจึงบอกผ่าน The MATTER ว่า อยากให้ทุกๆ คนไปดาวน์โหลดทั้ง 2 ร่างแก้ไข และกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับปี 2551 มาอ่านเพื่อเปรียบเทียบกัน แล้วค่อยไปแสดงความเห็นต่อทั้ง 2 ร่างแก้ไขว่า อยากให้สังคมไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต “เพราะเรื่องจะต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน”
ใครที่สนใจอยากอ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ไปหาอ่านและร่วมแสดงความเห็นได้ที่
– ร่างของกรมควบคุมโรค http://alcoholact.ddc.moph.go.th/act/ (ฟังความเห็นระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. – 9 ก.ค.2564)
– ร่างที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=146 (ฟังความเห็นระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงต้นเดือน ก.ค.2564)
#Brief #TheMATTER