“สื่อมวลชน” เป็นทั้งหมาเฝ้าบ้าน (Watchdog) และตัวกลางในการสื่อสารข้อมูลระหว่างภาครัฐและประชาชน เมื่อสื่อโดนปิดปาก ประชาชนย่อมเสียประโยชน์ในการรับรู้ความจริงอันเป็นผลจากการกระทำของรัฐ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 9) ห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐฯ รวมถึงอนุญาตให้ กสทช.มีอำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต หากพบว่า IP address ใดทำผิดข้อกำหนด
หลังมีการอนุมัติใช้ข้อกำหนดดังกล่าว ก็มีองค์กรและหน่วยงานต่างๆ 6 แห่ง ออกมาแถลงการณ์คัดค้าน เนื่องจากมองว่า นี่เป็นการคุกคามสื่อ และจงใจปิดหูปิดตาประชาชน สำหรับหน่วยงานที่ออกมาแถลงการณ์แล้ว มีดังนี้
- 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
ทั้งหมดได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ 3 ข้อ หลังเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม (ก่อนวันลงนามในกฎหมายควบคุมสื่อ 1 วัน) นายกฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามข้อกำหนดปราบปรามเฟกนิส์อย่างจริงจัง
รายละเอียดแถลงการณ์ 3 ข้อ มีดังนี้
– การบังคับใช้ข้อกำหนดของนายกฯ และความพยายามของรัฐบาลที่ข่มขู่และดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นวิจารณ์การบริหารประเทศในช่วง COVID-19 ระบาด เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน
– การอ้างว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ในการจัดการกับ “ข่าวปลอม” เป็นการกล่าวอ้างที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของรัฐบาลในการสื่อสารกับประชาชน อันเป็นผลมาจากการบริหารราชการที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีเองทั้งสิ้น
– องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเชิญผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการตามข้อกำหนด และช่วยกันระมัดระวังการเสนอข่าวให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อไม่ให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
หลังจากนายกฯ ลงนามบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ตัวแทนจาก 6 องค์กรสื่อ ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำกัดเสรีภาพนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนและประชาชน
ขณะที่ทาง กสม. ก็แสดงความกังวลว่าการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ จะกระทบไปถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และท้ายที่สุด ข้อกำหนดเหล่านี้จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา COVID-19 ร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่ง กสม.ระบุว่า หลังจากนี้จะตรวจสอบและทำรายงานข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอให้รัฐบาลต่อไป
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
โดยสนับสนุนจุดยืนของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการยืนยันหลักการ “เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” ว่าด้วยการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนด้วย
ครป. ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกคำสั่งใดๆ ในรูปข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงยกเลิกการออกข้อกำหนดข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ข้อกำหนดเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการนำเสนอข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็น
- กลุ่มนักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนจำนวน 396 คน ได้แถลงการณ์คัดค้านการใช้ข้อกำหนดควบคุมการใช้สื่อ โดยมีสาระสำคัญ 3 ข้อดังนี้
– กลุ่มนักวิชาการมองว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มีความคลุมเครือ เป็นภาพสะท้อนการขาดธรรมาภิบาลอันเป็นผลจากนโยบายรัฐ
ข้อกำหนดฉบับนี้ให้อำนาจรัฐในการตีความเนื้อหาที่เข้าข่ายข่าวปลอม รวมถึงระงับการให้อินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ และโดนปิดกั้นช่องทางชี้แจงโดยไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ได้ และท้ายที่สุดข้อกำหนดอาจทำให้ประเทศถูกมองว่ามีระบอบที่ขาดธรรมาภิบาลและไม่เคารพสิทธิมนุษยชนในด้านการสื่อสาร
– ในสถานการณ์ระบาด COVID-19 มีการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน หากมีการรายงานที่คลาดเคลื่อน ก็ไม่ควรถูกกล่าวหาว่าเป็นข่าวปลอมเสมอไป เพราะอาสาสมัครหรือผู้คนอาจไม่ได้จงใจสร้างข้อมูลเท็จ
ขณะที่การออกข้อกำหนดที่มีความคลุมเครือและมีโทษทางอาญาอาจส่งผลถึงความกังวลในการทำงานของอาสาสมัคร นอกเหนือไปจากความรู้สึกไว้วางใจและศรัทธาของสาธารณะต่อรัฐบาล ในฐานะผู้ที่มีอำนาจตรงในการจัดการกับภาวะโรคระบาดแล้ว
– การกำกับดูแลตนเองทั้งในระดับผู้ใช้และผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์เป็นแนวทางที่ได้รับยอมรับและสอดคล้องกับพลวัตของสื่อออนไลน์ แทนที่รัฐบาลจะดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อออนไลน์ ที่มีสัดส่วนกว่า 65% ของประชากร ควรเปลี่ยนไปให้ความรู้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือสร้างวัฒนธรรมความรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารดิจิทัลมากกว่า เพราะจะสามารถติดอาวุธและเสริมพลังให้ผู้ใช้ได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีการรณรงค์ไม่ให้มีผู้ลงโฆษณาสนับสนุนทางการเงินเพื่อตัดเส้นทางรายได้ของสื่อที่ขาดจริยธรรมและนำเสนอเนื้อหาปลอม มากกว่าการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีอาญาแก่ประชาชน
- คณาจารย์นิติศาสตร์จากสถาบันต่างๆ จำนวน 70 คน ก็ได้ออกมาแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยระบุว่า ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ แต่ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง การจำกัดสิทธิฯ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะกรณีที่มีโทษทางอาญา
โดยทางคณาจารย์นิติศาสตร์จากสถาบันต่างๆ มองว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน โดยให้เหตุผลคร่าวๆ ต่อไปนี้
4.1 การห้ามเสนอข่าวที่มี “ข้อความที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 26
– ข้อความนี้มีความคลุมเครือ ในช่วงวิกฤตความกลัวเป็นปฏิกิริยาปกติต่อข่าวสารทางลบ การเผยแพร่ความจริง เพื่อให้ภาครัฐหรืออาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย หรือเตือนให้หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง
หากเป็นข่าวสารในแง่ลบ อาจถูกตีความว่าเป็น “ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” เท่ากับห้ามประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อใช้เสรีภาพในการเสนอข่าว เพราะไม่แน่ใจว่าการนำเสนอข่าวสาร จะผิดข้อกำหนดหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนบางส่วน อาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย
– ว่าด้วยการฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี เป็นกรณีการกำหนดความผิดและโทษทางอาญาโดยบทบัญญัติที่ “คลุมเครือ” และ “มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง” ถึงขนาดที่ประชาชนไม่เข้าใจว่าข้อความใดสามารถเผยแพร่ได้ หรือข้อความใดไม่อาจเผยแพร่ได้
– เมื่อพิจารณาความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์ที่ได้จากการใช้ข้อกำหนด เทียบกับความเสียหายที่เกิด และประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจใช้มาตรการนี้เพื่อปิดกั้นการแสดงออก หรือปกปิดข้อความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล กรณีจึงเห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อ “หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ”
– ข้อกำหนดนี้มีความ คลุมเครือ ไม่ชัดเจน สุ่มเสี่ยงต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจได้
4.2 การกำหนดให้ กสทช. สามารถระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address ที่เผยแพร่ข่าวสารที่มีลักษณะต้องห้ามในทันที เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 26
- พรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวถึงประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยพรรคออกแถลงการณ์ ซึ่งมีความเห็นว่าข้อกำหนดการควบคุมที่ห้ามเสนอข่าวที่ทำเกิดความหวาดกลัว และมีเจตนาบิดเบือนข่าวสาร ขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพของสื่อในการเสนอข้อมูล ข่าวสาร และเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจาก
– การจำกัดการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยุติลงโดยเร็วหรือไม่ให้โรคระบาดรุนแรงขึ้นแต่อย่างใด
– การห้ามเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัว มีความหมายไม่ชัดเจน อาจปล่อยให้เกิดการใช้ดุลยพินิจและการเลือกปฏิบัติได้
– การมอบอำนาจให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบและวินิจฉัย รวมถึงระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นการมอบอำนาจให้องค์กรเอกชนซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผิดหลักการของกฎหมายมหาชน และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล
– และเมื่อพิจารณาเหตุผลเบื้องหลังการออกข้อกำหนดนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาลและ ศบค. บริหารงานล้มเหลว และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกภาคส่วน จนกระทบต่อสถานะการดำรงอยู่ของรัฐบาล เหตุผลที่แท้จริงในการออกข้อกำหนดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยุติโดยเร็ว แต่เป็นการดำเนินการโดยมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝง
– เพื่อไทยมองว่าการต่อสู้กับโรคระบาด จำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์และรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้ทั้งภาครัฐและประชาชนเข้าใจในความจริงที่เกิดขึ้น เห็นถึงปัญหาและประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง การปิดกั้นการรับรู้ข้อเท็จจริง นอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน อาจส่งผลกระทบต่อการระดมความร่วมมือของประชาชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้วย
- พรรคก้าวไกล เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เช่นกัน โดยตัวแทนพรรคได้อ่านคำแถลงว่า การระบาด COVID-19 ที่มีความรุนแรงในปัจจุบันเกิดการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล ไม่ได้เกิดจากการนำเสนอข่าวสารของสื่อหรือการแสดงความเห็นของประชาชน
แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดวิกฤต รัฐบาลกลับมองสื่อมวลชนและประชาชนเป็นภัยความมั่นคง แทนที่จะเร่งแก้ไขข้อผิดพลาด และสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อมูลที่รอบด้านและชัดเจนไม่สับสน
ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้รับฟังเสียงคัดค้านของประชาชนต่อข้อกำหนดดังกล่าว ยังคงเนื้อหาข้อห้ามไว้เช่นเดิม และมีการมอบหมายให้ กสทช. ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 ที่รับรองเสรีภาพของบุคคลในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเคยเตือน นายกฯ และรัฐบาลแล้วว่าหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 ไม่ใช่อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และต้องไม่ฉวยโอกาสลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชน และประชาชน
แต่ตลอด 1 ปี 4 เดือน ที่มีการประกาศและต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง กลับเห็นรัฐบาลเน้นใช้อำนาจพิเศษไปกับการปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
ด้วยเหตุผลทั้งหมด พรรคก้าวไกลจึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ทันที และควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วกลับไปสู่การรับมือและแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 อย่างจริงจังภายใต้ระบบกฎหมายปกติ โดยรัฐบาลที่สามารถแก้ไขวิกฤตได้ ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.isranews.org/…/isranew…/101050-social-6.html
https://www.thairath.co.th/news/politic/2153918
https://news.thaipbs.or.th/content/306483
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/952124
https://prachatai.com/journal/2021/07/94238
https://thematter.co/brief/150469/150469
https://web.facebook.com/CPDThai/posts/4467394593278867
https://www.voicetv.co.th/read/NGkBwEIJ-