ในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 ก.ค. – 6 ส.ค.) จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 ในไทยได้เพิ่มขึ้นและทุบสถิติแทบทุกวัน โดยยอดผู้ติดเชื้อที่ทำลายสถิติเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน (6 ส.ค.) โดยสูงถึง 21,329 ราย จนทำให้เกิดคำถามเป็นว่า ตอนนี้ไทยมาถึงพีคที่สุดหรือยัง ?
คำตอบคือ ใช่และไม่ใช่ เพราะเดือนสิงหาคมนี่แหละ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะทะยานขึ้นถึงสูงสุด ก่อนค่อยๆ ลดระดับลงมา แต่จะลดอย่างไร ขึ้นกับมาตรการและการตัดสินใจของรัฐบาล
โดยขออธิบายถึงสถานการณ์ตอนนี้ก่อน จากข้อมูลของ Our World in Data ถึงวันที่ 5 ส.ค. ชี้ว่า สัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยอยู่ที่ 270.72 รายต่อประชากร 1,000,000 คน หรือใกล้เคียงกับอินเดียในช่วงพีคที่สุด (8 พ.ค.) ซึ่งอยู่ที่ 283.34 รายต่อประชากร 1,000,000 คน
และถ้าอิงตามอัตราการติดเชื้อที่สำนักข่าว The Standard รายงานเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม โดยคิดจากจำนวนการติดเชื้อย้อนหลัง 14 วัน (นับจากวันที่ 5 ส.ค.) ไทยมีจำนวนการตรวจเฉลี่ย 49,301 ราย/ วัน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 20,920 ราย/ วัน หรือคิดเป็น 42% หรือพูดง่ายๆ อยู่ที่ 4 รายต่อประชากร 10 ราย
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่านี่ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อแอบแฝงอีกมาก โดยสำนักข่าวบีบีซีไทยได้ทำสกู๊ปเจาะในประเด็นนี้ หลังมีเอกสารของกรมควบคุมโรคที่มีพาดหัวว่า “คาดการณ์สถานการณ์การระบาด COVID-19 ของประเทศไทย ระหว่าง ส.ค.- ธ.ค. 2564” หลุดออกมา และเนื้อความข้างในมีการยอมรับว่าจำนวนผู้ป่วยสีเขียวที่รายงานน่าจะน้อยกว่าความเป็นจริงถึง 6 เท่า ขณะที่สีเหลืองและสีแดงน้อยกว่า 3 และ 1 เท่าตามลำดับ
ในสกู๊ปชิ้นดังกล่าว นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยอมรับกับบีบีซีไทยว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงค่าประมาณเท่านั้น และโฆษกกระทรวสาธารณสุขก็ยอมรับว่า “เราเชื่อว่า (ตัวเลขผู้ติดเชื้อ) มันเกินกว่านี้จริง ๆ เกินกว่าตัวเลขที่รายงานแต่ละวัน”
คำถามต่อมาคือ ในเดือนสิงหาคมนี้ เรากำลังจะพบกับอะไรบ้าง ?
มหาวิทยาลัยมหิดล และ Health Sysmtem DD Labs ได้ร่วมกันออกแบบจำลองตัวหนึ่ง สำหรับคาดการแนวโน้มการระบาดและสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการล็อคดาวน์กับจำนวนผู้ติดเชื้อพบว่า มาตรการล็อคดาวน์ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. – 2 ส.ค. ให้ผลลัพธ์น้อยกว่าที่คาดไว้มาก ซึ่งทีมผู้พัฒนาสรุปว่าน่าจะเป็นเพราะหลังมานี้ สาเหตุการระบาดหลักไม่ใช่ในชุมชน แต่เป็นในครัวเรือน
ทางผู้เขียนได้ลองทดสอบในกราฟคร่าวๆ สองรูปแบบ โดยทั้งสองวิธีไม่เปลี่ยนตัวแปรเพิ่มเติม (เช่น การเร่งตรวจเชื้อ, การเพิ่มความเข้มข้นล็อคดาวน์) ดังนี้ (1) คงล็อคดาวน์ไว้อีก 30 วัน ถึงวันที่ 2 ก.ย. (2) ยกเลิกล็อคดาวน์หลังวันที่ 2 ส.ค. พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในวันที่ 2 ก.ย. ของ (1) จะไปอยู่ที่ 18,000 ราย/ วัน. ขณะที่ (2) จะอยู่ที่ 48,300 ราย/ วัน
ทั้งนี้ ตัวเลขด้านบนใช้วิธีคิดที่คร่าวๆ มาก และตัวเลขผู้ติดเชื้อของวันที่ 7 ส.ค. ก็คลาดเคลื่อนจากแถลงของ ศบค. ราว 3,300 ราย แต่น่าจะชี้ให้เห็นแนวโน้มการระบาดตลอดเดือนสิงหาคมได้ว่า หากยังมีมาตรการล็อคดาวน์ จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มคงตัวตลอดทั้งเดือน และจะสูงที่สุดในวันที่ 8 ส.ค.หรือวันพรุ่งนี้
อีกด้านหนึ่ง ในรายงาน Monthly Economic Bulletin ประจำเดือนกรกฎาคมของธนาคารกรุงศรีประเมินคล้ายกันว่า ในเดือนสิงหาคมจะเป็นเดือนที่หนักหนาที่สุด สำหรับการแพร่ระบาดในไทย
โดยผลคาดการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในรายงานของธนาคารกรุงศรี ซึ่งมีปัจจัยดังนี้ ไวรัสเดลตาระบาดรุนแรง, กระจายวัคซีนได้วันละ 250,000 โดส, วัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำ และมาตรการล็อคดาวน์ไม่สามารถหยุดการแพร่เชื้อได้ จำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนสิงหาคมอาจพุ่งเกือบ 25,000 ราย/ วัน และในวันที่ 21 กันยายนจะลดลงมาแตะที่ระดับใกล้เคียง 15,000 ราย/ วัน และอยู่ในระดับควบคุมได้ (ไม่เกิน 5,000 ราย/ วัน) ก็เมื่อถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน หรืออีก 3 เดือนหลังจากนี้ (หากดูตามกราฟกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะเห็นว่าธนาคารกรุงศรีประเมินแง่ดีไปนิด)
ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญสุดในกราฟของธนาคารกรุงศรีคือ ประสิทธิภาพของวัคซีนและการล็อคดาวน์ โดยพวกเขาประเมินว่า ถ้าการล็อคดาวน์ในเดือน ก.ค. มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสัก 20% และวัคซีนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10% จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้เกือบร้อยละ 40% อย่างไรก็ตาม ในกราฟดังกล่าวพวกเขาประเมินว่าจะมีการฉีดวัคซีนวันละ 250,000 โดส และฉีดได้ทั้งหมด 55 ล้านโดสเมื่อสิ้นสุดปี 2021
และคำถามสุดท้ายที่คำสัญที่สุด หลังจากนี้ เราควรออกแบบมาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ?
ย้อนกลับไปที่แบบจำลองของมหาวิทยาลัยมหิดล พวกเขาได้ชี้ว่าปัจจัยที่จะทำให้การล็อคดาวน์ไม่ค่อยมีผลคือ การติดเชื้อเริมเปลี่ยนจากชุมชนไปสู่ครัวเรือน ดังนั้น หากจะมีการล็อคดาวน์เพิ่มอีก 30 วัน (2 ส.ค. – 1 ก.ย.) ทีมผู้ออกแบบมีจึงคำแนะนำ 3 ประการ
- เพิ่มอัตราการตรวจเพื่อแยกผู้ป่วยในครัวเรือนให้ได้มากและเร็วที่สุด ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ ประชาชนต้องเข้าถึงการตรวจได้ง่ายและเร็วที่สุด ทั้งจากการตรวจ Ag Test อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระบบ RT-PCR Test
- ยกระดับมาตรการจำกัดการเดินทางให้แคบลง อาทิ ในพื้นที่ กทม. อาจต้องมีการจำกัดการเดินทางระหว่างเขตต่างๆ หรือในพื้นที่ต่างจังหวัดอาจต้องมีการควบคุมการเดินทางข้ามอำเภอหรือตำบล
- เพิ่มความเข้มงดของมาตรการล็อคดาวน์ในระยะเวลาจำกัด
ถ้าหากมาตรการมีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถลดจำนวนการแพร่ระบาดในชุมชนลงได้มากที่สุดถึง 55% จะทำให้ในวันที่ 1 ก.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะอยู่ที่ 4,370 ราย/ วัน หรือถ้าลดได้มากถึง 45% จะทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะอยู่ที่ 7,480 ราย/ วัน แต่ถ้าลดอัตราแพร่เชื้อในชุมชนได้เพียง 20% จะทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะอยู่ที่ 24,100 ราย/ วัน
ทั้งนี้ ทีมผู้ออกแบบมองว่าต้องทำการกดจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศในกลับมาที่อัตรา 3,000 – 5,000 ราย/ วัน เพื่อให้ระบบตรวจ-ตาม-แยกโรคและผู้ป่วยของไทยกลับมา ‘พอจัดการได้’ และสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ได้
สุดท้าย ทีมผู้ออกแบบจำลองได้เรียกร้องแผนระยะยาวในการอยู่ร่วมกับไวรัส COVID-19 ทั้งหมด 5 ประการ ได้แก่
- ลดผลกระทบของการระบาด เช่น เร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงออกมาตรการเยียวยา
- ปรับมาตรการในครัวเรือนเพื่อรับมือกับสายพันธุ์เดลตา อาจต้องมีการกำชับให้ใส่แมสก์ในบ้าน
- ต้องเพิ่มความสามารถตรวจและแยกผู้ป่วยให้มากขึ้น ก่อนเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือสังคม
- หลังพ้นวิกฤต เพิ่ม ICU โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วย COVID-19
- พัฒนาระบบสัญญาณเตือนล่วงหน้าในระดับประเทศและพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนหากต้องมีการล็อคดาวน์ ไปจนถึงการล็อคดาวน์เฉพาะพื้นที่เพื่อควบคุมโรค โดยมีตัวอย่างชี้วัดสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาทิ จำนวนผู้ป่วยหนักเกิน ICU, จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เกินความสามารถสอบสวนโรค หรือการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อ COVID-19 ในผู้ป่วยกลุ่มอื่น (เช่น กลุ่มที่มานัดผ่าตัด)
แบบจำลองการระบาด
http://systemsdd.co/covid-19-wave3-simulation.
อ้างอิง:
https://thestandard.co/thailands-covid-19-050864/
https://www.bbc.com/thai/thailand-58009764
https://www.krungsri.com/th/research/macroeconomic/monthly-bulletin/mb-bulletin-210719 (คาดการณ์ธนาคารกรุงศรี)
https://www.cnbc.com/2021/07/23/coronavirus-how-india-is-doing-now-after-delta-variant-spread.html