โควิดธรรมดาก็ว่าน่ากลัวแล้ว เชื้อกลายพันธุ์ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ และหนึ่งในสายพันธุ์ที่เราต้องจับตามองกันให้ดีก็คือ ‘เอปซิลอน (Epsilon)’
สายพันธุ์นี้ เคยติดลิสต์สายพันธุ์ที่ทั่วโลกต้องจับตามองมาก่อน ด้วยความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แถมล่าสุด ยังถูกพบในประเทศแถบเอเชียอีกด้วย สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนว่า เราควรต้องเตรียมข้อมูลของ COVID-19 สายพันธุ์นี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไหม
ก่อนหน้านี้ เราเคยอัพเดทสายพันธุ์ที่น่ากังวลกันไปแล้ว (1) (2) คราวนี้ เราขอพาทุกคนมารู้จักกับสายพันธุ์เอปซิลอนกันว่า สายพันธุ์นี้กลายพันธุ์ในตำแหน่งไหน เจอเมื่อไหร่ แล้วน่ากลัวยังไงบ้าง
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์
สายพันธุ์นี้ถูกเรียกว่า CAL.20C โดยแบ่งย่อยไปอีก 2 สายพันธุ์ นั่นคือ สายพันธุ์ B.1.427 และ B.1.429
- พบครั้งแรก
พบครั้งแรกที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เมื่อปี 2020 โดยมีรายงานว่า พบสายพันธุ์นี้ในอย่างน้อย 35 ประเทศแล้ว
- ตำแหน่งกลายพันธุ์
- สายพันธุ์ B.1.427 ตำแหน่งกลายพันธุ์ L452R, D614G
- สายพันธุ์ B.1.429 ตำแหน่งกลายพันธุ์ S13I, W152C, L452R, D614G
ตำแหน่งกลายพันธุ์เหล่านี้ คือจุดที่เปลี่ยนไปจากไวรัสดังเดิม โดยตำแหน่งที่น่าสนใจนั้น คือ L452R ซึ่งจะทำให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์ เพื่อสร้างทางเข้าไปในสารพันธุกรรมของมนุษย์ได้ หรือก็คือเพิ่มประสิทธิภาพในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้มากกว่าเดิมนั่นเอง
ส่วนการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง D614G นั้น ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม ทั้งยังมีงานวิจัยว่า ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง D614G นี้ จะมีปริมาณไวรัสในทางเดินหายใจช่วงบนมากกว่าสายพันธุ์เดิมด้วย แต่ก็ยังไม่มีรายงานว่า การกลายพันธุ์ตำแหน่งนี้จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อนะ
- ลักษณะของสายพันธุ์
สิ่งที่ทำให้เชื้อสายพันธุ์นี้แตกต่างไปจาสายพันธุ์ดั้งเดิมก็คือ ความสามารถในการแพร่เชื้อ ที่แพร่ได้ง่ายขึ้นประมาณ 20% หลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ และลดประสิทธิภาพของวัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ โดยวัคซีนของ mRNA ก็มีประสิทธิภาพลดลง 2-3.5 เท่าตัว รวมถึง ลดประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของยารักษาโรคทั้งยา bamlanivimab และยา etesevimab
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ก็ได้ลดระดับเอปซิลอนจากสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) ให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องสนใจ (VOI) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ลดระดับจากสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (VOI) เป็นสายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม (Alerts for Further Monitoring) ร่วมกับอีกสองสายพันธุ์คือ ซีตา (P.2: บราซิล) และธีตา (P.3: ฟิลิปปินส์) เนื่องด้วยอัตราการแพร่ระบาดที่ลดลงกว่าเดิม
แต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ปากีสถานแถลงว่าพบผู้ป่วย COVID-19 สายพันธุ์เอปซิลอน 5 ราย สร้างความกังวลว่าอาจแพร่เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ ทั้งที่อินเดียยังไม่ฟื้นตัวดีจากสายพันธุ์เดลตา
และหากอินเดียเจอผู้ป่วยจากเชื้อกลายพันธุ์นี้ ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้ง ไทยก็ต้องเตรียมรับมือกับสายพันธุ์เอปซิลอนด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก