“ไม่ผิดจะกลัวอะไร” “โปร่งใสตรวจสอบได้” “ทำตามกฎหมาย”
คือ 3 วลีที่ผู้มีอำนาจยุค คสช.จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันชอบอ้างเสมอๆ แล้วก็มาถึงกรณี ‘วัดใจ’ ว่าจะทำตามที่ตัวเองพูดย้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง หรือไม่
เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหาราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 3 มีมติเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 ‘สั่ง’ ให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับ รมว.กลาโหม และวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทื่ยื่นไว้เป็นหลักฐาน ตอนเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในปี 2562 หลังจาก ป.ป.ช.เคย ‘ปฏิเสธ’ คำขอดูจากสื่อมวลชน (เราเอง-The MATTER) ที่ยื่นไว้ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือน ก.พ.2564 ซึ่งวิษณุชี้แจงฝ่ายค้านว่า ตนกับ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ไว้แล้ว แม้กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่จะไม่ได้บังคับให้ต้องยื่น แต่สามารถ ‘ยื่นไว้เป็นหลักฐาน’ ได้
หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมวิษณุกับ พล.อ.ประยุทธ์ถึงไม่ถูกบังคับให้ ‘ต้องยื่น’ บัญชีทรัพย์สินฯตอนเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อปี 2562 ล่ะ?
นั่นเพราะกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปัจจุบัน มาตรา 105 วรรคสี่ ไปกำหนดว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ (หมายถึงนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ฯลฯ) ถ้ากลับมารับตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ใน 30 วัน ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯอีกครั้ง โดยบทบัญญัตินี้เป็นสิ่งที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาในกฎหมาย ป.ป.ช. เมื่อปี 2561 ..แล้วถามว่าใครเป็นคนเพิ่ม? ก็สภานิติบัญญํติแห่งชาติ (สนช.) ถามต่อไปว่าใครตั้ง สนช. ก็ คสช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า ผู้ยึดอำนาจมาในปี 2557
‘อานิสงส์’ จากกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับปี 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ ไม่เพียงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีอีก 6 คนไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯใหม่ ยังรวมถึง ส.ว.แต่งตั้ง ที่เคยเป็น สนช. หรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสมัยรัฐบาล คสช. อีก 114 คน ที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯใหม่เช่นกัน
ทั้งๆ ที่การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ให้กับ ป.ป.ช. และการกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูลนี้กับสาธารณชน จะแสดงถึงความโปร่งใสของผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตแท้ๆ
พอวิษณุชี้แจงกลางสภาว่า ตนกับ พล.อ.ประยุทธ์ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กับทาง ป.ป.ช.ไว้เป็นหลักฐาน แม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องยื่น The MATTER ก็เลยใช้สิทธิตามกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560, พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540, กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี 2561 และระเบียบ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2561 “ขอดูบัญชีทรัพย์สินของบุคคลทั้งสอง”
ใช้เวลาอยู่หลายเดือน ทาง ป.ป.ช.จึงตอบกลับมาว่า ไม่สามารถให้ดูได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นไว้เป็นหลักฐาน – เราจึงยื่นอุทธรณ์ไปยัง กวฉ. ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ ตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ
โดย พ.ร.บ.ข้อมูลช่าวสารฯ มาตรา 37 วรรคสอง กำหนดว่า คำวินิจฉัยของ กวฉ. “ให้เป็นที่สุด”
ก่อนที่ กวฉ. สาขาสังคมฯ คณะที่ 3 จะมีคำวินิจฉัย สั่งให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์และวิษณุแก่ The MATTER ด้วยเหตุผลว่า แม้บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 2 คนจะยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐานก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม
“ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็น ‘ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ’ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่โดยตรงในการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ” คือสรุปคำวินิจฉัยของ กวฉ. สาขาสังคม คณะที่ 3 ในเรื่องนี้ ที่เผยแพร่ไว้บนเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)
จะเฮกันแล้วใช่ไหม ยังก่อน..ยัง..อย่าเพิ่งรีบดีใจไป เพราะถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะระบุว่า คำวินิจฉัยของ กวฉ. “ให้เป็นที่สุด” แต่ ป.ป.ช. ก็มักจะอ้างบทบัญญัติในกฎหมายของตัวเองมาหักล้างการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.
ตัวอย่างที่เห็นชัดกรณีรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ‘คดีนาฬิกายืมเพื่อน’ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ กวฉ.ก็เคยสั่งให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยเอกสารให้กับเรา แต่ ป.ป.ช.ก็ไม่ทำตาม จนสุดท้ายต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้สั่ง ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2557/2562 โดยปัจจุบันศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมา ใกล้จะครบ 2 ปีแล้ว
อีกประเด็นที่อยากให้ทุกๆ คนช่วยกันจับตา หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่’ ที่เคยถูกคัดค้านอย่างหนักเมื่อหลายเดือนก่อนว่า จะทำให้เกิดสภาวะ “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” เพราะบางบทบัญญัติอาจทำให้สาธารณชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหลายรายการ (ส่วนใหญ่ก็กองทัพนั่นแหละ) ที่แม้ ครม.จะมีมติให้นำกลับจากสภามาทบทวน แต่เราทราบมาว่า ภายในเดือน ส.ค.2564 การทบทวนจากผู้เกี่ยวข้องจะเสร็จสิ้น และร่างกฎหมายนี้จะถูกส่งมาให้วิษณุพิจารณาว่า จะนำกลับเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกที หรือส่งให้สภาพิจารณาต่อเลยหรือไม่
ทั้งที่ ผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันชอบพูดว่า “โปร่งใส ตรวจสอบได้” แต่ทำไมประชาชนและสื่อมวลชนต้องออกแรงอย่างหนักเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่ควรจะเข้าถึงได้ง่ายๆ กว่านี้ อันนี้ก็ไม่รู้จริงๆ ใครรู้ช่วยบอกที
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/oicinfo/posts/1893777814113411
https://thematter.co/brief/139973/139973
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF
#Brief #TheMATTER