ท่ามกลางเศรษฐกิจหลายประเภทที่ปีนี้คงทำรายได้ได้ไม่ดีนัก ทว่าคงเป็นปีขาขึ้นต่อเนื่องของ ‘ตลาดสมุนไพรไทย’
ไม่กี่วันที่แล้ว โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ยาสมุนไพรสุภาพโอสถ และผู้รับจ้างผลิต (OEM) ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า COVID-19 เป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมสมุนไพรเติบโต และภาพรวมตลาดน่าจะโตทะลุ 20% ในสิ้นปีนี้ เนื่องจากมีหลายผู้ประกอบการต้องการให้รับจ้างผลิต จากปกติที่ตลาดโตเฉลี่ย 10% ต่อปี
‘ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจเอสพี ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจว่า ปัจจุบันความต้องการสมุนไพรไทยมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ซึ่งมีสรรพคุณใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอ เจ็บคอ ต้านการอักเสบ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้โรงงานต้องเร่งผลิตสินค้าต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้ากระชายขาว ขิง ขมิ้น ห้าราก และเตรียมผลิตจันทน์ลีลา ซึ่งเป็นกลุ่มยาแก้ไข้ ออกมาเป็นสินค้าใหม่ เนื่องจากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อราว 20,000 คน/วัน ในประเทศ ทำให้ผู้ป่วยต้องรักษาทั้งในโรงพยาบาล และกักตัวในบ้าน home isolation และใช้สมุนไพรในการรักษาตามอาการ
ขณะที่ ‘พิษณุ แดงประเสริฐ’ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานวิจัยและพัฒนา บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี ให้ข้อมูลด้วยว่า กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว ยาสมุนไพรและยาแผนโบราณของสุภาพโอสถ มียอดขายมากกว่าปี พ.ศ.2563 ทั้งปี ย้ำให้เห็นความต้องการที่ล้นทะลัก ระดับที่ต้องเดินเครื่องจักรตลอด 24 ชั่วโมงทั้งโรงงานกรุงเทพฯ และลำพูน
นอกจากข่าวที่กระทรวงเกษตรออกมาสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกฟ้าทะลายโจรสร้างรายได้ในช่วงโรคระบาดแล้ว การเติบโตของตลาดสมุนไพรไทยทำให้นายทุนนอกสนามเข้ามาร่วมด้วย อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ก็ลุยปลูกฟ้าทะลายโจร 100 ไร่ ที่ จ.สระบุรี เพื่อผลิตยา 30 ล้านแคปซูลแจกฟรีในช่วง COVID-19 คาดว่าจะใช้เวลา 100 วัน (นับจาก 2 สิงหาคม)
ความนิยมของฟ้าทะลายโจร ที่แม้จะยังมีข้อถกเถียงในสังคมถึงขั้นตอนการใช้ยา ผลข้างเคียง และสรรพคุณ ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นราว 4 เท่าตัว โดยเมล็ดพันธุ์ต้นฟ้าทลายโจรสูงขึ้นถึง 1–1.5 บาท/เมล็ด (จากเดิม 20 สตางค์)
โดย ‘เมธา สิมะวรา’ ประธานกลุ่มสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เมล็ดพันธุ์ ใบแห้ง รวมทั้งแคปซูลบรรจุ มีแนวโน้มว่าจะราคาสูงขึ้นตามไปด้วย และจับตาฟ้าทะลายโจรอาจเริ่มขาดตลาดในเดือน สิงหาคม พ.ศ.2564 เพราะเกษตรกรไม่สามารถปลูกได้ทันความต้องการ ซึ่งกำลังการผลิตจะกลับมาช่วงตุลาคม เพราะมีการปลูกมากขึ้นช่วงนี้ ผลผลิตใบแห้งจะเก็บเข้าผลิตในโรงงานได้ภายใน 4 เดือน
ไม่เพียงแค่ฟ้าทะลายโจรเท่านั้น แต่กระชายขาวเองก็ราคาขึ้นเช่นกัน มีรายงานข่าวด้วยว่าปัจจุบันราคาแตะ 100 กว่าบาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่พ่อค้าคนกลางดีลซื้อถึงไร่
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นักวิจัยได้ขอถอนงานวิจัยที่กำลังรอตีพิมพ์ ในประเด็นที่ว่า ฟ้าทะลายโจร ใช้รักษา COVID-19 แล้วลดการเกิดปอดอักเสบได้ ระบุว่าเพราะหลักฐานยังไม่พอ ต้องรอวิจัยใหม่ด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น
ต่อมา ‘อัมพร เบญจพลพิทักษ์’ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงชี้แจงกรณีการถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจร ระบุว่า
“แม้จะเป็นจุดเล็กน้อย แต่งานวิจัยตัวเลขเล็กน้อยเป็นเรื่องใหญ่ นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผลลัพธ์ จึงดึงข้อมูลตรงนี้กลับมา มิได้เป็นการถูกปฏิเสธ การถอนงานวิจัยสรุปว่า ทีมนักวิจัยของไทย ชาวกรมการแพทย์แผนไทยฯ ค้นพบความผิดพลาดสถิติ 1 จุด จึงขอดึงงานวิจัยออกมา ไม่ได้ถูกปฏิเสธ หรือส่งคืนกลับมาจากวารสาร และผลงานวิจัยเนื้อหาทั้งหมดเป็นไปตามรายงานฉบับแรก เมื่อปรับปรุงตัวเลขให้ถูกต้องแล้ว จะส่งกลับไปตีพิมพ์ ดังนั้น ในทางปฏิบัติ สารสกัดฟ้าทะลายโจรของไทยยังมีแนวโน้มที่ดีที่จะได้ผลในการป้องกันผู้ติด COVID-19 ไม่ให้เกิดปอดอักเสบ และใช้งานต่อไปได้ เป็นทิศทางนโยบายเหมือนเดิมทั้งการจ่ายยาในระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน” และสารสกัดฟ้าทะลายโจรถือว่าเป็นยา ขอให้ใช้อย่างระมัดระวังภายใต้คำแนะนำของแพทย์
ซึ่งสำหรับความนิยมของฟ้าทะลายโจร ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
ส่องการเติบโตตลาดสมุนไพรไทยหลายปีที่ผ่านมา
ภาพรวมตลาดสมุนไพรล่าสุดเท่าที่มีการบันทึกเอาไว้จากกระทรวงเกษตรฯ คือปี พ.ศ.2562 โดยระบุว่ามีมูลค่ารวมทะลุ 5.2 หมื่นล้านบาท (ปี พ.ศ.2560 อยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท) และน่าจะโตอย่างรวดเร็วจากการระบาดไวรัส COVID-19 หลังจากนี้ ซึ่ง ‘ทองเปลว กองจันทร์’ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า จะเดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชและสมุนไพรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการตลาดมากขึ้นในปีต่อจากนี้ ซึ่งไม่ได้มาจากปัจจัยแค่จากโรคระบาดอย่างเดียว แต่มองไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เนื่องจากคนรุ่นใหม่ให้หันมาทานสมุนไพรและอาหารที่มีความปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจุบัน มีสมุนไพรของไทย ที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็น ‘product champion’ ที่เป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 4 ชนิด คือ กระชายดำ ไพล บัวบก และขมิ้นชัน และยังมีสมุนไพรอื่น ที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น กวาวเครือขาว มะขามป้อม กระชาย พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน และว่านหางจระเข้
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 กระทรวงเกษตรฯ ได้ระบุถึงมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.3% ซึ่งถือว่าแซงหน้าจีน ที่เติบโตเฉลี่ย 5.06% เกาหลีใต้ 5.43% และญี่ปุ่น 0.85% ด้านการส่งออกพืชสมุนไพรไปยังประเทศปลายทางหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐ อยู่ในรูปวัตถุดิบแห้งและบด สารสกัดหยาบและผลิตภัณฑ์ แต่ยังมีมูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่ของสมุนไพร ที่แฝงอยู่ในสินค้าหลายประเภท ที่ไม่ได้มีการนำมารวมมูลค่า เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ธุรกิจอาหาร ธุรกิจนวดและสปา จึงยังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก
อ้างอิงข้อมูลจาก