ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมธุรกิจสอนพิเศษ ด้วยข้อหาว่ามันเป็นธุรกิจที่ทำลายธรรมชาติของการศึกษา อย่างไรก็ดี การออกมาตรการควบคุม กลับยิ่งทำให้ธุรกิจติวเตอร์ในจีนเฟื่องฟูกว่าเดิม
จีนมีระบบ Gaokao ในการคัดเลือกนักเรียน เพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย หรือเรียกง่ายๆ ว่ามันคือระบบแอดมิชชันแบบบ้านเรา เพียงแต่โหดหินกว่าหลายเท่าตัว เนื่องจากเด็กๆ ต้องเจอกับการแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 50,000 เพื่อสานต่ออนาคตการศึกษาของพวกเขา
ด้วยระบบการคัดเลือก ที่ขึ้นชื่อว่ายากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้ธุรกิจการสอนพิเศษในจีน ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ปกครองและบุตรหลานเป็นอย่างมาก โดยจากรายงานระบุว่า มีเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจติวเตอร์เหล่านี้กว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.4 แสนล้านบาท) ซึ่งจำนวนมากมาจากบริษัท Alibaba และ Tencent ซึ่งกำลังถูกรัฐบาลจีนตรวจสอบอย่างหนัก
จนเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมธุรกิจสอนพิเศษ ไม่ให้มีการเรียนการสอนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่า ธุรกิจการสอนพิเศษ เป็นการปล้นสะดมจากลัทธิทุนนิยม อีกทั้งยังขัดต่อธรรมชาติของการศึกษา ซึ่งควรจะเป็นเรื่องของสวัสดิการ
มาตรการดังกล่าว ได้กวาดล้างหลายบริษัท ที่เปิดสอนพิเศษ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินในธุรกิจเหล่านี้กว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 6.1 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ดี กลับมีรายงานว่า มาตรการดังกล่าวทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมาก ไหลเวียนเข้าสู่ระบบการสอนพิเศษเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะผู้ปกครองต่างต้องการส่งให้ลูกหลานได้เรียนเสริมมากขึ้น ท่ามกลางโรงเรียนสอนพิเศษที่น้อยลง
กฎระเบียบดังกล่าว กระทบเพียงแต่ครอบครัวชนชั้นกลางในจีนเท่านั้น เพราะยังมีลูกเศรษฐีอีกมากมาย ที่สามารถเข้าถึงการเรียนพิเศษแบบตัวต่อตัวได้ ธุรกิจการสอนพิเศษในจีน แทบจะกลายเป็นเรื่องใต้ดิน มีรายงานระบุว่า ค่าเรียนพิเศษในบางติวเตอร์พุ่งสูงขึ้นถึง 3,000 หยวนต่อชั่วโมง (ประมาณ 15,000 บาท)
ในขณะที่เศรษฐีชาวจีนสามารถจ่ายเงินไม่อั้น เพื่อเปิดคลาสส่วนตัวให้ลูก แต่ชนชั้นกลางหลายครอบครัวกลับต้องกระเสือกกระสน ด้วยเงินเท่าที่ครอบครัวพอจะมีส่งให้ลูกเรียนได้ เพื่อหาโรงเรียนหรือครูสอนพิเศษ ที่ยังไม่ถูกรัฐบาลจีนสั่งปิด เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตจากรัฐบาล
มาตรการควบคุมการสอนพิเศษของจีน ถูกเชื่อมโยงกับแผนพิมพ์เขียวแนวทางพัฒนาประเทศ 5 ปี ของรัฐบาลที่ประกาศว่า พวกเขาจะควบคุมทุกอย่างในประเทศ ให้เป็นไปตามโครงสร้างหลักนิติธรรม อย่างไรก็ดี นักวิชาการในจีนออกมาแสดงความเห็นว่า ปัญหาธุรกิจการสอนพิเศษจะไม่จบไป ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิรูประบบรับเด็กเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/social/hello-gaokao/10946
#Brief #TheMATTER