ในแต่ละปี เด็กๆ ชาวจีนนับล้านคนต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เรียกว่าเป็นการชี้ชะตาอนาคตของเด็กๆ เหล่านี้เลยก็ว่าได้ ทุกวันที่ 7 และ 8 มิถุนายน ในประเทศจีนจะจัดการสอบที่มีชื่อว่า ‘gaokao’ เป็นระบบการสอบเอนทรานซ์ของจีน ซึ่งถือว่าเป็นอีเวนต์ยิ่งใหญ่ระดับชาติ ที่ถึงกับต้องประกาศให้เป็นวันหยุดกันเลยทีเดียว
สำนักงานคมนาคมกรุงปักกิ่ง ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กๆ ที่จะต้องเข้าสอบ เช่น จำกัดการใช้ถนนชั่วคราวและจัดสถานที่จอดรถชั่วคราวบริเวณใกล้ๆ สถานที่สอบ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาของการสอบ รถเมล์ แท็กซี่และรถยนต์ที่จะผ่านสถานที่ทำการสอบ จะถูกห้ามบีบแตร หรือต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้ส่งเสียงรบกวนเด็กๆ ที่กำลังทำข้อสอบ
ก่อนหน้าวันสอบหนึ่งวัน บางครอบครัวจะย้ายไปพักที่โรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ กับสนามสอบเลย เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางไปสอบในตอนเช้าและทำให้เด็กๆ ไม่ต้องเร่งรีบเกินไป
เหตุที่ต้องจริงจังกันขนาดนี้ เพราะการสอบครั้งนี้เป็นเหมือนการกำหนดอนาคตของเด็กๆ คะแนนทุกคะแนนมีความหมายกับชีวิตของพวกเขามาก ใครได้คะแนนดี ก็จะมีโอกาสในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากขึ้น
ในช่วงสุดท้ายของการสอบ จะมีผู้ปกครองมายืนให้กำลังใจและรอรับลูกๆหลานๆ กันอย่างล้นหลาม ไม่เพียงแต่เด็กๆ ที่ตื่นเต้นกับการสอบครั้งนี้ เพราะเหล่าผู้ปกครองเองต่างก็ตื่นเต้นไปไม่น้อยกว่ากัน เนื่องจากแต่ละปีจะจัดสอบเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น หากสอบไม่ผ่าน ก็จะต้องรอถึงหนึ่งปีเพื่อกลับมาสอบอีกครั้ง สำหรับเด็กๆ ที่มีฐานะทางครอบครัวไม่ดีเท่าไหร่นัก ก็มักต้องไปทำงานด้วยวุฒิเพียงระดับ ม.ปลายเท่านั้น และเมื่อสิ้นสุดเวลาการสอบ เด็กๆ ต่างเดินออกมาหาครอบครัวที่ยืนรออยู่ข้างนอก บ้างก็เตรียมช่อดอกไม้ไว้ให้ลูกๆหลานๆ บ้างก็ถือโอกาสถ่ายรูปครอบครัวมันซะเลย ถือว่าเป็นการแสดงความยินดีกับเด็กๆ ที่ผ่านการสอบสุดโหดนี้มาได้
การสอบ gaokao นั้น มีอัตราการแข่งขันสูงมาก ราว 1 ต่อ 50,000 คน ซึ่งทุกคนล้วนอยากจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ และอยากจะมีโอกาสได้ทำงานดีๆ กันทั้งนั้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินเส้นทางชีวิตของพวกเขา ก็คือคะแนนสอบ gaokao นี่แหละ
ด้วยเหตุที่การสอบ gaokao มีความสำคัญต่อชีวิตของเด็กๆ ทุกคนมากขนาดนี้ ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นตามมา นั่นคือ ‘การโกง’ เด็กๆ ต่างสรรหาสารพัดวิธีและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเช่น กล้อง spy camera อุปกรณ์วิทยุและหูฟัง ที่สามารถส่งคำถามไปให้คนข้างนอกส่งคำตอบกลับมาได้ โดยจะแอบซ่อนอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ตาม แว่นตา เครื่องประดับ กระเป๋าสตางค์ ปากกา ไม้บรรทัด หรือแม้กระทั่ง กางเกงชั้นใน แต่ทางการก็มีมาตรการตรวจสอบ โดยการติดตั้งกล้อง CCTV และเครื่องตรวจจับโลหะ เอาไว้เพื่อป้องกันกลโกงต่างๆ ของนักเรียนเหล่านี้
โดยปีที่แล้ว ในมณฑลเจียงซี ตำรวจตรวจพบว่า มีผู้ปกครองบางกลุ่ม ได้จ้างให้คนอื่นมาเข้าสอบแทนลูกหลานของตัวเอง โดยการเปลี่ยนรูปบนบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ ซึ่งต้องใช้เงินกว่าหลายล้านหยวนเลยทีเดียว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ ทางการจึงใช้วิธีการสแกนนิ้วมือ เพื่อยืนยันตัวตนและป้องกันไม่ให้มีการเข้าสอบแทนกัน ในมณฑลเหอหนาน ถึงขั้นนำโดรนมาใช้เพื่อตรวจสอบจากมุมสูงและสแกนว่ามีการส่งสัญญาณวิทยุใดๆ หรือไม่ อีกทั้งในปีนี้ ได้มีการปรับบทลงโทษให้หนักขึ้น คนที่โกงการสอบจะถูกจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี เรียกได้ว่า ต้องใช้ทุกวิธีเพื่อจะยับยั้งไม่ให้เกิดการโกงกันขึ้นได้
การสอบ gaokao นั้นถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีไปกว่านี้ สำหรับครอบครัวที่มีฐานะ ก็เลือกที่จะส่งเด็กๆ ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศกันมากกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ประเทศจีนมีประชากรมากเกินไป ทำให้ทุกคนต้องตกอยู่ในสภาวะการแข่งขันกันสูงอยู่ตลอดเวลา และการมีสถานศึกษาในจำนวนที่จำกัดแบบนี้ ก็เป็นการคัดแยกเด็กๆ ว่าใคร เหมาะสมที่จะได้รับโอกาสที่ในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ธรรมเนียมการสอบแบบครั้งเดียวจบแบบนี้ ทำให้นึกย้อนไปถึงประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่มีการสอบ keju ซึ่งเป็นการสอบเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะเข้าทำงานเป็นข้าราชการ (หรือขุนนางในสมัยนั้น) และได้ใช้เป็นเกณฑ์การสอบคัดเลือก ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 7 แต่เมื่อถึงปี 1905 ก็ได้ถูกยกเลิกไป โดยผู้เข้าสอบทุกคน จะต้องนั่งทำข้อสอบในห้องเล็กๆ เป็นเวลาสามวัน นั่นหมายถึงว่าจะต้องกินและนอนอยู่ในห้องนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดการสอบ ซึ่งมีผู้ที่สอบผ่านเพียง 1% เท่านั้น
การสอบ gaokao ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1952 โดย รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ และหยุดไปช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ถูกปิดไป และบางแห่งที่ยังเหลืออยู่ ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านการเมือง มากกว่าวิชาการทั่วไป และถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ในปี 1977 โดยมีผู้สมัครสอบถึง 5.7 ล้านคน แต่มีที่นั่งในมหาวิทยาลัยเพียง 220,000 ที่เท่านั้น และตั้งแต่ 1978 เป็นต้นมา การสอบ gaokao จะถูกจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี
ในการสอบจะใช้เวลารวมทั้งหมด 12 ชั่วโมง ข้อสอบหนึ่งชุดจะประกอบด้วย ข้อสอบชุดย่อยๆ อีกสี่ชุด ซึ่งแต่ละชุดจะมีเวลาให้ 3 ชั่วโมง โดยเป็นวิชาภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และให้นักเรียนเลือกทำอีกหนึ่งวิชาจาก สาขาวิทยาศาสตร์ คือ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ หรือ สาขามนุษยศาสตร์ คือ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งรูปแบบของข้อสอบ จะมีทั้งแบบปรนัยและอัตนัย
เด็กที่ต้องเข้าสอบต่างรู้สึกเครียดและกดดันเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง ถึงแม้ว่า หากสอบไม่ผ่านในรอบแรก จะสามารถสอบอีกได้ในปีต่อไป แต่ถ้ายังสอบไม่ผ่านเหมือนเดิม ก็จะไม่มีโอกาสในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ตัวเองหวังไว้ นั่นจึงทำให้เกิดการตัดสินใจ ‘ฆ่าตัวตาย’ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงของการสอบ และจากการสำรวจ ในปี 2014 พบว่า ความเครียดจากการสอบ เป็นปัจจัยในการตัดสินใจจบชีวิตของเด็กๆ กว่า 93%
ถึงแม้ว่าในแต่ละปี จะมีผู้เข้าสอบไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคน แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีจำนวนลดลง เนื่องจากเด็กๆ บางส่วน หันไปสนใจการเรียนในหลักสูตรอาชีวศึกษา ซึ่งมีโอกาสได้งานทำมากกว่า เพราะมีการแข่งขันไม่สูงมาก และมีเด็กๆ อีกจำนวนมาก ที่ตั้งเป้าว่าจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย
ในอดีตนั้น เด็กที่เก่งที่สุดจะเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แต่ตอนนี้ พวกเขาตัดสินใจไปเรียนที่ฮาร์วาร์ดแทน จากสถิติพบว่า มีนักเรียนจากจีนมากกว่า 300,000 คนไปเรียนที่อเมริกาและอีก 90,000 คนไปเรียนที่อังกฤษ โดยนักเรียนเหล่านี้ให้ความเห็นว่า พวกเขาเลือกที่จะออกมาจากระบบการศึกษาของจีน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นอุตสาหกรรมและทำให้เด็กเป็นเหมือนหุ่นยนต์มากเกินไป
อ้างอิงข้อมูลจาก