ขอแสดงความยินดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ 7 ปีเต็ม คนที่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องได้นานขนาดนี้คงมีผลงานมากมายแน่ๆ ชีวิตคนไทยต้องดีขึ้นกว่าก่อนที่แกจะเข้ามาเป็นผู้นำประเทศแหงๆ – หรือเปล่านะ?
แต่ประเด็นที่เรากำลังจะพูดถึง ไม่ใช่ผลงานในฐานะนายกฯ แต่เป็นกรณีที่ ป.ป.ช.ออกมาบอกว่า บัญชีทรัพย์สินของเจ้าตัวที่ยื่นไว้รอบล่าสุด เมื่อปี 2562 ‘เปิดเผยไม่ได้’ อ้าว! ทำไมล่ะ ทั้งๆ ที่กว่า 20 ปีที่กฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ก็มีการเปิดเผย ‘บัญชีทรัพย์สินของนายกฯ’ ให้สาธารณชนได้ร่วมกันตรวจสอบมาตลอด
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมกรณี พล.อ.ประยุทธ์ถึงเป็นข้อยกเว้น
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชน ผ่านการแถลงข่าวใน ZOOM ไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 ว่าเป็นเพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับปี 2561 ไม่ให้อำนาจในการเปิดเผย เพราะบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยื่นไว้รอบล่าสุด เป็นการยื่นไว้ ‘เพื่อเป็นหลักฐาน’ ตามมาตรา 105 วรรคสี่เท่านั้น
“กระทั่ง ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจยังไม่ได้เลย ทำได้แค่เก็บไว้เฉยๆ เว้นแต่มีการอ้างถึงถึงค่อยเข้าไปตรวจสอบได้” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว
ขยายความจริงคำพูดประธาน ป.ป.ช.นิดนึงว่า ในมาตรา 105 วรรคสี่ ของกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับปี 2561 กำหนดว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ (หมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. เป็นต้น) หากได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง ไม่ว่าจะตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ ภายใน 30 วัน ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ แต่ไม่ห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน
ผลคือ มีคนใน ครม.ชุดปัจจุบัน 7 คน และ ส.ว.แต่งตั้งอีก 114 คน ได้รับอานิสงส์จากมาตรานี้
แล้วเหตุใดถึงมีกฎหมายที่เขียนแบบนี้ขึ้นมา?
มันจะทำให้ประเทศชาติโปร่งใส – ตรวจสอบได้ – ปราศจากการทุจริตขึ้นได้อย่างไร
The MATTER พยายามตรวจสอบย้อนหลังว่า มาตรา 105 วรรคสี่ของกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับปี 2561 มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนต้นคิด ..พบร่องรอย ดังนี้
ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. (หรือชื่อทางการ ‘พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต’) ฉบับปี 2561 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถูกยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ‘กฎหมายลูก’ ทั้ง 10 ฉบับ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดย กรธ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ขึ้นมา มีอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธาน กกต. เป็นประธาน
คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุม 37 ครั้ง ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค.2559 – 25 ก.ค.2560 ก่อนจะส่งร่างกฎหมาย ป.ป.ช. และผลการรับฟังความเห็นซึ่งทำคู่ขนานกันไปให้ กรธ.พิจารณาต่อ ซึ่งเริ่มพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่ไปเสร็จสิ้นเอาวันที่ 19 ต.ค.ในปีเดียวกัน
เนื้อหาเกี่ยวกับการ ‘ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่’ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในร่างของอนุกรรมการของ กรธ. จะอยู่ที่มาตรา 95 วรรคสี่ แต่พอ กรธ.พิจารณาเสร็จจะถูกขยับไปเป็นมาตรา 103 วรรคสี่ โดยไม่มีการแก้ไข (นั่นแปลว่า เนื้อหาในส่วนนี้มีมาตั้งแต่ชั้นอนุกรรมการของ กรธ.แล้ว)
จากนั้น ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. องค์กรที่คณะรัฐประหารในปี 2557 ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบในวาระแรก-รับหลักการ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2560 มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณาในรายละเอียด จากนั้นส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช. เห็นชอบในวาระสอง-พิจารณารายมาตรา และวาระสาม-เห็นชอบทั้งฉบับ โดยใช้เวลาประชุมถึง 3 วัน คือในวันที่ 21, 22 และ 25 ธ.ค.2560 โดยเหตุที่มีการพิจารณาหลายวันไม่ใช่เพราะประเด็นการไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ แต่เป็นเรี่องอื่นๆ เช่น จะเซ็ตซีโร่ ป.ป.ช.เหมือนองค์กรอิสระอื่น เช่น กกต.ไหม (บทสรุปคือไม่) จะให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการดักฟังโทรศัพท์หรือแอบอ่านอีเมลหรือไม่ (ถูกตัดทิ้ง) เป็นต้น
ผลการพิจารณาปรับแก้เนื้อหาหลายๆ ส่วนทำให้มาตราเกี่ยวกับ ‘ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่’ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกขยับมาเป็นมาตรา 105 วรรคสี่ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน – โดยไม่โดนปรับแก้ถ้อยคำเลยตั้งแต่ต้นทาง!
เอาเข้าจริง เฉพาะเรื่องบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับที่ กรธ.เสนอให้ สนช.พิจารณาตอนแรกก็มีเนื้อหาที่แย่กว่านี้ด้วยซ้ำ เช่น บัญชีทรัพย์สินของนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. ฯลฯ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนช่วยกันตรวจสอบ ร่างแรกก็เขียนไว้ว่าให้เปิดเผยเป็น ‘ข้อมูลโดยสรุป’ เท่านั้น แต่ถูกวิพากษ์อย่างหนัก จนสุดท้ายโดนตัดทิ้งในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ
หลายคนอาจมองว่า มาตรการที่ให้ผู้มีอำนาจ-เจ้าหน้าที่รัฐยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่น่าจะทำอะไรได้หรอก เพราะถ้าคนจะทุจริตก็คงไม่ใส่อะไรไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้กลายเป็นหลักฐานมัดตัวเองแน่ๆ
แต่สิ่งที่น่าคิดย้อนกลับก็คือ หากมาตรการนี้ไม่มีประโยชน์จริงๆ แล้วเหตุใดคนบางกลุ่มถึงพยายามที่จะทำให้ตัวเองไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน (ถึงขั้นลาออก) หรือต่อให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้แล้วก็หาข้อกฎหมายมาให้ทำให้เปิดเผยไม่ได้ด้วย
“ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร” คำนี้เราได้ยินบ่อยๆ จากปากผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะในยุค คสช.
แต่น่าแปลกที่คนที่พูดคำนี้บ่อยๆ กลับไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลสำคัญอะไรให้สาธารณชนได้เข้าถึง
แม้กฎหมาย ป.ป.ช.จะไม่ให้อำนาจ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ (หากเป็นจริงตามที่ประธาน ป.ป.ช.อ้าง) แต่ก็ไม่ได้ห้าม พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของตัวเองให้สาธารณชนได้ตรวจสอบนี่นะ
ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ จะกลัวอะไร ก็แค่เปิดให้ดูเท่านั้น
- ปล.1 ข่าวนี้เขียนขึ้นได้เพราะการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสน่าชื่นชมของรัฐสภา ที่เปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและการพิจารณาร่างกฎหมาย ทั้งในชั้นอนุกรรมการ กรธ., กรธ. และ สนช. ไว้บนเว็บไซต์
- ปล.2 เราพยายามใส่เชิงอรรถในข่าวให้มากที่สุดเท่าที่จำเป็น เผื่อใครสนใจไปศึกษาต่อ หรืออาจไปดูข้อมูลจากต้นทางแล้วมีอะไรอยากจะโต้แย้ง ซึ่งพร้อมรับฟังเต็มที่
#Brief #TheMATTER