เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกและค้าส่งในต่างประเทศทั่วภูมิภาค โดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริการซีพี และประธานกรรมการ บ.สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จะให้ ‘สยามแม็คโคร’ เป็นบริษัทแม่ของ ‘ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์’ (CPRH) จำกัด ซึ่งถือ Lotus’s อยู่
โดยคืนที่ผ่านมา (31 สิงหาคม พ.ศ.2564) มีรายงานระบุถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจของซีพี ด้านการค้าปลีกในเครือ โดยให้ Lotus’s ควบรวมกิจการกับ Makro เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการค้าปลีกและส่ง และเพื่อให้ซีพีบรรลุเป้าหมายการตีตลาดในระดับโลก
โดย ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD) ได้ยื่นเอกสารต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อโอนกิจการ Lotus’s ให้อยู่ในการดูแลของสยามแม็คโคร
ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ลงมติในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2564 ระบุว่า “คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบการโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 20% ผ่านบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (“CPM”) ให้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (“Makro”) (“EBT”) ซึ่งมีมูลค่ารวม 43,589,814,450 บาท ภายใต้การทำ EBT นั้น เป็นการโอนกิจการของ CPRH ให้แก่ Makro ด้วยวิธีโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer)”
ทั้งนี้ ก่อนการควบรวมกับ Makro, ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD) เมื่อปลายปี พ.ศ.2563 ได้ควบรวบกิจการกับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย)
ทำให้ ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ได้ถือหุ้น 99.99% ใน Lotus’s และ 100% ใน Lotuss Stores (มาเลเซีย) ซึ่งหลังจากนี้ ทั้งหมดจะถูกโยกไปอยู่ภายใต้การบริหารของสยามแม็คโคร (และสองบริษัทย่อย CPM, CPH ที่ถูกปรับเข้าไปเพิ่มด้วย)
– CPALL จะถือหุ้นลดลงเหลือ 65.97% จากเดิม 93.08%
– เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (CPH) จะเข้ามาถือหุ้น 20.43% จากเดิม 0.00%
– CPM จะเข้ามาถือหุ้น 10.21% จากเดิม 0.00%
– ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เดิมทีมีสัดส่วนถือหุ้นใน Makro อยู่ที่ 6.92% จะลดลงเหลือ 3.39%
การโอนกิจการครั้งนี้ มีมูลค่ารวมที่ 43,589 ล้านบาท โดยเป็นการคำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น 20% ของ บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) ใน CPRH โดยแม็คโคร “จะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้แก่ CPRH ในจำนวนไม่เกิน 5,010,323,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาเสนอขาย 43.50 บาทต่อหุ้น เพื่อเป็นการชำระค่าตอบแทน”
หรือก็คือเมื่อโอนกิจการและควบรวมสำเร็จ Makro จะเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ใน CPRD หรือหมายความว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่ม Lotus’s
เอกสารจาก Makro ระบุว่า เนื่องจาก Makro และ Lotus’s ทำกิจการคล้ายคลึงกัน “ […] การที่บริษัทฯ รับโอนกิจการทั้งหมดและถือหุ้นของ CPRD จะส่งเสริมและสนับสนุนการ ดำเนินธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันของบริษัทฯ และทำให้กลุ่มบริษัทมีความแข็งแกร่งในการก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค […] ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสและมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการอื่นในประเทศและในทุกภาคส่วน”
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบที่จะนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคม เพื่อให้อนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จากปัจจุบัน 2,400 ล้านบาท เป็น 5,586 ล้านบาท โดยการเปิดขายหุ้นใหม่ จำนวน 6,372,323,500 หุ้น ที่ราคาพาร์ หุ้นละ 0.5 บาท ซึ่งในจำนวนนั้น จะเป็นการเปิดขายให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 1,362,000,000 หุ้น เพื่อที่จะเดินหน้าตามแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ต่อมา ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะบริการซีพี กล่าวในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2564 ว่า “เพื่อที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลกที่ซับซ้อน เราต้องตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำบริษัทในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพีขยายธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจในเวทีระดับโลก หากเมื่อมีการปรับโครงสร้างธุรกิจต่างๆ หลังได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว จะทำให้สยามแม็คโคร กลายเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด”
เครือซีพีได้แถลงระบุว่า การปรับโครงสร้างค้าปลีกครั้งนี้ก็เพื่อเร่งเครื่องขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยจะเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกและส่งในต่างประเทศทั่วภูมิภาค และต่อยอดทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์ ถือเป็น “โอกาสสำคัญของไทยบนเวทีโลก”
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการตัดสินใจต่างๆ ช่วยทำให้ Makro และ Lotus’s มีความคล่องแคล่ว รวดเร็ว (agility) ในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับนานาชาติ
“เราต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกของเราทั่วโลกทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต และ SME ไทยนับหมื่นๆ ราย ให้สามารถนำผลผลิตและสินค้าไปขายในต่างประเทศ” และสานฝันครัวไทยให้กลายเป็นครัวโลก
“ขนาดของธุรกิจ (scale) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก นั่นคือเหตุผลที่ในโลกปัจจุบัน บริษัทค้าปลีกระดับโลกจะเป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ ยกตัวอย่างผู้ค้าปลีกสองรายที่ใหญ่ที่สุดของโลก สามารถสร้างยอดขายของแต่ละรายได้มากกว่าขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกของไทยในการไปแข่งขันในระดับโลก” ศุภชัยบอก
ปัจจุบัน เครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งอยู่ในประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมาร์ ภายใต้แบรนด์และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมจำนวนประมาณ 337 ร้านค้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากโครงสร้างธุรกิจทั้งหมดซึ่งซีพีทำทั้งการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร และเป็นผู้ค้าปลีกและส่งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การควบรวมกิจการครั้งนี้ จึงมีแนวโน้มเสริมความแข็งแกร่งด้านค้าปลีกของเครือบริษัท และน่าจะทำให้คู่แข่งรายอื่น หรือผู้เล่นใหม่ในตลาดน่าจะลำบากขึ้นไม่มากก็น้อยในแง่ของการแข่งขันด้านต้นทุนและราคา
อ้างอิงข้อมูลจาก