วันนี้ (4 มีนาคม 2568) เมื่อเวลา 9.00น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม กรณีกลุ่มเกษตรกรยื่นฟ้อง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จากข้อกล่าวหาที่ระบุว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการประกอบอาชีพ
หลังศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีนี้มีข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่คล้ายกันในกลุ่มผู้เสียหายจำนวนมาก ดังนั้นจึงอนุญาตให้ฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะของคดีแบบกลุ่ม เพื่อลดภาระให้กับศาลและผู้ฟ้องคดีเอง
ทั้งนี้ คำอนุญาตนี้ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่า CPF นั้นมีความผิดหรือไม่ อย่างไร เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นดำเนินคดีจากกลุ่มผู้เสียหายที่ต้องการฟ้องร้องเท่านั้น แต่การพิสูจน์และตัดสินความผิดจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นตามกระบวนการศาลต่อไป
หลังมีคำสั่งศาลในวันนี้ ผู้แทนจาก CPF ยืนยันว่า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมยืนยันว่า การดำเนินงานของบริษัทไม่ได้เป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว โดยบริษัทจะอุทธรณ์ตามสิทธิที่มี และจะสู้คดีด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ประเทศไทยได้พบการระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2555 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม และระบาดมากขึ้นในช่วงปี 2559 จนในปีที่ผ่านมาก็ถือเป็นกระแสที่คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ว่าปลาหมอคางดำเริ่มระบาดได้อย่างไร ใครเป็นคนนำมันเข้ามา
เมื่อย้อนกลับไป พบว่า ในปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้ CPF นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข และเริ่มนำเข้ามาในปี 2553 จนมีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ที่ทำให้ปลาหมอคางดำระบาดคือ CPF และนำมาสู่การฟ้องร้องจากความเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้าน CPF เคยชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า ไม่ได้เป็นต้นตอการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมถึงเคยทำลายซากปลาทั้งหมดแล้วในเดือน 2553 โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและรอบคอบ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน
ข้อเท็จจริงและการตัดสินคดีจะเป็นอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ควรจับตามองต่อไป