หากถามว่าเพลงล่าสุดในเพลย์ลิสต์ที่ฟังคือเพลงอะไร เทรนด์แฟชั่น ของกิน หรือ gadget ที่เราอินตอนนี้คือเรื่องไหนบ้าง แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากกระแส K-pop ต้องยอมรับว่าการส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะวงการเพลง K-pop ไม่เพียงขยายอาณาจักรวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นที่รู้จักระดับสากล หากแต่ยังยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสร้างมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ฯ ให้กับ GDP ของเเกาหลีเมื่อปีที่ผ่านมา
นี่เองที่ทำให้เห็นว่า soft power อย่างดนตรี เพลง K-pop ตลอดจนคอนเทนต์บันเทิงต่างๆ ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้อย่างทรงพลัง
วงการเพลงคือหนึ่งในปัจจัยหลักของการสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ไปสู่ระดับโลก หากอ้างอิงรายงานจาก IFPI Global Music ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ.2020 เกาหลีใต้คือประเทศที่มีตลาดดนตรีใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และอยู่อันดับ 2 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่น แถมยังติด 10 อันดับ ศิลปินที่ยอดขายอัลบั้มมากที่สุดระดับโลก โดยมีอัลบั้มเพลงจากเกาหลีใต้ติดชาร์ตทั้งหมด 4 อัลบั้ม และอันดับหนึ่งก็เป็นศิลปิน K-pop อย่างวง BTS ที่มียอดขายทั้งหมด 4.8 ล้านยูนิต
นอกจากนี้ มูลค่ารวมของตลาดเพลงทั้งหมดคิดเป็นประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตคิด 8.9% ตลอดปี ค.ศ.2020 (อ้างอิงจากรายงานของ Korea Creative Content Agency; KOCCA)
ที่สำคัญ การส่งออกคอนเทนต์และเพลง K-pop ที่มีการจดลิขสิทธิ์ทั้งหมดสร้างมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ฯ ให้กับ GDP ของประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา แน่นอนว่ามูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่ K-Pop กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อะไรทำให้วงการเพลงและดนตรี โดยเฉพาะ K-pop กลายเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญในการส่งออกประเทศไประดับโลกและประสบความสำเร็จ แม้ช่วงปีที่ผ่านมาวงการเพลงและคนดนตรีต่างได้รับผลกระทบจากการยกเลิกงานดนตรีและคอนเสิร์ตจากภาวะโรคระบาด แต่ K-pop กลับเป็นความหวังที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้เสมอ
อย่างแรกคือ เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมเพลง K-pop ที่มีความเป็น iconic และ influential ที่ช่วยสื่อสารกับคนติดตามและสร้างความเป็นแฟนด้อม (กลุ่มแฟนคลับของศิลปินกลุ่มนั้นๆ) ทำให้ผู้คนรู้สึกยึดโยงเชื่อมถึงกันในสิ่งที่ตัวเองรักและชื่นชอบ นำมาสู่การซัพพอร์ตศิลปินในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การสนับสนุนเพลงของศิลปินในช่องทางต่างๆ ซื้ออัลบั้ม สินค้า หรือคอนเทนต์ต่างๆ ที่ผู้ผลิตมีการจดลิขสิทธิ์และจะเข้าชมได้ในกรณีที่เสียเงินจ่ายไปแล้ว
นอกจากนี้ การนำเสนอข้อความที่สื่อสารผ่านเพลง มิวสิกวิดีโอ หรือแม้แต่คอสตูมของศิลปิน K-pop ก็เน้นเรื่องที่สื่อสารกับผู้คนได้ในระดับสากลมากขึ้น ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนฟังได้หลากหลายในระดับโลก จึงไม่แปลกที่การขยายฐานวัฒนธรรม K-pop ให้เป็นที่รู้จักและต่อยอดสู่ธุรกิจในมิติอื่น
อีกอย่างหนึ่งคือ การวางระบบโครงสร้างที่หนุนคนผลิตและสร้างงานบันเทิงของประเทศนั้นมีส่วนช่วยให้รากฐานอุตสาหกรรมเพลงและคอนเทนต์บันทิงอื่นๆ เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว ประเทศเกาหลีใต้จะมีองค์กรหลัก 4 องค์กรที่รับผิดชอบงานด้านการจัดเก็บใบอนุญาตและการเก็บค่าสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ประพันธ์เพลงนั้น นั่นหมายความว่า เมื่อมีการใช้เพลงหรือดนตรีที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์ในงานใดหรือที่ไหน เจ้าของมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทน นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังให้ความสำคัญกับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามที่ได้ร่วมลงนามกับ WTO TRIP รวมทั้งปฏิบัติตามแนวทางเรื่องลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด นี่เองที่ช่วยหนุนคนทำเพลงให้มีรายได้และไม่ถูกขโมยผลงาน
ที่สำคัญ การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงในเกาหลีใต้ ทั้งเพลง หนัง และซีรีส์ ไม่เพียงขยายอาณาจักรความเป็นเกาหลีที่ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ แต่ยังส่งผลต่อรายได้ของคนทำงานในแวดวงศิลปะด้วย เพราะจากการสำรวจผู้มีรายได้สูงสุดในเกาหลีใต้ช่วงครึ่งปีแรก ค.ศ.2021 ก็คือ คังฮโยวอน หรือ Pdogg โปรดิวเซอร์เพลง K-pop ที่มีรายได้กว่า 4 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 1 พันล้านบาท) แซงหน้า ชุง มองกู ประธานฯ บริษัทฮุนได
อ้างอิงข้อมูลจาก