กระแสข่าวดังที่ร้อนแรงในเกาหลี และวงการ K-Pop ตอนนี้ ยังไงก็ไม่พ้นเรื่องการสืบสาวกรณียาเสพติดในผับดัง การค้าบริการทางเพศ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ และลามไปถึงห้องแช็ตส่งคลิปแอบถ่ายตอนมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ไม่ได้รับการยินยอม
แต่ประเด็นกลายมาเป็นข่าวใหญ่ในวงการ K-Pop เพราะมีศิลปิน และไอดอลชายชื่อดังจากหลายวง (ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีคนที่เราเป็นแฟนคลับมานาน T^T) ที่พบหลักฐานมีส่วนพัวพัน เกี่ยวข้อง และต้องเข้ารับการสอบสวนกับตำรวจ
เหตุการณ์ที่ค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมาตลอดสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่แล้วมาจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน ซึ่งสอบสวนหาข้อมูลมานาน และตั้งใจว่าจะสืบสวน เปิดโปงประเด็นนี้ให้ถึงบุคคลที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง
เราจึงสนใจบทบาทของ ‘สื่อมวลชน’ ของเกาหลีใต้ในประเด็นนี้ ถึงการเปิดเผยอาชญากรรม ขั้นตอนการสืบสวน ไปถึงพลังที่อาจขุดรากถอนโคนวงจรอาชญากรรม ซึ่งก่อนหน้านี้สื่อเกาหลีใต้เองก็เคยแสดงให้เห็น ถึงการเปิดโปงความไม่โปร่งใสของบริษัทใหญ่ ไปจนถึงการทุจริตของผู้นำระดับประธานาธิบดีมาแล้ว ที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ สื่อมวลชนได้ถูกกีดกัน และต่อสู้กับการควบคุมของรัฐบาลมายาวนาน
จากเหตุทำร้ายร่างกาย ถึงอาชญากรรมใหญ่อย่างค้าประเวณี และแอบถ่าย
หลังจากที่หลายคนได้ตามข่าวนี้ เราเองก็ตื่นเต้นกับการขุดหาข่าว หลักฐาน และสืบสวนกันเสมือนเป็นนักสืบมืออาชีพของนักข่าวเกาหลีใต้ ซึ่งในกรณีนี้ ทำให้ได้เห็นการส่งไม้ต่อการรายงานข่าวของแต่ละช่อง จุดประเด็นและข้อสังเกตที่ต่างกัน จนนำมารวมเป็นการสืบสวนใหญ่
ตั้งแต่การรายงานต้นเหตุของมหากาพย์ของรายการ MBC News Desk ซึ่งคือการทำร้ายร่างกายในคลับ ‘Burning Sun’ ที่พบว่ามีการคุกคามทางเพศผู้หญิง และคลับมีความเกี่ยวข้องกับไอดอลชื่อดังอย่าง ซึงรี วง Bigbang การเปิดคลิปเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผ่านทางช่อง KBS News ที่ทำให้เห็นถึงการใช้สารเสพติดในห้อง VIP ของคลับ ไปจนถึงการเปิดเผยของสำนักข่าว Dispatch ถึงกรุ๊ปแช็ตของพนักงานในคลับที่ทำให้เห็นว่า มีการจัดหาผู้หญิงที่เมาไปยังห้อง VIP และล่วงละเมิดทางเพศจริง
ทำให้การสอบสวนที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับแค่ปัญหาในคลับ เริ่มใหญ่โตไปถึงระดับวงการบันเทิงเกาหลีใต้ เมื่อเรื่องราวมาถึงรายการข่าว SBS FunE ที่รายงานถึงการค้าประเวณี การแอบถ่ายผู้หญิงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยิมยอม และการข่มขืน ซึ่งเป็นรายละเอียดในกรุ๊ปแช็ต และแช็ตส่วนตัว ที่พบว่ามีไอดอลชาย ซึ่งมีชื่อเสียงในวงการเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ซึงรี วง Bigbang, นักร้อง จอง จุนยอง, ชเว จงฮุน หัวหน้าวง FT Island และลี จงฮยอน วง CNBLUE เกี่ยวข้องด้วย
นักข่าวที่กลายเป็นตัวละครสำคัญ ผู้เปิดโปงเรื่องนี้ คือ ‘คัง คยองยุน’ แห่งช่อง SBS
เธอเล่าว่า ได้ตามสืบเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว และตัดสินใจมอบหลักฐานให้สำนักงานปราบปรามการทุจริตคอรัปชันในการสืบสวน แทนตำรวจเพราะพบว่า เนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเธอได้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการสืบหาข้อมูลของเธอว่า “ฉันตัดสินใจที่จะรายงานปัญหาที่ซึงรีจัดหาหญิงขายบริการ ตอนที่ฉันได้รู้เรื่องเกี่ยวกับงานปาร์ตี้สุดหรูของเขาเมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Seung-tsby Party’ ที่มาจากคำว่า (Seungri + Gatsby) ซึงรีได้ทำการเชิญและให้ความบันเทิงต่อนักลงทุนชาวต่างชาติ”
หลังจากนั้นเธอพบว่า งานปาร์ตี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ธุรกิจเติบโต เธอจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดหาหญิงขายบริการในห้องแช็ต Kakaotalk และได้พบแช็ตกลุ่มอื่นๆ ที่มีการแชร์คลิปแอบถ่ายขณะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง ซึ่งนอกจากข้อมูลหลักฐานที่เธอได้จากแช็ตแล้ว เธอยังมีคำให้การของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อแอบถ่ายด้วย
การสืบสวนในครั้งนี้ ยังมีจุดประสงค์ที่จะเปิดเผยอาชญกรรมที่ลึกลงไป จากธุรกิจคลับ ซึ่งนักข่าวคัง ยังเล่าว่า “หลายคนยังคงมีความคิดที่ผิดๆ ว่ารายงานพวกนี้เป็นการเบี่ยงประเด็นหลักของคลับ Burning Sun ประเด็นหลักของคลับนี้ มีทั้งประเด็นซีเรียสมากมาย เช่น การใช้ยาเสพติด, กล้องแอบถ่าย, ความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอื่นๆ แน่นอน ฉันเชื่อว่าเราต้องทำการสืบค้นในเรื่องนี้กันต่อไป”
ซึ่งนอกจากนักข่าว คังคยองยุน แล้ว ยังมีนักข่าว นักข่าว ‘โอ ฮยอกจิน’ ผู้เริ่มเปิดประเด็น รายงานเหตุวิวาทใน Burning Sun ของ MBC News Desk ที่ออกมาเปิดเผยว่า ‘กำลังขุดลึกลงไปในเรื่องอื้อฉาวของ Burning Sun และข่าวใหญ่จะถูกรายงานในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า’ ด้วย
ถึงอย่างนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากบุคคลที่ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ยังอาจมีผู้มีอิทธิพล รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เบื้องหลัง และกังวลถึงความปลอดภัยของนักข่าวที่รายงานประเด็นนี้
นักข่าวคังเล่าว่า เธอเคยถูกกดดันจากตำรวจ ให้มอบวัตถุพยานที่มี ไม่เช่นนั้นเธอจะถูกสืบสวนด้วย รวมถึงนักข่าวโอ ที่ออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลว่า สำหรับผู้ที่เป็นห่วง เขาจะไม่ฆ่าตัวตาย หรือถูกฆ่า และแม้เขาไม่ได้ต้องการให้คดีนี้ดำเนินไปไกล ‘แต่ยิ่งฉันขุดลึกลงไปเท่าไรความจริงก็ยิ่งสกปรกมากขึ้นแม้ว่า รุ่นพี่คนอื่น ๆ จะแนะนำให้ฉันถอยห่างจากเรื่องนี้ หรือระวังตัวเอง’
จึงน่าติดตามต่อว่า การสอบสวนในครั้งนี้ จะสาวไปได้ถึงผู้มีอำนาจจริงไหม และพลังของสื่อเกาหลีใต้ จะขุดราก ถอนโคนผู้ทำผิดการค้าประเวณี ยาเสพติด ล่วงละเมิดทางเพศ และแอบถ่ายได้ขนาดไหน
พลังการสืบสาวของนักข่าวเกาหลี
หลังจากติดตามข่าวนี้กันมา หลายคนได้ทึ่ง และตื่นเต้นกับการสอบสวนในพลังขุดของนักข่าวเกาหลีใต้ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่เคสแรกที่นักข่าวเกาหลี ร่วมกันสืบสาวจนโค่นถึงผู้กระทำผิดเบื้องหลังได้ แต่ในปี 2016 ก็มีการสืบสาวประเด็นการทุจริตของนักศึกษามหาวิทยาลัยอีฮวา ซึ่งลากยาวไปถึงการถอดถอน ประธานาธิบดี พัค กึนฮเย และตัดสินโทษจำคุกเธอได้
จากการเริ่มประท้วงของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยอีฮวา ที่ไม่พอใจการทำงานของอธิการบดี จนถึงการพบการใช้เส้นสายให้กับ ‘ชอง ยูรา’ ไม่ว่าจะตั้งแต่เข้าเรียนได้ด้วยโควตานักกีฬา การไม่เข้าเรียน แต่ได้เกรดที่ดี จนสืบว่าเธอคือลูกสาวของ ชเว ซุนชิล เพื่อนสนิทประธานาธิบดี พัค ซึ่งหลังจากนั้น แต่ละสำนักข่าวก็ได้สืบสวนในประเด็นต่างๆ ทั้งนักข่าว โน ซึงอิล ผู้เป็นคนแรกที่เปิดเผยการทุจริตของชเว และส่งเรื่องต่ออัยการและรัฐสภา จนทำให้ชเว ติดคุก 20 ปีในข้อหาคอร์รัปชัน, สำนักข่าวช่องเคเบิล JTBC ผู้เปิดโปงหลักฐานจากแล็บท็อป และไฟล์ในคอมพิวเตอร์ของชเว ว่า ปธน. พัค ได้ให้ชเวมีส่วนร่วมในประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ นโยบาย และการร่วมสัญญาลับต่างๆ
กรณีนี้ ที่มีการสืบสวนอย่างอิสระที่เข้มงวด นำไปสู่การฟ้องร้องประธานาธิบดีพัค ทำให้ชาวเกาหลีกลับมาเชื่อมั่นในข่าวอีกครั้ง ทั้งหลังเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นในปี 2017 จากรายงานของ Reporter Without Borders หรือ Reporter Sans Frontières (RSF) ในปี 2018 ยังแสดงให้เห็น ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกที่เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 43 สูงขึ้นมาถึง 20 อันดับจากปีก่อนเลยด้วย
ยุคมืดหม่นของสื่อเกาหลีใต้
ก่อนที่นักข่าว และสำนักข่าวเกาหลี จะสืบสวน รายงานข่าวกันอย่างเปิดเผย และทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อในการรายงานข่าว เกาหลีใต้เองก็เคยมียุคมืดของสื่อ ที่สื่อถูกกำกับ กีดกัน อย่างไม่โปร่งใส และสื่อเองต้องต่อสู้ยาวนานเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยในการรายงานข่าว
โดยหลังการเลือกตั้งปี 2007 ของประธานาธิบดี ลี มยองบัก หัวหน้าฝ่ายข่าวของสถานีข่าวของช่องโทรทัศน์หลัก 3 สถานีของเกาหลีใต้อย่าง MBC, KBS และ SBS ถูกเปลี่ยนเป็นผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล สื่อถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ นักข่าวหลายคนถูกโจมตี ถูกย้ายไปอยู่ในกองที่เล็กลงซึ่งไม่สามารถรายงานข่าวได้
นอกจากนี้ ยังมีการตั้ง หน่วยงานใหม่ภายในของ National Intelligence Service (NIS) ที่ถูกตั้งภายใต้ช่วงการบริหารของ ลี มยองบัก ซึ่งช่วงนั้นมีโปรแกรมที่พัฒนาเพื่อปราบปรามความขัดแย้ง และจัดการกับความคิดเห็นของประชาชน ทั้งผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต รวมถึงมีการเซนเซอร์ โจมตีสหภาพแรงงานสื่อ และขึ้นบัญชีดำผู้วิพากษ์รัฐบาล และนโยบาย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลได้ปิดกั้นสื่อ เช่น การไล่กลุ่มทีมนักข่าวสอบสวน Newstapa จำนวน 30 คนออกจากสื่อหลัก เพราะพวกเขาเน้นการสื่อสารด้วยวิดีโอ ให้ประชาชนตัดสินด้วยตาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง
สื่อเกาหลีใต้ ตกอยู่ในช่วงถูกคุกคามความเป็นเสรี และโดนกีดกันอย่างหนักมาเป็นเวลากว่า 9 ปี ตั้งแต่การบริหารของปธน. ลี มยองบัก และพัค กึนฮเย ที่ดัชนีเสรีภาพสื่อของเกาหลีใต้ ตกต่ำลงกว่า 30 อันดับตลอดทศวรรษ
ซึ่งระหว่างนั้น นักข่าวในเกาหลีใต้ก็ได้ต่อสู้กับการกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลถอนตัวออกจากการควบคุมสื่ออย่างต่อเนื่องของสหภาพแรงงานสื่อแห่งชาติ (NUMW) หรือการเดินขบวนประท้วงของพนักงานช่อง MBC ในปี 2012 ซึ่งเคยยาวนานที่สุดถึง 170 วันเลยด้วย
แม้ว่าตอนนี้ เราจะเห็นการทำงานที่ดุเดือดและพลังของสื่อเกาหลีใต้ ทั้งในการสืบสวน ขุดประเด็นต่างๆ ออกมารายงาน ทั้งยังมีสัญญาณที่ดีของดัชนีเสรีภาพสื่อที่สูงขึ้น รวมถึงคำสัญญาของ ประธานาธิบดีคนล่าสุด มุน แจอิน ที่บอกว่าจะปฏิรูปสื่อ แต่สื่อของเกาหลีใต้เองก็ยังคงต่อสู้ กับการเรียกร้องการรับประกันอิสรภาพของสื่อ รวมถึงตั้งคำถามกับท่าทีของ ปธน.มุน ในขณะนี้ ที่รัฐบาลจะประกาศจะจัดการปราบปรามกับข่าวปลอม ซึ่งสื่อมองว่า อาจจะไม่ใช่แค่ข่าวปลอม
หากแต่ตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลได้ใช้ข้ออ้างเรื่องข่าวปลอม เพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อหรือไม่?
อ้างอิงจาก
Korean Reporters Got Fired, Got Active, and Got The President