กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองของแวดวงโทรคมนาคม เมื่อเกิดกระแสพูดถึงกรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ให้บริการมือถืออันดับสองของประเทศ เจรจาเข้าซื้อกิจการบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC อีกทั้งยังมีกระแสว่าการเจรจาดังกล่าวใกล้สิ้นสุดแล้ว
The MATTER ได้รวบรวมและสรุปข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้เข้าใจกันว่าดีลนี้มีที่มาที่ไปจากอะไร ทำไมถึงถูกยกมาพูดถึงได้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร รวมทั้งแนวโน้มและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ดีลนี้เกิดขึ้นจริง ธุรกิจและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทยจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้
1. ช่วงที่ผ่านมานี้เกิดกระแสข่าวว่าด้วยดีลระหว่าง TRUE กับ DTAC โดยกล่าวว่าบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ให้บริการมือถืออันดับสองของประเทศกำลังเจรจาเข้าซื้อกิจการบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC รวมทั้งกล่าวอีกว่าดีลดังกล่าวใกล้เจรจาสิ้นสุดแล้ว ส่งผลให้ราคาหุ้นของทั้งสองค่ายนั้นพุ่งขึ้นตลอดสัปดาห์ท่ามกลางตลาดหุ้นที่เงียบเหงา
2. ถึงอย่างนั้น ทั้งสองบริษัทได้ออกหนังสือชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเนื้อความไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้
ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น บริษัทฯ ขอเรียนว่า หากมีข้อชี้ แจงใดๆ ที่บริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
3. ต่อมาสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานตรงจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์เกี่ยวกับการเจรจาครั้งนี้ โดยเผยว่า เทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของ DTAC กำลังเจรจากับ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP Group เกี่ยวกับการควบรวม DTAC ที่ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทย เข้ากับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
4. ทั้งนี้ ทางเทเลนอร์ กรุ๊ป ได้แจ้งว่ายังอยู่ในขั้นของการเจรจาหารือกัน ยังมีบางประเด็นที่ไม่ได้ข้อสรุปและไม่มีความแน่นอนว่าจะบรรลุข้อตกลงทั้งสองฝ่ายในท้ายที่สุด รวมทั้ง เทเลนอร์ กรุ๊ป จะยังไม่ออกความคิดเห็นใดๆ เพิ่มเติมจนกว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลง ในขณะที่ทาง CP Group เอง ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวและตอบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
5. ก่อนหน้านี้เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้มีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ รวมทั้งมีข่าวขายหุ้น DTAC ออกมาตลอด ได้แก่
– โอนกิจการธุรกิจมือถือในประเทศอินเดียให้ “ภารตี แอร์เทล” เมื่อปี พ.ศ.2560
– ควบรวมกิจการกับ “เอเชียตา กรุ๊ป” ในประเทศมาเลเซีย และขายกิจการให้ M1 Group ในประเทศเมียนมาร์ ในปีนี้
– ขายหุ้นทั้งหมดของ DTAC มูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยเทเลนอร์ กรุ๊ป ให้บริการลูกค้า 172 ล้านคน และมีรายได้จากการให้บริการจากภาคพื้นเอเชียและประเทศในแถบนอร์ดิก คิดเป็นอย่างละครึ่ง
6. ประเด็นนี้กลายเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก เพราะทั้ง TRUE และ DTAC ต่างเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ของประเทศ หากมาย้อนดูส่วนแบ่งการตลาดและรายได้ของทั้งสองบริษัทแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า
– TRUE มีผู้ใช้งานกว่า 32.0 ล้านหมายเลข ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 103,177 ล้านบาท
– DATC มีผู้ใช้งาน 19.3 ล้านหมายเลข ผลประกอบการ 9 เดือนแรกอยู่ที่ 59,855 ล้านบาท
7. นั่นหมายความว่า หากทั้งสองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันจริง จะส่งผลให้มีรายได้มากถึง 163,032 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าผลประกอบการของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออันดับ 1 อย่าง AIS ส่งผลให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทยประมาณ 52% แซงหน้า AIS ที่ถือครองส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบันอยู่ที่ 44%
8. นอกจากนี้ ทั้ง TRUE และDTAC ต่างมีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่น่าสนใจ โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TRUE ก็คือกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ China Mobile ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ในขณะที่ DTAC นอกจากจะมีเทเลนอร์ กรุ๊ป แล้ว ยังมีบริษัท ไทย เทคโค โฮสดิ้งส์ จำกัด ของ บุญชัย เบญจรงคกุล เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกด้วย
9. ที่สำคัญ ประเด็นนี้ยังนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์การทำธุรกิจของเครือซีพีที่จะกลายเป็นเจ้าครองตลาดที่สินค้าและบริการหลายประเภทในประเทศไทย
อ้างอิงข้อมูลจาก