นาทีนี้เมื่อพูดถึงดีลธุรกิจขนาดยักษ์ก็คงหนีไม่พ้นการเจรจาระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ที่เตรียมจับมือเดินหน้าควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC สองเครือข่ายโทรคมนาคมโดยการจัดตั้งบริษัทใหม่ นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ทุกคนต้องจับตามองเพราะย่อมกระทบต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในไทยมีอยู่ 3 รายใหญ่คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS เจ้าตลาดเบอร์หนึ่ง ตามมาด้วยบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดหรือ TRUE และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดหรือ DTAC หากพิจารณาส่วนแบ่งตลาดจากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการใช้งาน ทั้งสามบริษัทจะครองตลาดราว 97 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหมายเลขที่เหลือจะอยู่ในความดูแลของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจที่เกิดจากการควบรวมระหว่าง CAT และ TOT
นับเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้บริโภคหากเบอร์สองและเบอร์สามของตลาดเตรียมเดินหน้าควบรวมกิจการ เพราะนั่นจะทำให้เราเหลือผู้ให้บริการเพียงสองทางเลือก อีกทั้งธุรกิจโทรคมนาคมยังมีโอกาสที่จะเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดได้ยากเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงลิ่ว เจ้าตลาดที่หลงเหลือเพียงสองรายอาจส่งผลให้ตลาดมีสภาพกึ่งผูกขาดเพราะไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้แข่งขันแย่งชิงลูกค้าอีกต่อไป นำไปสู่การจัดเก็บค่าบริการที่สูงขึ้นแต่คุณภาพต่ำลง
แบบไหนถึงเรียกว่ากระจุกตัว?
ไม่ต้องเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ก็คงบอกได้ไม่ยากว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทย ‘กระจุกตัว’ อยู่ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงสามราย แต่สถานการณ์นี้อาจเลวร้ายลงไปอีกหากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC สามารถเดินหน้าได้จริงโดยที่กลไกกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าไม่ทำงาน
ตัวชี้วัดยอดนิยมสำหรับฉายภาพการการกระจุกและกระจายตัวของส่วนแบ่งตลาดในแต่ละอุตสาหกรรมคือดัชนี เฮอฟินดาล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl–Hirschman Index) หรือ HHI ดัชนีดังกล่าวยิ่งสูงก็จะสะท้อนว่าตลาดมีการกระจุกตัวมากและอาจขาดประสิทธิภาพในการแข่งขันโดยค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 2,500
แม้ชื่อจะดูน่าประหวั่นพรั่นพรึง แต่ความจริงแล้วดัชนีดังกล่าวคำนวณได้ง่ายมากๆ โดยการใช้ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของบริษัทในอุตสาหกรรมมายกกำลังสอง นำมาบวกกัน แล้วจึงคูณด้วย 10,000 ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการคำนวณดัชนี HHI ของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการใช้งานในไตรมาส 4 ปี พ.ศ.2563 โดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง
จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการใช้งาน Q4/2563 | ก่อนควบรวม | ส่วนแบ่งตลาด | หลังควบรวม | ส่วนแบ่งตลาด |
AIS | 41,436,800 | 44% | 41,436,800.00 | 44% |
TRUE | 30,600,000 | 33% | 49,456,331.00 | 53% |
DTAC | 18,856,331 | 20% | ||
อื่นๆ | 2,530,641 | 3% | 2,530,641.00 | 3% |
รวม | 93,423,772 | 100% | 93,423,772.00 | 100% |
เราสามารถใช้ข้อมูลจากตารางด้านบนมาคำนวณดัชนี HHI ก่อนการควบรวมได้เท่ากับ 10,000 x [0.442 + 0.332 + 0.202 + 0.032] = 3,454 สะท้อนว่าตลาดดังกล่าวกระจุกตัวอย่างยิ่งอยู่แล้ว ส่วนดัชนีหลังการควบรวมจะเท่ากับ 10,000 x [0.442 + 0.532 + 0.032] = 4,776 ซึ่งคงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าการกระจุกตัวเข้าขั้นหายนะ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคมที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “ห้ามมิให้… กระทำการควบรวมกิจการ อันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง” พร้อมระบุอย่างชัดเจนว่าหากภายหลังการควบรวมแล้วค่า HHI เพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ให้ถือว่า “การควบรวมดังกล่าว ส่งผลด้านลบต่อการแข่งขันอันถือเป็นการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง”
จากการคำนวณคร่าวๆ เราจะเห็นแล้วว่ายังไงค่า HHI ก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 แน่ๆ ซึ่งเข้าข่ายที่ กสทช. น่าจะลงดาบห้ามเดินหน้า แต่อย่าเพิ่งโล่งใจไปนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กสทช. ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังหวั่นใจว่าจะซ้ำรอยผลการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่เปิดทางให้เครือซีพีเข้าซื้อธุรกิจเทสโก้โลตัสโดยให้เหตุผลที่ชวนเกาหัวว่า
“การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด …. และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม”
ทำไมตลาดต้องมีการแข่งขัน?
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าถ้ารายใหญ่จะควบรวมกันแล้วเราในฐานะผู้บริโภคจะเดือดร้อนอะไร ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่มีการแข่งขันและตลาดที่ไร้การแข่งขัน
ภายใต้สภาวะตลาดที่มีการแข่งขันในระดับที่ดี ภาคธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต่างก็แข่งกันสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม สมมติว่า ในตลาดมีผู้ผลิตรถยนต์ 10 รายที่ไม่ใช่เจ้าของเดียวกัน ทุกบริษัทย่อมต้องพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าและสร้างจุดขายของรถยนต์ตัวเอง อาจจะเป็นความปลอดภัยที่เหนือกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือราคาประหยัด ฝั่งลูกจ้างเองก็ได้รับประโยชน์เพราะแต่ละบริษัทย่อมต้องการพนักงานที่มีความสามารถ นำไปสู่การยกระดับเงินเดือนและสวัสดิการของแรงงาน
แต่หากวันหนึ่ง มีบริษัทยักษ์ใหญ่เดินหน้า ‘กินรวบ’ โดยซื้อผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 10 แห่ง นี่คือตลาดผูกขาดที่ไร้การแข่งขัน อำนาจตลาดที่ล้นเหลืออยู่ในมือทำให้ไม่จำเป็นต้องสนใจผู้บริโภคอีกต่อไป บริษัทสามารถนำเศษเหล็กติดล้อมาวางขายในราคาไม่สมเหตุสมผล เราทุกคนก็ต้องก้มหน้าซื้อเพราะนี่คือแหล่งผลิตรถยนต์แห่งเดียวในประเทศ อีกทั้งบริษัทดังกล่าวก็ไม่จำเป็นจะต้องดูแลพนักงานให้มีความสุขเนื่องจากไม่มีคู่แข่งในตลาดแรงงาน
แม้สองกรณีข้างต้นจะเป็นตัวอย่างแบบสุดโต่ง แต่หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของอังกฤษก็ได้ทำการศึกษาราคาของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือใน 25 ประเทศและได้ข้อสรุปว่า ค่าบริการเฉลี่ยในประเทศที่มีผู้ให้บริการโครงข่ายสี่แห่งนั้นจะถูกกว่าประเทศที่มีผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงสามแห่งถึงราว 20% นี่คือต้นทุนที่สาธารณชนต้องแบกรับเมื่อตลาดขาดแคลนการแข่งขัน
แล้วทำไมในต่างประเทศยังอนุญาตให้ควบรวมได้?
หันไปมองกรณีศึกษาในต่างประเทศ ผมเองก็พอมองเห็นกรณีที่น่าจะเทียบเคียงกันได้คือการควบรวมระหว่าง T-Mobile และ Sprint ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถืออันดับสามและอันดับสี่ในสหรัฐอเมริกา ภายหลังการควบรวมดังกล่าว ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในตลาดโทรคมนาคมของสหรัฐก็จะเหลือเพียง 3 เจ้าคือ AT&T, Verizon, และ T-Mobile
น้อยคนที่คิดว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะเปิดทางให้การควบรวมดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เนื่องจากข้อเสนอลักษณะนี้ถูกตีตกไปหลายต่อหลายครั้ง เช่นในปี พ.ศ.2555 ที่รัฐบาลสั่งห้ามการควบรวมระหว่าง AT&T กับ T-Mobile และในปี พ.ศ.2559 ที่ความพยายามของ Sprint ในการเข้าซื้อ T-Mobile ถูกปฏิเสธเช่นกัน บรรยากาศการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของสหรัฐฯ จึงนับว่าดุเดือดเลือดพล่าน สะท้อนจากค่าบริการที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและผลกำไรของบริษัทที่หดหาย
แต่คราวนี้กลับต่างออกไปเพราะหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์กลับเห็นดีเห็นงามกับการควบรวมระหว่าง T-Mobile และ Sprint ซึ่งประกาศเมื่อปี พ.ศ.2561 ทั้งสองรายคือผู้ให้บริการราคาประหยัดโดยกลุ่มลูกค้าหลักคือผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าจะมีหลายเสียงแสดงความกังวลถึงสภาพการแข่งขันที่ลดลง แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจให้ดีลนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสารพัดเงื่อนไขที่มาพร้อมกับการควบรวม กว่าดีลนี้จะสำเร็จก็ต้องผ่านกระบวนการอนุมัติและสอบทานร่วมสองปี
เงื่อนไขประการแรกคือการดำเนินการตามคำมั่นของบริษัทที่จะต้องทำให้ชาวอเมริกันเข้าถึงบริการ 5G ได้อย่างน้อย 97% ภายในสามปีและ 99% ภายใน 6 ปี โดยในกรอบเวลาดังกล่าว 90% ของประชากรทั้งหมด และผู้อาศัยในพื้นที่ชนบทอย่างน้อย 2 ใน 3 จะต้องสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วอย่างน้อย 100 เมกะไบต์/วินาที หากไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ บริษัทอาจต้องเจอค่าปรับมูลค่าถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เงื่อนไขประการที่สองคือการขายธุรกิจโทรคมนาคมบางส่วนให้กับ Dish Network บริษัทผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมที่ต้องการเข้ามาสู่ตลาดโทรคมนาคม โดยหน่วยงานกำกับดูแลวาดหวังว่า Dish จะกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับที่สี่ทดแทน Sprint เพื่อให้การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมยังคงดุเดือดต่อไป พร้อมทั้งลดโอกาสที่ T-Mobile ซึ่งกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาดเอาเปรียบผู้บริโภคภายหลังการควบรวม
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญก็ยังมองว่าเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ทั้งคำสัญญาปากเปล่าที่ไม่มีใครบอกได้ว่า T-Mobile จะดำเนินการอย่างจริงจังหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงเทคนิกหยอดคำหวานเพื่อแลกกับการได้ครองอำนาจเหนือตลาดโดยพร้อมยอมจ่าย ‘เศษเงิน’ ค่าปรับแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจหลังจากการควบรวม นอกจากนี้ หลายคนก็ยังไม่เชื่อมั่นว่า Dish ที่ไร้ประสบการณ์ด้านธุรกิจโทรคมนาคมจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของเจ้าตลาดกลุ่มเดิมได้ ทำให้การแข่งขันและตลาดลดน้อยลงและนำไปสู่การสูญเสียผลประโยชน์ของผู้บริโภค
แม้ตอนนี้เราจะยังตอบไม่ได้ว่าการควบรวมของ T-Mobile จะกลายเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ แต่กรณีศึกษานี้ก็คงทำให้เราได้เห็นวิธีคิด กระบวนการ และแนวทางจัดการปัญหาที่รัดกุมที่สุดเท่าที่จะทำได้หากหน่วยงานกำกับดูแลคิดจะเปิดทางให้การควบรวมเกิดขึ้นจริง
ลึกๆ แล้วผมก็ยังมีความหวังว่าหน่วยงานกำกับดูแลของไทยจะ ‘เบรก’ การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC เพราะนี่คือการทำลายการแข่งขันอย่างชัดเจนจนไม่รู้จะชัดยังไง แต่หากมองจากสภาพความเป็นจริง ผมก็คงได้แต่ภาวนาว่าดีลครั้งนี้จะได้รับการอนุมัติอย่างรัดกุม พร้อมกับเงื่อนไขเข้มงวดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค ไม่ใช่เงื่อนไข ‘น่ารัก’ ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเหมือนคราวที่เครือซีพีเข้าซื้อธุรกิจเทสโก้โลตัส
อ้างอิงข้อมูลจาก
What is the Herfindahl-Hirschman Index (HHI)?
T-Mobile and Sprint plan to combine
Letting Sprint and T-Mobile Merge Is a Terrible Idea
How a Top Antitrust Official Helped T-Mobile and Sprint Merge
Illustration by Krittaporn Tochan