เที่ยงคืนวันอังคารที่ผ่านมา ‘บาร์เบโดส’ ได้จัดงานเฉลิมฉลองกลางกรุงบริดจ์ทาวน์ เมืองหลวงของบาร์เบโดส ในวาระที่บาร์เบโดส ประเทศเกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งอยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษมาเกือบ 400 ปี ได้ประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐแห่งใหม่ของโลก ด้วยการถอด ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ ออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ แทนที่ด้วยตำแหน่งประธานาธิบดี
บาร์เบโดส ชาติเล็กๆ ที่มีคนผิวดำเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้ต้อนรับซานดรา เมสัน อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ ในวันเดียวกันนั้น แม้ตำแหน่งประมุขนี้จะเป็นไปในเชิงพิธีการก็ตาม
แม้จะยังเป็นประเทศสมาชิกในเครือจักรภพแห่งประชาชาติ ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ในวันนี้ บาร์เบโดสก็ได้กลายเป็นสาธารณรัฐอย่างเต็มตัวแล้ว นับเป็นเวลา 55 ปีพอดีหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1966
แต่ทำไมบาร์เบโดสต้องกลายเป็นสาธารณรัฐ? บาร์เบโดสทำได้อย่างไร? และจะเกิดอะไรขึ้นต่อบ้าง? The MATTER ชวนมาอ่านคำตอบที่หลายคนอาจสงสัย
ทำไมบาร์เบโดสต้องกลายเป็นสาธารณรัฐ
กระแสเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐมีมานานแล้วในบาร์เบโดส ตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1966 มีความพยายามหลายครั้งเพื่อเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ
เช่น ในปี 1996 ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อศึกษาความเหมาะสมของการคงสมเด็จพระราชินีไว้ในฐานะประมุข หรือในปี 2008 ก็เคยมีการวางแผนประชามติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐไว้ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และในปี 2015 ฟรอยน์เดล สจ๊วต นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ได้ประกาศว่า บาร์เบโดสจะต้องเปลี่ยนมาสู่ระบอบสาธารณรัฐในอนาคตอันใกล้นี้
ไม่แปลกที่ประชาชนในประเทศหมู่เกาะแห่งนี้จะต้องการปกครองตนเองมากกว่า หากมาดูประวัติศาสตร์ บาร์เบโดสเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาตั้งแต่ทศวรรษ 1620 เป็นเวลากว่า 341 ปีก่อนจะได้รับเอกราชในปี 1966 ในระหว่างนั้น เจ้าอาณานิคมอังกฤษก็ได้กวาดล้างชนพื้นเมืองออกไป นำชนชั้นสูงจากอังกฤษเข้ามา บาร์เบโดสได้กลายเป็นสังคมที่มีระบบทาสที่รุ่งเรือง แม้กระทั่งเจ้าชายชาร์ลส์ในงานเฉลิมฉลองที่ผ่านมาก็ยังยอมรับการมีอยู่ของระบบทาสในอดีตว่าเป็น ‘สิ่งเลวร้าย’
ประจวบเหมาะกับในช่วงปีที่ผ่านมา กระแส Black Lives Matter กำลังกระจายไปทั่วโลก รวมถึงบาร์เบโดสด้วย ซึ่งก็ได้ช่วยโหมกระแสให้สังคมมุ่งมาสู่ทิศทางของสาธารณรัฐได้มากขึ้น นอกเหนือจากนี้ ผลสำรวจทัศนคติของประชาชนในบาร์เบโดส ยังพบว่า ประชาชนแทบไม่มีความรู้สึกร่วมกับควีนเอลิซาเบธ หรือระบอบกษัตริย์ของอังกฤษอีกแล้ว
การเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบสาธารณรัฐ จึงถูกมองว่าเป็นการก้าวข้ามลัทธิล่าอาณานิคมในอดีต เป็นขั้นตอนเชิงสัญลักษณ์มาสู่การปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ ดังที่เฮนเดอร์สัน คาร์เตอร์ นักวิชาการจาก University of the West Indies, Cave Hill Campus ของบาร์เบโดส ได้ให้ความเห็นว่า “ผมมองว่ามันคือขั้นสุดท้ายของการประกาศเอกราช”
บาร์เบโดสเปลี่ยนผ่านมาเป็นสาธารณรัฐได้อย่างไร
เมื่อเดือนกันยายน 2020 มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีของบาร์เบโดส จึงได้ประกาศในคำปราศรัยที่เรียกว่า สุนทรพจน์จากบัลลังก์ (Throne Speech) ว่า บาร์เบโดสจะกลายมาเป็นสาธารณรัฐภายในเดือนพฤศจิกายน 2021
ซานดรา เมสัน ผู้สำเร็จราชการฯ ในขณะนั้น ก็ได้ประกาศในสุนทรพจน์เดียวกันนี้ว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องละทิ้งอดีตในฐานะอาณานิคมของเราอย่างสมบูรณ์ ชาวบาร์เบโดสต้องการประมุขแห่งรัฐที่เป็นคนบาร์เบโดส”
บาร์เบโดสง่ายกว่าประเทศอื่นๆ ตรงที่ไม่จำเป็นต้องมีประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอแค่มีสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วย 2 ใน 3 ก็สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ ดังที่มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญบาร์เบโดสกำหนดไว้ว่า “รัฐสภาอาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ด้วยพระราชบัญญัติที่เห็นชอบจากทั้งสองสภา”
พ.ร.บ. แก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเข้าสู่รัฐสภาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2021 และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ปูทางไปสู่การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งซานดรา เมสัน ก็เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้าน และได้รับการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปบ้าง
อนาคตข้างหน้าของบาร์เบโดสก็ยังคงไม่แน่นอน ดังที่นายกฯ ม็อตลีย์ บอกในงานเฉลิมฉลองที่ผ่านมาว่า “เมื่อเราเปลี่ยนผ่านมาเป็นสาธารณรัฐ … ดิฉันขอให้ตระหนักว่าความท้าทายอาจจะเปลี่ยนไป แต่มันก็ยังคงน่ากังวลไม่เปลี่ยนแปลง”
เป้าหมายต่อไปของบาร์เบโดสคือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ปีหน้า ตอนนี้นักการเมืองหลายๆ คนก็เล็งจะบรรจุวาระต่างๆ เข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้แล้ว เช่น การปกป้องรสนิยมทางเพศของบุคคล และในด้านการต่างประเทศ บาร์เบโดสจะยังคงอยู่ในเครือจักรภพแห่งประชาชาติ ดังที่ได้พูดถึงไป แต่จะไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรเครือจักรภพ (Commonwealth realm) อีกต่อไป ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศที่มีควีนเอลิซาเบธเป็นประมุข
ภายในประเทศ อาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เช่น ชื่อสถานที่หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างหน่วยงานตำรวจของบาร์เบโดส จากเดิมที่มีชื่อว่า Royal Barbados Police Force ก็จะต้องเปลี่ยนมาเป็น Barbados Police Service เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ก็มีการคาดการณ์ กรณีของบาร์เบโดสอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นๆ ทำตามโมเดลสาธารณรัฐแบบนี้ เช่นในจาไมกา ก็มีผลสำรวจเมื่อปี 2020 ออกมาว่า ชาวจาไมกา 55% ต้องการตัดความสัมพันธ์กับระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในบาร์เบโดสจะเป็นอย่างไรต่อไป จะสร้างผลกระทบให้กับประเทศราชอาณาจักรเครือจักรภาพได้หรือไม่ เราคงต้องติดตามกัน
อ้างอิงจาก
https://www.washingtonpost.com/world/2021/11/29/barbados-republic-queen/
https://commonslibrary.parliament.uk/barbados-becomes-a-republic/
https://www.wsj.com/articles/barbados-to-queen-elizabeth-cheerio-11638282415
https://thematter.co/brief/158597/158597