“ขับออก” “ตะเพิด” “แตกโพละ”
.
ไม่ว่าพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง นสพ.ในวันนี้ (20 ม.ค.2565) จะใช้คำว่าอะไร แต่มติของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค พร้อมด้วย ส.ส.อื่นอีก 20 คน ออกจาการเป็นสมาชิก ช่วงค่ำวันที่ 19 ม.ค.2565 ที่หลายๆ คนบอกว่าเป็นเหตุการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ อาจไม่ใช่เรื่องแย่สำหรับผู้ถูกกระทำ
.
นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองตรงกันว่า มติ พปชร.ดังกล่าว อาจเข้าทาง ‘ผู้กองกับพวก’ เสียด้วยซ้ำ บางคนถึงขั้นประเมินว่า เป็นการแผนไว้อย่างแยบยล เพื่อกดดันให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลอยู่ต่อไปไม่ได้ จนต้องยอม ‘ลาออก-ยุบสภา’
.
อะไรอยู่เบื้องหลังปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น รอบตัวนักการเมืองผู้มีประวัติอันโดดเด่น มีบุคลิกน่าสนใจ ที่เคยกล่าววาทะอันลือลั่น “มันคือแป้ง!” The MATTER จะอธิบายให้ฟัง
.
1.) ย้อนอดีตไปเล็กน้อย ความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับคู่ขัดแย้งหลักอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เริ่มตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.2564 เมื่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ออกมากล่าวถึง ‘ใครบางคน’ ว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษที่พยายามจะโค่นตนลงจากตำแหน่ง รวมทั้งมีพฤติกรรมแอบอ้างเบื้องสูง
“ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี ชัดเจนไหม!” คือคำประกาศของผู้เป็นนายกฯ ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ในปี 2557
.
2.) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงใคร ไม่ต้องคำเฉลยรอนาน เพราะหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนนเสียง ‘ไม่ไว้วางใจ’ มากที่สุด ในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติในคราวเดียวกัน สัปดาห์ถัดมา วันที่ 9 ก.ย.2564 ก็มีคำสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัสออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ (พร้อมกับนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่โดนปลดจากตำแหน่ง รมช.แรงงาน) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 171
แม้ ร.อ.ธรรมนัสจะชิงแถลงข่าวที่รัฐสภา ก่อนหน้าครึ่งชั่วโมงเพื่ออ้างว่าขอลาออกเอง แต่จากข้อกฎหมายคือการปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์อยู่เบื้องหลัง
.
3.) การปลด ร.อ.ธรรมนัสจากการเป็นรัฐมนตรี ทำให้เกิดรอยร้าวในหมู่ ‘3 ป.’ เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้า พปชร. ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนทำงานใกล้ชิด เกิดหมางใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ และในช่วงที่ปิดสมัยประชุมสภาฯ ก็แยกกันเดินสายลงพื้น ที่หลายฝ่ายมองเป็นการเช็คขุมกำลังผู้สนับสนุน ระหว่างขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ กับขั้ว พล.อ.ประวิตร-ร.อ.ธรรมนัส
.
4.) ข้ามมาปี 2565 รอยร้าวภายใน พปชร.ที่ยังไม่จางหายไป กลับมาปะทุอีกครั้ง เมื่อคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัสที่ภาคใต้ ถูกมองว่าเป็นสาเหตุทำให้แพ้เลือกตั้งซ่อม ทั้ง ส.ส.ชุมพร เขต 1 และ ส.ส.สงขลา เขต 6
ก่อนจะมีเหตุการณ์ ‘ไลน์หลุด’ คำพูดระหว่างสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้ทำโพลล์ว่าไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัสหลุดออกมายังสื่อมวลชน จากกรุ๊ปไลน์ที่มีสมาชิกเพียง 8 คน
.
5.) หัวค่ำวันที่ 19 ม.ค.2565 ก็เกิดปรากฎการณ์แผ่นดินไหวที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อที่ประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของ พปชร. ลงมติ 78 เสียง ขับ ร.อ.ธรรมนัสกับ ส.ส.อื่นรวม 21 คน ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค หลังยื่นข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ (บ้างก็ว่าต่อรองเอาเก้าอี้รัฐมนตรี) จนกลายเป็นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง นสพ.วันถัดมาแทบทุกฉบับ เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ทั้งทีวี วิทยุ และออนไลน์ ที่เกาะติดนำเสนอเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
โดย ส.ส.ที่ถูกขับออก 21 คน เป็น ส.ส.เขตถึง 17 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียง 4 คนเท่านั้น ในทางการเมืองจึงถือว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงพลังยิ่ง
.
6.) ร.อ.ธรรมนัสกับ ส.ส.อื่นรวม 21 คน จะมีเวลา 30 วันไปหาพรรคใหม่สังกัด ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจไปอยู่กับพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค
.
7.) แม้เบื้องหน้าอาจดูเหมือนพ่ายแพ้ แต่นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนพูดตรงกันว่า เบื้องหลังเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจเป็นการวางหมากของ ร.อ.ธรรมนัสให้เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองบางอย่าง
.
8.) แม้ปัจจุบัน ‘จำนวน ส.ส.’ ของรัฐบาลและฝ่ายค้านจะห่างกันมาก แต่เมื่อหักเสียงของ ร.อ.ธรรมนัสกับพวก (21 เสียง) ก็จะห่างกันเพียง 38 เสียงเท่านั้น (246 เสียง ต่อ 208 เสียง) การเทไปข้างใดก็มีความหมายต่อการลงมติสำคัญๆ ในสภาทั้งสิ้น ไม่รวมถึงเหตุการณ์สภาล่มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลัง
ยิ่ง ส.ส.พรรคเล็กที่ ร.อ.ธรรมนัสคอยดูแลมาตลอด นับแต่การเลือกตั้งปี 2562 อีก 9 เสียง ประกาศว่าจะร่วมวงด้วย ก็ยิ่งทำให้กลุ่มการเมืองที่มี ส.ส.ถึง 30 คนนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ซึ่งหากนำไปคิดคณิตศาสตร์การเมือง จำนวนเสียงมากขนาดนี้สามารถแปลเป็นเก้าอี้รัฐมนตรีได้หลายตำแหน่ง
.
9.) สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชื่อว่า ทั้งกรณีไลน์หลุด การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี การบีบให้ถูกขับออกจาก พปชร. เป็นสคริปต์ที่เขียนโดยฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเป้าหมายสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่แค่เก้าอี้รัฐมนตรีแน่
“แต่เป็นการเอา พล.อ.ประยุทธ์ลงจากตำแหน่ง” อดีตกรรมการ กกต.รายนี้ระบุ
เช่นเดียวกับ อ.วันวิชิต บุญโปร่ง จากคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ที่มองว่า เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเพียงข้ออ้างของ ร.อ.ธรรมนัสให้ถูกขับออกจากพรรคเท่านั้น และต้องจับตาหลังจากนี้ว่าเมื่อเห็บฝูงใหญ่กระโดดออกไปแล้ว หลังจากนี้จะมีเห็บฝูงสอง ฝูงสาม กระโดดตามออกไปแน่ๆ “พปชร.จะมีแต่สาละวันเตี้ยลงๆ”
.
10.) อย่างไรก็ตาม การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หากเจรจาต่อรองสำเร็จ ร.อ.ธรรมนัสกับพวก (บวกพรรคเล็ก) ก็อาจจะเป็นอีก ‘พรรคร่วมรัฐบาล’
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีเหตุการณ์ใดๆ ตามมาอีกหรือไม่ ในอายุรัฐบาลที่เหลืออยู่เพียงปีเศษเท่านั้น
.
.
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.thairath.co.th/news/politic/2291672
https://www.matichon.co.th/politics/news_2916494
https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_6613282
https://mgronline.com/factcheck/detail/9640000087174
https://workpointtoday.com/politics-93/
https://www.matichon.co.th/politics/news_3141204
https://mgronline.com/politics/detail/9650000006175
https://www.facebook.com/…/a.17358760…/3105426989672682/
https://www.youtube.com/watch?v=WZaq1XlL1yE
https://www.youtube.com/watch?v=6-Kx85mRPRU