“ตลกดี แว่บหนึ่งฉันนึกไปว่าไม่มีสงครามอีกแล้ว”
อัลบีนา (Albina) เด็กหญิงชาวยูเครนวัย 14 ปี ที่อาศัยอยู่กับคุณแม่ คุณยาย และแมวอีก 2 ตัว บันทึกข้อความดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 11 มี.ค. – หรือวันที่ 16 ของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
ตั้งแต่วันแรก อัลบีนาเขียนบันทึกช่วงสงครามเอาไว้ในมุมมองของเธอเอง: “วันนี้ฉันรู้สึกจับต้นชนปลายไม่ถูกไปทั้งวัน ปูตินพูดถึงปฏิบัติการพิเศษทางการทหารอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้อะไรต่อมิอะไรดีขึ้น เราได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นครั้งแล้วครั้งเล่า เป้าหมายทางยุทธศาสตร์? สุดท้ายทุกอย่างและทุกคนก็ล้วนได้รับผลพวงจากระเบิดพวกนั้น!”
เธอยังเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับบทกลอนที่ถูกเขียนไว้บนผนังของตึกแถวบ้าน ซึ่งมีถ้อยความว่า
สวมกางเกงตัวที่อุ่นที่สุด
เพราะในห้องใต้ดินจะหนาวเหน็บที่ขา
ก่อนสงครามฉันเคยรักเธอ
และเมื่อชนะสงครามแล้ว
ฉันก็จะพูดเช่นนั้นอีก
ทั้งหมดนี้คือสำนวนแปลของ ‘ชลิต ดุรงค์พันธุ์’ นักแปลชาวไทย ผู้แปลบันทึกของอัลบีนาเพื่อเผยแพร่ผ่านทางแอคเคาต์ @AlbinaInThai บนทวิตเตอร์ โดยได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก Süddeutsche Zeitung หนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่ต้นฉบับในภาษาเยอรมัน
ชลิตเป็นผู้สอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเยอรมนี และมีผลงานการแปลวรรณกรรมภาษาเยอรมันที่หลากหลาย โดยเป็นผู้แปลหนังสืออย่าง พิราบ และ เรื่องของมิสเตอร์ซอมเมอร์ ของพัททริค ซึสคินท์ (Patrick Süskind) และ โต๊ะก็คือโต๊ะ ของเพเตอร์ บิคเซล (Peter Bichsel)
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับชลิตผ่านทางอีเมล เขาเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์นี้ว่า “ท่ามกลางความหดหู่นี้ ผมได้ไปอ่านเจอบันทึกของอัลบีนาในหนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung เข้า อ่านแล้วยิ่งเศร้าเข้าไปอีก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผมชัดเจนขึ้นว่าเหตุใดผมถึงไม่มีทางเห็นด้วยกับสงคราม
“ผมก็เลยคิดว่าน่าจะแปลให้คนที่อยู่ที่เมืองไทยได้อ่าน คิดเอาว่าอาจมีบางคนที่อยู่ในห้วงอารมณ์แบบเดียวกันนี้ อีกด้านหนึ่ง การรับรู้ว่ามีคนอื่นที่รู้สึกคล้ายคลึงกันก็อาจช่วยให้ความหดหู่น้อยลงและมองหาทางว่าจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดสงครามขึ้นอีก และนี่น่าจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผมทำได้”
เขาจึงได้เขียนไปถามทางหนังสือพิมพ์เพื่อขออนุญาตในการแปล ก่อนที่บรรณาธิการจะโทรมาบอกว่าอนุญาต พร้อมทั้งเล่าว่าได้คุยกับอัลบีนาให้แล้ว ซึ่งก็บอกว่าไม่มีอะไรขัดข้องด้วยเช่นกัน
ชลิตเล่าให้ฟังอีกว่า เขามีลูกชายและลูกสาวอายุใกล้เคียงกับอัลบีนา นั่นจึงทำให้เขารับรู้ได้ว่า สิ่งที่มนุษย์วัยนี้ต้องการมากที่สุดคือ “ชีวิตธรรมดาๆ ที่ได้ไปโรงเรียน ได้เจอเพื่อน ขี่จักรยานไปไหนมาไหนเองได้ กลับมาบ้านมีของกิน พ่อแม่ญาติพี่น้องไม่มีความทุกข์ใจใหญ่หลวง และที่สำคัญคือ ความมั่นใจว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่เขาอยู่มาตลอดชีวิตได้อย่างมั่นคง”
แต่สงครามในยูเครนได้พรากสิ่งเหล่านี้ไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นในบันทึกของอัลบีนา กระนั้นก็ตาม ชลิตมองว่า สุ้มเสียงของเธอยังเผยให้เห็นความรู้สึกที่ไม่ได้มีแต่อารมณ์เศร้า แต่เป็นอารมณ์ขันและความหวัง ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามเมื่อพูดถึงสงคราม
ชลิตเขียนอธิบายตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ว่า ขณะที่เขากำลังทยอยแปลบันทึกของอัลบีนา เธอก็กำลังอพยพลี้ภัยมุ่งหน้าสู่เมืองลวิฟ (Lviv) โดยอาจจะเดินทางต่อเพื่อลี้ภัยในเยอรมนี – และจากที่เราตามอ่านต่อในภาษาเยอรมัน ก็พบว่า อัลบีนาเดินทางถึงเยอรมนีแล้วในวันที่ 31 มี.ค. แม้จะต้องเสียน้ำตาเพราะคิดถึงบ้านก็ตามที
“ผมหวังว่าโชคจะเข้าข้างเธอ แม่ของเธอ และยายของเธอ และผมหวังว่าเธอจะได้กลับไปยังบ้านของเธอสักวันหนึ่งในอนาคต” ชลิตเขียนถึงอัลบีนา
ตามอ่านบันทึกของอัลบีนาในฉบับภาษาไทยกันได้ที่นี่