ผมลืมตาดูโลกในปี ค.ศ.1991 ปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลายพร้อมกับการประกาศอิสรภาพของยูเครน กว่าจะรู้ความ โลกใบที่ผมรู้จักก็ร้างไร้ความขัดแย้งในระดับโลก อาจมีเพียงสนามรบบางแห่งที่ยังคงคุกรุ่น แต่ในภาพกว้างทุกประเทศทั่วโลกต่างเปลี่ยนจากจับปืนรบเป็นจับธนบัตรเพื่อซื้อขายสินค้าและบริการโดยมองข้ามอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย
พี่ใหญ่แห่งยุคสมัยคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โลกตะวันตกทำหน้าที่วางระเบียบโลก สนับสนุนการค้าเสรี เผยแพร่คุณค่าที่ตนยึดถือ อาทิ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมนิติรัฐให้แก่ทุกประเทศ พร้อมทั้งหวังว่าจะใช้สายสัมพันธ์เศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น ‘จูงใจ’ ให้ประเทศคู่ค้าหันมายึดถือคุณค่าชุดเดียวกัน และนำไปสู่สันติภาพในระยะยาว
ภาพฝันดังกล่าวถูกทุบทำลายลงไม่เหลือชิ้นดีเมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียสั่งให้กำลังทหารบุกเข้าสู่พรมแดนยูเครน รุกรานประเทศเพื่อนบ้านที่เคยให้คำมั่นว่าจะไม่แตะต้อง ฝั่งโลกตะวันตกก็ไม่อยู่เฉย ตอบโต้การกระทำดังกล่าวโดยสารพัดมาตรการคว่ำบาตรทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย รัฐวิสาหกิจ และธนาคารบางแห่ง อายัดสินทรัพย์ของรัสเซียในต่างประเทศ พร้อมห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยี อาทิ เซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อหวังลดทอนพลานุภาพทางการทหารของรัสเซียในระยะยาว
การตอบโต้ระลอกล่าสุดคือการตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากโครงข่าย SWIFT ระบบสื่อสารหลังบ้านของธนาคารนับหมื่นแห่งใน 200 ประเทศทั่วโลก สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อระบบการเงินและการธนาคารของรัสเซีย เงินสกุลรูเบิลอ่อนยวบจนธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 เท่าตัวในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืนเพื่อหวังพยุงค่าเงิน
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจรัสเซียปัจจุบันเปรียบเสมือนดั่ง ‘ป้อมปราการ’ ที่ออกแบบมาป้องกันการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก ทั้งปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงลิ่ว ระบบ SPFS ซึ่งเป็นโครงข่ายสื่อสารของธนาคารที่พัฒนาเพื่อมาทดแทน SWIFT พร้อมทั้งความพยายามลดการระดมเงินทุนและการทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่สำคัญ รัสเซียรู้ดีกว่ามีสิ่งที่ทำให้โลกขาดรัสเซียไม่ได้ คือ สารพัดสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ แร่หายาก และข้าวสาลี ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนและรัฐบาล
สิ่งที่รัสเซียต้องเผชิญอาจเป็นเพียงความผันผวนระยะสั้น แต่ในระยะยาว มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นย่อมทิ้งบาดแผลที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีกครั้ง โดยคราวนี้จะแบ่งเป็นค่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และเหล่าพันธมิตร ส่วนอีกค่ายคือฝ่ายประเทศเผด็จการนำโดยรัสเซีย จีน และเหล่าท่านผู้นำทั้งหลายที่ไม่อยากเสี่ยงโดนคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกในอนาคต
ถือเป็นการนับหนึ่ง ‘การทวนกระแสโลกาภิวัตน์’ (deglobalization)
ที่ไม่ว่าฝ่ายใดก็มีแต่เสียกับเสีย
ทำไมการค้าระหว่างประเทศจึงสำคัญ
หลายคนอาจเคยมีความคิดว่าต่อให้ไม่มีการค้าระหว่างประเทศก็ไม่เห็นเป็นไร เพียงแค่พัฒนาฐานการผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศก็ไม่น่าจะมีปัญหาหรือเสียโอกาสอะไร
แต่ความคิดดังกล่าวนั้นผิดถนัด เพราะการเปิดประเทศเพื่อทำการซื้อขายสินค้าและบริการนั้นมีแต่ได้กับได้ทั้งฟากผู้ซื้อและฝั่งผู้ขาย ตัวอย่างใกล้ตัวคือประเทศจีนที่นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจโลกก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ฉุดพาประชาชนหลายร้อยล้านคนให้พ้นจากความยากจน ในขณะเดียวกันประชาคมโลกก็สามารถซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำลง
หากใครยังนึกไม่ออก ผมขอชวนมารู้จักทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ที่ฉายภาพอย่างชัดเจนว่าการซื้อขายระหว่างประเทศมีประโยชน์อย่างไร
เมื่อพูดถึงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ อย่างแรกที่เราต้องทำคือการสร้าง ‘โลกสมมติ’ ขึ้นมา โดยในโลกใบนี้มีเพียง 2 ประเทศคือไทยกับอังกฤษ และมีสินค้า 2 ชนิดคือพัดลมกับตู้เย็น สินค้าทั้ง 2 ชนิดใช้ทรัพยากรอย่างเดียวในการผลิตคือชั่วโมงแรงงาน ทั้งสองประเทศมีชั่วโมงแรงงานรวมทั้งสิ้น 1,000 ชั่วโมง โดยใช้เวลาการผลิตสินค้าแต่ละชนิดดังตารางด้านล่าง
พัดลม | ตู้เย็น | |
ประเทศไทย | 4 ชั่วโมง
(เทียบเท่ากับตู้เย็น 0.5 เครื่อง) |
8 ชั่วโมง
(เทียบเท่ากับพัดลม 2 เครื่อง) |
ประเทศอังกฤษ | 1 ชั่วโมง
(เทียบเท่ากับตู้เย็น 0.25 เครื่อง) |
4 ชั่วโมง
(เทียบเท่ากับพัดลม 4 เครื่อง) |
จากตารางข้างต้น แม้ว่าประเทศไทยจะใช้เวลาผลิตพัดลมและตู้เย็นมากกว่าอังกฤษ แต่เมื่อพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบจะพบว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตตู้เย็น ขณะที่อังกฤษมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตพัดลม
หากไม่มีการค้าระหว่างประเทศ ไทยกับอังกฤษก็จะผลิตสินค้าแบบต่างคนต่างผลิต สมมติว่าทั้ง 2 ประเทศแบ่งชั่วโมงแรงงานเพื่อผลิตสินค้าสองชนิดอย่างละครึ่งหรือ 500 ชั่วโมง ผลผลิตที่ได้จากโลกสมมติใบนี้จะเท่ากับพัดลม 625 เครื่อง และตู้เย็น 187.5 เครื่อง
ไม่มีการค้าระหว่างประเทศ | ||
พัดลม | ตู้เย็น | |
ประเทศไทย (แรงงาน 1,000 ชั่วโมง) |
125 เครื่อง | 62.5 เครื่อง |
ประเทศอังกฤษ
(แรงงาน 1,000 ชั่วโมง) |
500 เครื่อง | 125 เครื่อง |
ผลผลิตรวมของทั้งโลกสมมติ | 625 เครื่อง | 187.5 เครื่อง |
แต่ถ้าวันหนึ่ง ทั้งสองประเทศเริ่มทำมาค้าขายระหว่างกัน แต่ละประเทศตัดสินใจผลิตสินค้าที่ตนเองถนัดกว่า โดยประเทศไทยเน้นผลิตตู้เย็น ส่วนประเทศอังกฤษเน้นผลิตพัดลม ถึงแม้ปริมาณตู้เย็นที่ไทยผลิตได้จะน้อยกว่าผลผลิตในโลกใบเดิมและอังกฤษต้องแบ่งแรงงานบางส่วนมาช่วยผลิตให้ได้ครบ 187.5 เครื่อง แต่เราจะเห็นว่าผลผลิตพัดลมเพิ่มขึ้นจาก 625 เครื่องเป็น 750 เครื่องอย่างน่ามหัศจรรย์ ทั้งที่ 2 ประเทศมีทรัพยากรเหมือนเดิมและใช้เวลาในการผลิตเท่าเดิม
มีการค้าระหว่างประเทศ แต่ละประเทศเลือกผลิตสินค้าที่เชี่ยวชาญ | ||
พัดลม | ตู้เย็น | |
ประเทศไทย (แรงงาน 1,000 ชั่วโมง) |
0 | 125 เครื่อง |
ประเทศอังกฤษ
(แรงงาน 1,000 ชั่วโมง) |
750 เครื่อง | 62.5 เครื่อง |
ผลผลิตรวมของทั้งโลกสมมติ | 750 เครื่อง | 187.5 เครื่อง |
นี่คือ ‘เวทมนตร์’ ของการค้าระหว่างประเทศซึ่งทำให้ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ จากตัวเลขสถิติพบว่าในช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมาพบความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวทางการค้ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ กล่าวคือยิ่งประเทศทำมาค้าขายกับต่างประเทศมากเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะยิ่งโตเร็วมากขึ้นเท่านั้น นักเศรษฐศาสตร์อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่าเกิดจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การประหยัดจากขนาด รวมถึงการเรียนรู้และเปิดรับนวัตกรรมจากต่างชาติ
สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อนในปัจจุบันจึงสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา แต่โลกที่แต่ละประเทศสามารถทำมาค้าขายได้อย่างเสรีอาจกลายเป็นอดีต เพราะสงครามในยูเครนเปรียบเสมือนใบมีดที่หั่นโลกให้แยกออกเป็นสองค่ายที่อาจไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันได้เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ที่ยากจะหยุดยั้ง
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 เหล่านักวิเคราะห์ต่างพูดถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) กันบ่อยครั้ง เนื่องจากโรคระบาดทำให้ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศมีปัญหา เช่นเดียวกับการเคลื่อนย้ายของทรัพยากรบุคคลที่ต้องหยุดชะงัก ทั่วโลกจึงต้องหันมาพึ่งพาทรัพยากรภายในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อเราสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ สุดท้ายเวทมนตร์ของการค้าระหว่างประเทศก็จะจูงใจให้ทุกประเทศทั่วโลกกลับมาอ้าแขนรับการนำเข้าและส่งออกอีกครั้ง
แต่เมื่อเห็นท่าทีของเหล่าพันธมิตรโลกตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ไม่ว่าสงครามดังกล่าวจะจบลงด้วยการเจรจาหรือการลบยูเครนของจากแผนที่โลก เหตุการณ์นี้ก็ถือเป็นการ ‘นับหนึ่ง’ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะแบ่งโลกออกเป็นสองค่ายคือฝั่งเสรีประชาธิปไตยและฝั่งเผด็จการอำนาจนิยม โดยแต่ละค่ายย่อมต้องหันมาพึ่งพาสินค้าและบริการของพวกเดียวกันและพยายามตัดสายสัมพันธ์กับอีกฟากฝั่ง
กลุ่มประเทศที่ต้องปรับตัวมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นสหภาพยุโรปที่ปัจจุบันต้องพึ่งพารัสเซียในด้านความมั่นคงทางพลังงาน วิกฤติยูเครนย่อมทำให้ทั้งสองมองหน้ากันไม่ติด โดยสหภาพยุโรปคงต้องมองหาแหล่งพลังงานใหม่โดยอาจหันไปสานสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง หรือพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ขึ้นมาภายในประเทศ
ส่วนรัสเซียเองก็ต้องหันไปทำมาค้าขายกับมหามิตรโลกตะวันออกอย่างประเทศจีน ทั้งการเปลี่ยนไปใช้โครงข่าย CIPS ซึ่งเปรียบเสมือน SWIFT ที่พัฒนาขึ้นโดยจีน และการซื้อขายสินค้าบริการระหว่างประเทศโดยใช้เงินหยวนแทนดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับเปิดรับเหล่าประเทศเผด็จการที่ต้องการเข้าร่วมเครือข่ายเพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะโดนคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกหากวันหนึ่งต้องการเดินออกนอกลู่นอกทาง ‘คุณค่า’ ที่มหาอำนาจโลกตะวันตกยึดถือ
การคว่ำบาตรรัสเซียโดยชาติตะวันตกยังถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญของประเทศจีนเพื่อออกแบบป้อมปราการทางเศรษฐกิจของตนเอง เพราะไม่ช้าก็เร็ว จีนย่อมต้องเดินหน้าสานฝันตามนโยบายจีนหนึ่งเดียว (One China) โดยผนวกรวมเอาไต้หวันกลับเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมกระทบกระทั่งกับชาติตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากการสูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว การแบ่งขั้วทางการเมืองย่อมส่งผลให้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมีประสิทธิผลน้อยลง ส่งผลให้ความไม่ลงรอยกันระหว่างชาติมหาอำนาจมีแนวโน้มปะทุไปสู่การปะทะโดยกองกำลังทหารเพราะไม่อาจใช้มาตรการทางเศรษฐกิจกดดันได้อีกต่อไป นอกจากนี้ การแบ่งขั้วดังกล่าวยังส่งผลให้ความท้าทายซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในระดับโลกเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างวิกฤติภูมิอากาศอาจไม่สามารถบรรลุผลได้ตามเป้า
การรุกรานยูเครนของรัสเซียจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ทำให้โลกในทศวรรษที่กำลังจะมาถึงอาจน่าอยู่น้อยลงกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart