แม้จะพยายามใช้ชีวิตและทำงานตามปกติอยู่ที่ไทย แต่เธอก็เล่าว่ายังเป็นห่วงและยังพยายามติดต่อกับญาติๆ ที่ต้องจากบ้านเพื่อหนีภัยสงคราม …และจะทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้สงครามยุติโดยเร็ว
วันที่ 24 มีนาคม 2565 ถือเป็นวันครบ 1 เดือนพอดีนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มส่งกองกำลังข้ามพรมแดนเข้ามาในยูเครน แม้อาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ยาวนานเหลือทนสำหรับชาวยูเครน หากเราได้เข้าไปสัมผัส หรืออย่างน้อยก็ฟังจากคำบอกเล่า ก็จะพบว่า ชีวิตของพวกเขาต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ยากจะหยั่งถึง – มีทั้งสูญเสีย จากบ้าน พลัดถิ่น และบางส่วนที่จับปืนขึ้นสู้
บ่ายวันนั้น The MATTER จึงถือโอกาสนัดพูดคุยกับ ไอซ์—จุฑาลักษณ์ เชิดเหรัญ คอร์ท คนไทยที่แต่งงานกับชาวยูเครน เพื่อขอให้เธอเล่าเรื่องสงครามให้ฟัง และทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของความรู้สึกหลังเกิดสงคราม การช่วยเหลือญาติๆ และเพื่อนร่วมชาติในยูเครน รวมถึงเรื่องอย่างการต่อสู้กับข่าวปลอมที่แพร่หลายในไทยด้วย
อยากให้เล่าก่อนว่า มารู้จักกับแฟนที่เป็นคนยูเครนได้อย่างไร
จริงๆ ทํางานบริษัทเดียวกันค่ะ เป็นบริษัท fintech, insurance tech แฟนอยู่ฝั่ง developer ส่วนเราอยู่ฝั่ง content ก็เดินสวนกันไปสวนกันมา แล้วก็เริ่มรู้จักกันจากกิจกรรมต่างๆ ในออฟฟิศเนี่ยแหละค่ะ แล้วก็เลยตัดสินใจพบกัน คบกันได้ประมาณเกือบเกือบสามปีก็ตัดสินใจแต่งงานค่ะ เดือนเมษายนนี้ก็จะแต่งงานครบหนึ่งปีพอดีค่ะ
ประสบการณ์กับประเทศยูเครน
เราไม่ได้รู้สึกว่าคนยูเครนแตกต่างจากคนในประเทศอื่นๆ นะ หมายความว่า เขาไม่ได้ดูมีความชาตินิยม ไม่ได้ดูมีลักษณะที่ พอเห็นปุ๊บ เราจะรู้เลยว่าเขาเป็นคนยูเครน ไม่เหมือนกับเราเห็นคนญี่ปุ่น แต่งตัวแบบนี้น่าจะเป็นคนญี่ปุ่น หรือเห็นคนแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ น่าจะเป็นคนจีน
คนยูเครนที่เราสัมผัสส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนยูเครนรุ่นใหม่ เขาก็จะพูดคุยประเด็นทั่วๆ ไปที่เกิดในสังคม ส่วนคนยูเครนที่เป็นรุ่นที่โตขึ้นมาที่เรารู้จัก ก็จะรู้จักผ่านพ่อแม่ของแฟน ซึ่งจริงๆ คนยูเครนเป็นคนชิวๆ สบายๆ แต่ว่าเขาจะดูนิ่งๆ ก็เลยจะทําให้ดูเผินๆ เหมือนดูดุ แต่ว่าจริงๆ แล้วเป็นคนที่สบายๆ มากเลย
ครอบครัวที่ยูเครนใช้ชีวิตกันอย่างไร
ทุกคนในครอบครัวเกิดในช่วงที่ยังเป็นสภาพโซเวียตหมดเลย แต่ว่าหลังจากแฟนอายุได้ครบหนึ่งขวบ สภาพโซเวียตก็ล่มสลาย คือเท่าที่ฟังมานะคะ ช่วงเวลาที่แฟนเขาแบบยังเด็กอยู่ ชีวิตมันก็อาจจะไม่ได้สะดวกสบายมากนัก ทุกบ้านก็ต้องทําการเกษตร ต้องเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตอาหารไว้บริโภคภายในบ้าน แล้วก็แบ่งปันกันในหมู่บ้าน มันก็ยังเป็นระบบเกษตรกรรม
แฟนเราตอนนี้อายุแค่ 32 ในช่วงเวลาที่เขาเด็ก เขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มกับพ่อแม่ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าพอมันผ่านมา 30 ปีแล้วเนี่ย ประเทศก็เจริญขึ้น แม้ว่าตัวแฟนจะอยู่ห่างจากกรุงเคียฟ (Kyiv) ไป 200 กิโลเมตร อยู่ในภูมิภาคที่ชื่อเชอร์นิฮิฟ (Chernihiv) คล้ายสุดตรงรอยต่อพอดี ถึงแม้ว่าจะเป็นชนบท แต่ทุกคนก็ได้รับการศึกษาที่ดี
ในครอบครัว ทุกคนจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยทั้งหมด พ่อกับแม่แฟนเป็นครูโรงเรียนมัธยม โดยที่แม่แฟนเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ พ่อสอน 3 วิชา คือ ฟิสิกส์ ภูมิศาสตร์ และไอที ส่วนพี่สาวเคยทํางานเป็นข้าราชการมาก่อน แต่ตอนนี้ก็ทั้งพี่สาวแล้วก็พี่เขยของแฟนก็มีธุรกิจเกี่ยวกับการซ่อมรถ
โดยพี่สาวกับพี่เขยจะอยู่ในเคียฟ คนหนุ่มๆ สาวๆ ก็จะอยู่เมืองหลวงกันเยอะ แล้วก็มีลูกสาวสองคน ก็ใช้ชีวิตอยู่ในเคียฟมาตั้งแต่ลูกสาวเกิด ส่วนพ่อแม่ของแฟนก็ยังอยู่ในเชอร์นิฮิฟเหมือนเดิม
พอสงครามเกิดขึ้น คนในครอบครัวต้องเจอกับอะไรบ้าง
ก่อนหน้าที่จะเกิดสงคราม ต้องบอกว่าคนยูเครนยังคาดไม่ถึง ไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อนเลย ก็จะมีบางคนที่กลัวมากกว่าคนอื่นอีกนิดหน่อย มีเตรียมข้าวของ แต่ว่ามันไม่มีใครเตรียมการมาเป็นเดือน ไม่มีการเตรียมอพยพเป็นเดือน
อย่างบ้านพี่สาว เขาเตรียมแค่คืนก่อนที่จะอพยพแค่นั้นเอง เพราะเขาคิดว่า มันปี 2022 แล้ว มันไม่น่าจะมีสงครามเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าก็ยังโชคดีที่เขาเตรียมไว้บ้าง เพราะว่าเช้าวันนั้น ทุกคนตื่นเพราะเสียงระเบิด คือไม่แน่ใจหรอกค่ะว่าอยู่ใกล้อยู่ไกลแค่ไหน แต่เขาก็มีความรู้สึกว่า ระเบิดมันเป็นเสียงมันอยู่ใกล้มาก พร้อมกับมีเสียงแจ้งเตือนภัยในกรุงเคียฟ
เขาก็เลยขนของที่เขาเตรียมทั้งหมดเนี่ย แบ่งขับรถไปสองคัน คันนึงก็จะมีพี่เขย คุณพ่อ แล้วก็ลูกคนนึง อีกคันก็เป็นคุณแม่กับลูกคนนึง โดยที่เค้ากลัวว่า ถ้าเกิดสมมุติว่ามันมีคันใดคันหนึ่งที่โดนระเบิดไป มันก็จะยังเหลืออยู่คันนึงที่จะขับต่อไปถึงบ้านของพ่อแม่ของแฟน คือทุกคนตั้งใจว่า ยังไงก็จะไปถึงตรงนั้นก่อน
ในช่วง 2-3 วันแรก ก็ยังใช้ชีวิตปกติ แต่ว่าจะใช้ชีวิตในบ้านเป็นส่วนใหญ่ ก็จะไม่มีใครกล้าเดินออกไปเดินเพ่นพ่านข้างนอก เพราะมันก็จะมีกฎเคอร์ฟิวด้วย ที่ทําให้ทุกคนออกไปข้างนอกไม่ได้ แต่พอหลังจากนั้น เขาก็เริ่มรู้สึกว่าได้ยินเสียงการปะทะไกลๆ ได้ยินเสียงระเบิดไกลๆ ก็เลยตัดสินใจว่าจะลงไปอยู่ในห้องใต้ดิน
คนที่อยู่ในบ้านด้วยกัน ก็จะมีพี่เขย พี่สาว ลูกสองคน คุณพ่อ คุณแม่แฟน มีคุณป้ากับคุณลุง แล้วก็คุณยายอายุ 90 ก็จะเป็น 9 คนที่อยู่ในห้องนั้นด้วยกัน ซึ่งก็โชคร้ายนิดนึงที่คุณพ่อแฟนติดโควิด ทราบผลว่าติดโควิด 2-3 ก่อนที่จะเกิดเรื่อง ก็เลยทำให้ทุกคนติดเวียนกันไปครบทุกคน แต่ว่าตอนนี้ก็โชคดีที่หายหมดแล้ว ไม่มีใครเป็นอะไรแล้ว
สิ่งที่ยากอีกอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต ก็คือ พี่เขยของแฟนเป็นโรคหัวใจ จะขาดยาไม่ได้เลย คือต้องได้ยาอยู่ตลอด เขาเตรียมยาไว้บางส่วนบ้างแล้วแหละ แต่ว่ามันผ่านมาเกือบเดือนแล้ว ทําให้ยาหมดไป การจะออกไปซื้อยาเป็นเรื่องที่ยากมาก และร้านขายยาก็ส่งยาไปช่วยตามโรงพยาบาลหมดแล้ว เขาก็เลยใช้วิธีถามเพื่อนที่อยู่ในเมืองลวิฟ (Lviv) ซึ่งเป็นอยู่ใกล้ใกล้กับชายแดนโปแลนด์ ว่ามันพอจะมียาไหม เพื่อนก็ส่งยามาให้
ตอนนี้ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ จนถึงเมื่อ 2 วันก่อน (22 มี.ค.) พี่สาวพยายามติดต่อเพื่อนของครอบครัวอยู่คนนึงนานแล้ว แต่ติดต่อไม่ได้ไป 10 วัน ก็ปรากฏว่า เพื่อนของพี่สาว เค้าหลบอยู่ในอาคารนึง แล้วก็มีระเบิดลงมา เพื่อนพี่สาวก็เจ็บหนัก และก็เสียลูกชายอายุ 14 ปีไปด้วยคนนึง เด็กผู้ชายคนนี้ก็เป็นเพื่อนสนิทลูกสาวของเค้าด้วย
มันก็เลยทําให้เค้าตัดสินใจที่จะอพยพต่อเมื่อวานเลย (23 มี.ค.) ไปอยู่อีกเมืองเชอร์คาซี (Cherkasy) ที่อยู่ฝั่งตะวันตก ห่างจากบ้านไปอีก 350 กิโลเมตร แต่ว่าคราวนี้อพยพไปแค่ครึ่งเดียว มีพี่สาว พี่เขย และเด็ก 2 คน ส่วนพ่อแม่ของแฟน แล้วก็คุณยาย – ซึ่งคุณยายก็จะเคลื่อนย้ายยากมาก เพราะอายุ 90 แล้ว – ก็ยังอยู่ที่บ้านหลังเดิมอยู่
ภาพรวมในสังคมหลังเกิดสงคราม คนรู้จักในยูเครนรู้สึกหรือคิดเห็นอย่างไร
เราแปลกใจเหมือนกันที่ทุกคนค่อนข้างจะมีสติ ไม่ได้แพนิค หรือว่าตื่นกลัวมากนัก เหตุการณ์ที่เริ่มทำให้ทุกคนแพนิคมากที่สุดคือ ที่น้องผู้ชายอายุ 14 เสียชีวิต อันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนกลัวมากที่สุด แต่ก่อนหน้านั้นทุกคนยังมีสติ และวางแผนค่อนข้างดี
คือแฟนเราอธิบายว่า ทุกคนไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็จริง ว่ามันจะเกิดสงครามขึ้น แต่ก็ไม่เคยมีใครที่ไว้วางใจรัสเซียมาก่อนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พอรัสเซียบุก เขารู้ตัวว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ประชาชนยูเครนจะรู้ว่าทหารรัสเซียจะทำอะไรบ้าง
สิ่งแรกเลยที่ทุกคุณพูดกันคือ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือเฟคนิวส์ที่ทางรัสเซียปล่อย เพราะอันนี้มันก็เป็นพฤติกรรมสร้างสงครามของสหภาพโซเวียตมาก่อนอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ถ้าถามว่าทุกคนโฟกัสเรื่องอะไรมาก ก็จะเป็นเรื่องของเฟคนิวส์ที่มาจากทางรัสเซีย
กับตัวเองและแฟน พอเกิดสงครามขึ้น มันส่งผลกระทบกับชีวิตอย่างไร
ในชีวิตประจําวันเราก็ยังต้องทํางาน ต้องพยายามใช้ชีวิตให้มันได้ปกติมากที่สุด แต่ถ้าอย่างแฟนในช่วงอาทิตย์แรก เค้าแทบจะทำงานไม่ได้เลย จะทำได้แค่วันละ 2-3 ชั่วโมง คือมีสมาธิได้มากแค่นั้นจริงๆ พอเช็คโทรศัพท์นิดนึงมันก็จะหลุดไปเลย เพราะมันก็จะมีทั้งข้อความจากเพื่อน จากครอบครัว มีทั้งข่าวที่มาจากประเทศของเค้าเอง
สิ่งนึงที่จะแตกต่างไปมากก็คือ เรื่องของเวลาในการนอน คือแฟนเรานอนดึกอยู่แล้ว อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับเค้ามาก แต่อย่างเราเป็นคนนอนเร็ว 4-5 ทุ่มเราก็นอนแล้ว แต่ช่วงนี้เราจะยืดเวลานอนมาเป็นเที่ยงคืน-ตีหนึ่ง เพราะเป็นช่วงที่แม่และพี่สาวของเขาสะดวกที่จะโทรหาเรามากที่สุด ก็จะรู้สึกว่านอนไม่หลับถ้าไม่ได้ยินเสียงแฟนเริ่มคุยกับที่บ้าน
ตอนนี้แฟนก็เริ่มปรับตัวได้แล้ว อารมณ์มันก็จะพัฒนาจากช่วงแรกๆ ที่เครียดและสับสน คือทําตัวไม่ถูก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งชั่วชีวิตของเรา 2 คนไม่เคยมีสงครามที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน หลังจากนั้นจะเป็นความโกรธที่ตามมา อย่างแฟนจะรู้สึกโกรธว่า ทําไมสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นกับครอบครัว อาจจะมีบ้างที่โกรธเวลาเห็นคอมเมนต์บางอย่างบนอินเทอร์เน็ต
แต่ตอนนี้ ด้วยขวัญกำลังใจของคนยูเครนยังดีอยู่ แฟนก็เลยยังรู้สึกมั่นคงอยู่ และลึกๆ แล้ว เราว่าเขามีความหวังนะว่ามันจะยุติโดยเร็ว และประเทศเขาจะไม่เสียหายมากจนเกินกว่าที่จะกอบกู้ได้
วางแผนอะไรไว้บ้าง
เราต้องวางแผนไว้หลายแบบ แบบหนึ่งคือ ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นจริงๆ แฟนเค้ามีบอกเราไว้บ้างแล้วว่าเค้าอาจจะกลับไปเป็นอาสาสมัครที่นู่น ถ้าเกิดแฟนตัดสินใจกลับไป เราก็ยอมรับในการตัดสินใจของเค้า
จริงๆ ตอนแรกแฟนอยากสมัคร Territorial Defense Forces (กองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน) ด้วยซ้ำ ด้วยข่าวสารที่มันตีมา มันเหมือนกับว่าทางการยูเครนให้อาวุธกับใครก็ได้ที่ไปสมัคร แต่จริงๆ แล้วกระบวนการที่จะได้จับอาวุธมันยากมาก มีเพื่อนเค้าที่สมัครเข้าหน่วยงานนี้ แต่ก็ไม่ได้ เหมือนกับว่าถ้าคุณไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่เคยถือปืน ก็จะทำได้แค่ช่วยเตรียมของ ช่วยลำเลียงแค่นั้น
หรืออีกแผนหนึ่งก็คือ ถ้าเกิดตัวพี่สาว ลูกๆ แล้วก็พี่เขย สามารถออกมาจากนอกประเทศได้ ก็จะเตรียมบ้าน หางาน และเตรียมเรื่องโรงเรียนให้หลานๆ ที่เมืองไทย ส่วนในกรณีที่ทางบ้านพี่สาวไม่ได้อยากจะมาเมืองไทย เพราะที่ไทยเองก็ไม่ได้มีโครงการรับผู้ลี้ภัย ยังไม่ได้เอื้อต่อผู้ลี้ภัยที่เป็นคนยูเครนขนาดนั้น ก็อาจจะไปทางประเทศอื่นอย่างเช่นแคนาดาแทน เพราะทางแคนาดาได้ประกาศโครงการผู้ลี้ภัยออกมาสำหรับคนยูเครนแล้ว ซึ่งสามารถมีวีซ่าที่อยู่ได้ 3 ปี ก็จะพยายามวางแผนและหาลู่ทางไว้หลายแบบเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ที่นั่น
ส่วนแผนของแฟนอีกอย่างหนึ่งก็คือ จริงๆ คนยูเครนในไทยเขาระดมทุนกันค่อนข้างมาก แล้วก็พยายามหาซื้อของที่จําเป็นต่อทหารจริงๆ แต่เขาก็รู้ตัวว่าเขาไปซื้อแบบอาวุธปืน มันก็คงไม่ได้ ก็จะเตรียมพวกอุปกรณ์ปฐมพยาบาลสําหรับทหารโดยเฉพาะ แล้วก็มีพวกเป้ ไฟฉาย ยาหรือผ้าพันแผลที่มันเหมาะกับการใช้สําหรับทหารจริงๆ ซึ่งล็อตแรกรวบรวมเงินกันไปและได้ส่งไปยูเครนเรียบร้อยแล้ว เขาคิดว่าน่าจะทําแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
เคยไปเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามบ้างไหม
ไปเกือบทุกครั้งเลยค่ะ ที่ไปเคลื่อนไหวจะมีการชุมนุมหน้าสถานทูตรัสเซีย ก็ไปมาเหมือนกัน น่าจะไปมา 4 ครั้งที่เป็นการชุมนุมหน้าสถานทูตรัสเซีย และอีกครั้งนึงเป็นการชุมนุมที่สวนลุมพินี
จริงๆ แล้วเท่าที่คุยเท่าที่คุยกับคนยูเครนหลายหลายคน เขาไม่ได้ต้องการเงินบริจาค หรือต้องการให้คนไทยจะต้องมาร่วมชุมนุมกับเขาทุกครั้งมากมายอะไรขนาดนั้น สิ่งหนึ่งที่เขาอยากจะบอกให้คนไทยรู้ก็คือ อยากให้คนไทยรับฟังข่าวสารรอบด้าน และได้รับรู้เรื่องราวจากมุมมองที่มาจากฝั่งของคนยูเครนบ้างมากกว่า
โกรธคนรัสเซียไหม
แฟนเรามีเพื่อนเป็นคนรัสเซียเยอะมาก ซึ่งโชคดีที่เพื่อนส่วนใหญ่ เขาเป็นคนรัสเซียที่อยู่นอกประเทศ เขาก็ได้รับข่าวสารจากข้างนอก และเขาก็ไม่ได้สนับสนุนกับสิ่งที่รัฐบาลทํา เขาก็เป็นคนแรกๆ ด้วยซ้ำที่ทักมาหาแฟนเราว่าเป็นยังไงบ้าง บางคนก็มาขอโทษนะ กับสิ่งที่มันเกิดขึ้น นอกจากเพื่อนที่เป็นคนรัสเซีย ก็จะมีเพื่อนที่มาจากอดีตสหภาพโซเวียต อย่างเบลารุส ที่จะอยู่แก๊งเดียวกับคนรัสเซีย หลายๆ คนก็ติดต่อมา แล้วก็พูดคุยถามว่าเราเป็นยังไงบ้าง
ความรู้สึกของทั้งเราและแฟนที่มีต่อคนรัสเซียทั่วๆ ไป ไม่ได้รู้สึกในแง่ลบอะไร สําหรับคนที่เราเป็นเพื่อน เรายังรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกับเขาได้อยู่เหมือนเดิม และก็มองว่าคนรัสเซียที่เรารู้จักส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนการกระทำครั้งนี้ ในส่วนของเราเอง ไม่ได้โทษคนรัสเซีย แม้ว่าเราจะเห็นในสำนักข่าวต่างๆ ว่าคนรัสเซียราวๆ 70% สนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้ แต่เรามองว่า เขาถูกหล่อหลอมด้วยความคิด ด้วยข่าว ด้วยสื่อในประเทศมาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี และยิ่งปูตินอยู่ในอำนาจถึงราวๆ 20 ปีแล้วด้วย
เรามีความรู้สึกว่ารัฐบาลในรัสเซียพูดเรื่องโกหก และพูดเรื่องที่แม้จะเป็นจริง แต่เป็นจริงครึ่งเดียว วนไปวนมาเรื่อยๆ เขาก็มีความชำนาญในด้านนี้อยู่แล้ว มันก็จะทำให้คนรัสเซียส่วนหนึ่ง น่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยแหละ เชื่อในสิ่งนี้ เราก็เลยไม่โทษเขา เพราะยิ่งบางคนที่ไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษ ไม่ได้ตามข่าวภาษาอังกฤษ อยู่ในรัสเซียตลอดชีวิต เขาย่อมจะเชื่อสิ่งนี้อยู่แล้ว
จริงๆ พี่เขยมีญาติอยู่ในไครเมีย เขาก็โทรศัพท์หาญาติและอธิบายให้ฟังว่ามันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในเคียฟ ในเชอร์นิฮิฟ แต่สิ่งที่ญาติบอกคือ ไม่ มันไม่จริง แล้วก็แนะนําพี่เขยเราว่า ลองดูรอบๆ ตัวสิ มีนาซีอยู่รอบตัวของเธอหรือเปล่า คือญาติที่อยู่ในไครเมียก็เชื่อในสิ่งที่ปูตินได้บอกไว้ ทำให้มิตรภาพของคนยูเครนกับคนรัสเซียที่เคยเป็นเพื่อนกัน มันก็หายไป
อยากจะบอกอะไรกับคนไทยที่อาจจะไม่ได้ตามข่าวสารครบถ้วนทั้ง 2 ฝั่ง
จริงๆ เรามองว่าคนไทยที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยูเครน ก็มีหลายกลุ่ม และหลายคนก็มีหลายความคิดมากเลย กลุ่มแรกที่อยากจะพูดถึงเป็นกลุ่มที่เวลาเราคุยด้วย หรือเห็นเค้าคุยกับคนอื่นในคอมเมนต์ ก็จะพยายามที่จะ educate คนทั่วๆ ไป ว่า อันนี้เป็นความผิดของ NATO และยูเครนต้องเป็นกลาง เพื่อเป็นการถ่วงอํานาจของทั้ง 2 ฝั่ง
เราอยากฝากคำถามไปถึงเค้าว่า ถ้าคุณอยากให้ยูเครนเป็นรัฐกันชน (buffer state) เป็นกลาง โดยที่ไม่เข้าฝ่ายไหน ไม่เข้า EU ไม่เข้า NATO แล้วคุณคิดว่ายูเครนจะก้าวต่อไปเป็นประเทศที่เจริญในทางเศรษฐกิจได้ยังไงถ้าไม่เข้า EU และจะเป็นประเทศที่ลดความขัดแย้งทางการทหารได้ยังไงถ้าไม่เข้า NATO
เขาพยายามจะ educate เราอยู่ตลอดเวลา ให้เรามองว่านี่เป็นความผิดของ NATO และยูเครนที่ไม่เป็นกลาง แต่เขาก็มักจะลืมพูดถึงยูเครนอยู่ตลอด เหมือนเขามองทุกอย่างเป็นเกมกระดาน เหมือนยูเครนเป็น object อันนึง ที่มีไว้ถ่วงอำนาจของฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่ไม่ได้มองในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งเลย
ถามว่าเรารู้สึกยังไงกับคนบางกลุ่มที่เราเห็นเลยว่าเชียร์ปูตินชัดเจน ก็ตอบไม่ถูก แรกๆ โกรธนะว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ แต่หลังๆ มันมีความรู้สึกเอือมมากกว่า และเราไม่แน่ใจว่า อะไรเป็นพื้นฐานในความคิดที่ทำให้เขารู้สึกว่าควรสนับสนุนการกระทำของรัสเซียครั้งนี้
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราอยากพูดถึงคือ กลุ่มคนที่เชื่อคลิปต่างๆ ที่อยู่ใน Facebook อันนี้เราไม่แน่ใจว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่คนเชื่อคลิป Facebook มากกว่าเชื่อสิ่งที่สื่อนำเสนอได้ยังไง เราเห็นความแตกต่างของปฏิกิริยาของคนกลุ่มนี้ เวลาที่มันมีคลิปมาอยู่ในกลุ่ม Facebook โดยที่คนโพสต์ไม่ได้เป็นสื่อมวลชน ไม่ได้มีแหล่งอ้างอิงอะไรเลย เขาจะเชื่อคลิปแบบนี้ คือเราไม่ว่าอะไรเขานะ ถ้าเขาจะเสพคลิปที่มาจากใครก็ไม่รู้ แต่เราอยากให้เขาลองไปหาแหล่งอ้างอิงนิดนึง
อีกกลุ่มที่เราจะเห็นบ่อยคือ เขามักจะโทษว่าทั้งหมดนี้เป็นความผิดของเซเลนสกีที่ไม่ยอมแพ้และทําให้ประชาชนเสียชีวิต เอาประชาชนเป็นโล่มนุษย์ และเขาก็คิดว่า คนยูเครนควรจะตระหนักได้แล้วว่าเขาเลือกผู้นําที่ไม่มีประสิทธิภาพเข้ามา
ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนยูเครนได้ยินแล้วช็อคมาก อย่างแรกเลยคือ เขาไม่เข้าใจว่าทําไมคนไทยถึงมองว่าคนที่เคยมีอาชีพตลกจะมาเป็นประธานาธิบดีไม่ได้ ในมุมมองของคนยูเครน คนที่เป็นคอมเมเดียนเป็นคนฉลาดมาก เพราะว่าการจะเล่นมุกตลก มันต้องใช้เวลาคิดค่อนข้างนาน และในความคิดของคนยูเครน เซเลนสกีคือตัวแทนของประชาชน เขามีความรู้สึกว่า เซเลนสกีไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ถูกได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
พูดถึงเซเลนสกี คนยูเครนคิดอย่างไรกับประธานาธิบดีคนนี้
ต้องบอกว่าที่บ้านเนี่ยเลือกโปโรเชงโก (เปโตร โปโรเชงโก [Petro Poroshenko] อดีตประธานาธิบดีที่เพิ่งลงจากตำแหน่ง) ไม่มีใครเลือกเซเลนสกี น่าจะมีแค่พี่สาวคนเดียวที่เลือก
แรกๆ ที่เขาได้รับตำแหน่ง ที่บ้านมองว่าจะไหวมั้ย ไม่ใช่เรื่องความสามารถในด้านการบริหารอื่นๆ นะ แต่เขามองว่า ยูเครนเป็นประเทศที่ต้องใช้การทูตระดับสูงมาก แต่ว่าเซเลนสกีไม่ได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้มากนัก ก็จะมีความรู้สึกว่า ยอมรับ โอเคได้รับเลือกตั้งมา แต่ก็จะ doubt อยู่หน่อยๆ ว่าจะไหวมั้ย
แต่พอมาถึงจุดนี้ ประชาชนอย่างครอบครัวที่ไม่เลือก ก็รู้สึกยอมรับในตัวเซเลนสกีมากขึ้น ยอมรับว่าเขาสามารถจะทำให้คนยูเครนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในสถานการณ์ที่มันแย่มาก การจัดการต่างๆ ในประเทศยูเครน นอกเหนือจากด้านการทหาร เขาพยายามจัดการอย่างเต็มที่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอพยพประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสาร และวิธีการปฏิบัติตัว ทุกอย่างถูกจัดทำอย่างรอบคอบมาก ทำให้คนที่อยู่ในจุดที่ยังไม่โดนการปะทะสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ลำบากจนเกินไป
ทุกคนมองว่าจริงๆ แล้วเซเลนสกีไม่ได้เป็นคนที่แข็งกร้าว รู้จักอ่อนรู้จักแข็ง พอมันมีสงครามเกิดขึ้น ทุกคนก็เลยไม่มีใครโทษเซเลนสกี เพราะจริงๆ เค้าก็รู้จักผู้นำเค้าดีกว่าชาวเน็ตไทยที่ไปคิดว่า เฮ้ย เซเลนสกีเนี่ยไม่ยอมแพ้เพราะอยากรักษาอำนาจหรือเปล่า แต่ตัวคนยูเครนเค้ารู้ว่าเซเลนสกีเป็นคนยังไง มันก็เลยไม่มีการโทษผู้นำของตัวเองเลย
รู้สึกอย่างไรกับการรุกรานผ่านมา 1 เดือน
ความรู้สึกแต่ละวันจะต่างกันไป แรกๆ อาจจะกังวลและสับสน ทำตัวไม่ถูกว่าต้องทำยังไง มันเหมือนกับว่า ชีวิตคู่ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาเข้ามาหาชีวิตคู่ ในฐานะที่เราอาจจะไม่ใช่คนที่โดนผลกระทบตรงๆ เหมือนเราโดนชิ่งมาจากแฟน แล้วมาทางเราอีกทีนึง
แรกๆ ไม่รู้ว่าเราควรจะซัพพอร์ตชีวิตคู่อย่างไร อันนี้มันเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินตัวเราไปมาก แรกๆ เลยเราไม่รู้ว่า เราควรจะต้องหยุดงานสัก 2-3 วันเพื่ออยู่กับเค้ามั้ย หรือการที่เราทำแบบนี้มันจะดูเป็นการ overreacting แล้วทำให้เค้าเครียดมั้ย หรือว่าเราควรจะไปทำงานปกติ เพื่อบอกเค้าว่าเราใช้ชีวิตปกตินะ เรายังมีสติ แต่มันจะดูเหมือนว่าเราไม่สนใจเขาหรือเปล่า
มันต้องใช้เวลาปรับจูนกันระหว่างเรากับเขา อย่างแฟนเองก็รู้ตัวว่า ไม่ได้ใส่ใจดูแลเราเหมือนเมื่อก่อน เพราะเขาต้องเอาเวลาไปคิดในเรื่องที่เขาไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ แล้วก็มีในเรื่องที่แฟนเรากลัวว่าเราจะคิดมาก เพราะเขาก็ใช้เงินในการสนับสนุนประเทศเขาไปค่อนข้างเยอะ ในการระดมทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น เขาก็จะกังวลว่าเราจะรู้สึกไม่พอใจไหมที่เขาใช้เงินไปกับสิ่งนี้
ถ้ามองไปในอนาคต เราพอจะวางแผนอะไรได้บ้างไหมว่าจะทำอะไรต่อไป
อันนี้ยากมากเลยค่ะ เราคงจะสนับสนุนในทุกๆ ความคิด ทุกการกระทำที่แฟนเราอยากจะช่วยซัพพอร์ตประเทศเขา เช่น เรื่องการบริจาค และถ้าเกิดเขาอยากให้เราช่วยอะไร เราก็ยินดีที่จะช่วยในฐานะคู่ชีวิตและในฐานะคนไทยคนนึงที่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการรุกรานประเทศอื่นแบบนี้อยู่แล้ว
ถ้าวางแผนในอนาคตไกลๆ ยังคิดกันไม่ออกเลยค่ะ เพราะว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน มีพูดคุยกันบ้างว่า ถ้าเกิดมันยืดเยื้อเป็นสงครามที่มีระยะเวลา 5 ปี 10 ปี แล้วไม่มีวันจบ เราทั้งคู่คิดกันว่า ก็คงจะพยายามหาทางพาทุกคนในครอบครัวออกมาจากประเทศให้ได้ ในระยะใกล้ๆ อาจจะแค่พาหลานๆ ออกมาก่อน
แผนในระยะที่ใกล้ที่สุดทั้งของเราและแฟนคือ พยายาม raise awareness ของคนไทยให้ได้มากที่สุด เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งของปูติน อาจจะไม่ใช่แค่กองกำลังของเขา แต่อาจจะเป็นเรื่องของการสร้างสงครามข่าวสารที่มาจากทางฝั่งรัสเซีย ซึ่งมันสร้าง impact ได้พอๆ กันด้วยซ้ำ
ก็คือยังสู้อยู่
ใช่ อารมณ์คือยังสู้อยู่ ไม่ยอมแพ้ ยังไม่เคยเห็นแฟนรู้สึกว่าจะยอมแพ้นะ คือเขาค่อนข้างเชื่อมั่นในประเทศของตัวเองพอสมควร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้ดูเป็นคนรักชาติ ไม่เหมือนอย่างคนไทยที่ยังจะมีความภูมิใจในต้มยำกุ้งหรืออาหารไทย แต่ของเขา เวลาพูดถึงยูเครนก็จะแบบ อืม ก็หนาว เป็นประเทศเกษตรกรรม มีนู่นมีนี่ให้กินเยอะ ผลไม้ถูก อาหารถูก มันก็จะแค่นั้น แต่เขาจะไม่ได้มีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ ในวัฒนธรรมของชาติ มันไม่ได้ขนาดนั้น
และไม่ใช่แค่แฟนนะ ทุกคนจะรู้สึกว่าเขาเป็นประชากรโลก แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ มันเซอร์ไพรส์เราเหมือนกันที่เราเห็นเขา และเพื่อนๆ เขา ซึ่งอยู่อเมริกาก็มี ฝรั่งเศส เยอรมนีก็มี เขาก็จะผนึกกำลังกันได้เร็วมาก และวางแผนว่าเขาจะช่วยเหลือประเทศของเขาได้ยังไง
ความรู้สึกของเราในวันนี้ ถึงแม้ว่าจะกังวล แต่เรายังรู้สึกว่าเรายังมีความหวังที่จะได้ไปเยือนประเทศเขา ในลักษณะที่ประเทศเขายังมีอธิปไตยเป็นของตัวเองอยู่ และจากที่เราได้สัมผัสคนยูเครนในช่วงนี้ แม้ทุกคนจะโกรธ แม้ทุกคนจะกลัว แต่ทุกคนก็มีความหวัง และความหวังของเขามันก็ถ่ายทอดมาที่เรา