ณ เวลา 20.35 น. หลังจากปิดหีบไปราว 3 ชั่วโมงครึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ก็เดินลงมาจากสำนักงานใหญ่ หรือชั้นสองของอาคาร Stadium One เสียงปรบมือและตะโกนต้อนรับดังก้องกังวาลไปทั่ว เขายกมือขึ้นแทนคำขอบคุณ แล้วก้าวขึ้นลังไม้ ขณะที่กล้องทุกตัวจับจ้องไปที่เขา
ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่านี่คือการประกาศชัยชนะในฐานะผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และนี่คือข้อความที่เขาฝากไปถึงคน กทม. ไม่ว่ามีหรือไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่ว่าะจะเลือกหรือไม่เลือกเขาก็ตาม
#ขอบคุณคะแนนเสียงและทีมงาน
ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นกล่าวปราศรัยและยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการรับรองจาก กกต. ดังนั้น เขายังไม่ใช้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่โดยนิตินัย เขาเล่าต่อว่าทางผู้สมัครคนอื่น อาทิ เอ้ – สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้โทรมาแสดงความยินดีกับเขาแล้ว พร้อมยืนยันว่า หากต้องทำงานร่วมกับ ส.ก. ที่มาจากพรรคที่พวกเขาสังกัด พวกเขายินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ นอกจากนี้ เขายังรับปากว่าจะไม่มีทิฐิ และพร้อมนำนโยบายที่ดีของผู้สมัครคนอื่นไปดำเนินการ
“เราเดินทางร่วมกันมาเกือบ 2 เดือน (ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.) สำหรับผมมันคือการแข่งขันที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเราอาจคิดเรื่องไวไฟฟรี, รัฐสวัสดิการ, การหารายได้ หรือการต่อยอดนโยบายที่ดีอยู่แล้วของอดีตผู้ว่าฯ ดังนั้น ผู้สมัครทุกท่านมีข้อดีที่เราจะน้อมรับมา แล้วนำไปปรับปรุงเป็นนโยบาย เพราะนโยบายของเราก็ไม่ได้ดีครบถ้วนหรอก เราเลยถือโอกาสนี้จะเอานโยายของทุกท่านมารวมกัน รวมถึงนโยบายที่เราจะร่วมมือกับ สก. ทุกท่านด้วย นี่คือสิ่งสำคัญที่เดินไปด้วยกัน”
ก่อนที่เขาจะเริ่มเล่าถึงความรู้สึกต่อวันนี้ และทิศทางที่เขาคิดว่าจะพา กทม. ไปข้างหน้า โดยคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” เพื่อเป็น “ผู้ว่าฯ กทม. ของทุกคน”
“วันนี้ (22 พ.ค.) เป็นวันที่มีความหมายสำหรับผมส่วนตัว เพราะเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนเกิดรัฐประหาร ผมถูกคลุมหัวแล้วมัดมือ วันนี้แหละ ตอนนี้แหละ นาทีนี้เลย (ปรบมือ) ผมถูกนำตัวไปที่ไหนยังไม่รู้ เพราะตอนนั้นเขาคลุมหัวไปแล้วตอนกลับก็คลุมหัวกลับ”
“แต่ต้องบอกว่าผมไม่รู้สึกโกรธ แค้น หรือเกลียดเลยนะ เราให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ผมว่านี่คือสิ่งที่เตือนใจเราว่า เมื่อไหร่ประชาชนทะเลาะ โกรธ เกลียดซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์ เราเห็นต่างกันได้ แต่อย่าโกรธ เกลียด สร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ผมว่านี่คือบทเรียนที่สำคัญ”
“ถ้าผมมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมอยากจะเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคนครับ (ปรบมือ) แม้ว่าท่านไหนจะเลือกผมหรือไม่เลือกผม ผมก็ต้องรับใช้ทุกคนเหมือนกัน เพราะว่าผมได้เป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ แล้ว เรามาเดินร่วมกัน เห็นต่างกันได้แต่อย่าเกลียดกัน ทะเลาะกัน”
“กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่เต็มไปด้วยความหวัง มีความสวยงามและคุณค่ามากมาย แต่ที่ผ่านมามันก็มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ทำให้เพชรเม็ดนี้ไม่ได้รับการเจียระไนอย่างเต็มที่ ผมอาสาเป็นผู้นำแห่งความหวังให้พวกเราทุกคน เราเห็นต่างได้ แต่อย่าเกลียดกัน คุยกันด้วยเหตุผล เดินไปด้วยกันแล้วทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่สวยงาม คนอยู่มีความสุข และเป็นเมืองที่น่าอยุ่สำหรับพวกเราทุกคนด้วยครับ”
“ผมว่าบอบช้ำกันมาเยอะสำหรับกรุงเทพฯ รวมถึงประเทศไทยด้วย เห็นต่างได้แต่อย่าทะเลาะกัน และสุดท้ายผมเชื่อว่าเมืองไทยมีพลัง มีความหวังอีกมาย ขอให้ร่วมใจกันครับนาทีนี้ (ปรบมือ)”
#ขอบคุณทีมงานและอาสาสมัคร
“ต้องขอบคุณทีมงานเพื่อนชัชชาตินะครับ มันเป็นบทพิสูจน์ว่าพลังของอิสระ และอาสาสมัครที่มารวมตัวกันเมื่อ 2 ปีครึ่งที่แล้ว เหมือนคนหลงทาง ไม่รู้ไปถูกทางไหม มาถึงวันนี้ มันทำให้รู้ว่าถึงไม่ใช่พรรคการเมืองก็ทำการเมืองได้ และมีพลังไม่น้อยกว่าอยู่ในพรรคการเมืองเลย”
“และถ้าเราไปดูข้างบน (วอร์รูม) มีน้องๆ หลายคนเลยที่เป็นอาสาสมัครและมาร่วมทำงานกับเรา คนรุ่นใหม่พวกนี้แหละคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำให้เมืองดีขึ้น เพราะว่าในอนาคตเราต้องส่งไม้ต่อให้คนเหล่านี้ ให้เขามีส่วนร่วมในคำตอบของเมือง ไม่ใช่เราคิดคำตอบแล้วโยนให้เขา”
“ผมเชื่อว่าจากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาที่ ‘สนุก’ และผมยืนยันว่าตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา คำขวัญหลักของทีมเราคือต้อง ‘สนุก’ ทุกคนในทีมเราเลยทำเต็มที่ ปล่อยการ์ตูน ปล่อยอะไร ทุกคนมีอิสระในการคิด และสิ่งที่ออกมามันคือพลังที่ผมเชื่อว่าจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้ เราพิสูจน์มาแล้ว”
“และผมเชื่อว่าในปี 4 ข้างหน้า (ถ้า กกต. รับรอง) จะเป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง และสร้างสิ่งดีๆ ให้กรุงเทพฯ อีกมากมายหมาศาล แต่ทุกคนต้องมาร่วมกันครับ กรุงเทพฯ ไม่สามารถสร้างได้ด้วยคนกลุ่มเดียว ทุกคนต้องมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง และผมเชื่อว่าเราทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้ครับ”
#ประโยคแรกที่อยากพูดกับคน กทม.
เมื่อว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ได้ยินคำถามนี้ เขานิ่งคิดชั่วครู่ก่อนพูดขึ้นด้วยเสียงฉะฉาน “จะไม่ทำให้ผิดหวังครับ” ก่อนกล่าวต่อว่า “ผมก็บอกทีมงานตลอดว่าอย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง มันเป็นสิ่งที่ผมและทีมงานระลึกเสมอว่า ภารกิจมันใหญ่หลวงนะ ไม่ใช่เล่นๆ มันไม่ใช่วันของชัยชนะเลย แต่มันเป็นวันที่เรารับภาระและคำสั่งจากประชาชนให้ไปทำงานต่อต่างหาก เป็นภาระที่หนักแต่ยินดีทำครับ”
#ฝากถึงข้าราชการ กทม.
“ฝากข้าราชการ กทม. ทั้งหมด ให้ไปอ่านนโยบายทั้ง 213 ข้อ และอ่านนโยบายรายเขต 50 เขตของผมในเว็บไซต์ ท่านกรุณาอ่านให้ละเอียดเลยครับ เพราะนี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ถ้าท่านอ่านไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย ให้มาถามหรือคุยกัน นี่คือจุดเริ่มต้นและเดี๋ยวเราเดินไปด้วยกัน”
ชัชชาติกล่าวเสริมถึงวิธีการจัดการปัญหาทุจริตในระบบข้าราชการ กทม. ว่า มีทั้งหมด 3 ข้อคือ การแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรม, นโยบายที่มอบให้ต้องชัดเจน และผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
“อย่างแรกเลยคือ การแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรม ไม่มีการซื้อตำแหน่ง เพราะถ้าซื้อขายตำแหน่งแล้วก็ต้องมารีดไถประชาชน ดังนั้น ต้องไม่มีตรงนี้ก่อน ประการที่สอง ชัดเจน ว่าเราต้องการอะไรจากเขา ซึ่ง 213 นโยบายของผมมันก็ชัดเจนว่าต้องการอะไร ตัวชี้วัดคืออะไร ประการที่สาม ผู้นำต้องเป็นตัวอย่าง ถ้าคุณบอกให้เขาโปร่งใส คุณต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ถ้าคุณจะให้เขาดูแลประชาชน คุณก็ต้องลงไปก่อน ถ้าคุณจะให้เขามีความรู้หลากหลาย คุณก็ต้องอ่านหนังสือ ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้องก่อน”
นอกจากนี้ เขายังเสริมว่าภายในทีมงาน ‘เพื่อนชัชชาติ’ เองก็มีอดีตข้าราชการหลายคน ที่พอมีหูตาทราบว่าด้านในใครเป็นอย่างไรบ้าง “อีกอย่าง เรามีทีมสก็อตแลนด์ยาร์ด (ชื่อเรียก สตช. อังกฤษ) เยอะ ข้าราชการน้ำดีที่เคยอยู่ใน กทม. ที่เขารู้ว่าใครเป็นยังไง ดังนั้น ข้าราชการที่ดีไม่ต้องกลัวนะ แต่ข้าราชการที่ไม่ดี เตรียมตัวไว้ได้!”
#ความแตกต่างระหว่างรัฐมนตรีคมนาคม กับผู้ว่าฯ กทม.
“ตอนเราเป็นรัฐมนตรีคมนาคม เราจะใส่แว่นวิศวะเป็นหลัก เพราะมันเป็นเมกะโปรเจคท์วิศวะ เช่น รถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาท, โครงการเชื่อมต่อ หรือโครงสร้างพื้นฐาน แต่พอเป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ถอดแว่นวิศวะออก เพราะถ้าเรายังใส่อยู่เราจะเห็นแต่เมกะโปรเจคท์ อุโมงยักษ์ระบายน้ำ, รถไฟฟ้า, โรงเผาขยะ แล้วเราจะลืมชีวิตคน, ลืมทางเท้า, ลืมท่อระบายน้ำ ดังนั้น หัวใจของผู้ว่าฯ กทม. คือต้องใส่แว่นหลายสี วิศวะ, เศรษฐศาสตร์, การศึกษา, สาธารณสุข”
“ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการเลนส์หลากสี เราถึงต้องมีทีมที่มีคนหลากหลาย นักสังคมศาสตร์, สิ่งแวดล้อม เราต้องคนหลายสีเพื่อตอบโจทย์ทุกคนในเมือง คมนาคมมันคือเรื่องของวิศวะ แต่การเป็นผู้ว่าฯ กทม. เราต้องการอะไรที่หลากหลายกว่าเพื่อตอบโจทย์คน กทม. ทุกคน”
#รองผู้ว่าฯ กทม.
“ไม่ต้องรีบครับ มีแล้ว แต่เดี๋ยวขอดูผลดูอะไรให้ชัดก่อน คือต้องรอ กกต. ยืนยันผลเลือกตั้งให้แน่ชัดก่อน”
#นโยบายแรก
เจ้าของมีมรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีตอบถามนี้เหมือนเช่นทุกครั้งว่า “ผมคิดว่าเราสามารถทำ 213 นโยบายไปพร้อมกันหมดเลยได้ เพราะผู้นำนโยบายของเราไปปฏิบัติคือข้าราชการ กทม. ซึ่งมีหลายหน่วยงาน และมีมากถึง 80,000 คน ดังนั้น เราถึงต้องมีนโยบายมากกว่า 200 นโยบาย เพื่อมอบงานให้แก่หน่วยงานใน กทม. ทำและดำเนินนโยบายไปพร้อมกัน”
“แต่ถ้านโยบายที่ทำได้ทันที และไม่ต้องใช้งบประมาณเลยคือ การทำให้ระบบราชการโปร่งใส และเริ่มนำแนวคิด Open Data หรือ One Stop Service สำหรับประชาชนที่มาติดต่อราชการ ผมคิดว่านโยบายด้านเทคโนโลยี ที่ไม่จำเป้นต้องใช้งบประมาณ สามารถทำให้เสร็จได้ก่อนเลย” อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว
#ขั้วการเมือง
“ไม่มีขั้วการเมืองนะ ถามประชาชนมีขั้วการเมืองไหมก็ไม่มีนะ ผมว่าสุดท้ายแล้วขั้วการเมืองมันสร้างด้วยผลประโยชน์ของบางคน (ปรบมือ) อย่าไปแบ่งคนเป็น 0 กับ 1 หรือซ้ายกับขวา ทุกคนมีความแตกต่างในแต่ละมิติ พอไปแบ่งขั้วปุ๊ป มันไม่มีประโยชน์เลย ทำให้สังคมแตกแยก คนเรามันมีเฉดสีที่ต่างกัน ดังนั้น แต่ละเรื่องแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน แล้วเวลาคุณจะเลือกใครคุณชั่งตวงน้ำหนักทั้งหมด”
“เพราะฉะนั้น อย่าไปแบ่งขั้วเลยครับ เพราะ ‘ขั้ว’ มันเป็นคำพูดที่พยายามแบ่งคน เพื่อประโยชน์จากการใช้อารมณ์ การปลุกความเกลียดชัง ผมว่าอย่างน้อย กทม. อย่ามีขั้วเลย ผมอาสาประสานทุกคน ขัดแย้งได้นะ แต่อย่าโกรธ อย่าเป็นขั้ว แล้วเดินไปด้วยกัน ผมว่าตรงนี้เราจะทำได้ดีครับ”
#เปลี่ยนความคิด ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’
“เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดใครได้นะครับ ผมยืนยัน ไม่มีใครเอื้อมไปในสมองแล้วเปลี่ยนความคิดคนอื่นได้ มันต้องเริ่มจากตัวเราเอง ดังนั้น หน้าที่เราคือทำให้ดีที่สุด แต่อย่าไปเสียเวลากับคนที่ไม่มีความคิด ถ้าเราให้ข้อมูลเขาแล้ว ก็ต้องวางใจที่จะไม่ไปทะเลาะกับเขา ผม่วาหลายคนเสียเวลาไปเปลี่ยนความคิดเพื่อน พ่อแม่ ผมว่าหน้าที่เราคือให้ข้อมูลเขาให้เต็มที่ อย่าไปโกรธ หรือเกลียดเขา เขาไม่คิดหรือเปลี่ยน เราก็ไปหาคนอื่นที่มีความคิดเหมือนเราดีกว่า”
“เราอย่าไปกังวลเรื่องเปลี่ยนความคิดคนอื่น สังคมมันมีความแตกต่างอยู่แล้ว มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เลือกทางกลยุทธก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายแล้วประชาชนตัดสินใจเอง”
#ทำงานร่วมกับ ส.ก.
“เมื่อครู่ได้คุยกับ วิโรจน์ และ ดร.เอ้ แล้ว เขาก็บอกยินดีที่จะทำงานร่วมกับเราตลอด ซึ่งผมว่าเป็นสัญญาณที่ดีเลย นโยบายหลักเนี่ยเรานำเพราะประชาชนเลือกเรา แต่การจะเอานโยบายลงไปที่เขตอย่างไร ผมว่าอันนี้ต้องฟัง ส.ก.” เขากล่าวต่อว่า “มันก็ต้องคุยกันนะครับ แล้วนโยบายที่เราเห็นว่าดีจากพรรคอื่น ก็คุยกับ ส.ก. เขาด้วย ผมว่าไปได้ครับ เราไม่ได้ทะเลาะกัน และเราเริ่มด้วยการคุย ตอนนี้ก็ไม่ได้กังวลเลยครับ”
#ทำงานร่วมกับรัฐบาล
“ต้องรอดูพรุ่งนี้นะว่าผมได้กี่คะแนนเสียง เพราะผู้ว่าฯ กทม. ผมว่าได้คะแนนเสียงมากกว่านายกฯ อีกนะ (ปรบมือ) ไม่ได้ท้าทายนะ แต่เราเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้คุยด้วยอารมณ์ ใช้ประชาชนเป็นที่ตั้ง การคุยมันก็มีระบบในการคุยอยู่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เดินไปคุย มันมีเอกสารมีขั้นตอนอยู่ ดังนั้น เรื่องประสานงานไม่ต้องกลัวนะ (ไมค์หอน)”
“ตอนนี้พูดไปเดี๋ยวผิดกฎหมาย แต่ก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้รู้สึกชนะ มันเหมือนเป็นคำสั่งของประชาชนที่เราต้องปฏิบัติตาม”
#การประสานงานกับปริมณฑล
“ผมคิดว่ามันเป็นมหานครใหญ่ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่ดูแลร่วมกัน หลายคนอาศัยอยู่นนทบุรี แต่มาทำงานกรุงเทพฯ แล้วก็ขับรถกลับนนทบุรี ดังนั้น ผมว่าต้องมีคณะกรรมการร่วม 2 คณะ คณะแรกคือ ‘ระหว่างรัฐกับเอกชน’ และคณะที่สองคือ ‘ระหว่างรัฐกับรัฐ’ คอยดูเรื่อง รถติด, น้ำเสีย, ผังเมือง”
#ประชากรแฝง
“เราต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ กทม. เพื่อให้เรามีตัวเลขประชากรที่แท้จริง และได้งบประมาณที่ถูกต้อง ปัจจุบันประชากรแฝง 9 ล้านคน เรามีลงทะเบียนแค่ 6 ล้าน เราก็ได้งบประมาณไม่พอ”
#ความเหลื่อมล้ำ
“ผมว่าความหมายของความเหลื่อมล้ำคือ ควาไม่เท่าเทียมทางโอกาส เพราะทุกคนไม่สามารถสูงเท่ากันได้อยู่แล้ว ซึ่งนโยบายของเราพูดเรื่องเหลื่อมล้ำอยู่แล้วคือ “เส้นเลือดฝอย” การดูแลเส้นเลือดฝอยคือการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดที่เส้นเลือดฝอย ชุมชน, หมู่บ้านที่เข้าไม่ถึงการศึกษาหรือสาธารณสุข โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา เพราะมันทำให้รุ่นลูกดีกว่าพ่อแม่ได้”
#ประชาชนเข้าถึงผู้ว่าฯ กทม.
“เป็นคำถามที่ดีนะ ผมไปลงพื้นที่โดนชาวบ้านด่าประจำ ว่ามาเฉพาะตอนเลือกตั้งแล้วก็หายหัว แล้วก็มีหลายคนเลยที่มาถ่ายรูปแล้วบอกว่า เดี๋ยวหมดเลือกตั้งก็ไม่เจอแล้ว คือมันเป็นภาพจำของคนนะว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องนั่งอยู่ในห้องแอร์”
“แต่นิสัยผมเป็นคนติดดิน ผมจะมีผู้ว่าฯ สัญจร จะลงพื้นที่ทุกอาทิตย์ ประชุมที่เขตแต่ละเขตทุกอาทิตย์ และเราจะไม่บอกเขตไหน เพราะถ้าเราบอกว่าไปเขตไหน รากผักชีเต็มเขตเลย (หัวเราะ) หลักการคือต้องไม่บอกเขต”
“แล้วเรามีนโยบายปลูกต้นไม้ 1,000,000 ต้น ปลูกเขตละ 100 ต้น/ อาทิตย์ ซึ่ง 4 ปีจะครบพอดี เราก็จะไปปลูกต้นไม้ก่อน จากนั้นก็ลงพื้นที่เขตแบบไม่บอกว่าเขตไหน ก็จะให้มาแต่คนที่จำเป็นจริงๆ แล้วตอนบ่ายก็ลงชุมชนอาจเลือกสัก 10 ชุมชน แล้วก็ทำให้เราได้เจอประชาชนจริงๆ มันต้องมีช่องทางให้เราได้คุย และเข้าหาเขาได้ มิงั้นเราจะไม่ตอบโจทย์เขา แต่มันจะมีวิธีการอื่นด้วยนะ เช่น พบคนรุ่นใหม่เป็นประจำให้เด็กมาเจอกับเราได้ด้วย”
“เรายังมีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) สำหรับรายงานปัญหา อย่างเช่น เราเห็นฝ่าท่อเสียที่ไหน เราถ่ายรูปแล้วแจ้งผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้เลย ตอนนี้มีคนแจ้งมา 2,000 กว่าเหตุแล้ว แล้วถ้าปัญหายังไม่ถูกแก้ มันก็ยังอยู่ในเว็บ ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดรับแจ้งเหตจุ และเราสามารถแก้ไขได้เลยถ้าเป็นผู้ว่าฯ ขึ้นมา”
“ผมคิดว่าโมเดลที่ดีคือ ไต้หวัน ผมได้คุยกับรัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน ‘ออเดรย์ ถัง’ หลายครั้ง เขาก็มีแพลตฟอร์มของเขาเอง คือหลายๆ ปัญหามันไม่ใช่เกิดที่ไทยประเทศแรก เอาคนที่ทำไว้แล้วหลายๆ ที่มาใช้ ซึ่งสามารถใช้ได้ทันทีเลย
#ถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม. พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
“ก็ต้องขอบคุณท่านนะที่ดูแลกรุงเทพฯ มา 5 ปี 5 เดือน 5 วัน โครงการไหนที่ดีเราทำต่อครับ ไม่มีปัญหา ไม่ได้จะมาล้างอะไร แต่อะไรที่ต้องปรับปรุงก็ทำให้ดีขึ้น ซึ่งผมว่าก็มีสิ่งดีๆ หลายอย่าง เช่น ป้ายรถเมล์ หรือการทำคลองในบางจุด แต่ทั้งหมดนั้นมันขยายไปจุดอื่นได้ไหม ผมคิดว่าทุกคนมีจุดดี ก็เอาจุดดีทำต่อ อันไหนไม่ดีก็ควรปรับปรุง”
#พรุ่งนี้ยังไปวิ่งอยู่ไหม
“ผมนัดเพื่อนไว้ที่สวนลุมพินีแล้ว เพราะทุกสิ่งก็เริ่มที่สวนลุม หลายคนที่ผมรู้จัก ได้นั่งคุยกัน ก็เริ่มที่สวนลุมแหละครับ”
#จาก กทม. ถึงการเมืองระดับประเทศ
“ผมว่าคำถามนี้น่าสนใจ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจะเปลี่ยนไปเลยคือ ป้ายหาเสียง (ปรบมือ) ไอเดียจากที่น้องๆ คิดกัน มันก็เปลี่ยนการเมืองไปตลอดเลยนะ ทำป้ายใหญ่มันเกะกะและยังเปลืองตังอีก และผมคิดว่าเรื่องเล็กๆ นี่แหละที่จะเปลี่ยนการเมืองภาพใหญ่ได้ การเมืองที่ไม่ต้องมีพรรคการเมือง มีแต่คนมารวมตัวกัน คิดนอกกรอบ รวมพลังกัน มันเป็นไปได้
“ผมว่าหัวใจของการอยู่ในอนาคตคือ ต้อง “เอ๊ะ” บ้าง อย่ามัวแต่ “อือ” จนสุดท้ายไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าทีมผมชอบเอ๊ะว่าใช่ไหม ป้ายหาเสียงใหญ่จำเป็นหรอ ปราศรัยใหญ่จำเป็นไหม ผมคิดว่ากรุงเทพฯ และประเทศไทยต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ผมเชื่อว่ามูฟเมนต์ของเราจะจุดประกายได้ แต่แค่ไหนก็ต้องดูต่อไป”
“ผมคิดว่ามันคือการแสดงพลังของประชาธิปไตย และเจตจำนงค์ของประชาชนที่เลือกเรามา”
“แต่ถ้าเราดูการเมืองระดับประเทศ เราจะเห็นว่ายังมี 250 เสียงของ ส.ว. อยู่ ซึ่งผมคิดว่านั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มันเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ซึ่งมันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงสำหรับผม และเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนที่แท้จริง”
อ่านนโยบายทั้งหมดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ที่:
https://www.chadchart.com/policy
เข้าชมเว็บไซต์สำหรับแจ้งปัญหาใน กทม. ของ ชัชชาติ ได้ที่:
https://share.traffy.in.th/teamchadchart#
อ้างอิง:
#Recap #TheMATTER #เลือกตั้งผู้ว่ากทม65 #ชัชชาติ #ผู้ว่ากรุงเทพ