ช่วงเวลานี้ของปีอีกแล้ว สำหรับบ้านเราคริสต์มาสเป็นเทศกาลรื่นเริงที่เราชอบ อย่างน้อยๆ ก็ได้ไปถ่ายไฟต้นคริสต์มาสสวยๆ แต่สำหรับโลกตะวันตก วันคริสต์มาสถือเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งของปี วันที่ทุกคนจะได้กลับบ้าน ไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งการ ‘ให้ของขวัญ’ เป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลนี้ ในหนังที่ว่าด้วยวันคริสมาสต์เราจะเห็นภาพการสรรหาของขวัญที่เหมาะสม เห็นภาพเด็กๆ แขวนถุงเท้าเพื่อรอรับของขวัญจากลุงซานต้า
ทำไมเด็กๆ ต้องได้ของขวัญในวันคริสต์มาส จริงอยู่ว่าการให้ของขวัญกับเด็กๆ แต่ดั้งแต่เดิมเป็นการให้ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้เราหวนระลึกถึงของขวัญสามชิ้นในวันที่พระเยซูประสูติ เขียนมาถึงตรงนี้เราอาจนึกได้ว่า วันคริสต์มาสคือวันประสูติพระเยซูนี่นา เรามัวแต่นึกถึงภาพของการตบแต่ง ความสนุกสนาน กองของขวัญ และลุงอ้วนแดง
เจ้าลุงอ้วนแดงนี่แหละ เป็นหนึ่งในหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ จากการให้ของขวัญเชิงสัญลักษณ์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลแห่งการจับจ่าย แหม่ ขนาดสปิริตของคริสต์มาสเอง ยังหนีไม่พ้นโลกทุนนิยมเลย
เมื่อ St. Nicholas ยังผอมและไม่ได้นั่งเลื่อนเรนเดียร์
ภาพลุงซานต้า St. Nicholas เป็นตำนานสองเรื่องที่ถูกนำมารวมเรื่องกัน ตามตำนานเดิมนักบุญนิโคลัสไม่ได้อ้วน แต่เป็นนักบุญผู้มั่งคั่งที่เกี่ยวข้องกับการให้และการช่วยเหลือ ซึ่งวันที่คนจะให้ของขวัญกันตามรอยนักบุญที่ดูจากภาพวาดแล้วไม่ได้อ้วน คือวัน St. Nicholas ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม เด็กๆ จะเอารองเท้าเปล่ามาวางไว้เพื่อรอของขวัญ รอการมาถึงของนักบุญนิโคลัส ในหลายประเทศในยุโรปรวมถึงเนเธอแลนด์ การให้ของขวัญเด็กๆ ยังคงให้กันตามธรรมเนียมเก่าแก่ในวันที่ 6 นั้น
ตำนานนักบุญนิโคลัสไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายนักในช่วงศตวรรษที่ 16 จะมีก็แต่ที่เนเธอแลนด์ แต่หลังจากนั้น 200 ปี นักบุญนิโคลัสกลับมาด้วยการปรากฏตัวพร้อมเลื่อนน้องกวาง ในช่วงปี 1823 จากบทกวีชื่อ ‘A Visit from St. Nicholas’ หรือ ‘T’was the Night before Christmas’ ของ Dr. Clement Clarke Moore ในบทกวีนี้บรรยายภาพ St. Nicholas ที่มาเยี่ยมเด็กๆ ในวันก่อนวันคริสต์มาสพร้อมเลื่อนกวางเรนเดียร์ บทกวีนี้มีทำให้เรนเดียร์ทั้งแปดตัวรวมถึงรูดอล์ฟเป็นที่รู้จักขึ้นมา
การเมืองเรื่องคริสต์มาส
จากประเพณีการให้ของขวัญที่ไม่ดังจากเนเธอแลนด์ ได้กลายมาเป็นประเพณีระดับโลก ในหนังสือ The Battle for Christmas ของนักประวัติศาสตร์ Stephen Nissenbaum เสนอว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นในนิวยอร์ก ช่วงราวศตวรรษที่ 19 โดยมีนัยทางชนชั้นเป็นประเด็นสำคัญแอบแฝงอยู่ แต่เดิมชาวอเมริกันจะให้ของขวัญสามชิ้นในวันคริสต์มาสเพื่อนึกถึงของขวัญสามชิ้นที่ magi ทั้งสามเดินทางมาถวายให้กับพระเยซูในวันประสูติ ช่วงปลายปีระหว่างวัน St. Nicholas และวันปลายปี จะมีวันที่เรียกว่า social inversion เป็นวันที่คนจนจะออกมาตามท้องถนนและมีสิทธิ์ขออาหารและน้ำจากคนรวยได้ ยุคนั้นนิวยอร์กเริ่มก่อตัวเป็นเมืองใหญ่ มีแรงงานก่อตัวกันหนาแน่นขึ้น ทีนี้พวกชนชั้นปกครองเองก็มองว่า ถ้ายังมีเทศกาลที่กลับหัวกลับหางให้คนจนรวมตัวกันได้ สุดท้ายก็อาจเกิดปัญหาการต่อต้าน เช่นการต่อต้านเรื่องการทำงานในช่วงหยุดยาวได้
ตอนนั้น ในนิวยอร์กมีชาวดัตช์ที่มาตั้งอาณานิคมมั่งคั่งก็เลยพยายามบอกว่า เลิกเฉลิมฉลองกลางท้องถนน แล้วไปฉลองในบ้านกันดีกว่า ชาวดัตช์จึงเอาประเพณีการให้ของขวัญในวันเซนต์นิโคลัส ผสมเข้ากับภาพของซานต้าขี่เลื่อนจากบทกวี ‘A Visit from St. Nicholas’ ที่พูดถึงข้างต้น ในบทกวีของมัวร์ไม่ได้พูดถึงการให้ของขวัญ แต่พูดถึงการที่เด็กๆ จะได้ขนมลูกอมพิเศษจากลุงซานต้า ดังนั้น ชาวดัตช์จึงเอาเทศกาลดั้งเดิมของตัวเองแล้วเลื่อนวันไปเป็นวันคริสต์มาสตามภาพของลุงซานต้าที่จะมาเยี่ยมเยือนใน ‘คืนวันก่อนคริสต์มาส’ ตามอีกชื่อหนึ่งของบทกวี
การให้ของขวัญในวันคริสต์มาสเกี่ยวข้องกับโลกทุนนิยมแล้ว ภาพของลุงซานต้าในภาพของการเป็นลุงใจดีในชุดสีแดงก็ยังมีที่มาจากโลกทุนนิยมไปอีก ลุงซานต้าในบทกวีเป็นเอล์ฟที่ดูหลอนๆ หน่อย พอในช่วง 1860 Thomas Nast วาดภาพซานต้าในร่างของคุณลุงอ้วนใจดีในชุดขลิบขนสัตว์ที่มีของเล่นมากมายรายล้อม ปรากฏครั้งแรกในนิตยสาร Harper’s Weekly ด้วยความที่ช่วงเวลาคริสต์มาสมีการให้ของขวัญเป็นหัวใจสำคัญ ห้างร้านต่างๆ ก็เลยต้องจัดเตรียมลุงซานต้าและการประดับประดา (รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ) เพื่อดึงดูดลูกค้า เด็กๆ จากที่ต่างๆ ให้อยากจูงพ่อแม่มาที่ห้างเพื่อดูลุงซานต้าตัวเป็นๆ
ภาพลุงซานต้าในชุดแดงที่กลายเป็นไอคอนมาจากโฆษณาโค้ก โค้กต้องการจะเปลี่ยนภาพลุงซานต้าให้เป็นคุณลุงใจดีสำหรับเป็นพรีเซนเตอร์โค้กในแคมเปญช่วงวันหยุด ในปี 1931 โค้กจ้างนักวาดภาพประกอบ Haddon Sundblom ให้วาดภาพลุงซานต้าในลักษณะของคุณลุงใจดี กอดเด็ก และแน่นอนว่าถือและจิบโค้ก หลังจากนั้นภาพของลุงซานต้าชุดแดงก็เลยกลายเป็นไอคอนของลุงซานต้าใจดีที่ขายโค้ก
อ้างอิงข้อมูลจาก