ก๊อปมั้ย? หรือแรงบันดาลใจนะ? คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป วนเวียนอยู่ในวงการศิลปะมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การลอกเลียนแบบผลงานทุกตารางนิ้ว การนำเอารายละเอียดจากจุดนั้นจุดนี้ไปประกอบเป็นของตัวเอง หรือจะหยิบฉวยเอาคอนเซปต์ไปตีความเป็นของตัวเอง หลายคนมีคำตอบในใจว่าแบบนี้เรียกก๊อปนะ แบบนี้ยังไม่ก๊อป บางอันก็ยังคาบเกี่ยวจะบอกก๊อปก็ไม่เต็มปาก จะบอกว่าไม่ก๊อปเลยก็ไม่ได้
จนกระทั่งโลกหมุนมายังยุคที่คนซื้อขายงานศิลปะเป็นของสะสม—ไม่ได้เป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ แต่กลายเป็นดิจิทัลอาร์ตที่อยู่ในรูปแบบคริปโตอาร์ต ถึงอย่างนั้น เราก็ยังคงถกเถียงกันในประเด็นลิขสิทธ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแต่ก่อน แต่สำหรับ ‘สินา วิทยวิโรจน์’ ศิลปินเสียดสีการเมือง เจ้าของเพจ Sina Wittayawiroj® เขาเลือกที่จะก้าวข้ามเรื่องของลิขสิทธิ์ไปสู่การสร้าง awareness เรื่องการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ ด้วยการประกาศว่าผลงานของเขาจะไม่ถูกปกป้องโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ไม่ว่าใครก็สามารถนำผลงานของสินาไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือต่อยอดได้ทุกกรณี และจะไม่มีการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นงานที่ติดสัญญาเผยแพร่ โดยทุกครั้งที่โพสต์ผลงานลงในเพจเฟซบุ๊ก เขาก็จะแนบลิงก์ดาวโหลดไฟล์คุณภาพสูงของงานนั้นๆ ไว้ให้ด้วย ถือว่าเป็นการเปิดประตูให้นำผลงานไปใช้ต่อได้แบบไม่มีกั๊ก
แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ชื่นชมในความกล้าที่จะลุกขึ้นมาประกาศแบบนี้ในฐานะผู้ผลิต และมีคนที่ไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการและไอเดียนี้เช่นกัน มาสำรวจไอเดียของเขาไปพร้อมกันว่า หากโลกนี้ไม่มีลิขสิทธิ์แล้วมันจะเป็นอย่างไร?
เห็นว่าประกาศ free copyright ในผลงานของตัวเอง ทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้
ย้อนกลับไปตอนวาดรูปการเมืองเมื่อต้นปีถึงกลางปีที่แล้ว ชุดแรกที่ผมทำ มีคนมาคอยถามตลอดว่าเอาไปใช้ได้ไหม ซึ่งผมก็อนุญาตหมดเลย เพราะผมไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นอาชีพ ก่อนหน้านั้นผมทำมีมการเมืองเล่นอยู่นานแล้ว หลายปีแล้ว มันก็ถูกก๊อปปี้ นำไปใช้ซ้ำในรูปแบบต่างๆ มาตลอด ซึ่งผมไม่ได้ใส่เครดิต เพราะคิดว่ามันเป็นมีม อยากให้มันไวรัลของมันเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเรา เลยทำแบบนี้เรื่อยๆ ซ้ำๆ กับหลายโปรเจกต์ พอถึงปัจจุบัน มันมีประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ขึ้นมา เลยอยากสนับสนุนวิธีการทำงานแบบนี้”
ด้วยตอนนี้เป็นยุคของ NFT art ด้วยหรือเปล่า ทำไมถึงเลือกประกาศในช่วงเวลานี้
ช่วงนี้ผมทำ NFT ด้วย ได้เจอศิลปิน ครีเอเตอร์หลายๆ คน ไม่ใช่เฉพาะคนไทย เขาก็มีโปรเจกต์หลายอันที่เขาให้ license กับคนที่ถืองาน เช่น Bored Ape Yacht Club คนที่ถือลิงตัวนั้นๆ สามารถนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ได้เลย แม้แต่ในเชิงพาณิชย์เอาไปจดเป็นแบรนด์ของตัวเองก็ได้ และศิลปินอีกคนชื่อ eBoy เขาเป็น pixel artist เขาทำคอลเล็กชั่นชุดนึงชื่อ blockbob แล้วในชุดนี้เขาประกาศว่าเป็น Attribution-NonCommercial 4.0 International (CC BY-NC 4.0) ใครก็ได้ในโลก สามารถนำไปใช้งานในเชิงพานิชย์ หรือรูปแบบอื่นๆ ได้หมดเลย ไม่จำเป็นต้องซื้องานก็ได้
ยังมีโปรเจกต์อีกเยอะมาก อย่าง cool cats ก็เป็น non-exclusive license ถือสิทธิ์เท่ากับผู้ผลิตเลย ไม่ได้จำกัดสิทธิ์แค่ผู้ผลิตเท่านั้น พอผมเห็นตัวอย่าง เห็นการเคลื่อนไหวของวงการสร้างสรรค์ของ NFT แล้ว ผมก็อยากเอามันมาพูดในบริบทของสังคมไทยบ้าง เลยเอามาประกาศออกมาว่าไม่มี copyright
การไม่มีลิขสิทธิ์มันจะใช้ได้ผลกับดิจิทัลอาร์ตอย่างเดียวหรือเปล่า หรือผลงานเป็นชิ้นๆ จับต้องได้ก็สามารถใช้ไอเดียนี้ได้เหมือนกัน
ในบล็อกเชนมีสมาร์ตคอนแทคที่สามารถยืนยันได้ว่าชิ้นไหนเป็นออริจินัล ในขณะที่ทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถตรวจสอบได้ว่างานชิ้นไหนเป็นออริจินัล มันแทบไม่ได้ทำให้คุณค่าของออริจินัลลดลง แต่มูลค่าในทางสังคม วัฒนธรรม ได้ไปต่อมากกว่า หลักสำคํญคือการส่งต่อองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ให้คนรุ่นต่อไป ผมว่ามันช่วยวงการทั้งหมด ไม่ใช่แค่ดิจิทัลอาร์ต
สมมติว่าศิลปินที่วาดรูป (painting) ชิ้นนึงขึ้นมา เป็นออริจินัลของเขาเลย ความเป็นออริจินัลก็ยังอยู่ในชิ้นนั้น ถ้ามีคนนำไปวาดซ้ำ ต่อให้เหมือนแค่ไหนมันก็มีวิธีการตรวจว่ามันไม่ออริจินัลเท่าชิ้นจริง ข้อดีของการทำแบบนี้ มันทำให้วงการสร้างสรรค์ไม่ติดกับอยู่กับการเป็นออริจินัล มันถ่ายโอนไปที่อื่นได้ ผมว่าความออริจินัลก็ยังคงถูกเทิดทูนไว้ในแบบหนึ่ง
ต่อให้ออริจินัลโดนก๊อปไปก็ยังคงคุณค่าในตัวเองอยู่ดี?
อย่างงานวาดของ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh) ถ้าไม่มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ก็จะไม่พบว่าชิ้นจริงมันอยู่ที่ไหน ชิ้นปลอมอยู่ที่ไหน มันไม่ได้ต่างกับสมาร์ตคอนแทคในบล็อกเชนที่จะหาว่าใครเป็นคนวาดก่อน มันเป็นเรื่องเดียวกัน
การพยายามดิสเครดิตว่า free license หรือ no copyright มันทำลายวงการ ทำให้เราปกป้องตัวเองไม่ได้ กฎหมายมันมีอยู่แหละ แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้มันเพื่อสร้างมูลค่าให้สินทรัพย์ของตัวเองอย่างเดียว เราสามารถสร้างมูลค่าให้ตัวเองและให้สังคมได้พร้อมๆ กัน
แล้วทำไมถึงมองว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ถึงกีดกันความคิดสร้างสรรค์
มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตอนนี้ แต่มันเคยเกิดขึ้นในหลายๆ กรณี ยกตัวอย่างตอนที่ แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ทำกระป๋องซุป Campbell’s ตอนนั้นเขาก็ไม่เคยไปขออนุญาต Campbell’s นะ เขาก็ทำเลย เสร็จแล้วบริษัทตอนแรกเห็นว่าเริ่มดัง เริ่มขายได้ เขาก็จะฟ้อง แต่ไปๆ มาๆ ตัวองค์กรเองเห็นความเป็นไปได้ว่า มันเป็นการโปรโมตแบรนด์เขาไปด้วยนี่หว่า เลยพยายามยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าผมจำไม่ผิด สุดท้ายก็ดีลว่าเป็นพาร์ตเนอร์กัน จะทำ Campbell’s กี่อันก็ได้
ถ้าเรามองว่าต้องการให้บริษัททำสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามองว่ากฎหมายลิขสิทธิ์คือความถูกต้องที่แท้จริงที่สุด ถ้างั้นสิ่งที่วอร์ฮอลทำก็คือผิดกฎหมาย ต้องโดนปรับ โดนจับ หรือว่าอะไรก็ตาม แต่ในโลกความเป็นจริงมันไม่ต้องจบแบบนั้นเสมอไป อาจต้องยอมรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์
ผมไม่ได้ต่อต้านกฎหมายลิขสิทธิ์นะ ผมกำลังจะบอกว่า มันมีความเป็นไปได้อีกเยอะมากๆ ถ้าเราไม่เอากฎหมายลิขสิทธิ์มาครอบ
อาจทำให้เกิดการสร้างสรรค์ที่แหกขนบหรือต่อยอดออกไปจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นการให้และรับระหว่างคนในสังคมมากกว่า
แล้วไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์เลยจะดีเหรอ
มันค่อนข้างเป็นความคิดอุดมคติมากเลยเนอะ ในโลกที่ไม่มีลิขสิทธิ์เลย ผมว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยเอง ปัจจุบันมันไม่อัพเดตเลย มันมีการสวมรอยในหลายๆ กรณี อย่างที่เราเห็นตามข่าวคือ พนักงานรัฐไล่จับคนนู้นคนนี้แล้วบอกว่าทำผิด พออ้างเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเที่ยวไล่จับร้านค้ารายเล็กเนี่ย วิธีการดำเนินกฎหมายของไทยเป็นตัวอย่างแล้วว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ถูกใช้อย่างถูกต้อง คนใช้กฎหมายที่อยู่เหนือประชาชนทั่วไปอย่างรัฐหรือองค์กรใหญ่ๆ ค่อนข้างส่งผลในทางลบกับวงการสร้างสรรค์มากกว่า
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่กฎหมายลิขสิทธิ์มันผิด มันอยู่ที่คุณบังคับใช้กฎหมายแบบเกินเลยหรือเปล่า?
ลองจินตนาการว่าในสมัยกรีก มีคนออกมาแกะหิน ทำประติมากรรม แล้วเขาบอกว่าคนอื่นห้ามทำ เขาทำได้คนเดียว แล้วมีกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครอง มันก็คงไม่มีงานประติมากรรมหรือว่างานศิลปะในยุคปัจจุบันแบบที่เป็นอยู่ มันอาจเคยมีการขโมยกันไปมา ก็ต้องถกเถียงกันตามหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มี ยังคงมันก็ส่งผลดีในอีกมุมหนึ่งที่เกิดการต่อยอด
ลองนึกถึงโลกที่ทุกคนสามารถหยิบยืมอะไรก็ตามของกันและกันไปใช้ได้ตลอด ผมคิดว่าโลกแบบนั้นจะพัฒนาศิลปะไปได้ไกลกว่า
ถ้าใครที่โดนก๊อปจนเกิดความเสียหายก็ยังสามารถใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้หรือเปล่า
ผมเคยคุยเรื่องนี้กับเพื่อนนะ ถ้าเป็นตัวผมเอง ผมไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำแบบนั้น แต่เพื่อนผมก็บอกว่าคุณมีชื่อเสียงแล้วนี่ คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลกับการถูกก๊อปปี้ก็ได้ แล้วถ้ามีคนที่โดนก๊อปปี้เป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำ โดนคนที่ดังกว่าก๊อปปี้ไป จะทำยังไง?
ถ้าเป็นผม ผมก็ไม่เครียดนะ ผมไม่สามารถไปคิดแทนคนอื่นที่เขาเครียดกับกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ มันอาจจะเป็นเพราะว่าผมมีทัศนคติแบบนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผมจินตนาการถึงตัวเองเวลาโดนก๊อปปี้แล้วผมก็ไม่ได้รู้สึก อาจเพราะช่วงแรกผมทำมีม เลยคุ้นชินกับการโดนก๊อปปี้ มันไม่ใช่โลกของเครดิต ไม่ใช่โลกของ license แต่เป็นโลกของ mass media ก็เลยชินมั้ง ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่เป็นปัญหา
หรือถ้ามีใครใช้มัน ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันผิด แต่ต้องเป็นเจ้าตัวใช้มันนะ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่คุณไม่ใช่เจ้าตัว แต่คุณพยายามลงทัณฑ์คนที่คุณอ้างว่าเขาก๊อปปี้มา อันนี้ผมไม่เห็นด้วยมากกว่า คุณไม่ควรบีบบังคับ ทำตัวเป็นศาลเตี้ย หรือว่าไปประณาม ประจานเขา แต่ถ้าเจ้าตัวร้องเรียน เพราะโดนก๊อปปี้จนเสียหาย สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ มันก็เป็นสิทธิ์ของเขา
อยู่ที่เจตนาและวิธีของผู้ใช้ด้วย?
ผมเองก็อยู่ในการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้ Universal Studios เขาเป็นเจ้าของดีไซน์ตัวละคร Minions ฟ้องกลุ่มคนที่ใช้ตัวละครนี้มาฟ้อง ม.112 คนไทย ทีนี้ เราทำได้แค่สร้าง awareness ว่าคุณควรทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้นะ ในฐานะที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หลังจากนั้น เขาจะทำอะไรกับมันก็เป็นเรื่องของเขา
ถ้าเขาไม่ทำ ไม่ได้แปลว่าเราต้องเป็นเดือดเป็นร้อน แล้วติดอยู่กับเรื่องลิขสิทธิ์ ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องโจมตี Universal Studios ว่าเห็นด้วยกับการละเมิดลิขสิทธิ์เหรอ ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องนี้ เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปคิดแทน ตัดสินแทนเขา
คิดว่าสังคมไทยมีความพร้อมเข้าสู่ไอเดีย free copyright หรือยัง
ถ้าดูจากดราม่าที่ผ่านมาคิดว่ายังไม่พร้อมครับ
มันไม่ใช่ความผิดของคนในสังคมนะ มันเป็นความผิดของรัฐด้วยซ้ำ ของระบบการศึกษาด้วยซ้ำ ที่ละเลยสิ่งเหล่านี้มานานมาก จนสุดท้ายแล้วเราเติบโตมาแบบพูดถึงเรื่องกรรมสิทธิ์อย่างเดียว โดยไม่พูดถึงการแบ่งปันข้อมูลที่ควรได้รับแบบฟรีๆ อย่างการศึกษาที่มันฟรี กว้างพอให้เข้าถึงทุกคน
ถ้านายทุนเอางานที่เราประกาศ free copyright ไปทำเสื้อขาย แบบ mass product เลย จะทำยังไง
ผมไม่มีปัญหา เมื่อเป็น free copyright ไปแล้ว คนอื่นจะเอาไปพิมพ์ก็ได้ ไมได้จำกัดแค่นายทุน นายทุนเขาก็เป็นผู้เล่นหนึ่งในตลาด ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปก็เป็นผู้เล่นเหมือนกัน ผมไม่ได้ชอบทุนใหญ่ แต่ผมก็ไม่ได้ต้องการโค่นทุกทุน ผมให้สิทธิ์พวกเขาแล้วก็เป็นสิทธิ์ของเขาเหมือนกัน
มองในแง่ปริมาณ ถ้านายทุนนับเป็นหนึ่งเหมือนกัน ประชาชนก็เยอะกว่าอยู่ดี ถ้าประชาชนพิมพ์เสื้อลายของผม คนละลาย หรือเอาไปต่อยอดใหม่ก็ได้ น่าสนุกกว่า