หลังรอคอยและหารือกันมาอย่างยาวนาน ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วัน ‘ปลดล็อค’ กัญชา–กัญชง อย่างเป็นทางการเสียที วันที่ประชาชนสามารถปลูกกัญชา–กัญชงเองได้ในบ้าน
ตั้งแต่วันนี้ (9 มิ.ย. 65) เป็นต้นไป ประชาชนสามารถปลูกกัญชา–กัญชงได้เพื่อใช้เองโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ ในขณะที่ผู้ประกอบการสามารถปลูกเชิงพาณิชย์ หรือปลูกอุตสาหกรรมยังต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่
การเริ่มปลดล็อคกัญชา–กัญชง เริ่มต้นจากที่ อย. เสนอมติปลดล็อคกัญชาออกจากกลุ่มยาเสพติดให้แก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ที่ก็มีมติเห็นชอบ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพิจารณาต่อ ก็เห็นชอบเช่นกัน
นำมาสู่ ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565’ ระบุให้ทุกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ในกรณีที่
1) สารสกัดมีปริมาณ Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชา–กัญชงที่ปลูกภายในประเทศ
2) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชา–กัญชงที่ปลูกภายในประเทศ
ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ลงนามโดยอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยหาเสียงด้วยนโยบายกัญชาเสรีเพื่อส่วนรวมและการแพทย์
วันปลดล็อคกัญชา–กัญชงมาถึงทั้งที แต่คาดว่าหลายคนอาจยังสับสนในข้อมูล The MATTER จึงรวบรวมข้อกำหนดและสิ่งที่กระทำได้–ไม่ได้มาให้แล้ว ดังนี้
– สูบกัญชาผิดไหม –
ไม่มีความผิด ทาง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า การสูบกัญชาไม่มีความผิด แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนผู้อื่น จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
– อยากปลูกต้องทำอย่างไร –
ประชาชนสามารถปลูกพืชกัญชา–กัญชงได้ในครัวเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาดูแลสุขภาพ โดยจะปลูกกี่ต้นก็ได้ ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Apple Store และ Play Store หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th/ ของกระทรวงสาธารณสุข หรือลงทะเบียนที่หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เช่น ที่ว่าการอำเภอ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1) เข้าสู่เว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th/ หรือติดตั้งแอปพลิเคชั่น ‘ปลูกกัญ’
2) ลงทะเบียนและจดแจ้งตามวัตถุประสงค์
3) รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์
แต่ถ้าผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อจำหน่าย (อาหาร–เครื่องสำอางค์–ยาสมุนไพร) ยังต้องขออนุญาตจาก อย. ตามกระบวนการ
– การทำสารสกัดจากกัญชา –
อย. ระบุว่า การจะทำสารสกัดกัญชาเพื่อจำหน่าย ต้องมีการตรวจสอบว่ามีสารแต่ละส่วนในปริมาณเท่าใด ซึ่งการนำส่วนของกัญชา–กัญชงไปสกัดเพื่อให้ได้สาร THC ยัง ‘ต้องแจ้ง’ ขออนุญาตผลิตสกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด (ยกเว้นสกัดจากเมล็ด) และสารสกัดที่มีค่า THC ไม่เกิดร้อยละ 0.2 ก็จะได้รับการเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
ในขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขระบุว่า สามารถสกัดใช้ในครัวเรือนได้เลยถ้าสาร THC ไม่เกิน 0.2%
– สิ่งที่ทำได้ –
1) สูบกัญชาได้ ไม่มีความผิด ในกรณีที่ไม่รบกวนผู้อื่น เน้นใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ
2) ประชาชนปลูกกัญชา–กัญชงได้ในครัวเรือน โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ขอให้จดแจ้งผ่านแอปฯ ปลูกกัญ
3) ขาย ‘ส่วนของพืช’ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายยาเสพติด ยกเว้นเมล็ดและกิ่งก้าน ต้องขออนุญาตกระทรวงเกษตรอยู่
4) ใช้กัญชา–กัญชงประกอบการผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายได้ ถ้าใช้ส่วนของพืชที่กำหนดไว้ในประกาศของสาธารณะสุข: น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD
– สิ่งที่ต้องระวัง –
1) การใช้สารสกัดกัญชา–กัญชงที่มีสาร THC เกิน 0.2% จะผิดกฎหมาย
2) กรณีที่จะปลูกเชิงพาณิชย์–อุตสาหกรรม ยังต้องขออนุญาตจาก อย. อยู่
3) กรณีที่จะขาย ‘เมล็ดพันธุ์และกิ่ง’ ต้องขออนุญาต ตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืช ก่อน
4) กรณีที่จะขาย ‘สารสกัด’ ต้องได้รับอนุญาตให้สกัดตามกฎหมายก่อน และสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ถึงจะได้รับยกเว้นว่าไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
5) ห้ามนำเข้า ‘สารสกัด’ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย และเป็นหน่วยงานรัฐที่ขอเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งก็ต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
6) กรณีจะนำเข้า ‘เมล็ดพันธุ์และส่วนของพืช’ ต้องขออนุญาตจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7) กรณีจะนำเข้า ‘ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืช’ ทำเองเลยไม่ได้ ต้องขออนุญาตโดยขึ้นอยู่กับกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้นๆ
รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวไว้กับสำนักข่าว บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีใจความว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ครอบครองกัญชาหรือปลูกกัญชาจะไม่มีความผิด แต่ถ้าสารสกัดกัญชา–กัญชงที่ใช้หรือจำหน่ายมีปริมาณสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 โดยไม่มีใบอนุญาต หรือเป็นสารสกัดที่มาจากนอกประเทศ จะถือว่าผิดตามกฎหมาย
“ถ้าคุณอยู่ในบ้านแล้วนำใบมาต้มกิน ชุบแป้งทอดทำได้ หรือนำใบหรือช่อดอกสกัดออกมา แล้วมี THC ไม่เกิน 0.2% สามารใช้ในครัวเรือน หรือเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวก็สามารถใส่ได้ เพียงแต่ยังไม่สามารถนำไปใส่ยี่ห้อ แล้วบอกสารสกัดจากกัญชาโดยไม่ขอ อย. ทำไม่ได้”
“แต่การใช้ในครัวเรือน ใช้เพื่อสันทนาการในครอบครัว ในทางที่ไม่มีส่งผลต่อจิตประสาท ในทางที่ไม่มึนเมาสามารถใช้ได้เลย เพราะทุกวันนี้ใช้กันอยู่แล้ว และประชาชนก็เข้าใจว่าควรใช้ระดับไหน” อนุทินกล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/thailand-61703618
https://www.bangkokbiznews.com/social/983183
https://www.bangkokbiznews.com/social/1007009
https://www.prachachat.net/general/news-861254
ตร.เคลียร์ กฎหมายปลดล็อกกัญชา ใช้แบบไหนยังมีความผิด ย้ำพงส.ทั่วประเทศสั่งไม่ฟ้อง
https://www.prachachat.net/general/news-945611
https://www.facebook.com/ThaiFDAC/posts/pfbid0iXNRLVH4hnNiSS6qeKKGNn8pGERB8KKJtqa3tJUJc5auzD8aqBxV8QRMpLaBHQjJl