ปลูกกัญชาเองที่บ้าน ไม่ผิดกฎหมายแล้ว แล้วเมื่อไหร่ ‘ของอื่นๆ’ จะถูกกฎหมายด้วยเสียที?
นับตั้งแต่ที่มีประกาศปลดล็อกให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ที่บ้าน กระแสของการพูดถึงสิ่งอื่นๆ ที่ยังไม่เปิดเสรี ก็ถูกตั้งคำถามตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกาย อย่างสมรสเท่าเทียม ทำแท้งถูกกฎหมาย หรือสิ่งของที่จับต้องได้อย่าง บุหรี่ไฟฟ้า คราฟต์เบียร์ เซ็กซ์ทอย หรือเห็ดขี้ควาย เป็นต้น
แน่นอนว่า สิ่งที่พูดมาเหล่านี้ ตกเป็นประเด็นในการดีเบตว่า ‘ควรถูกกฎหมายหรือไม่’ ไม่แพ้กับที่กัญชาเป็น แต่อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในซอกหลืบที่กฎหมายพยายามกีดกันเอาไว้ ของเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งผู้คนใช้กันอยู่เสมอ
The MATTER เลยขอพามาดูความคืบหน้าทางกฎหมายของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า นอกจากกัญชาแล้ว มีอะไรที่ยังรอการอนุมัติให้ถูกกฎหมายอีกบ้าง
กัญชา
เพื่อเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอเริ่มกันที่ ‘กัญชา’ สิ่งที่เพิ่งถูกปลดล็อกไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุให้ทุกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2%
อย่างไรก็ดี ยังมีร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. (ที่เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและคณะ) ที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพิ่งรับหลักการในวาระที่ 1 ไปด้วยเช่นกัน
ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กําหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการนํากัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย และนํามาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น
การปลดล็อกกัญชา เป็นนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยยึดมั่นชัดเจนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดมาตลอด อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับนี้ยังมีประเด็นให้ตั้งคำถามอีกมาก ซึ่งนพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health แคนาดา ให้สัมภาษณ์กับ The 101 ไว้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังต้องพิจารณาให้รัดกุมยิ่งขึ้น ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า การโปรโมตกัญชาเพื่อเศรษฐกิจต้องทำจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้กระทรวงสาธารณสุขคอยท้วงติงว่าระมัดระวังผลเสียทางด้านสาธารณสุขด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยคือ การส่งเสริมการค้ากลับมาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขเสียอย่างนั้น
นอกจากนี้ นพ.บัณฑิตยังบอกอีกว่า อนุทินพูดเสมอว่า ไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อนันทนาการ แต่มาตรการของประเทศไทยกลับอ่อนกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้ในเชิงนันทนาการได้เสียอีก
เซ็กซ์ทอย
ความใคร่ทางเพศ ถูกบังคับให้ต้องซุกซ่อนไว้แค่ที่หว่างขา แล้วอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลอยู่เสมอ แต่ ‘อุปกรณ์’ ที่จะช่วยให้มนุษย์มีความสุขทางเพศได้ด้วยตัวเอง เงียบๆ ไม่ระรานใคร กลับถูกควบคุม กีดกัน และห้ามซื้อขายในประเทศ ด้วยข้ออ้างว่า เป็นของอนาจาร ผิดศีลธรรม
เซ็กซ์ทอย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนพูดถึงกันมาก เมื่อพูดถึงการปลดล็อกให้ถูกกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ เซ็กซ์ทอยยังถือเป็นสินค้าผิดกฎหมาย เข้าข่ายลามกอนาจาร และถูกห้ามการนำเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกัน เซ็กซ์ทอยยังถูกกำหนดความหมายใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ว่าเป็น ‘ของต้องห้าม’ ซึ่งหมายถึงของที่มีกฎหมายกําหนดห้ามนำเข้ามา หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด และในบางกรณีห้ามการส่งผ่านด้วย ผู้ใดนำสินค้าต้องห้ามเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะมีความผิดต้องรับโทษตาม กฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นความผิดตาม ม.244 และ ม.246
นี่ถือเป็นอุปสรรคในปลดล็อกเซ็กซ์ทอย หรือของเล่นผู้ใหญ่ ในประเทศที่มักอ้างเรื่องศีลธรรมอันดีอยู่เสมอ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีภาคประชาชน ซึ่งก็คือ ‘คณะเจริญ porn’ ที่เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ปี 2564 และกำลังเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภา ถือเป็นการเคลื่อนไหวด้านกฎหมายเพื่อให้ความใคร่ของประชาชน ได้รับการปลดปล่อยเสียที
บุหรี่ไฟฟ้า
ดูเผินๆ อาจไม่มีใครรู้ว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ยังผิดกฎหมายในไทย เพราะก็เห็นคนสูบกันอยู่เยอะแยะ แต่จริงๆ แล้วบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกกฎหมายในไทย
ต้องเล่าก่อนว่า ก่อนหน้านี้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกระบุไว้ในกฎหมายของไทยเลย หรือพูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายนั่นแหละ แต่หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ก็มีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งระบุว่าบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และผู้ที่ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับพร้อมถูกริบสินค้า
ต่อมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบุหรี่ไฟฟ้า ตัวยาบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นกฎหมายที่ย้ำถึงความผิดกฎหมายของบุหรี่ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งมีทั้งมาตรา 242 ซึ่งระบุถึงการห้ามนำเข้าหรือส่งออกนอกประเทศ มาตรา 244 ที่ระบุว่าผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาหรือส่งออก โดยหลีกเลี่ยง ข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ถือว่ามีความผิด และมาตรา 246 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ ถือว่ามีความผิดเช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าทางกฎหมายนั้น แม้ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) จะเคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปี 2564 ว่าส่วนตัวกำลังศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมองว่าการทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายจะสามารถลดอันตรายแก่ผู้สูบได้ แต่ต่อมา สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ดังนั้น การปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าออกจากสิ่งผิดกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นเสียที
เห็ดขี้ควาย
ไม่เพียงแต่กัญชาเท่านั้นที่ผู้คนใช้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านกันมานานและเป็นประเด็นดีเบตในเรื่องกฎหมายอยู่เสมอ แต่ ‘เห็ดขี้ควาย’ ก็รวมอยู่ในหมวดนี้ด้วยเช่น
เดิมที เห็ดขี้ควายก็เป็นสิ่งที่ผู้คนใช้กันในวิถีชีวิตทั่วไปอยู่แล้ว แต่ต่อมาก็มีการออก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เห็ดขี้ควายถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกต้องจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-1,500,000 บาท ถ้าเป็นผู้เสพ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เห็ดขี้ควายมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนเมาและประสาทหลอน จึงมีหลายหน่วยงานออกมาย้ำเตือนถึงข้อกังวลของการใช้เห็ดขี้ควาย ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการเสนอร่างอย่างจริงจัง แต่ในต่างประเทศก็มีการวิจัยเห็ดขี้ควายอยู่มากมาย
อย่างเมื่อปี 2563 วารสารทางสมาคมแพทย์ อเมริกัน ทางจิตเวช (JAMA psychiatry) ระบุว่า เห็ดขี้ควายสามารถใช้ในการรักษาโรคหดหู่ ซึมเศร้าได้ ทำให้มีบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งทางฝั่งอเมริกาและยุโรปจดสิทธิบัตรกับองค์กรการแพทย์ เพื่อทำการทดลองการใช้เห็ดขี้ควายในการรักษาต่อไป จนกว่าจะสกัดเป็นยาเพื่อการรักษาในที่สุด
จะเห็นได้ว่า ในต่างประเทศ เห็ดขี้ควายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการรักษาโรคไปแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ในอนาคตจะมีความคืบหน้าทางกฎหมายใดๆ เกิดขึ้นกับเจ้าเห็ดขี้ควายนี้หรือเปล่า
คราฟต์เบียร์
ลองพูดชื่อยี่ห้อเบียร์ในไทยมาหน่อยภายใน 3 วินาที ได้ไหม? แน่นอนว่า คนจำนวนมากคงตอบได้ในทันที เพราะมีอยู่แค่ไม่กี่เจ้าเท่านั้น ขณะที่เบียร์อื่นๆ ของผู้ผลิตรายย่อย กลับอยู่ในซอกหลืบและเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาตลอด
กฎหมายที่ว่านี้คือ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 ที่อนุมัติให้การผลิตเบียร์ได้แค่ 2 แบบ คือการทำแบบโรงเบียร์ประเภทที่มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ภายในร้าน ซึ่งจะสามารถจำหน่ายได้ภายในร้านเท่านั้น ห้ามบรรจุขวดขาย และกำหนดขั้นต่ำว่าต้องผลิตให้ได้ 1 แสนลิตรต่อปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี กับอีกแบบที่สามารถทำได้คือ โรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ที่กำหนดให้มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี
ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายนี้ ทำให้การผลิตเบียร์จากผู้ผลิตรายย่อย แทบไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดในประเทศไทย หลายเจ้าต้องย้ายไปจดทะเบียนที่ประเทศอื่นแทน นำมาสู่การเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะ
โดยมีผู้ลงมติทั้งหมด 330 เสียง รับหลักการ 178 เสียง ไม่รับหลักการ 137 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง และไม่มีผู้ไม่ลงคะแนนเสียง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีสาระสำคัญหลักคือ เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 เดิม โดยมีการเพิ่มคำว่า ‘เพื่อการค้า’ เป็น “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุรา ‘เพื่อการค้า’ หรือมีเครื่องกลั่นสุราสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง” เพื่อให้ขอบเขตการอนุญาตผลิตสุรากว้างขึ้น
อ้างอิงจาก