อยากปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ต้องทำยังไง? ดินแบบไหนเหมาะ ไฟแบบไหนถือว่าดี แล้วถ้าเคยครอบครองกัญชาอยู่แบบลับๆ จะสามารถลงทะเบียนให้ถูกกฎหมายได้ยังไงบ้าง?
‘เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการรับรู้ของประชาชน’ นี่คือวัตถุประสงค์หลักที่ผู้จัดงาน #พันธุ์รัมย์ มหกรรมกัญชา ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกาศจุดยืนมาตลอด 3 วันที่ผ่านมา
แม้จะจัดขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิสุดเดือด แต่งานครั้งนี้มีกลับเต็มไปด้วยความคึกคัก ห้องเสวนาวิชาการเต็มไปด้วยผู้คนที่สนใจ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับงานนิทรรศการที่ผู้ร่วมงาน สามารถใกล้ชิดกัญชากันได้แบบถูกกฎหมาย
The MATTER ขออาสาฝ่าแดดเดือดๆ แสนร้อนระอุ บุกไปยังบุรีรัมย์ พาทุกคนไปสำรวจงานนี้กันแบบ Feeling High ว่ามีอะไรที่น่าสนใจภายในงานนี้บ้าง?
ย้ำว่างานนี้ผู้จัดไม่ได้มีกัญชามาขายนะ เป็นแค่งานจัดแสดง เพราะการค้าขายแบบเสรียังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไทยจ้า
ประวัติศาสตร์กัญชา 6,000 ปี
บอร์ดต่างๆ ภายในงานพันธุ์รัมย์ เต็มไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือการจัดแสดงประวัติศาสตร์ 6,000 ปี บอร์ดนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ของกัญชา ตั้งแต่ในยุคโบราณ ทั้งจากฝั่งของตะวันตกและตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางของกัญชาที่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย
เสวนาประโยชน์ทางการแพทย์
ห้องเสวนาถือเป็นพาร์ทสำคัญที่สุดของงานครั้งนี้เลยก็ว่าได้ เห็นได้จากตารางเสวนาที่อัดแน่นตลอดทั้ง 3 วัน
ศ.ดร.สิริวัฒน์ วงษ์สิริ ประธานจัดงานด้านวิชาการ และเป็นนักวิชาการจาก สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสภา ระบุว่า การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชาคือเรื่องที่สำคัญมากๆ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ใช้แล้วมีแต่ความสุขและความรัก” ศ.ดร.สิริวัฒน์ กล่าว
งานเสวนายังเป็นความพยายามที่ผู้จัด พยายามเปลี่ยนการรับรู้ในสังคมไทยที่หลายคนยังเชื่อว่า กัญชาคือสิ่งเสพติดเพียงด้านเดียว “ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะแคลิฟอร์เนียทำกำไรทางเศรษฐกิจได้มากมาย ยกตัวอย่างถ้าแปรรูปเป็นบุหรี่กัญชาเพื่อสุขภาพได้ ไม่ขาดทุนแน่ แต่ต้องมีกฎหมายควบคุม”
อีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจคือ เสวนาเรื่อง ‘รู้ทันกัญชา’ โดย นพ.สมยศ กิตติมั่นคง ผู้เขียนหนังสือ ‘กัญชาคือยารักษามะเร็ง’ ที่ขึ้นเวทีมาให้ความรู้เรื่องกัญชาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ แนวทางการปลูก วิธีการแยกแยะเพศกัญชาระหว่างตัวผู้และตัวเมีย ตลอดจนแนวทางการเอามาใช้เป็นยาต่างๆ แถมยังลงลึกไปถึงคำแนะนำกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการเขียนวัตถุประสงค์เพื่อขอวิจัยกัญชาอีกด้วย
เข้าใจวงจรกัญชา จากเริ่มปลูกถึงแปรรูป
ไม่ผิดนักที่จะพูดว่า มหกรรมพันธุ์รัมย์เป็นการที่มีกัญชาถูกนำมาจัดแสดงอย่างเปิดเผยและมีจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง เท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ภายในงานมีบริษัทต่างๆ ที่มีนวัตกรรมซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับกัญชามาจัดแสดงพอสมควร
ยกตัวอย่าง นวัตกรรมการจัดไฟในโรงปลูก เพื่อเข้าใจควรจัดไฟแบบไหนดีเพื่อให้กัญชาเติบโตได้ตามที่เราต้องการ รวมไปถึงวิธีการเลือกดิน และปุ๋ยที่จะปลูกกัญชา ตลอดจน แนวทางการแปรรูป และซอฟต์แวร์ต่างๆ เช่น การเตรียมใช้ Big DATA มาเป็นตัวช่วยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ข้อมูลเพื่อปลูกกัญชาในอนาคต ทั้งในมุมของราคา สถานที่ปลูก รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ต่างๆ
จดแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อการแพทย์
ถ้าเดินเข้ามาภายในงาน สิ่งแรกๆ ที่จะได้เห็นกันคือจำนวนผู้คนมากมาย ที่กำลังขอยื่นจดทะเบียนการครอบครองกัญชเพื่อการแพทย์ตามกฎหมาย ซึ่งผู้จัดงานพันธุ์รัมย์ ได้จัดให้มีพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และมีเจ้าหน้าที่มารับจดแจ้งกันถึงที่
สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ประเมินว่าช่วงเวลากว่า 2 วันน่าจะมีประชาชนมาขอจดแจ้งครอบครองกัญชาแล้วมากกว่า 5,000 คน
Workshop ใกล้ชิดต้นกัญชาของจริง
แยกแยะเพศกัญชายังไงดี แล้วเวลามันถูกโจมตีจากเหล่าวัชพืชและแมลงนั้น เราควรจะจัดการกับมันในรูปแบบไหน คำถามนี้เกิดขึ้น และได้รับคำตอบแทบจะทันทีในพาร์ทของการ Workshop โดยผู้เชี่ยวชาญ
ในส่วนนี้ผู้เข้าชมยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง และได้สอบถามข้อมูลกันแบบเจาะลึกและใกล้ชิดจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย ซึ่งน่าสนใจมากๆ เหมือนกัน ในแง่ที่ว่า บทสนทนาว่าด้วยกัญชามันสามารถเปิดเผยในเวทีสาธารณะพอสมควร
Feeling HIGH ไปกับศิลปิน 3 เวที
เมื่อกัญชาไม่ได้เป็นแค่ยา หากยังรวมไปถึงกัญชาในฐานะวัฒนธรรม ภายในงานพันธุ์รัมย์จึงแบ่งโซนที่เป็นงานรื่นเริงบันเทิงแยกไว้เฉพาะอีกด้วย ในงานมี 3 เวทีใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยศิลปินแนวแร็ป ฮิปฮอป เร็กเก้ ไม่เพียงแค่นั้น งานพันธุ์รัมย์ยังจัดโซนสำหรับตั้งเต้นท์พักค้างคืนตลอด 2 คืนของการจัดงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ใช้เวลาอย่างเต็มอิ่มกับบรรยากาศกันได้เต็มที่
Smart Farm Demo
อันนี้เป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็น่าสนใจไม่เบา เพราะเขาจัดให้เราเห็น Smart Farm Demo กันแบบนี้ไปเลย จากที่สังเกตมา นิทรรศการส่วนนี้ค่อนข้างได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ที่แวะเวียนเข้ามาถ่ายรูปและสอบถามข้อมูลจากผู้จัดงานอยู่เรื่อยๆ เลยเหมือนกัน