วันนี้ (15 มิ.ย. 2565) สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ได้รับการเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และคณะ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับไปพิจารณา ก่อนส่งคืนให้สภาฯ
ทั้งนี้ ก่อนการพิจารณา สภาฯ ได้มีมติให้นำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งของ ครม. และพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดย ครม. มาพิจารณาประกบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รวมเป็น 4 ฉบับ โดยเห็นชอบให้ลงมติรับหลักการแยกกันเป็นรายฉบับ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สภาฯ ได้มีมติให้รับหลักการ โดยมีผู้ลงคะแนนทั้งหมด 406 เสียง มีการลงคะแนนเสียงดังต่อไป
- เห็นด้วย 210 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 180 เสียง
- งดออกเสียง 12 เสียง
- ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง
ส่วนร่างกฎหมายอื่นๆ ก็ผ่านการลงมติในวาระรับหลักการทั้งหมด โดยมีผู้ลงมติดังนี้
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดย ครม. มีผู้ลงมติ 403 เสียง เห็นด้วย 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดย ครม. มีผู้ลงมติ 406 เสียง เห็นด้วย 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 168 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีผู้ลงมติ 406 เสียง เห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 123 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
ทั้งนี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต 2 ฉบับ ที่ประชุมมีมติให้นำร่างของ ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระที่ 2 ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีมติให้นำร่างของ ครม. เป็นหลักในการพิจารณาวาระที่ 2
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) โดยเฉพาะบรรพ 5 ครอบครัว โดยหลักๆ คือการเปลี่ยนจากคำว่า ‘ชายและหญิง’ เป็น ‘ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น’ กับ ‘บุคคลสองฝ่าย’ และเปลี่ยน ‘สามีภริยา’ เป็น ‘คู่สมรส’
การแก้ไขเช่นนี้จึงทำให้มีความแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของกระทรวงยุติธรรมที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบในมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. พรรคก้าวไกลระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม “จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิหรือสวัสดิการนั้นโดยอัตโนมัติ”
ขณะที่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักที่นิยามตนเองว่าเป็น LGBTQIA+ และมีการจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต “จะได้รับสิทธิหรือสวัสดิการเหล่านั้นก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายที่ปรับเรื่องสิทธิและสวัสดิการของ ‘คู่ชีวิต’ ควบคู่ไปด้วย”
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=XCtxUm_jorc
https://thematter.co/quick-bite/marriage-equality-law-in-th/167592
https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/posts/575021400853883