ท่ามกลางบรรยากาศของความรักที่ลอยฟุ้งอยู่ในทุกอณู คู่รักมากหน้าหลายตามักแสดงออกถึงความรักที่มีให้กันเป็นพิเศษ บางคู่ก็ถือเป็นฤกษ์ดี จูงมือไปจดทะเบียนสมรสเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างที่ใจหวัง
แต่ในห้วงเวลาที่อบอวลไปด้วยหอมหวานนี้ สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังถูกกดทับด้วยกฎหมายที่ไม่อนุมัติให้พวกเขาสมรสกันได้ ถือเป็นเรื่องน่าหดหู่ของประเทศที่ดูผิวเผินเหมือนจะให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ
ยิ่งกว่านั้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังมีมติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าด้วยการสมรส หรือที่เรียกกันว่า ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ กลับไปศึกษาเป็นเวลา 60 วัน ก่อนรับหลักการ
เนื่องในวันแห่งความรัก The MATTER ขอพาไปดูหลักกฎหมายและสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้สะท้อนให้เห็นถึงสิทธิที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับ และสะท้อนต่อไปว่า การสมรสไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ของความรักที่รัฐรับรอง แต่ยังมีผลต่อสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ที่ประชาชนทุกคนควรได้รับด้วย
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี้ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งต้องการให้มีการรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของทุกคน โดยไม่มี ‘เพศสภาพ’ หรือ ‘เพศวิถี’ มาเป็นข้อจำกัดในการจดทะเบียนสมรส ดังกฎหมายปัจจุบันที่อนุมัติให้การสมรสเป็นเรื่องของ ‘ชายและหญิง’ เท่านั้น
บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุถึงเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายนี้เพิ่มเติมว่า บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายมาตรานั้นขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติซึ่งปรากฏในบรรพ 5 ของกฎหมายนี้ ซึ่งขัดต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
การแก้ไขร่างกฎหมายนี้ ใช้วิธีการหลักๆ คือการเปลี่ยนคำในกฎหมายจากคำว่า ‘ชายและหญิง’ เป็น ‘ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น’ และ ‘บุคคลสองฝ่าย’ รวมถึง เปลี่ยนคำว่า ‘สามีภริยา’ ให้เป็น ‘คู่สมรส’
โดยสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ คือการที่ทุกคู่จะได้เป็น ‘คู่สมรส’ เหมือนกัน ต่างจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กฎหมายจะระบุให้เป็นคู่ชีวิต ไม่ใช่คู่สมรส
ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ทั้งเรื่องที่ไม่จำกัดให้ฝ่ายชายต้องเป็นผู้ให้ของหมั้นและสินสอดอยู่ฝ่ายเดียว
ส่วนเรื่องทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ถ้าเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรส ต่างฝ่ายต่างสามารถใช้สอยได้โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย แต่ในกรณีของสินสมรส การจัดการสินสมรสที่อาจทำให้เสียประโยชน์ในทรัพย์สินบางกรณี เช่น ให้เช่าซื้อ จำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้กู้ยืมเงิน จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน
อีกประเด็นก็คือ การรับมรดก ที่ผ่านมา ตามกฎหมายเดิมซึ่งรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเฉพาะชายและหญิง ทำให้ผู้ที่ไม่ใช่ชายและหญิงตามนิยามของกฎหมาย ไม่สามารถรับมรดกของอีกฝ่ายได้ เมื่อคู่สมรสเสียชีวิตโดยไม่มีพินัยกรรมให้ แม้ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันดั่งคู่สมรสก็ตาม แต่ร่างแก้ไขกฎหมายนี้ ได้ยกเอาเรื่องเพศออกไปแล้ว ทำให้คู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ก็ตาม
นอกจากนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ก็ยังยึดหลักการเดิมที่หากมีเหตุจำเป็น ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสโดยที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น กรณีที่มีการตั้งครรภ์
เมื่อการสมรสไม่ได้อาศัยแค่ความรักอย่างเดียว แต่คู่สมรสยังต้องได้รับสิทธิและสวัสดิการที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาด้วย ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายนี้ จึงเป็นความหวังของหลายๆ คน และหากกฎหมายฉบับนี้ได้รับการแก้ไข ก็จะเป็นเครื่องยืนยันว่า บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศใดก็ตาม จะถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยแท้จริง
อ้างอิงจาก