หนึ่งในคดีทุจริตในตำนาน
คดีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่ากว่า 6,687 ล้านบาท รวมถึงชื่อของอดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ต่อมาก้าวไปถึงตำแหน่งนายกฯ อย่าง ‘สมัคร สุนทรเวช’ (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งในรอบหลายปี
หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 สั่งให้ทายาทของสมัคร ได้แก่ ภรรยาและลูกสาวฝาแฝด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกว่า 587 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ไม่เกินเงินมรดกที่ได้รับ
หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าคดีนี้มีรายละเอียดเป็นอย่างไร และเหตุใดทายาทถึงต้องจ่ายเงินชดใช้แทนผู้ล่วงลับด้วย
และการเรียกเงินชดใช้ หรือภาษากฎหมายเรียกว่า ‘ค่าสินไหมทดแทน’ จะใช้กับโครงการของรัฐอื่นๆ ที่ผู้มีอำนาจทำให้ประเทศชาติเสียหายได้หรือไม่
The MATTER จะขอสรุปให้ทุกคนได้อ่านกัน
ที่มาโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม.
1. โครงการจัดซื้อรถและเรือของ กทม. ที่ใช้เงินภาษี 6,687,489,000 บาท เกิดขึ้นช่วงปี 2547-2548 คาบเกี่ยววาระดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. 2 คน คือ ‘สมัคร สุนทรเวช’ (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2543-2547) และ ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2547-2551)
2. รายละเอียดของโครงการ จะมีการจัดซื้อ
2.1 รถดับเพลิง 315 คัน
– รถดับเพลิงพร้อมบันไดสูง 13 เมตร (9 คัน)
– รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ ยี่ห้อ Mitsubishi L200 ขนาด 2500cc พร้อมเครื่องสูบน้ำแบกหาม (72 คัน)
– รถดับเพลิงบรรทุกน้ำ 2,000 ลิตร (144 คัน)
– รถบรรทุกน้ำ 10,000 ลิตร (72 คัน)
– รถไฟส่องสว่าง ขนาด 30KVA (4 คัน)
– รถดับเพลิงเคมี และรถยนต์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
2.2 เรือดับเพลิง อีก 30 ลำ
2.3 อุปกรณ์เพิ่มเติมอื่นๆ
3. เหตุผลที่ต้องมีโครงการนี้ เนื่องจากในปี 2546 ทาง กทม. เพิ่งรับโอนภารกิจดับเพลิงมาจากตำรวจดับเพลิง พร้อมกับจัดตั้งสถานีดับเพลิงเพิ่มเติมถึง 78 แห่ง
4. อีกข้อดีของการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงนี้ คือจะเป็นการทำสัญญาการค้า แบบ G to G ระหว่างไทย-ออสเตรีย โดยหน่วยงานของรัฐไทยคือ กทม. กับ ‘บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด’ (ต่อไปขอเรียกสั้นๆ ว่า STEYR) เอกชนของออสเตรีย ซึ่งทางการออสเตรียจะสนับสนุนแหล่งเงินทุนพร้อมทำการค้าต่างตอบแทน (ซื้อสินค้าไทยไปในมูลค่าเท่าๆ กันคือไก่ต้มสุก) โดยมูลค่าการค้าทั้งหมดคือกว่า 133.75 ล้านยูโร แปลงเป็นเงินไทยขณะนั้นก็คือกว่า 6,687 ล้านบาท
5. ทูตออสเตรียประจำประเทศไทย เป็นคนเสนอดีลนี้ขึ้นมาระหว่างเข้าพบ วันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย ในปี 2546 ไม่ใช่การริเริ่มเองจากฝ่ายไทย แม้ภายหลัง รมว.มหาดไทยเปลี่ยนเป็น ‘โภคิน พลกุล’ ก็ยังเดินหน้าต่อ ผ่านขั้นตอนต่างๆ ฉลุย ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในวันที่ 22 มิ.ย.2547 ก่อนจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (AOU – Agreement of Understanding) ระหว่างโภคินกับทูตออสเตรีย ในวันที่ 30 ก.ค.2547 และสมัครลงนามในสัญญาจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงจาก STEYR ในวันที่ 27 ส.ค.2547 ก่อนหมดวาระผู้ว่าฯ กทม. ไม่กี่วันเท่านั้น
6. เรื่องราวทั้งหมด ดูสมเหตุสมผลและสอดรับกันดี ไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ
แต่นั่นเป็นเพียงแค่ฉากหน้าเท่านั้น
จุดเริ่มต้นคดี ‘ซื้อของแพง’ หลายพันล้าน
7. สิ่งที่ปรากฎในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554 คดีหมายเลขแดงที่ อม.7/2556 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเรื่องราวข้างต้น
โดยมีตัวละครสำคัญ ที่ต้องจำชื่อไว้ให้ดี 3 คน ได้แก่
- ‘ประชา มาลีนนท์’ รมช.มหาดไทย ซึ่งขณะนั้นถูกมอบหมายให้กำกับดูแล กทม.
- ‘พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ’ อดีตผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ต่อมาจะโอนย้ายมาเป็น ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคนแรกของ กทม.
- ‘นาย ป.’ ตัวแทนของ STEYR ชาวไทย ซึ่งเคยดูแลการซ่อมแซมรถดับเพลิงที่ สตช. จัดซื้อ
8. โครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2545 หลังจาก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ สมัยยังเป็นผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง พานาย ป. ไปพบกับประชา หลังรู้ข่าวว่าจะมีการโอนภารกิจดับเพลิงจาก สตช. ไปยัง กทม. เพื่อผลักดันโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงกับ STEYR
9. จากนั้นก็มีทูตออสเตรียมาพบรัฐมนตรีและคนในกระทรวงมหาดไทยหลายครั้ง พร้อมเสนอขายรถ-เรือดับเพลิงดังรายการสินค้าที่เล่าไปข้างต้น
10. หลังจาก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ถูกโอนย้ายมาอยู่กับ กทม. ก็ทำเรื่องเสนอขอจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง โดยรายละเอียดเหมือนกับที่ทูตออสเตรียเสนอ ‘ทุกประการ’ พยานซึ่งรับรู้เหตุการณ์อยู่วงในจึงให้การต่อศาลฎีกาฯ ว่า เชื่อว่าทูตออสเตรียถูกผลักดันโดย STEYR ให้เสนอขายสินค้ารายการเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากความต้องการและจำเป็นของ กทม. มาแต่ต้น
11. ต้นปี 2547 นาย ป. พาประชากับคณะบินไปดูโรงงานผลิตรถดับเพลิงถึงออสเตรีย โดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แม้นาย ป. จะปฏิเสธ แต่ก็จำนนต่อหลักฐาน หลังมีการรูปถ่ายหมู่คณะและตารางการบิน
12. เมื่อประชากลับจากออสเตรีย พล.ต.ต.อธิลักษณ์ก็เร่งทำเรื่องตั้งโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงในทันที เนื่องจากช่วงกลางปี 2547 สมัครจะหมดวาระการเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่บันทึกเสนอโครงการครั้งแรกถูกตีกลับ เพราะวิธีเขียนไม่เป็นไปตามแบบของราชการ ที่ปรึกษาของประชาจึงต้องปรับแก้ให้ด้วย ‘ลายมือ’ และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ก็นำไปปรับปรุงตามนั้น กระทั่งถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม. และได้รับความเห็นชอบ ก่อนจะผ่านขั้นตอนต่างๆ จนสมัครได้ลงนามจัดซื้อกับ STEYR ในวันที่ 27 ก.ค.2547
13. หลัง ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ ชนะเลือกตั้งมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และรับมอบงานต่อจากสมัคร ในวันที่ 6 ก.ย.2547 พล.ต.ต.อธิลักษณ์ก็เร่งให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เปิด L/C กับ ธ.กรุงไทย เพื่อให้จ่ายเงินแก่ STEYR
14. แม้ภายหลัง อภิรักษ์จะสังเกตความผิดปกติในการจัดซื้อ โดยเฉพาะเรื่องราคาที่สูงผิดปกติ และส่งหนังสือถามกระทรวงมหาดไทย 2 ครั้ง แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ขั้นตอนการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงกับ กทม. เป็นไปโดยถูกต้องแล้ว ให้เปิด L/C ได้ (หนึ่งในนั้นมีหนังสือจากเลขานุการ รมช.มหาดไทย หรือเลขาฯ ของประชา ที่ยืนยันว่าทุกอย่างถูกต้องรวมอยู่ด้วย)
15. หลังตั้งคณะทำงานขึ้นมาต่อรองสิทธิประโยชน์กับทาง STEYR อภิรักษ์ก็เปิด L/C เพื่อจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงอย่างเป็นทางการ ซึ่งการกระทำนี้จะนำไปสู่วิบากกรรมของเขา ในเวลาถัดมา
ใครเริ่มสังเกตความผิดปกติ
16. คนที่เริ่มสังเกตความผิดปกติของโครงการจัดซื้อรถ-เรือของ กทม. คนแรกๆ ก็คือที่ปรึกษาทางวิชาการคนหนึ่งของประชา จึงเริ่มซีรอกซ์เก็บพยานหลักฐานต่างๆ ไว้ทั้งหมด แล้วก็ถูกนำมาใช้ชั้นศาลเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้องจริงๆ โดยวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ เคยกล่าวชื่นชม ‘นักวิชาการหญิง’ รายนี้ต่อหน้าสื่อมวลชน
17. อีกคนที่ยังคงมีบทบาทในการติดตามการทุจริตคอร์รัปชั่นปัจจุบัน ก็คือ ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ที่ขณะนั้นยังเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สังกัดเดียวกับอภิรักษ์ ที่ติดตามและตั้งกระทู้ถามถึงโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับนำราคาจัดซื้อสินค้าชนิดเดียวกันจากสเปนมาเปรียบเทียบ ที่พบว่าถูกกว่าที่ซื้อจาก STEYR ถึงกว่า 2,091 ล้านบาท
18. แต่อย่างที่เล่าไปแล้วว่า หลังอภิรักษ์ทำหนังสือถามกระทรวงมหาดไทย 2 ครั้ง ได้รับคำตอบให้เดินหน้า จึงต้องเปิด L/C ไปตามขั้นตอน ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ ทำให้เขาต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. หลังชนะเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง ในปี 2551 เมื่อกลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. แทน)
19. ยุทธพงศ์เป็นคนส่งหนังสือให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. ปลายปี 2548 แต่ ป.ป.ช. ขณะนั้นถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีขึ้นเงินดือนตัวเอง เขาจึงยื่นขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำคดีอีกทาง แต่เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. จึงต้องโอนกลับมาอีกครั้ง กว่าที่การตรวจสอบจะเริ่มต้นได้จริงๆ ก็ต้องรอภายหลัง คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ซึ่งคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ตั้งขึ้นมาตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ โดยใช้อำนาจแทน ป.ป.ช. หยิบคดีนี้ขึ้นมาพิจารณา
20. ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หลักๆ จะมีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ โภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย, ประชา มาลีนนท์ รมช.มหาดไทย, วัฒนา เมืองสุข รมว.พาณิชย์, สมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. (ระหว่างปี 2543-2547), พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม., STEYR และอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. (ระหว่างปี 2547-2551)
21. วันที่ 11 พ.ย.2551 ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาทุกคน ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 ก่อนจะต้องจำหน่ายคดีในส่วนของสมัครที่ถึงแก่อนิจกรรม (คำเรียกการเสียชีวิต สำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง/เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ กรณีสมัครคือเคยเป็นนายกฯ) ไปในปี 2552 ด้วยโรคมะเร็งที่ขั้วตับ
22. ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาในปี 2556 ให้จำคุกประชา เป็นเวลา 12 ปี กับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นเวลา 10 ปี (ทั้งคู่หลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษา) และยกฟ้องจำเลยรายอื่นๆ ทั้งโภคิน, วัฒนา และอภิรักษ์
23. แต่ถึงจะยกฟ้องในส่วนของคดีอาญา วิบากกรรมที่มาพร้อมกับการเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหาย คนละพันกว่าล้านบาท ก็ยังดำเนินต่อไป และใช้เวลาสู้คดีที่ศาลปกครองสูงสุดอยู่หลายปีกว่าจะชนะคดี
สมัครมีบทบาทอย่างไร ทำไม ‘ลูก-เมีย’ ถึงต้องมาชดใช้แทน
24. สมัครถึงแก่อนิจกรรมในปี 2552 ก่อนที่การพิจารณาคดีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่ากว่า 6,687 ล้านบาทในศาลฎีกาฯ จะเริ่มต้น (เริ่มปี 2554) ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดีในชั้นศาล25. แต่เท่าที่อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ จำนวน 59 หน้า มีการเอ่ยถึงชื่อของสมัครรวม 47 ครั้ง
โดยบทบาทของสมัครจะถูกกล่าวหาไปในทาง ‘สนับสนุน’ ให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ได้ผลักดันโครงการนี้จนสำเร็จ อาทิ
- ตอนที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ทำบันทึกเพื่อเสนอโครงการครั้งแรกแล้วไม่เป็นไปตามระเบียบของราชการ สมัครก็ไปพบประชา เพื่อขอให้ช่วยปรับปรุงและผลักดันเอกสารดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.
- หลังจากที่ ครม. อนุมัติโครงการ สมัครก็ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการที่มี พล.ต.ต.อธิลักษณ์เป็นประธาน โดยให้เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อบัญญัติ กทม.
- สมัครเป็นคนอนุมัติให้โครงการนี้จัดซื้อจัดจ้างด้วย ‘วิธีพิเศษ’ และอนุญาตให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ถอนร่างสัญญาที่เดิมต้องส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ มาเป็นใช้รายละเอียดต่างๆ ใน AOU เป็นร่างสัญญาแทน
- สมัครยังเป็นคนที่ยืนยันกับโภคินว่า ขั้นตอนต่างๆ ของโครงการนี้ถูกต้องแล้ว ทำให้โภคินในฐานะ รมว.มหาดไทยไปลงนามใน AOU ทั้งที่ตามปกติต้องให้ รมว.ต่างประเทศเป็นคนลงนาม
- หลังจากสมัครลงนามในสัญญาจัดซื้อกับ STEYR เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2547 ก็ยังมอบหมายให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์เป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ว่าฯ กทม. ในการเปิด L/C กับ ธ.กรุงไทยเพื่อจ่ายเงินแก่ STEYR
- ฯลฯ
26. คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ระบุว่า เหตุที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ต้องเร่งรีบผลักดันโครงการนี้ ตลอดทั้งปี 2547 ก็เนื่องจากข้อกำหนดเรื่องปฏิทินงบประมาณของ กทม. รวมถึงวาระดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ของสมัคร (ในคำพิพากษาถึงกับใช้คำว่า “ลุกลี้ลุกลน”)
27. สมัครยังเคยพูดต่อที่ประชุมสภา กทม. ในเดือน ส.ค.2547 ว่า โครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. “เป็นของรัฐบาลทำให้ กทม. กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ริเริ่ม”
28. อย่างที่รู้กันว่า สมัครเสียชีวิตก่อนที่คดีจะเริ่มต้นในศาลฎีกาฯ แล้วเหตุใดทายาทโดยธรรม (ภรรยากับลูกสาวฝาแฝด) จึงต้องมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย
กรณีนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ
- พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐที่เสียหายเรียกเงินชดเชยจากเจ้าหน้าที่รัฐได้
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่กำหนดอายุความคดีที่เกี่ยวข้องกับกองมรดกว่าไม่เกิน 1 ปี
29. หลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. ในปี 2551 ต่อมา ในปี 2553 จึงมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามคำสั่ง กทม. ที่ 2323/2553 โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่สมัครเสียชีวิต (วันที่ 24 พ.ย.2552)
30. นำไปสู่การเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เกี่ยวโภคิน, ประชา, วัฒนา, พล.ต.ต.อธิลักษณ์ และอภิรักษ์ โดย กทม. มีหนังสือด่วนแจ้งคำสั่งให้ชดใช้เงินแก่ กทม. ในวันที่ 24 พ.ย.2553 ซึ่งตรงกับวันครบ 1 ปีการเสียชีวิตของสมัครพอดิบพอดี
ส่วนการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของสมัคร ทาง กทม. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในวันที่ 23 พ.ย.2553 – แค่ 1 วัน ก่อนถึงเส้นตาย
31. การเรียกค่าสินไหมทดแทนของ กทม. ในปี 2553 เป็นการดำเนินการก่อนที่ ‘คดีหลัก’ จะถึงที่สุด
และถึงศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาในปี 2556 ให้ลงโทษเฉพาะประชากับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ แต่กว่าที่โภคิน, วัฒนา หรืออภิรักษ์จะสู้คดียกเลิกสั่งเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ถูกเรียกไปคนละกว่า 1,300 ล้านบาท ก็ต้องใช้เวลาถึงปี 2561-2562 ที่ศาลปกครองสูงสุดยกเลิกคำสั่งดังกล่าวของ กทม. เช่นเดียวกับทายาทของสมัคร ที่ต้องสู้คดีจนถึงปี 2565
32. ‘ตัวเลขเงิน’ ที่ กทม.เรียกให้ทายาทของสมัครชดใช้ ในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลปกครองกลาง คือเงินทั้งหมดที่จ่ายให้กับ STEYR ไปแล้ว 8 งวด รวมกว่า 5,741.59 ล้านบาท หารหกตามจำนวนผู้เกี่ยวข้อง หรือกว่า 956.93 ล้านบาท/คน แต่ศาลสั่งให้ชดใช้ในสัดส่วน 30% ของราคาที่สูงกว่าปกติ 1,958.60 ล้านบาทจากการคำนวณของ ป.ป.ช. หรือกว่า 587.60 ล้านบาท/คน แทน
33. กทม.ยังไม่พอใจตัวเลขดึงกล่าว จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีคำพิพากษาวันที่ 15 มิ.ย.2565 ยืนตามตัวเลขของศาลปกครองกลาง คือให้ทายาทของสมัครชดใช้เงินสินไหนทดแทนแก่ กทม. ในคดีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง กว่า 587.60 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถีงที่สุด “แต่ต้องไม่เกินมรดกที่ตกทอดแก่ตน”
มหากาพย์นี้ ‘ปิดฉาก’ แล้วหรือยัง
34. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. เคยระบุเมื่อปี 2561 ว่าคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของหอการค้านานาชาติ (ICC) มีคำชี้ขาดให้กรรมสิทธิ์รถดับเพลิง จำนวน 315 คัน เรือดับเพลิง 30 ลำ และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย เป็นของ กทม.เรียบร้อยแล้ว
35. รถ-เรือดับเพลิงที่ กทม. ซื้อจาก STEYR ระหว่างปี 2547-2548 ถูกกระจายเก็บอยู่ในสถานที่ 3 แห่ง
- รถดับเพลิง 139 คัน ปัจจุบัน ยังอยู่ที่ลานพักสินค้า บ.นามยง เทอร์มินัล ซึ่ง กทม.ยังค้างค่าเช่าที่จอดราว 820 ล้านบาทและกลายเป็นคดีความในศาล
- รถดับเพลิง 176 คัน ถูกย้ายจากออกจากที่ดินและโรงงาน บ.เทพยนต์ แอโรโมทีฟ ย่าน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี มาอยู่ในที่ดินของ กทม. เมื่อปี 2559 โดยสามารถซ่อมแซมรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ ยี่ห้อ Mitsubishi L200 พร้อมเครื่องสูบน้ำแบกหาม จำนวน 72 คันให้เอาออกมาใช้ได้ ส่วนที่เหลือต้องสั่งซื้ออะไหล่จากต่างประเทศและหาผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซม
- เรือ 30 ลำ ถูกเคลื่อนย้ายจาก บ.ซีทโบ๊ต มายังสถานีดับเพลิงสามเสนในปี 2561 เพื่อมาตรวจสอบและซ่อมแซมสำหรับนำไปประจำการในสถานีดับเพลิงที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสถานที่เหมาะสมต่อไป
36. คดีรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. ถือว่ามาถึงบทสรุปแล้วหรือยัง – เท่าที่เราตรวจสอบเบื้องต้น คำตอบคือ ยัง
ต้นปี 2565 ศาลฎีกาเพิ่งพิพากษายืนยกฟ้องอดีตข้าราชการ กทม. 4 คน ที่อยู่ในคณะกรรมการจัดซื้อในโครงการนี้ เพราะเชื่อว่าทั้งหมดถูกเชิดเป็นกลไกให้เกิดการกระทำผิด และทั้งหมดก็ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากเรื่องนี้
สำหรับคดีในศาลปกครอง ปัจจุบันยังเหลือคดีในศาลปกครองสูงสุด ที่ประชา มาลีนนท์ ฟ้อง กทม. ตั้งแต่ปี 2557 ที่เชื่อว่าเป็นคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน เหมือนกับกรณีของโภคิน, วัฒนา, อภิรักษ์ และทายาทของสมัครที่จบไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกรณี กทม. ฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ขอให้เพิกถอนสัญญาจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงจาก STEYR พร้อมกับเรียกทรัพย์สิน ที่ฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2552 เป็นคดีหมายเลขดำที่ กค.155/2552 ซึ่งหากผลของคดีนี้ทำให้ความเสียหายลดลง ก็อาจส่งผลต่อค่าสินไหมทดแทนที่ทายาทของสมัครต้องชดใช้ด้วย
37. นับแต่ข่าวนี้ปรากฎต่อสาธารณชน หลายๆ คนก็มีคำถามว่า แล้วโครงการอื่นๆ ที่ผู้มีอำนาจทำให้รัฐเสียหาย จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยหรือไม่ เช่น ไม้ล้างป่าช้า GT200, เรือเหาะที่เหาะไม่ได้, เรือดำนั้ำที่อาจไม่มีเครื่องยนต์ ฯลฯ
38. หากดูจากคดีรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. หนึ่งในเกณฑ์สำคัญของการเรียกเงินชดเชยความเสียหายก็คือการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ที่ก็ต้องไปติดตามกันต่อไปว่า แล้วคดีที่เราเห็นกันชัดๆ ว่า เอาเงินภาษีไปใช้อย่างสูญเปล่านั้น ได้นำไปสู่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. หรือจะถูกเรียกเงินสินไหมทดแทนด้วยหรือไม่
39. กว่า 2 ทศวรรษที่คดีรถและเรือดับเพลิงของ กทม. กลายมาเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าสื่อ จนถึงปัจจุบัน ‘มหากาพย์’ นี้ก็ยังไม่สิ้นสุด
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
- คำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554 คดีหมายเลขแดงที่ อม.7/2556
- คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระหว่าง กทม. กับคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช, กาญจนากร ไชยลาโภ และกานดาภา มุ่งถิ่น ภรรยาและลูกสาวฝาแฝดของสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. ในคดีหมายเลขดำที่ อ.628/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.368/2565
- คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระหว่างโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย กับ กทม. และพวก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1522/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.499/2561
- คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระหว่างวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ กับ กทม. และพวก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.622/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1010/2561
- คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระหว่างอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. กับ กทม. และพวก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.623/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.146/2562
- เพจเฟซบุ๊กของ กทม. โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
- เพจเฟซบุ๊กของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
- เว็บไซต์ของศาลปกครอง
#Recap #คดีรถดับเพลิง #TheMATTER