(1)
ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งวางอยู่บนชั้น เก็บตกมาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อน เป็นหนังสือเก่า ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ชื่อว่า ‘การเมืองเรื่องตัณหา’ เขียนโดยสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองผู้ล่วงลับ ซึ่งเคยดำรงทุกตำแหน่งในทางการเมือง ตั้งแต่สมาชิกสภาเทศบาล ส.ส. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเคยขึ้นสูงสุดถึงนายกรัฐมนตรี
อธิบายง่ายๆ ก็คือในรอบ 50 ปีให้หลังมานี้ กระทั่งวันที่สมัคร ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2552 เขาเป็นนักการเมืองที่ผ่านทุกเหตุการณ์สำคัญ และหลายครั้ง เขาก็เป็นผู้เล่นหลักที่มีส่วนในการตัดสินใจ ‘บางอย่าง’ ขณะเดียวกัน เขายังเป็นนักการเมืองเพียงไม่กี่คนที่ ‘เปลี่ยนข้าง’ จากขวาตกขอบ มาเป็นหนึ่งในไอดอลฝ่ายประชาธิปไตยของมวลชนคนเสื้อแดง ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลังตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาที่การเมืองร้อนแรงที่สุด ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรมในอีกไม่ถึง 2 ปีหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม หากอ่านมุมมองของสมัคร ในวันที่ยังมีอีกหัวโขน เป็นนักหนังสือพิมพ์เลือดร้อน เป็นนักการเมืองฝีปากกล้า ก็จะพบประวัติศาสตร์ช่วงคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือน ‘ตุลาคม’ ในอีกมุมมองที่น่าสนใจ ที่หนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปไม่ได้กล่าวถึง โดยเฉพาะภาพของ ‘มือที่สาม’ ที่อยู่ในมุมมืดของการเมืองไทยมาโดยตลอด
แต่ทั้งนี้ ต้องวงเล็บไว้ด้วยว่า มุมมองหลายอย่างอาจปนด้วยอคติ เพราะตัวเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเอง และบางครั้ง เขาก็อาจอยู่มุมเดียวกับมือที่สามกลุ่มนั้นด้วย
(2)
ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สมัครทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่สถานทูตอิสราเอล หลังจากพ้นวาระการเป็นสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานคร ในเวลานั้น สมัครเป็น ‘กลุ่มหนุ่ม’ ของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ยังยึดกุมอำนาจไว้เหนียวแน่น หลังจากรัฐประหารตัวเองเมื่อปี พ.ศ.2514
ในหนังสือ สมัครเล่าว่าความผิดพลาดสำคัญของระบอบจอมพล ก็คือการปล่อยให้เรื่อง ‘เฮลิคอปเตอร์’ ตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ ทหารที่เกี่ยวข้องพ้นผิดทุกคน โดยที่ไม่มีการลงโทษ ก่อนจะตามมาด้วยการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาทั่วประเทศ ด้วยเรื่อง ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ อย่างการจับ 13 คนที่แจกใบปลิวที่ย่านประตูน้ำ และน่าจะจบลงที่การชุมนุมใหญ่ที่ถนนราชดำเนิน
แต่สิ่งที่รู้กันก็คือ เหตุใหญ่ที่ทำให้ระบอบถนอมไม่สามารถอยู่ได้นั้น เกิดจากการ ‘สลายการชุมนุม’ ที่ถนนราชวิถี ข้างพระตำหนักสวนจิตรลดา ในเช้ามืดวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 จากการปิดเส้นทาง ไม่ให้นักศึกษาเดินกลับได้
แม้รัฐบาลจะยินยอม
ตกลงใจยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
ในความทรงจำของสมัคร ทั้งฝ่ายรัฐบาลจอมพลถนอม และฝ่ายแกนนำนักศึกษานั้น สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่บ่ายสามโมงของวันที่ 13 ตุลาคม แต่ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ยุติการชุมนุมได้ การชุมนุมจึงเลยเถิดไปถึงถนนพระราม 5 ในเช้ามืดวันที่ 14 ตุลาคม
แล้วก็อย่างที่รู้กัน มีการ ‘สั่ง’ ไปยังตำรวจให้ใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมเต็มที่ ก่อนจะตามมาด้วยเหตุจลาจล เผาสถานที่สำคัญตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นอาคารกรมประชาสัมพันธ์ ตึกคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) หรือตึกกองสลากที่ถนนราชดำเนิน ท่ามกลาง ‘ข่าวลือ’ ที่สมัครเล่าในหนังสือว่า มีฝ่าย ‘คอมมิวนิสต์’ เตรียมยึดกรุงเทพฯ แล้ว และอาจมีการวางระเบิดสถานที่สำคัญหลายแห่ง
ทั้งหมดนี้ แม้จะยืนยันไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ข่าวที่สมัครรับทราบก็คือ มี ‘คำสั่ง’ จากมือที่สาม ที่อยู่เบื้องหลังการจลาจลว่า ให้ทุบทำลายป้อมตำรวจ ให้เผาป้อมตำรวจให้มากที่สุด เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น จนกว่าบรรดาจอมพล ผู้มีอำนาจ จะหมดอำนาจ…
(3)
แม้คืนวันที่ 14 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะมีพระราชดำรัสออกโทรทัศน์ ทรงแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แทนจอมพลถนอม แต่เหตุจลาจลก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะจอมพลถนอม ยังมีหน้าที่ ‘คุมกำลัง’ จัดการกับเหตุจลาจล ด้วยเหตุนี้ ตลอดวันที่ 15 ตุลาคม จึงยังมีความพยายามเผา ‘กองบัญชาการตำรวจนครบาล’ ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ในหนังสือเล่าว่า ที่แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารในกรุงเทพฯ ทั้งหมด และการเผาหัวใจและมันสมองของตำรวจแห่งนี้ จะสามารถ ‘ตัดกำลัง’ ของผู้ที่กุมอำนาจอยู่ ไม่ให้ต่อสู้กับ ‘มือที่สาม’ ได้อีก กระทั่ง ช่วงเย็นวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 หลังจากไฟไหม้กองบัญชาการตำรวจนครบาลจนมอด จอมพลก็ประกาศยอมแพ้ ขอยุติทุกตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศทันที
คำถามก็คือ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ต่อสู้เฉพาะกับนักศึกษา หรือต่อสู้กับ ‘มือที่สาม’ ในคราบของผู้ก่อเหตุจลาจล และมีอำนาจรัฐอยู่ด้วย จึงมีการเลือกเผาสถานที่สำคัญ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
สมัครบอกใบ้ไว้ว่า ผู้ก่อเหตุจลาจลเหล่านี้ คือกลุ่มเดียวกับผู้ที่ก่อเหตุจลาจลที่แยกพลับพลาชัยในอีก 1 ปีถัดมา หลังคนขับแท็กซี่เชื้อสายจีน ไม่ยอมให้ตำรวจจับกุม จนเป็นเหตุให้ ‘ฝ่ายขวา’ ต้องจัดตั้งกลุ่ม ‘อันธพาล’ ขึ้นมาจัดการ ทั้งลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และนวพล ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากในเวลาต่อมา…
ด้วยเหตุนี้ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในมุมมองของสมัคร และบรรดา ‘ชนชั้นนำ’ จึงไม่ใช่ ‘ชัยชนะ’ ของนักศึกษา หรือการเรียกร้องประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นการต่อสู้กับมือที่มองไม่เห็นอีกด้วย
(4)
ผ่านไปอีก 3 ปี กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 สมัครเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีของ ‘ฝ่ายขวา’ ซึ่งมีสถานะเป็นอดีต รมช.มหาดไทย ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่นาน
สมัครเล่าในหนังสือว่า เป็นเพราะ ม.ร.ว.เสนีย์ ไป ‘ลดชั้น’ เขาจาก รมช.มหาดไทย ให้ไปอยู่ รมช.อุตสาหกรรม จากการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเรื่องนี้ เกิดขึ้น ‘คู่ขนาน’ ไปกับการเดินทางกลับไทยของจอมพลถนอม ซึ่งบวชเป็นพระที่วัดบวรนิเวศวิหาร และสมัคร เป็น ‘ฝ่ายขวา’ ที่ปกป้องพระถนอมพอดี
เหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม นั้น เรารู้กันดีอยู่แล้ว แต่ที่ไม่ค่อยรู้ก็คือเหตุการณ์ช่วงเย็น ซึ่งมีการ ‘ยึดอำนาจ’ ม.ร.ว.เสนีย์ โดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่
พอถึงตรงนี้ มีหลายทฤษฎียืนยันว่ามีนายทหารหลายกลุ่ม ‘จ้อง’ ที่จะรัฐประหาร ม.ร.ว.เสนีย์ โดยใช้เหตุรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น ‘เงื่อนไข’ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘สายอื่น’ ในกองทัพบก หรือบรรดาฝ่ายขวาของพรรคชาติไทย แต่เป็น พล.ร.อ.สงัด ที่สามารถชิงรัฐประหารได้ก่อนใครเพื่อน
สมัครยืนยันเรื่องนี้ในหนังสือ พร้อมกับระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้านานนัก… โดยหลังจากมีการยึดอำนาจ เขาก็ได้รับเทียบเชิญให้ไปคุยกับ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผบ.ทบ. หนึ่งในคณะผู้ก่อการทันที กลายเป็นร่วมหัวจมท้ายกับคณะรัฐประหารไปโดยปริยาย
หลังจากนั้นไม่นาน คณะรัฐประหารก็ตั้ง ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีชื่อของสมัคร เป็นรมว.มหาดไทย ในขณะที่อายุเพียง 41 ปี เป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวที่ได้ร่วมคณะรัฐมนตรีชุดนี้ เพราะ ‘ผู้ใหญ่’ ถูกใจบทบาทในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ของเขา
แต่เรื่องเล่าจากคนอื่น กลับวิเคราะห์ว่าสมัคร อยู่ในวงเตรียมรัฐประหารตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ได้จับพลัดจับผลูอย่างที่เจ้าตัวเล่า และเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมกับ ‘ฝ่ายขวา’ ในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้ พล.ร.อ.สงัด เป็นผู้รัฐประหารหม่อมเสนีย์ ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันนั้น…
(5)
ถึงอย่างนั้นเอง เก้าอี้รมว.มหาดไทยของสมัคร ก็ไม่ได้ ‘มั่นคง’ ขนาดนั้น ไม่ถึง 1 ปีให้หลัง มีเหตุระเบิดพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ จังหวัดยะลา ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2520
ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ก็เกิดเหตุตำรวจนอกราชการ ขับรถมอเตอร์ไซค์ชนเข้าไปในขบวนเสด็จ ซึ่งสมัคร ในฐานะรมว.มหาดไทย ซึ่งในเวลานั้นคุม ‘กรมตำรวจ’ โดยตรง ไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบการปองร้ายสมาชิกพระราชวงศ์ทั้ง 2 เหตุการณ์ได้เลย…
สมัครบอกว่าเวลานั้น เขาไปราชการที่ออสเตรเลีย ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง และยืนยันว่าไม่ได้มีเรื่องอะไรอยู่เบื้องหลัง เหตุมอเตอร์ไซค์ชน น่าจะเป็น ‘อุบัติเหตุ’ ส่วนเหตุระเบิด ก็เป็นเรื่องขององค์กรพูโล ซึ่งในเวลาต่อมา มีการจับกุมผู้ก่อเหตุจากกลุ่มนี้ได้จริง ไม่ได้มีทฤษฎีสมคบคิดใดอยู่เบื้องหลัง
“ถ้าตั้งมาตรฐานเอาไว้แบบนี้ มีการเสด็จพระราชดำเนินที่ไหน ก็ไปทำให้มีการระเบิดขึ้นอย่างนี้ ตูมก็ออก ตูมก็ออก ใครมาเป็นรัฐบาลวันข้างหน้า ก็ต้องเตรียมหารายชื่อรัฐมนตรีมหาดไทยมาเตรียมใส่ซองเอาไว้” สมัครตอบโต้ในสภา อย่างดุเดือด ถึงเสียงเรียกร้องให้เขา ‘ลาออก’ รับผิดชอบต่อเหตุการณ์
หลังจากนั้นอีก 1 เดือน ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ก็มีการรัฐประหารอีกครั้ง โดยมีหัวหน้าคณะคนเดิมคือ พล.ร.อ.สงัด เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์ และทำให้สถานภาพรมว.มหาดไทยของสมัคร พ้นไปโดยปริยาย โดยให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผบ.สส.ขึ้นเป็นนายกฯ แทน
จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่หนึ่งในเหตุผลของการรัฐประหารครั้งนี้ ก็คือความ ‘ไม่พอใจ’ ท่าทีของรัฐบาล ต่อเหตุระเบิดที่ จ.ยะลา โดยมองว่ารัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยนั้น ‘สะเพร่า’ รวมถึงไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น
สมัครเล่าในหนังสือว่ามีความพยายามอาศัยเหตุนี้ขอให้ธานินทร์ปลดเขาออกจากครม. ผ่านคณะรัฐประหารที่เป็น ‘เปลือกหอย’ ในเวลานั้นบางคน แต่ธานินทร์ปฏิเสธ ในที่สุด จึงกลายมาเป็นเหตุผลสำคัญในการ ‘รัฐประหารซ้อน’
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายใต้ปากคำของสมัคร สะท้อนว่าการเมืองไทย มักจะมีตัวละครลับ และเหตุการณ์แปลกๆ
เพื่อทำให้เกิดการรัฐประหาร
และเปลี่ยนขั้วอำนาจอยู่เสมอ
แต่สัจธรรมก็คือ การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของสมัคร กลับไม่ได้ทำให้เขาหลีกเลี่ยงวงจรเหล่านี้ได้พ้น กระทั่งอีก 30 ปีถัดมา ในช่วงปีสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต สมัครก็ยังต้องเผชิญกับเรื่องลึกลับ และ ‘มือที่มองไม่เห็น’ จนเป็นเหตุให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะว่า ‘ทำอาหาร’ ออกโทรทัศน์