ความไม่เท่าเทียมทางเพศ อาจเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ไม่เต็มปากว่ามันไม่มีอยู่จริง และพบได้กระทั่งในพื้นที่ก้าวหน้าอย่างวงการวิทยาศาสตร์
ล่าสุด เพิ่งมีงานวิจัยที่วิเคราะห์ว่า นักวิทยาศาสตร์เพศหญิงมีโอกาสได้รับเครดิตในฐานะผู้เขียนบทความทางวิชาการ-เจ้าของสิทธิบัตร น้อยกว่านักวิทยาศาสตร์เพศชาย แม้จะมีส่วนร่วมกับโปรเจคนั้นๆ ก็ตาม
งานวิจัยพบว่า นักวิทยาศาสตร์เพศหญิงมีโอกาสน้อยกว่าผู้ชายถึง 13% ในการได้รับการเสนอชื่อในฐานะนักเขียนในบทความ และมีโอกาสน้อยกว่าผู้ชาย 58% ในเรื่องของการได้รับชื่อในสิทธิบัตร
นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของ โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) นักวิทยาศาสตร์เพศหญิงที่มีส่วนในการค้นพบโครงสร้าง DNA แต่กลับไม่ได้รับการจดจำ เพราะชื่อของเธอไม่ได้ไปปรากฏในนักวิทยาศาสตร์ที่หยิบเรื่องนี้ไปเผยแพร่
งานวิจัยฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ผ่านวารสาร Nature เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (22 มิ.ย. 65) โดยมีศาสตราจารย์จูเลีย เลน (Julia Lane) และเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ศึกษาวิจัย
.
คณะนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยที่ริเริ่มระหว่างปี 2556-2559 จากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย 52 แห่งทั่วสหรัฐฯ โดยพวกเขาศึกษาข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ 128,859 ราย บทความในวารสาร 39,426 ชิ้น และสิทธิบัตร 7,675 ใบ
หลังศึกษาก็พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายมีโอกาสที่จะได้รับการเสนอชื่อในบทความหรือสิทธิบัตรด้านวิทยาศาสตร์มากกว่า 2 เท่า หากเทียบกับผู้หญิง แม้กระทั่งในวงการที่ผู้หญิงอยู่เต็มไปหมดอย่างวงการสุขภาพก็ตาม
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยได้สอบถามกลุ่มนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 2,400 รายที่เคยตีพิมพ์ผลงานด้วย ว่า เคยถูกกันออกจากงานวิจัยที่มีส่วนร่วมหรือไม่ และคิดว่าเพราะเหตุใด
คำตอบคือ ผู้หญิง 43% ระบุว่าเคยโดนกีดกันจากการตีพิมพ์ ในขณะที่ผู้ชาย 38% รายงานว่าเคยโดนเช่นกัน สำหรับสาเหตุที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยระบุตรงกันมากที่สุด คือ นักวิจัยคนอื่นต้องการลดทอนบทบาทการมีส่วนร่วมของพวกเขา อย่างไรก็ดี ผู้หญิง 15% อธิบายว่า สาเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติและอคติทางเพศ
อ้างอิงจาก
https://www.washingtonpost.com/business/2022/06/22/women-scientists-authorship-credit-study/