จะย่อยเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่ดูเข้าใจยากยังไงให้สนุก น่าสนใจ และเข้าถึงได้ง่าย?
เราต่างทราบกันดีถึงความสำคัญของศาสตร์สายวิทย์ ที่นำพาประโยชน์ต่างๆ มาให้โลกของเรา แต่การสื่อสารเรื่องราวที่ซับซ้อนให้คนทั่วไปฟังหรืออ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ เลย
แทนไท ประเสริฐกุล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน และผู้จัดรายการพอดแคสต์ WiTcast ที่มีคนฟังหลายหมื่นคน สร้างความสนใจในเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องของวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิต และระบบการทำงานของร่างกาย จนล่าสุด เขาได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2564 ไป
The MATTER จึงขอชวนอ่านเรื่องราวของ แทนไท เพื่อให้เข้าใจในถึงคำว่า ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ มากขึ้น และทำความเข้าใจว่า การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนไทย ควรปรับเปลี่ยนเป็นแบบไหน พร้อมกับฟังเรื่องวิทยาศาสตร์สนุกๆ ไปด้วยกัน
อาชีพ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ คืออะไร
ถ้าแปลตรงตัวก็มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Science-Communicator ส่วนตัวผมมองว่ามีสองฟังก์ชันนะ อย่างแรกคือ คนชอบเรียกเราว่า นักวิทยาศาสตร์เฉยๆ ซึ่งเราจะรู้สึกละอายใจ เพราะว่าคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เขาต้องมีผลงานวิจัย ต้องไปศึกษา ทดลอง เราเลยต้องคอยย้ำว่า เวลาเขียนหนังสือ หรือว่าเวลามาพูดออกรายการ เราไม่ได้กำลังทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์อยู่นะ แต่เราทำหน้าที่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์อยู่
เรื่องที่สองก็คือ ตัวงานประเภทสื่อสารวิทยาศาสตร์เอง ก็มีความสำคัญในตัวเองมากเลย เพราะต้องมีคนเชื่อมระหว่างวงการวิทยาศาสตร์ที่ไปค้นพบความรู้ที่น่าสนใจมากับคนทั่วไปที่อยู่ข้างนอก เราทำหน้าที่เหมือนเป็นคนตรงกลางที่ไปเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้คนทั่วไปได้ร่วมตื่นเต้น ร่วมประทับใจ ร่วมเห็นความสำคัญ เห็นความลึกซึ้งด้วย ผ่านการกรองมาแล้วหนึ่งชั้นว่า ภาษาประมาณนี้ ความลึกประมาณนี้ น่าจะกำลังดีสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมาก่อน หรือว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการโดยตรง แล้วก็ใส่ความสนุกของการเล่าเรื่อง บรรยากาศความเป็นกันเอง ความอินเข้าเลย ก็เลยมาอยู่ตรงนี้ ที่เป็นตำแหน่งเรียกว่า นักสื่อสารวิทยาศาสตร์
ผมไม่แน่ใจว่าเปรียบเทียบได้ป่าวนะ สมมติวงการกีฬา ผมไม่ได้ไปเตะบอลเอง แต่ผมเป็นคนที่มาชวนให้ทุกคนมาดูบอลกัน หรือเป็นคนพากย์บอล หรือเป็นคนที่ทำบรรยายวิเคราะห์ว่า ทีมนี้กำลังทำแบบนี้อยู่ แปลว่าอะไร หรือถ้าเป็นวงการหนัง คือผมไม่ได้เป็นคนสร้างหนังแต่ผมเป็นคนมาทำให้ทุกคนไปดูหนังเรื่องนี้ เป็นนักวิจารณ์หนัง
ให้คนเข้าใจวิทยาศาสตร์และเข้าใกล้กับวิทยาศาสตร์มากขึ้น ?
ใช่ เข้าใกล้ เข้าถึง มีอารมณ์ร่วม เห็นความสำคัญ แล้วก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของเราที่จะมาอินกับเรื่องราววิทยาศาสตร์ คือนอกเหนือจากอินเรื่องอื่นๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การเมือง ศาสนา มันมีอีกมิตินึงของชีวิตคือ เรื่องทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเหมือนเป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตที่มาเติมเต็มให้เรากลมกล่อมสุนทรีย์ แล้วก็ลึกซึ้งกับชีวิตมากขึ้น
แล้วมาเริ่มสายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร
ต้องย้อนกลับไปสมัยเรียนที่สหรัฐฯ มหาวิทยาลัยชื่อ Cornell ที่ New York ตอนนั้นเราได้เห็นตัวอย่างว่า ที่สหรัฐฯ มีแง่มุมนึงที่เมืองไทยไม่ค่อยมี ก็คือเปิดทีวีมา เจอคนเล่าเรื่องจักรวาล ชีวิตสัตว์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แล้วคนเล่าก็เป็น สมมติอย่าง Carl Sagan หรือว่า David Attenborough เขาเป็นคนที่ทั้งโลกรู้จัก เป็นไอดอล เป็นดารา เป็นเซเลบสายวิทยาศาสตร์ เราไม่เคยเห็นแบบนี้ในบ้านเรา เราเดินเข้าร้านหนังสือ จะมีเป็นแผงใหญ่เลย ที่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่ใช่แบบตำราวิชาไฟฟ้า 101 หรือเซลล์วิทยา 101 เป็นหนังสือที่เขียนให้คนทั่วไปอ่าน แบบเดียวกับที่เราไปเลือกนิยาย นี่ก็เป็นอีกหมวดนึง เรียกว่า pop-science หรือเป็นหมวดวิทยาศาสตร์สำหรับคนทั่วไปอ่าน ซึ่งจริงๆ ความป๊อปของมันมีความหลากหลายนะ บางเล่มก็ลึกมากเลย บางเล่มก็ง่ายมาก ใครก็อ่านเข้าใจได้ จะหลากหลายกันไป
แล้วผมก็ชอบอ่านหนังสือจากหมวดนี้ ก็จะไปรู้จักนักเขียนดังๆ หลายคนที่เอาเรื่องทางวิทยาศาสตร์มาเขียน อย่าง Oliver Sacks ซึ่งเป็นคุณหมอที่จะเอาเคสคนไข้ต่างๆ มาเขียนประกอบคำอธิบายทางสมองว่าคนนี้เป็นแบบนี้ สมองเขาเป็นอย่างนี้ มาเขียนเล่ารวมไปกับอารมณ์แบบซึ้งๆ รวมไปกับการได้ช่วยเหลือคน ได้รับรู้ความรู้สึกของคน อันนี้เปิดโลกมาก ไม่ค่อยเห็นในเมืองไทยเท่าไหร่
อีกคนคือ Richard Dawkins ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เล่าเรื่องชีววิทยา เรื่องวิวัฒนาการว่า ชีวิตมีความเป็นมายังไง ชีวิตที่เราเห็นเป็นสิ่งซับซ้อน ต้นไม้ก็มีโครงสร้างซับซ้อนไปหมด ตั้งแต่ ใบ ต้น ราก ผ่าเข้าไปดูข้างในมีเซลล์ ข้างในเซลล์มีอวัยวะของเซลล์ ข้างในอวัยวะของเซลล์มีโมเลกุลอะไรซับซ้อนไปหมด ทั้งหมดเกิดขึ้นมาบนโลกได้ยังไง ซึ่งผมอ่านอย่างอินมาก เพิ่งเคยอินกับเรื่องอะไรพวกนี้ เรื่องวิวัฒนาการ เป็นครั้งแรก
หรืออีกคน Carl Sagan เขาก็จะมีสารคดีบรรยายเรื่องความน่ามหัศจรรย์ของฟิสิกส์ ของจักรวาล ของดาราศาสตร์ ผมก็อินกับเรื่องพวกนี้เหมือนกัน ซึ่งผมก็รู้สึกว่า เมืองไทยค่อนข้างขาด คนมานำทำอะไรแบบนี้ แล้วก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะอยู่แค่ในห้องเรียน คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนเรื่องนี้โดยตรงก็สามารถมาอิน มารู้สึกอัศจรรย์กับมันได้
พอเห็นตัวอย่างแบบนี้ก็เลยคิดว่า ถ้ามีโอกาสสักวันก็อยากมาทำอะไร คือเรา เราเหมือนกับเราไปอินเรื่องนี้มาก่อน เหมือนกับเราไปเที่ยวที่ไหนมาสักที่นึง แล้วเราอยากมาเล่าต่อว่า ให้คนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีที่เหล่านี้อยู่ว่ามีอยู่นะ แล้วน่าสนใจยังไงบ้าง ก็เลยเซฟเก็บไว้ในสมองว่า เฮ้ย สักวันเราน่าจะมาเล่าเรื่อง ความน่าตื่นเต้นของสมองนะ ความน่าตื่นเต้นทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนะ ชีวิตสัตว์มหัศจรรย์พันลึกทั้งหลาย เราน่าจะมาเล่านะ
เท่าที่ไปเจอมา มีเรื่องไหนที่รู้สึกว้าวที่สุด ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วอยากแชร์ไหม
เอาเท่าที่นึกออกก็เรื่องความรับรู้ของเรา มันมีหนังสือเล่มหนึ่งอธิบายว่า คนที่แขนขาขาดไปจากสงครามหรือว่าอุบัติเหตุอะไรก็ตาม หลังจากนั้น เขาอาจจะเจอปัญหา Phantom limb ซึ่งหมายความว่า ผีของแขนยังอยู่ อวัยวะไม่อยู่แล้ว แต่ความรู้สึกยังอยู่ เช่น ถ้าเราไม่มีแขนซ้ายแล้ว แต่เรายังรู้สึกว่ามีแขนซ้ายอยู่ แล้วไอแขนซ้ายข้างที่ล่องหนของเรา มันกำมือแรงมาก กำมือจนเรารู้สึกเจ็บปวด เรียกว่า Phantom pain คือรู้สึกว่ากำจนเล็บจิกเข้าไปในอุ้งมือ แต่จะคลายยังไง ในเมื่อไม่ได้มีแขนอยู่จริง
ความรู้สึกนั้นอยู่ในหัวเรา เพราะว่าสมองส่วนที่รับรู้แขนข้างนั้น มันยังอยู่ ไอที่เรารับรู้แขนขาเราทุกวันก็ไม่ได้เกิดที่แขนขาเรานะ มันเกิดที่สมองเรานั่นแหละ แล้วถ้าเกิดต่อให้เราตัดแขนทิ้งไป ไอสมองส่วนนั้นมันยังอยู่ แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลเข้ามาจากตัวอวัยวะจริงๆ แล้ว ก็จะเกิดความรวนต่างๆ นานาขึ้น ที่ทำให้เราแบบ โอ้ย ทำไงถึงจะคลายมือได้เนี่ย อยากคลายแต่คลายไม่ได้ เพราะไม่มีมือแล้ว
นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมอยากเอามาเล่าต่อ เพราะมันมีดีเทลสนุกๆ เช่น Ramachandran คุณหมอที่หาวิธีรักษาอาการนี้ ซึ่งเป็นคนที่ทำหน้าที่สื่อสารวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะเขาเขียนหนังสือมาเล่ากับคนทั่วๆ ไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งวิธีรักษาคือ ให้ผู้ป่วยมานั่งส่องกระจกให้เห็นเงาแขนของตัวเองในตำแหน่งของแขนข้างที่หายไป แล้วเขาก็จะบอกให้คนไข้คลายการกำหมัดมือที่มีอยู่ มันจะเห็นเหมือนกับว่า แขนข้างที่หายไปคลายออกด้วย แล้วหลังจากนั้น ความเจ็บปวดก็หายไปจริงๆ อาจจะไม่ได้หายทันที ต้องมาทำซ้ำทุกวัน แต่เป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนภาพในสมองใหม่ ใช้สายตารับข้อมูลเข้าไปแก้ความเจ็บปวดของแขนข้างที่หายไป
อีกเรื่องนึงที่อยากเล่า สมมติว่าแขนเราหายไป ถ้าเราไปดูแผนที่ในสมอง ส่วนรับความรู้สึกจากมือ นิ้ว มันอยู่ติดกับใบหน้านะ แปลว่า เวลามีคนมาจิ้มหน้าเรา เราจะสัมผัสได้ถึงมือข้างที่ไม่มีอยู่แล้ว เพราะว่าส่วนรับความรู้สึกสองส่วนนี้อยู่ติดกัน แล้วยังมีที่อื่นๆ ด้วย เช่น ส่วนรับความรู้สึกของอวัยวะเพศอยู่ติดกับส่วนที่รับความรู้สึกจากเท้า สมมติขาขาด เท้าหายไป แล้วทุกคนที่มีใครมากระตุ้นอวัยวะเพศ เท้าเขาจะกลับมาอีกรอบนึง สิ่งเหล่านี้เป็นคำอธิบายที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย เรานี่เหมือนเป็นหุ่นยนต์ตัวนึงเลยที่เพิ่งมาเรียนรู้ว่าข้างในตัวเราทำงานยังไง
มองว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์สำคัญยังไง จำเป็นต้องรู้เรื่องเหล่านี้หรือเปล่า
ในแง่นึง มันก็ไม่จำเป็นต้องรู้หรอก เหมือนที่เราไม่จำเป็นต้องดูหนัง ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวยงาม หรือว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวป่า หรือไปทำอะไรก็ตามที่มันให้ความสุขกับชีวิตเรา แต่อันนี้มันเป็นอีกมิตินึงของความฟินของชีวิตไง ที่ได้รับรู้เรื่องเหล่านี้
แต่ว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์มีความสำคัญหลายอย่าง หนึ่งคือความสนุกในการได้รับรู้เรื่องเหล่านี้ สองคือ ขณะที่เราเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เราได้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอยู่นะ เช่น มนุษยชาติไม่เคยรู้ว่า ดวงดาวคืออะไร การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คือการมาไล่เรียงว่า คนสมัยกรีกคิดว่าดวงดาวคืออย่างนี้ จากนั้นกี่ร้อยปีถัดมาถึงได้เริ่มมีความเข้าใจว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่าโลก จักรวาล อวกาศ แล้วเรานึกว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบเรา จากนั้นเราเพิ่งมารู้ว่า เราหมุนรอบดวงอาทิตย์ แล้วถึงค่อยมารู้ว่า มีดาวเคราะห์อื่นๆ อีกเยอะแยะเลย เป็นระบบ รวมกันเป็นระบบสุริยะ ซึ่งไกลออกไปมีระบบสุริยะอื่นอีกเป็นล้านๆ มันมีความเป็นไปได้ของสรรพสิ่งเยอะมาก
เราได้เชื่อมโยงความรับรู้ของเรา เข้ากับการค้นหาอะไรบางอย่างของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยที่เรายังอยู่ในถ้ำ จนมาถึงตอนนี้ที่เรากำลังมองขึ้นฟ้า แล้วไปอวกาศกัน เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางนั้นไปด้วย
แล้วถ้าถามว่ามีประโยชน์ไหม มีประโยชน์มากนะ โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน คือสิ่งประดิษฐ์ไฮเทคอะไรทั้งหลายรอบตัวเรา ก็เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น หรืออย่างปัญหาใหญ่ๆ ของโลก เรื่องมลพิษ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ climate change ก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์แก้ทั้งนั้น ซึ่งเราก็ต้องพยายามที่จะเอาข้อมูลใหม่ๆ เอาหนทางแก้ปัญหาใหม่ๆ มาเล่าให้คนทั่วไปร่วมติดตามด้วย
อีกอย่างที่สำคัญคือ การเข้าใจวิทยาศาสตร์จะทำให้เราแยกแยะได้ว่า เรื่องไหนน่าเชื่อถือ เช่น เวลามีคนพูดอะไรขึ้นมาเรื่องนึง เราจะวิเคราะห์ว่าน่าเชื่อถือไหมได้ ก็มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เหมือนกระบวนการเหล่านี้เป็นซอฟต์แวร์ตัวนึงที่เราเอาไว้จับผิดตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังเชื่อ มันหนักแน่นไหม มีความเป็นไปได้ขนาดไหน
แล้วจะทำยังไงให้สามารถสื่อสารวิทยาศาสตร์ออกมาได้ สนุก และเข้าใจง่าย
อันนี้มันตอบยากเหมือนกันนะ คือผมจะชอบใส่ความสนุกและความตลกเข้าไปเสมอ เป็นรสนิยมส่วนตัวแหละ คนอื่นอาจไม่ต้องเน้นปล่อยมุกเหมือนผมก็ได้ไง แต่ว่า ผมชอบ เพราะฉะนั้นเวลาเขียนหนังสือก็ตามหรือว่าจัดรายการก็ตาม ผมก็จะใส่ความตลก ความรีแลกซ์ ความเป็นกันเอง แล้วมุกตลกที่ผมชอบก็จะเป็นมุกตลกแบบหลุดโลกหน่อย อาจจะพูดถึงเรื่องขี้ เรื่องนม เรื่องตูด แต่ผมไม่ใช่เป็นคนที่หมกมุ่นหรือลามกอะไรนะ ผมแค่หมกมุ่นกับความตลก ผมไม่ได้หมกมุ่นกับขี้ของจริง คือไม่ใช่ว่าจัดรายการเสร็จหรือเขียนหนังสือเสร็จ ผมไปนั่งดมขี้อยู่ในห้องน้ำ ไม่ใช่ ผมแค่เอาขี้มาเป็นอุปกรณ์ในการเล่นตลกเท่านั้นเอง
คุณเริ่มเข้าสู่การสื่อสารวิทยาศาสตร์มาจากการเขียนหนังสือก่อน อยากรู้ว่าช่วงแรกๆ ที่เริ่มเขียนเป็นยังไงบ้าง
จริงๆ ก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจจะมาเขียนแนววิทยาศาสตร์โดยตรงนะ แต่ผมเคยเป็นอาจารย์พิเศษในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ยุคนั้นมันมีวัฒนธรรมการเขียนไดอารี่ออนไลน์ซึ่งทุกวันนี้ก็เปรียบได้กับการโพสต์เฟซบุ๊กนั่นแหละ ซึ่งผมก็มาเปิดแอคเคาท์ของผมไว้อันนึง เขียนไดอารี่ของตัวเอง แล้วให้นักเรียนมาอ่าน แลกเปลี่ยนกัน แต่ผมจะเขียนแบบมีความ ให้มันจริงจังกับการเขียนหน่อยคือให้มันเป็นบท มีเรื่องราว มีตัวละคร เล่าฉากนู้นฉากนี้ แล้วก็ตั้งชื่อว่า ‘ไดอารี่โลกนี้มันช่างยีสต์’ ก็คือปลดปล่อยความฮา ซึ่งจะชอบใจมากเวลามีเด็กมาอ่านแล้วอิน
ปรากฏว่า พี่แป๊ด บก.สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด เขามาอ่านแล้วบอกว่า เฮ้ย จริงๆ มันรวมเล่มพิมพ์ได้นะ ก็เลยไปรวมเล่มพิมพ์ ออกมาก็เลยเป็นหนังสือชื่อ ไดอารี่โลกนี้มันช่างยีสต์ เป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ ของหนุ่มคนนึงที่ไปเป็นครูสอนชีววิทยาในโรงเรียนมัธยม ซึ่งยุคนั้นการ์ตูน GTO กำลังดัง ผมก็รู้สึว่า ได้ไอดอลแล้ว ลองเป็นโอนิซึกะดูสัก 3-4 ปีดีกว่า
พอมีหนังสือพิมพ์ออกมาอะไรอย่างนี้ บรรดาคนในวงการเขียนก็เลยเชิญชวนให้ไปเปิดคอลัมน์ ก็มีพี่ก้องจาก a day และอาจารย์ปกป้อง ที่ตอนนั้นทำสำนักพิมพ์ openworlds อยู่ มาชวนไปเขียน ผมก็แบ่งให้ของ a day เขียนเรื่องเกี่ยวกับสมอง ส่วน openworlds เขียนเรื่องชีวิตสัตว์
ผลตอบรับถือว่าดี เพราะน่าจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับยุคนั้นด้วย คือไปดูในตลาดหนังสือไม่มีใครเอาเรื่องพวกนี้มาเขียน แล้วเชิญชวนให้คนมาสนใจงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ที่เอามาเล่าเป็นเรื่องราวแบบนี้ได้ เพราะว่าท้ายเล่ม ผมจะมีอ้างอิงว่า อันนี้เอามาจากงานวิจัยนี้นะ ซึ่งยุคนั้นหนังสือทั่วไปก็ไม่ค่อยมีใครทำกัน คือถ้าจะอ้างอิงก็เป็นตำราแวดวงวิชาการไปเลย
แล้วผมก็ไม่ได้เขียนเป็นแนวเนิร์ดสุดๆ แบบข้อมูลแห้งๆ ผมเขียนมีความใส่อารมณ์ให้อ่านสนุกไปด้วย บางตอนอาจจะไม่ได้สนุกอย่างเดียว แต่ว่ามีความเป็นวรรณกรรมนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องเล่า มีรสชาติ บางทีก็เศร้า บางทีก็ นี่บางคนบอกว่า อ่านหนังสือผมแล้วร้องไห้ก็มีนะ บางบท ก็เป็นถ่ายทอดความรู้สึกของเราในช่วงเวลาหนึ่งลงไป ใส่ความครีเอทีฟในรูปแบบการเล่าเรื่องลงไป ก็ถือว่าเสียงตอบรับดี
ถ้ามาเปรียบกับทุกวันนี้ คือมีคนเอาเรื่องทางวิทยาศาสตร์ หรือว่า เอางานวิจัยที่ออกใหม่ๆ มาเขียนมาเล่าเยอะแยะเต็มไปหมดแล้ว แต่ยุคนั้นถือว่าเป็น ยังมีไม่เยอะละกัน จริงๆ มีรุ่นก่อนหน้าผมมาอีก แต่ว่าก็ไม่เยอะอยู่ดี มาถึงผมก็เลยโดดเด้งขึ้นมา
มาตอนนี้ทำทั้งเขียนหนังสือ จัดรายการพอดแคสต์ ซึ่งใช้ทักษะการเล่าเรื่องคนละแบบเลย มีจุดร่วมและความแตกต่างกันยังไงบ้าง
ผมจะพยายามทำให้ทุกอย่างไปในทางเดียวกันนะ ไม่ว่าจะงานเขียนหรือจัดรายการ จะต้องมีบรรยากาศที่เฟรนด์ลี่ มีความตลกสอดแทรก พอตลกเสร็จแล้วก็ชวนให้คนคิดลึกขึ้นกว่านั้น มีการเลือกประเด็น เลือกเรื่องอะไรที่คนไม่เคยรู้แน่ๆ มาเล่า
ตอนนี้ก็กลับมาเขียนคอลัมน์อีก ชื่อคอลัมน์ ‘เมฆนม’ อยู่ในเว็บ The cloud เขียนมาได้เป็นสิบกว่าตอนแล้วเหมือนกัน ซึ่งความต่างระหว่างการจัดรายการกับเขียนหนังสือ คือ การเขียนจะยากในการเลือกคำ เลือกภาษาที่ลงตัว ประโยคนึงบางทีแก้แล้วแก้อีกก็ยังไม่ได้ หรือบางทีเรานึกภาพในหัวออกมาว่าเราอยากบรรยายฉากนี้ แต่พอ พิมพ์ออกมาแล้วมันไม่เห็นจะได้เหมือนที่เราคิดเลย ก็จะมีความท้าทายตรงนี้ แต่ว่าการพูดก็ไม่ได้ง่ายเหมือนกันนะ เพียงแต่อาจจะไหลลื่นกว่าข้อเขียนที่มันจะคงอยู่แบบนั้นไปอีกนานเลย เลยต้องพยายามแต่งคำ ปั้นภาษาอะไรมากกว่าที่เราพูดธรรมดาแบบนี้
แอบถามได้ไหมว่าทำไมตั้งชื่อคอลัมน์ว่า เมฆนม
มันมีจริงนะ คือเมฆที่รูปร่างเหมือนเต้านม แล้วไม่ใช่นมแบบ ไม่ใช่เป็นนมสองเต้าประทานลงมาจากฟากฟ้านะ แต่เป็นนมพันเต้าที่ย้อยย้วยลงมาเป็นลูกๆ เต็มท้องฟ้าเลย เขาเลยเรียกว่า mamma มาจาก mammal ที่แปลว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
เป็นความลามกของคนที่ตั้งชื่อนี้ขึ้นมา ผมเองก็เอามาตั้งชื่อนี้เพราะรู้สึกว่า ถ้าเมฆยังเกี่ยวกับนมได้ อะไรมันก็เกี่ยวกันได้แล้วแหละ เพราะงั้นคอลัมน์นี้ก็จะเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างจิตนาการต่างๆ ของผม เข้ากับเรื่องต่างๆ เช่น บางทีหยิบตัวอย่างชีวิตสัตว์ขึ้นมาเรื่องนึงแล้วโยงไปต่อเรื่องนั้น จากนั้นเรื่องนั้นโยงไปต่อเรื่องนี้ คือมีการโยงจากนู่นไปนี่ คิดฉากปรัชญาชีวิต แล้วไปนึกถึงสัตว์ตัวนี้ขึ้นมาเลยเอาไปเล่าต่อกัน จะมีเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงจิตนาการอยู่
ขณะเดียวกัน ก็จัดรายการพอดแคสต์ WiTcast มา 9 ปีแล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม
ก็เรียกว่าทำมาตั้งแต่ช่วงที่พอดแคสต์ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ช่วงแรกประสบปัญหามากกับการพยายามจะอธิบายว่าพอดแคสต์คืออะไร แต่ทุกวันนี้ก็รู้สึกว่า ยังไม่ถึงกับแมสเท่ายูทูป แต่คนจำนวนไม่น้อย ก็เริ่มจะรู้แล้วว่าพอดแคสต์คืออะไร แล้วก็มีวัฒนธรรมการดูยาว ฟังยาว มากขึ้น บางทีอาจจะไม่ได้มาจากการฟังพอดแคสต์หรอก แต่มาจากเฟซบุ๊กไลฟ์ ยูทูปไลฟ์ แล้วบางทีไลฟ์ยาว 1-2 ชั่วโมง คนก็นั่งดูกัน นั่งฟังกัน ติดตามคนที่เราชอบ
ตอนนี้ก็มีพอดแคสต์เยอะขึ้นหลายรายการมากขึ้นเลยนะ เป็นอีกซีนนึงที่ทำให้เกิด community คนชอบเรื่องโน้นเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ก็คือ พูดง่ายๆ คือเห็นการเติบโต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เห็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมา ไม่เหมือน Clubhouse แต่พอดแคสต์ผมว่าค่อยๆ ขึ้น ไปเรื่อยๆ ผมเองก็กะจะจัดไปจนแก่ รู้สึกเป็นอะไรที่อยู่ตัว ลงตัว แล้วก็ไม่กดดัน จริงๆ อาจจะกดดันก็ได้ แต่ว่าเราพยายามกดดันตัวเองให้ไม่มากเกินไป
แล้วก็คือว่ายังไงก็สามารถจัดไปได้เรื่อยๆ คนติดตามฟังเราก็แก่ไปพร้อมเราเรื่อยๆ บางคน น้องบางคนทักมาบอกว่า “หนูฟังพี่ตั้งแต่ ม.2 ตอนนี้หนูจบทำงานมีลูกแล้วเนี่ย (หัวเราะ) หนูก็ยังฟังอยู่ แล้วเปิดให้ลูกฟังด้วย” ก็คิดว่าน่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่แก่ไปด้วยกัน
มีเรื่องที่ชอบหรือภูมิใจที่สุดไหม
อันนี้เลือกยากเหมือนกันนะ เอา จริงๆ อย่างปีที่ผ่านมาก็มีพวกตอนที่คุยเรื่องสมองกับหมอกิ๊ก คุยเรื่องสมองกันสนุกมาก เพราะว่าเป็นแฟนของทั้ง Oliver Sacks แล้วก็คุณหมอ Ramachandran เหมือนกัน เพราะงั้นเวลาเชิญหมอกิ๊กมาทีไรก็จะแบบว่า แหม่ มันฟินกับการได้คุย แล้วอีกอย่างคือหมอกิ๊กมีประสบการณ์ตรงในการดูคนไข้ด้านสมองด้วย เขาก็จะสามารถเอาชีวิตจริงของเขามาเล่าได้ ประกอบกับเรื่องที่เราอ่านมาจากหนังสือตำรากัน อันนี้ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ตอนที่คนทางบ้านฟีดแบกมาว่าชอบมาก
ถ้าย้อนกลับไปไกลๆ หน่อย ยุคแรกๆ เลย คลาสสิกเนี่ย จะมีตอน ลึงค์สเปเชียล fantastic phallus คือตอนที่ผมไปรวบรวมมาว่า สารพัดลึงค์ในโลกของสัตว์มันมีอะไรแปลกๆ มาเล่าให้ฟังบ้าง ตัวอะไรมีลึงค์เป็นหนาม แล้วจะมีหนามไปทำไม ตัวอะไรมีลึงค์เป็นเกรียว ตัวอะไรมีลึงค์สามแฉก ลึงค์สี่แฉก ลึงค์ห้าแฉก ไปรวบรวมมา ทั้งหมดอยู่ในตอนนี้ แต่เราไม่เน้นลามกนะ เราเน้นแค่ตลกโปกฮา เราไม่ได้หื่น
เหมือนเป็นเรื่องการอธิบายกายภาพของสัตว์
ใช่ แล้วพอเป็นหัวข้อพวกนี้ มันจะฮาไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยไม่ต้องพยายามมาก ก็จะฮาของมันเอง มี episode นึงเล่ารางวัล Ig Nobel มีมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์คนนึงที่ค้นพบว่า มีแมลงอยู่ชนิดนึง ตัวเมียมีจู๋ ตัวผู้มีจิ๋ม อย่างนี้ ผมก็เอามาเล่าได้หนึ่งตอนเลย ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง
หรือถ้าเป็นตอนที่ผมเล่าเอง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับชีวิตพืช ชีวิตสัตว์ ผมก็จะมีตอนที่เล่าเรื่องพืชกินเจ ที่ผมชอบมากเหมือนกัน เราอาจจะงงว่า พืชกินเจ คืออะไร แสดงว่ามันต้องเคยกินสัตว์มาก่อนแล้วมาละเว้นเนื้อสัตว์งี้เหรอ
ผมเลือกจากพวกพืชกินแมลง ก็คือหม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่เคยกินแมลงเป็นกิจจะลักษณะมาก่อน แต่ทุกวันนี้มันวิวัฒนาการเปลี่ยนมากินอย่างอื่นแทน เช่น บางต้นไปอยู่ในที่หนาว ไปอยู่บนเขาสูงแล้วไม่ค่อยมีแมลงให้กิน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นปล่อยน้ำหวาน ปล่อยกลิ่นหอมออกมาล่อกระแต พอกระแตมาเลียน้ำหวานนี้ปุ๊บ ก็ขี้ลงไปในหม้อ มันก็เลยได้ปุ๋ยจากขี้กระแตแทนที่จะกินแมลง กลายเป็นการกินเจ ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตรูปแบบหนึ่งของหม้อชนิดนี้นะ
แล้วรูปทรงมันก็วิวัฒนาการให้เปลี่ยนเป็นเหมือนโถส้วมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราตกใจว่านี่มันแบบดีไซน์เนอร์สุขภัณฑ์ยี่ห้อไหน มันเหมือนโถส้วมมาก ซึ่งที่หน้าตาเหมือนโถส้วม เนื่องจากอาหารประเภทโปรตีนเริ่มหาได้ยากขึ้น ก็เหมือนถูกธรรมชาติคัดเลือกให้ไปหาจากแหล่งอื่น ซึ่งแหล่งอื่นในที่นี้ก็คือ ทำตัวเองให้เป็นโถส้วม เพื่อจะกินขี้ สรุปคือเปลี่ยนจากกินเจ มากินขี้นั่นเอง
เรานึกว่าต้นไม้กินขี้ประหลาดใช่ไหม จริงๆ แล้วต้นไม้ทุกชนิดกินขี้อยู่แล้ว ที่เราใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอะไรให้ แต่เพียงแต่มันกินทางรากไง แต่หม้อข้าวหม้อแกงลิงกินทางหม้อ
ในรายการ WiTcast จะมีสรุปรางวัล Ig Nobel อยู่ทุกปี อยากรู้ว่าทำไมถึงสนใจรางวัลนี้ แล้วมีรางวัลไหนที่ชอบเป็นพิเศษหรือเปล่า
Ig Nobel คือรางวัลล้อเลียนโนเบลมาอีกที มอบให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่ว่าเน้นมอบให้มันฮาไว้ก่อน คำขวัญของเขาคือ งานวิจัยที่ First make you laugh, then make you think. ซึ่งก็เข้าธีมกับ WiTcast เป็นอย่างยิ่ง เราก็ชอบทำให้ขำก่อนแล้วค่อยคิด เลยชอบที่จะเอา Ig Nobel ในแต่ละปีมาเล่าในรายการ เป็นมหกรรมยิ่งใหญ่ที่ทุกปีคนจะต้องรอคอยว่าเมื่อไหร่ WiTcast จะเอา Ig Nobel มาเล่า แล้วเราเล่าจริงจังกว่าที่อื่นเยอะมาก เพราะเราไม่ได้มาบอกว่ารางวัลสาขาชีวะ มอบให้กับอะไร แล้วประโยคเดียวจบนะ เราจะแบบไปอ่านเปเปอร์ของเขามา ไปฟังสัมภาษณ์ ขุดคุ้ยเรื่องราวอะไรต่างๆ แล้วมาพรีเซนต์แบบลึกๆ เลย
ถามว่า อันไหนเด็ดสุดใช่ไหม คือเวลาพอถามขึ้นมาอย่างนี้ ผมจะนึกถึงอันนี้ขึ้นมาอันแรกตลอดเลย แต่ไม่รู้ว่าเด็ดสุดหรือเปล่านะ แต่เป็นอันที่อยู่ในสมองผมอย่างแรก เป็นการค้นพบวิธีการรักษาอาการสะอึก โดยการเอานิ้วโป้งจิ้มเข้าไปในรูตูด ซึ่งทุกวันนี้ผมยังไม่เคยลองเลยนะ อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยได้สะอึกด้วย
หรือถ้าสะอึกก็ คิดว่าไม่ลองอยู่ดี (หัวเราะ) แต่ทำให้เราสงสัยว่า เอ้ยแล้วรูตูดไปเกี่ยวอะไรกับกระบังลม ปรากฏว่ามันมีเส้นประสาทบางเส้นที่เชื่อมโยงกันอยู่ พอกระตุ้นปลายฝั่งนึงแล้วมันไปโผล่เอฟเฟกต์ปลายส่วนที่เหลือที่เชื่อมต่อกับเส้นประสาทเส้นนี้ได้ แต่อันนี้ หลักๆ คือฮานั่นแหละ
แล้วมีภาพยนตร์หรือหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจไหม
ถ้าแรงบันดาลใจก็น่าจะเป็นสมัยวัยเด็กที่ไม่ได้เป็นแบบวิชาการอะไร ก็จะมีเรื่อง Back to the future ผมมี Doc Brown เป็นหนึ่งในไอดอล ด้วยความที่เป็นคาแรคเตอร์บ้าๆ บอๆ แต่ว่าประดิษฐ์ time-machine ได้ แล้วหนังเรื่อง Back to the future สนุกมากจริงๆ นะ เป็นเรื่องแรกที่ทำให้ชอบแนว sci-fi
พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็จะชอบ Jurassic Park มาก รู้สึกว่า เฮ้ย พล็อตเรื่องการโคลนนิ่ง DNA ไดโนเสาร์ เอามาทำเป็นหนังตื่นเต้นได้ขนาดนี้เลยเหรอ แล้วความสมจริงของไดโนเสาร์ที่ชวนเราจินตนาการต่อว่า โห มีโลกยุคนึงที่มีตัวพวกนี้อยู่จริงๆ นะ มันก็ว้าวมาก แล้วก็ชอบที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับป๊อปคัลเจอร์ด้วย
อย่างงี้ มีไดโนเสาร์ที่ชอบเป็นพิเศษหรือเปล่า
ไม่เคยนึกว่ามีตัวไหนที่ชอบเป็นพิเศษ เอาจากฟิกเกอร์ใกล้ๆ นี้ละกัน แก๊งที่หน้าตาเหมือนปลาวาฬดุๆ มีเขี้ยวเยอะๆ จริงๆ มีหลายตัว แต่ตัวนี้มีชื่อว่า Basilosaurus เป็นเหมือนกับบรรพบุรุษของวาฬยุคแรกๆ จะยังมีครีบที่เหมือนกับเพิ่งหดมาจากขาหลังได้ไม่นาน มีความเป็นครีบข้างหลังอยู่ แล้วก็ฟันก็ยังเป็นเขี้ยว หน้าตาค่อนข้างหน้ากลัวอยู่
แต่ว่าอีกตัวที่โผล่มาในหนังเรื่อง Jurassic World ที่ชื่อ Mosasaurus ที่เป็นหุ่นคล้ายๆ กัน แต่อันนั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับปลาวาฬเลย ซึ่งผมชอบอะไรแบบนี้มากว่า อ่าว ไม่เกี่ยวกัน แล้วทำไมหน้าตาเหมือนกันล่ะ? ก็เพราะเป็นผู้ล่าในท้องทะเลที่ตัวใหญ่เหมือนกัน แล้วก็ถูกเชฟโดยกระแสน้ำและวิวัฒนาการให้ออกมารูปทรงคล้ายๆ กัน คือหน้าแหลม ตูดแหลม มือเปลี่ยนเป็นครีบ
คือ Basilosaurus มาจากบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อก่อนนี่อาจจะขนรุงรังทั้งตัวเลย ก่อนที่จะไปลงน้ำ แต่พอลงน้ำเสร็จแล้ว ตัวเริ่มนู๊ดขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าขนอาจจะไม่ช่วยในการว่ายน้ำ คอนเซปต์เดียวกับพะยูนทุกวันนี้ แต่ Mosasaurus มาจากบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน พูดง่ายๆ คือ เราเห็นว่า จากต้นกำเนิดที่ต่างกันมากๆ โดนธรรมชาติเชฟออกมาให้ออกมาคล้ายคลึงกัน
มีตัวอย่างประเภทนี้เยอะโดยทั่วไปนะ ซึ่งผมชอบที่ว่า ถ้ามองดูเฉยๆ เราไม่รู้เรื่องราวของมันหรอก แต่พอเราไปอ่าน เราไปเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหลัง มันจะ โห อย่างนี้นี่เอง เช่น ต้น cactus ที่ขายๆ กันอยู่ ฮิตๆ กันอยู่ จะมีที่เป็นลูกกลมๆ เราไปดูแล้วก็ อืม พันธุ์นี้ก็หน้าตาเหมือนพันธุ์นี้เลยนะ แต่ว่านั่นน่ะ เป็นวิวัฒนาการที่เรียก convergence หรือว่าแบบเริ่มต้นจากคนละที่เลย แล้วสุดท้ายพออยู่ในทะเลทรายไปนานๆ สมมติอันนึงอยู่ในทะเลทรายที่ทวีปแอฟริกา อีกอันอยู่ในทะเลทรายทวีปอเมริกา ไปนานๆ เป็นล้านๆ ปี มันออกมาหน้าตาเหมือนกัน คือกลมๆ เหมือนกัน แล้วไม่มีใบเหมือนกัน แต่อันนึงเป็น cactus อีกอันนึงเป็น euphorbia ไม่เคยเจอกันเลย แต่ออกมาหน้าตาเหมือนกันเป๊ะ คนหยิบมาดูนึกว่าเป็นญาติกัน
มาถึงเรื่องการเรียน เห็นว่าเคยแข่งวิชาการโอลิมปิก เป็นนักเรียนทุน แปลว่าสนใจวิทยาศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไรหรือเปล่า
ก็เรียกได้ว่า มีฉายแววว่าจะสนใจสายวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ประถม เรียนวิชาอะไรที่เกี่ยวกับความรู้รอบตัว ธรรมชาติ ก็จะชอบ แล้วเวลามีแข่งตอบคำถาม ส่งตัวแทนของโรงเรียนไป ก็จะเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่ง ก็ค่อยๆ ฉายแววมาเรื่อยๆ แล้ว ม.ต้น ม.ปลาย ก็ยังชอบอยู่ แต่ว่าจะเริ่มรู้แล้วว่าเราไม่เก่งสายคำนวณ เพราะฉะนั้น ฟิสิกส์ เคมี เลขก็จะทำได้ดีน้อยกว่าสายชีวะ แต่สายชีวะนี่เราอินอยู่แล้ว เราชอบพวกชีวิตสัตว์ต่างๆ พวกกลไกการทำงานของร่างกาย ชอบพวกโลกธรรมชาติ ก็จะอินอยู่แล้ว แล้วเรียนก็ซีเรียสขึ้นเรื่อยๆ พอขึ้น ม.ปลายก็เข้าโครงการ พสวท. พอ ม.5 ก็เข้าโครงการโอลิมปิก ทั้งหมดนี้ก็ช่วยส่งเสริมให้ได้ไปเรียนต่อเมืองนอก
ถามว่า ผมเรียนเก่งไหม คือเก่งเฉพาะเรื่องที่ตัวเองอินเนี่ยแหละ ตอนนั้น วิชาอื่นก็ได้เกรดสองเยอะแยะไป เรียกว่าเอาตัวรอดได้ในระดับฉิวเฉียดมาโดยตลอด จริงๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้ ผมก็เรียกว่าไม่ได้เป็นนักวิชาการที่เก่งอะไรนะ ถ้าสายสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผมทำด้วยใจรักมาเป็นเวลานาน มันก็เลยดูเหมือนมีผลงานเยอะ แต่ในแง่เส้นทางวิชาการ เพื่อนผมทุกวันนี้เขาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์กันหมดแล้ว งานวิจัยเป็นหลายสิบเรื่อง เป็นอาจารย์มหาลัยเป็นเรื่องเป็นราวซีเรียสจริงจัง ของผมเหมือนกับแบบว่า มาเอาดีทางด้านสื่อสารกับคนข้างนอกวงการวิชาการมากกว่า บางทีเวลาคนมาชมเราว่าเก่ง เราก็จะเราไม่ได้เก่ง เก่งแค่บางเรื่อง
ที่บอกว่าได้ไปเรียนต่างประเทศ เห็นความแตกต่างอะไรในการเรียนวิทย์ที่ต่างประเทศกับไทยไหม
อันนี้ก็จะโยงไปกับที่พูดตั้งแต่ต้นเลยว่า วัฒนธรรมเขามีวิทยาศาสตร์มาปนอยู่ในร้านหนังสือ ปนอยู่ในรายการโทรทัศน์ ปนอยู่ในวัฒนธรรมป็อบ ปนอยู่ในวงการเซเลบ จะมีเซเลบสายวิทย์ด้วย ไม่ได้มีแต่ดาราหรือนักการเมืองอย่างเดียว เพราะงั้นตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ซึบซับมา
แต่ว่าแม้กระทั่งวัฒนธรรมการเรียนในห้องเรียน เขาก็จะเน้นความเป็น ใช้คำว่าอะไร วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือว่าวิทยาศาสตร์ที่เป็นการตั้งคำถามลึกๆ เกี่ยวกับกลไกของธรรมชาติ มากกว่าการที่จะมองวิทยาศาสตร์ในแง่ของวิชาชีพ การรักษาคน การประดิษฐ์ หรือว่าเป็นเทคโนโลยีอย่างเดียว อันนี้คือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งคนไทยจะเห็นคุณค่าของพวกนี้ได้ง่ายกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์
ส่วนหนึ่งคิดว่า เพราะเราไม่ได้ถูกทำให้สนใจว่าจะรู้เรื่องพวกนี้ไปทำไม ในขณะที่ของเมืองนอกเขาสืบทอดเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่สมัยกรีก สมัยโรมันแล้วว่าเราต้องตั้งคำถามสิ ชีวิตคืออะไร จักรวาลคืออะไร ยุคเรเนซองส์เรื่อยมา พยายามจะค้นหาว่าบนสรวงสวรรค์มีอะไรอยู่ ซึ่งสรวงวสวรรค์ในที่นี่ก็คืออวกาศนั่นเอง ก็เลยรู้สึกว่า ที่ต่างประเทศเขาอินกับคำถามลึกๆ เชิงอภิปรัชญามากกว่าบรรยากาศของบ้านเรา
แล้วคิดว่า การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ติดบั๊คตรงไหน ถึงทำให้คนไม่สนใจวิทยาศาสตร์ในเชิงนั้น
มิติในห้องเรียน การเรียนในห้องเรียนมันแห้งไปนั่นแหละ เป็นการเอามาแต่เนื้อหาล้วนๆ เกินไป แต่ผมก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เป็นยังไงบ้างนะ คงจะแล้วแต่ที่ แล้วแต่ครูสอน คงมีความแตกต่างหลากหลายไปหมด แต่ถ้าเป็นผมก็จะรู้สึกว่า หนึ่งคือ เรื่องบางเรื่องมันสนุกนะ เราสอนให้เด็กได้สัมผัสความว้าวของเรื่องนี้สิ สื่อให้ได้ว่าเรื่องนี้น่าตื่นเต้นอย่างไร แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ชวนคิดลึกคิดต่อยังไง อารมณ์ ฟีลลิ่งที่มาพร้อมกับการถ่ายทอด มันไม่ใช่แค่บอกว่า เนื้อหานี้ต้องจำให้ได้นะ แล้วก็ไปสอบอย่างนี้ๆ นะ เพื่อจะได้คะแนนสอบดีๆ ซึ่งผมมองว่า แบบนั้นมันมาแค่ดีเทล มาแค่รายละเอียด แต่ไม่ได้เอาสปิริตของวิทยาศาสตร์มาด้วย
กับอีกอย่างนึงก็คือว่า มันมีมิตินอกห้องเรียนที่เชื่อมโยงกับความเป็นไปในโลกปัจจุบันที่เยอะขึ้น เช่น มีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาทุกวัน แล้วเดี๋ยวนี้ก็มีเว็บข่าวสารวิทยาศาสตร์ที่อัพเดทกันทุกวัน เรื่องพวกนี้ควรจะไปเชื่อมต่อกับสิ่งที่เด็กเรียนในห้องเรียนด้วย ซึ่งจริงๆ ผมว่า ทุกวันนี้อาจจะง่ายขึ้นนะ
ที่เล่าว่า เคยเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นมีหลักในการสอนยังไงบ้าง
จริงๆ หลักการก็ไม่ได้มีอะไรมาก คือทุ่มเทเต็มที่ ยกตัวอย่าง วันนี้เราคุยเรื่องคุณ Oliver Sacks เยอะ เขาเคยเขียนหนังสือเล่มนึงชื่อ Awakenings เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยที่นั่งตัวแข็ง แล้วมองเพดานอย่างนี้ ขยับไม่ได้ เป็นมา 20-30 ปี เสร็จแล้วได้ยาวิเศษมาตัวนึงเข้าไป แล้วภายในแค่ไม่กี่วันลุกขึ้นมาเดินเหิน พอเดินเหินเสร็จแล้วเหมือนกับว่า ชีวิตที่ไม่ได้ใช้มาหลาย 10 ปี มันผลิบานออกมาในช่วงนี้ ต่างคนต่างรู้สึกว่า โอ้ย ชีวิตนี่มันดีจริงๆ ลุกขึ้นเต้นรำ ร้องเพลง ปรบมือ แบบหัวเราะเฮฮากัน
แล้วมีคนที่เป็นโรคนี้อยู่อีกหลายสิบคน อยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน เกิดเป็น community ที่สังสรรค์ ครื้นเครง มีจัดงานเลี้ยง จัดงานเต้นรำ มีพบรักกัน แล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ซึ้งใจมากในแง่ของสปิริตความเป็นมนุษย์ กับเรื่องของวิทยาศาสตร์ทางสมอง แล้วก็มีหนังที่ทำจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งหนังทำดีมากเลย ซึ้งมากเลย แล้วพอผมสอน ก็อยากจะจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน ผมก็พยายามจะหาหนังเรื่องนี้มาฉายให้เด็กดู แล้วก็ปรากฏว่าในยุคนั้นไม่ได้ง่ายเลยนะ ต้องไปหาแผ่น ไม่มีสตรีมมิ่งแบบทุกวันนี้ สุดท้ายใช้เวลานานมากกว่าจะหาแผ่นมาได้ เป็นแผ่นที่ไม่มีซับไตเติลไทยเลย ผมนั่งแปลตั้งแต่ประโยคแรกจนประโยคสุดท้าย ทำซับไตเติลให้เด็ก แล้วเอาไปฉายให้เด็กดู
ผมรู้สึกว่า ผมมีสปิริตของความทุ่มเทของความเป็นอาจารย์ ที่อยากจะสื่อเรื่องนี้ ที่เราอินให้เด็กได้แบบ อื้อหือ มันอะเมซิ่งจริงด้วย ตามที่ท่านอาจารย์ว่า ให้เด็กได้มีโอกาสเปิดโลก แชร์ร่วมกัน ก็จะมีอะไรอย่างนี้เยอะ ซึ่งทุกวันนี้แค่แบบไปหาหนังมาฉายให้เด็กดู ทุกวันนี้ทำง่ายมาเลย แต่ตัวสปิริตที่ว่า เราไม่ได้มาทำหน้าที่แค่ให้จบไปวันๆ ถ้าเขาให้ทำ 100% เราทำ 180% แล้วเราเหนื่อย แต่เราฟินกับการทำแบบนั้น ก็อันนี้ก็อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เอามาบอกชาวบ้านได้
เห็นเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตอนที่สอน ต้องให้เด็กได้เห็นจิงโจ้คลอดลูก จริงไหม
จริง ซึ่งทุกวันนี้ง่ายมากเลยนะ แค่เสิร์ชไปว่า Kangaroo giving birth ในยูทูปก็ขึ้นมาแล้วไง แต่ตอนยุคนั้น ผมต้องไปรื้อกระบะ วีซีดีแผ่นละ 30 บาท แล้วเราไม่รู้ด้วยนะว่าแผ่นไหนจะมีหรือไม่มี แต่จะรวมสารคดีพากย์ไทยเอาไว้ ผมก็ไปซื้อมาเป็น 20-30 แผ่น แล้วก็มานั่งไล่ดูว่า ในเรื่องไหนที่น่าจะมีช็อตนี้ แล้วถึงใช้โปรแกรมตัดต่อ ซึ่งในยุคนนั้นยังไม่มีใครใช้เหมือนกัน ตัดต่อออกมาแล้วก็มาฉายให้เด็กดู นี่คือความทุ่มเทไง ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องง่ายไปหมดแล้ว ซึ่งถือว่าดี
ที่ต้องให้เห็นภาพนี้เพราะมันเป็นภาพที่มหัศจรรย์ภาพนึง เราจะคุ้นเคยกับการที่เด็กโตในท้องพอตัวใหญ่ระดับนึงถึงค่อยคลอดออกมา แต่ลูกจิงโจ้มันออกมาเป็นเม็ดถั่วแดง แล้วเป็นเม็ดถั่วแดงที่ผมว่านิ้วมันยังงอกไม่เสร็จเลยมั้ง ลูกกะตายังไม่เปิดเลย แต่มันออกมาจากรูคลอดของแม่ แล้วสามารถไต่หน้าผาที่เป็นตรงพุงแม่ กำขนแม่แต่ละหย่อม ไต้ขึ้นไปเพื่อไปโตต่อให้กระเป๋าหน้าท้องได้ แล้วเข้าไปเสร็จก็ต้องไปหาหัวนมในความมืด
นี่มันมหัศจรรย์ว่า มีชีวิตที่แตกต่างจากเราอย่างสุดขั้วอย่างนี้เยอะมากเลยนะ แล้วยังมีคำถามอีกว่า ลูกจิงโจ้รู้ได้ไงว่าไต่ออกมาแล้วต้องไปเข้าทางไหน เกิดไต่ออกมาไปเข้ารูตูดอย่างนี้ จบเลยนะ เออ แล้วก็คำถามอีกว่า นี่เป็นวิธีการทำอะไรที่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า ซึ่งสำหรับจิงโจ้นี่ถือว่ามีประสิทธิภาพแล้ว เพราะว่า เดี๋ยวถ้าพูดแล้วจะยาว เอาเป็นว่า มีคำตอบทางชีววิทยาอยู่แล้วกัน
วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ แต่ในไทยจะมีความยกย่องเด็กสายวิทย์มากกว่าสายอื่นอยู่ประมาณนึง ประเด็นนี้คิดเห็นอย่างไรบ้าง
คิดว่าค่านิยมที่เป็นสูตรสำเร็จของสังคมควรจะถูกสลายไป แล้วกลายเป็นความเป็นไปได้ต่างๆ ที่กว้างกว่านี้ เราไม่ควรจะมีสูตรสำเร็จแค่บอกว่า เด็กคนนี้ เรียนเก่ง ต้องไปเรียนสายวิทย์ แล้วพอเรียนสายวิทย์เสร็จก็ต้องไปเป็นหมอ ไปเป็นวิศวกร แล้วก็ต้องไปสอบเข้ามหาลัยดีๆ เหล่านี้ เพื่อที่จะได้จบมาแล้วก็ จะได้มีงานทำที่มีฐานะมั่นคง จบมาแล้ว พ่อแม่สบายใจ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้มีอะไรผิดนะที่ผมพูดมา เพียงแต่ว่า ชีวิตคนควรจะมีชอยส์ให้เลือกได้หลากหลายมากมายกว่านั้น อันนี้ที่พูดมาอาจจะเป็นเส้นทางหนึ่ง แต่เส้นทางอื่นๆ ก็ควรจะมีให้เลือกด้วยอีกเยอะแยะ
มันไม่ควรที่จะปิดกั้น สมมติมีเด็กคนนึงบอกว่า โตขึ้นผมอยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือว่า มีเด็กเก่งมากๆ แล้วอยากไปเรียนนิติศาสตร์ อยากไปเรียนดนตรี แต่ถูกพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนอื่นไม่ได้มองว่าแบบ เฮ้ย จะดีเหรอ ไม่ แต่ควรจะเป็นอะไรที่ทุกอย่างเป็นไปได้หมด
มีอะไรที่อยากฝากไว้อีกไหม
ขอฝากเรื่องนี้ละกัน เดี๋ยวนี้คนชอบเสพอะไรสั้นๆ มาเป็นไซส์เหมือนลูกอมเม็ดนึง พอเคี้ยวๆ เสร็จก็เป็นเศษลูกอมต่อ แล้วอัดๆ เข้าไป คือนึกภาพเหมือนเวลาเราไถฟีดเฟซบุ๊กเนี่ย เดี๋ยววินาทีนึงเราก็อินเรื่องการเมือง พอวินาทีถัดมาเราก็อินเรื่องแมวน่ารัก วินาทีถัดมา เอ้ย ข่าววิจัย อันนี้ผมว่ามันเหมือนเอาที่ตีไข่ไปกวนสมองเยอะเหมือนกัน แล้วเราก็จะแบบ เหมือนรับรู้ได้เยอะ แต่ว่าไม่ได้ลงลึกกับอะไรสักเรื่องนึง หรือว่ามันปนกันมั่วไปหมด
เลยคิดว่า อยากให้สื่ออย่างบทความยาวๆ ที่อ่านทีละ 5-6 หน้า คอลัมน์ที่ผมเขียน ฝากคอลัมน์เมฆนมนะฮะ (หัวเราะ) คือไม่ใช่เป็นโพสต์ 3 ย่อหน้าจบ แต่เป็นบทความเป็นชิ้นเป็นอัน มี course meal หรือเป็นพอดแคสต์ที่ยาวสัก 2-3 ชั่วโมง แต่เราได้อินกับเรื่องนี้ มีสมาธิอยู่กับสิ่งนี้เต็มที่เป็นช่วงเวลายาวๆ ช่วงนึง คือมีพื้นที่ให้สื่อ long form ทั้งหลาย อยากให้อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำออกมาแล้วยังมีคนดู คนเสพ คนฟังอะไรเหล่านี้อยู่ ไม่ได้จะแบบว่า ถ้าอะไรเกิน 3 นาทีแล้ว ไม่เอาแล้ว ถ้าฝากก็ขอฝากเมสเสจนี้ละกัน