สีรุ้งสดใสที่แต่งแต้มอยู่บนผลิตภัณฑ์ สถานที่ต่างๆ รวมทั้งปรากฏอยู่ในแคมเปญโฆษณาจากหลากหลายแบรนด์บ่งบอกว่าถึงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองช่วง ‘pride month’ แล้ว
แต่ถ้าเดือนมิถุนายนผ่านพ้นไป สีสันเหล่านี้ได้ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับการ call out ของบางแบรนด์ ราวกับเป็นการตลาดเพียงชั่วคราว หรือที่เราเรียกว่า ‘Rainbow Washing’
คำว่า ‘Rainbow Washing’ หมายถึง การใช้สีรุ้งตามโฆษณา สินค้า หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อบ่งบอกและสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคว่า ‘เราสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศนะ’ แต่ความพยายามหรือผลลัพธ์ในทางปฏิบัติที่ออกมากลับมีเพียงน้อยนิด และเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงในสังคม
สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านความไม่เท่าเทียมที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างศึกษาของ the Geena Davis Institute เมื่อปี ค.ศ.2020 ที่พบว่า นักแสดงโฆษณาในเทศกาล the Cannes Lions มีเพียง 1.8% เท่านั้นที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงไปจนถึงโศกนาฏกรรมที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญจากการเหยียดเพศของคนบางกลุ่ม
“อาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นกับประชากร LGBTQ+ เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าทำไม Pride Month ไม่ควรเป็นเพียงเวลาทองของนักการตลาด แต่ควรเป็นปรัชญาที่ฝังอยู่ในหัวใจขององค์กรที่พัฒนาและเติบโตในทุกๆ วัน”
เอ็ด วัตสัน (Ed Watson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและผู้ก่อตั้ง WeArePrew ให้สัมภาษณ์กับ Forbes พร้อมกับเน้นย้ำว่าหัวใจสำคัญมากกว่าการปักธงสีรุ้งเพียงชั่วคราว คือการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ในระยะยาวมากกว่า
เช่นเดียวกับแคทเธอรีน เซนเดอร์ (Katherine Sender) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ผู้เขียน ‘Business not Politics: The Making of the Gay Market’ ที่กล่าวว่า
“อย่างน้อยแบรนด์ต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีนโยบายในองค์กรที่มั่นใจได้ว่า ฝ่ายบริหารจะสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยต่อพนักงาน เพราะการใช้อิทธิพลขององค์กรสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ สามารถช่วยเหลือได้อย่างแท้จริง”
ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ออกมาขยับเพดานพาสายรุ้งทอดยาวไปไกลกว่าช่วงเดือนมิถุนายน และต่อไปนี้คือตัวอย่างของบริษัทดังกล่าว
- IBM : มีสวัสดิการที่ครอบคลุมคู่รัก LGBTQ+ ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน (Domestic Partnership) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 เป็นต้นมา และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ออกมาประณามกฎหมายในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่ไม่อนุญาตให้ Transgender ใช้ห้องน้ำสาธารณะตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเมื่อปี ค.ศ.2016 และมีอีกหลายบริษัทที่ออกมาต่อต้านกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวอันทรงพลังเพราะทำให้กฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 2019
- The Body Shop : เคยมีโปรเจ็กต์ชวนผู้บริโภคมาลงนามในคำร้องสนับสนุนพระราชบัญญัติความเท่าเทียม และประกาศว่าจะบริจาคเงิน 1 ดอลลาร์ต่อลายเซ็นให้กับ the Equality Federation องค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมของ LGBTQ+
- Bombas : แบรนด์ถุงเท้าและชุดชั้นในที่นอกจากจะมีคอลเล็กชั่น Pride จัดจำหน่ายตลอดทั้งปีแล้ว ยังหักรายได้ไปบริจาคสิ่งของให้กับคนไร้บ้านและบริจาคถุงเท้ามากกว่า 300,000 คู่ผ่าน the Ally Coalition (องค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมของ LGBTQ+)
- AstraZeneca : บริษัทด้านการแพทย์ที่มีแคมเปญ ‘This is Me’ เพื่อสนับสนุนให้พนักงาน LGBTQ+ มีพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางภายในและภายนอกองค์กร รวมทั้งเข้าร่วมกับ United Nations Free and Equal Standards for Business เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+
- แสนสิริ : บริษัทอสังหาฯ ที่ร่วมมือกับสถาบันการเงินสนับสนุนและหาแนวทางเพื่อให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านได้ แม้จะมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรส นอกจากนี้แสนสิริเพิ่งจะประกาศโครงการที่จับมือกับดีแทค ยูนิลีเวอร์ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) ทำโปรเจคต์ระยะยาว 3 ปีเพื่อผลักดันความเท่าเทียมตั้งแต่ระดับองค์กรไปจนถึงระดับสังคมอีกด้วย
อย่างไรก็ตามตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัทที่ออกมาผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในระยะยาว และเชื่อว่ายังมีอีกหลายแบรนด์ที่พยายามขยับเพดานให้สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป
แต่อย่างน้อยเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นความหวังให้กับเราว่าสักวันหนึ่ง สายรุ้งอันแสนสดใสอาจทอดยาวไปไกลจนถึงจุดที่ไม่มีใครต้องเจ็บปวดหรือออกมาเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ เพราะนั่นหมายความว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเพศจะโบกมือลาสังคมไปได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก
Illustration by Krittaporn Tochan