ในเส้นทางการเติบโตของพืช ปกติแล้วจะต้องพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำให้กลายเป็นสารอาหาร หรือที่เรียกกันว่า ‘กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง’ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เพิ่งคิดค้นวิธีปลูกพืชแบบที่ไม่ต้องพึ่งแสงแดดได้แล้ว
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์และมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ คือกลุ่มคนที่ศึกษาและคิดค้นวิธีการสังเคราะห์แสงจำลองนี้ โดยงานศึกษาของพวกเขาได้รับการตีพิมพ์ผ่านวารสาร Nature Food เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา
สำหรับกระบวนการใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งคิดค้นขึ้น พวกเขาใช้วิธีเปลี่ยนคาร์บอนไดออกกไซด์ ไฟฟ้า และน้ำให้กลายเป็น ‘แอซิเตท’ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำส้มสายชู จากนั้นพืชจะบริโภคแอซิเตท และจะสามารถเติบโตได้แม้ในที่มืดสนิท
โรเบิร์ด จิงเกอร์สัน (Robert Jinkerson) หนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยเผยว่า “พวกเราพยายามหาวิธีใหม่ในการผลิตอาหารที่สามารถฉีกข้อจำกัดที่ต้องพึ่งพาการสังเคราะห์ด้วยแสง” ในขณะที่ ดร.อลิซาเบธ ฮาน (Elizabeth Hann) ผู้ร่วมศึกษาอีกหนึ่งท่านเผยว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นสารอาหาร
นักวิทยาศาสตร์เผยตรงกันว่า การทำให้พืชเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งแสงอาทิตย์ อาจปูทางสู่วิธีการผลิตอาหารในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับความมั่นคงทางอาหาร
นอกจากนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เทคโนโลยีปลูกพืช (ที่เป็นอาหารได้) โดยไม่ต้องพึ่งพาการสังเคราะห์ด้วยแสงทางชีวภาพ อาจนำไปสู่วิธีใหม่ในการปลูกอาาร ไม่ใช่แค่บนโลก แต่อาจจะนอกโลกด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
https://news.ucr.edu/articles/2022/06/23/artificial-photosynthesis-can-produce-food-without-sunshine
https://futurism.com/the-byte/plants-darkness-artificial-photosynthesis
#Brief #TheMATTER