“จะคิดอะไรมาก ต้นไม้มันก็เหมือนๆ กันป่ะ?”
ดูจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายคนที่อาจไม่คุ้นชินกับประเด็นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือแม้แต่ปลูกต้นไม้สาธารณะ เป็นข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจในวงแคบๆ มาก่อน จนเมื่อไม่นานนี้การปลูกต้นไม้ในเมืองเริ่มกลายเป็นกระแส และมีผู้ใส่ใจด้านนี้ออกมาตั้งคำถามกับการเลือกชนิดกล้าไม้ที่นำมาปลูกในพื้นที่สีเขียวยุคใหม่
ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจพบเห็นต้นไม้บางชนิดได้บ่อยๆ ตามโครงการขนาดใหญ่จนเกิดเป็นความเคยชิน แต่เป็นไปได้ว่ามันอาจเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือจริงๆ แล้วพืชเหล่านั้นไม่ได้เหมาะต่อการปลูกเป็นจำนวนมากนอกเคหะสถานส่วนบุคคล การออกแบบภูมินิเวศเมืองจึงเป็นเรื่องซับซ้อนและสมควรที่จะซับซ้อน ในเมื่อพวกเราทุกคน สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมเมืองทั้งหมดจะได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้นไม้ที่ถูกเลือกมาปลูกประดับตกแต่งภูมิสถาปัตย์โดยทั่วไป มักเป็นต้นไม้ที่หาได้ง่ายในตลาด และมีหน้าตารูปทรงที่ถูกใจผู้เลือก แต่ถ้าศึกษาให้มากขึ้นจะพบว่า ‘ปลูกง่าย ปลูกได้ ปลูกเยอะ’ อาจไม่เท่ากับว่าสิ่งที่ปลูกเหมาะสมต่อการดูแลระยะยาวเสมอไป ไม่ได้แปลว่าปลูกแล้วดีกับพื้นที่ตรงที่ปลูก ไม่ได้แปลว่าดีกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ใช้สอยพื้นที่นั้น รวมทั้งไม่ได้แปลว่าปลูกแล้วจะได้คุณประโยชน์อย่างที่ผู้ปลูกต้องการ
ภูมินิเวศวิทยา หรือ landscape ecology เป็นวิทยาศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจระบบนิเวศของภูมิทัศน์ (ระบบนิเวศ ไม่มี น์, ถ้า ‘นิเวศน์’ จะแปลว่า บ้านหรือวัง) ทั้งในเชิงโครงสร้าง บทบาท และพลวัตรการเปลี่ยนแปลงที่มาจากปัจจัยต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
พื้นที่ของกรุงเทพฯ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอย่างที่เรียกว่า ‘delta’ ซึ่งเดิมมีภูมิประเทศหลากหลายรูปแบบ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ราบ ป่าดิบ ไปจนถึงป่าชายเลน แต่ละหน่วยก็มีพืชพรรณดั้งเดิมอยู่ก่อนที่จะมีอารยธรรมของมนุษย์เข้ามา (ถ้าหากใครตอบว่าพืชดั้งเดิมของพื้นที่ภาคกลางประเทศไทยคือ ‘ข้าว’ อันนี้ต้องถูกตีมือ) ที่พูดมานี้ ไม่ใช่ว่าต้องการจะบอกให้กรุงเทพฯ กลับไปเป็นที่ราบลุ่มดังเดิม แต่การทำความเข้าใจว่าภูมิประเทศ (topography) ของเมืองที่เราอยู่อาศัยนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นความรู้ภูมินิเวศวิทยาพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่สามารถต่อยอดไปเป็นส่วนประกอบของการจัดการน้ำท่วมได้อีกด้วย เพียงแต่ในบทความนี้จะขอจำกัดเป็นเรื่องของต้นไม้ก่อน

พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด นครสวรรค์ โดย สิริพรรณี สุปรัชญา

ป่าชายเลนปากน้ำประแส ระยอง โดย สิริพรรณี สุปรัชญา
แต่ละสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีบทบาทหน้าที่ทางนิเวศวิทยาหรือชีพพิสัย (niche) ที่แตกต่างกัน เราจึงสามารถใช้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้ตัวเลือกของเราทำประโยชน์
การใช้ฐานข้อมูลความรู้เลือกไตร่ตรอง จะช่วยทำให้เข้าใจว่า พืชชนิดใดมีชีพพิสัยที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เราสร้างขึ้น อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เบียดเบียนกันมากเกินไป และให้คุณสมบัติอย่างที่เราต้องการ เช่น ให้ร่มเงา ให้ดอกหอม มีดอกสวย ดอกจะบานในช่วงเวลาใดของวัน เป็นไม้เลื้อยประดับตกแต่ง อยู่กับเราได้นาน (หรือไม่นาน ถ้าเราต้องการไม้ล้มลุก)
ต้นไหนชอบแดดจัด แดดเช้า แดดบ่าย หญ้าในสนามชอบน้ำน้อยน้ำมากอย่างไร พืชที่มีระบบรากพูพอนไม่ควรปลูกใกล้บ้านและสิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้นสูงที่ระบบรากไม่แข็งแรงหรือระบบรากตื้น มีเนื้อไม้เปราะ แมลงขึ้นง่าย ก็ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน เพราะสามารถถูกพายุพัดหักล้มเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ง่าย แถมยังทำให้แมลงและปลวกขึ้นบ้านอีกด้วย ส่วนในพื้นที่ที่มีเด็กเล็ก สัตว์เลี้ยง ผู้สูงอายุ คนเป็นภูมิแพ้ ก็ควรหลีกเลี่ยงพืชที่อาจมีเกสร ผล ใบ ฯลฯ ที่มีพิษหรือสารก่ออาการแพ้
พืชที่ลำต้นแข็งแรง ชอบน้ำเยอะ เราสามารถปลูกไว้รับน้ำฝนจากชายคา และในทางตรงกันข้าม พืชที่มีลำต้นอ่อน ไม่ชอบน้ำ ถ้าเราปลูกไว้ที่เดียวกันก็เน่าตายได้ง่าย
ถ้าเราสามารถจัดพืชกับพื้นที่ให้เหมาะสมกันได้ ก็จะไม่ต้องดูแลมากเกินไป และพืชจะไม่ตายให้ต้องปลูกใหม่บ่อยๆ ซึ่งการที่ต้องปลูกใหม่บ่อยครั้ง บวกกับที่ใช้การดูแลและทรัพยากรมาก ก็เป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

มักกะสัน พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดย สิริพรรณี สุปรัชญา
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ห้ามการปลูกพืชประดับตกแต่งชนิดใดเป็นพิเศษ (แม้ควรมีการห้ามปลูกพืชต่างถิ่นรุกรานหลายชนิดได้แล้ว) เพราะฉะนั้น คำถามว่าอะไรที่ปลูกได้ ปลูกไม่ได้ หรืออะไรห้ามปลูก โดยไม่มีข้อมูลวิเคราะห์ศักยภาพการออกแบบผังของพื้นที่และประโยชน์ใช้สอยประกอบมาให้ จึงออกจะเป็นการถามอย่างหว่านแหไปสักหน่อย ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้อายุรแพทย์วินิจฉัยว่าที่คนไข้ไอเมื่อบ่ายวันนี้แปลว่าติดโควิดหรือเป็นมะเร็งปอด
พูดกันอย่างทื่อๆ เมื่อเราเอาต้นไม้จิ้มดินสำเร็จก็อาจนับเป็นการ ‘ปลูกได้’ แล้ว บางชนิดไม่ต้องใช้ดินเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าต้นไม้นั้นเหมาะสมกับพื้นที่นั้นไหม? เป็นตัวเลือกที่ดีไหม? จะอยู่กับเราได้นานขนาดไหน? ใช้ทรัพยากรได้เหมาะสมกับคุณประโยชน์หรือเปล่า?
ในกรณีเรือนกระจกและพื้นที่ส่วนตัวอื่นๆ อาจสามารถปลูกอะไรได้ตามใจผู้ซื้ออย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากเรามองถึงพื้นที่สาธารณะ โจทย์กว้างๆ ร่วมกันของชนิดพันธุ์ที่เลือกมาปลูก น่าจะเป็นต้นไม้ที่โตง่ายอยู่ง่าย ไม่ต้องดูแลมากเกินไป และไม่สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนให้กับทั้งคนและสิ่งแวดล้อมตรงนั้นในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับ ข้อ 3 ของนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ที่ว่า “ปลูกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศเมือง”
คำว่า ‘เบียดเบียน’ หมายถึงอย่างไรบ้าง? ยกตัวอย่าง ไมยราบ พืชที่มาจากทวีปอเมริกากลาง-ใต้ จัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน หรือ alien species ที่ขึ้นง่าย โตไว แย่งคลุมหน้าดินอย่างรวดเร็ว ทนแล้งได้ดี แย่งไนโตรเจนจากพืชชนิดอื่นที่เป็นอาหารสัตว์ แต่ตัวมันเองใบหุบได้และบางสายพันธุ์มีหนาม สัตว์จึงไม่ค่อยกินเป็นอาหาร ไมยราบถูกจัดเป็นพืชรุกรานและพืชควบคุมพิเศษในหลายประเทศ ดังนั้น เห็นได้ว่าพืชที่เราอาจจะเอ็นจอย เด็กๆ ก็ชอบจิ้มใบมันเพราะสนุกดี สามารถเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่นและทรัพยากรไม่ใช่น้อย อีกตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็ ผักตบชวา และ ปืนนกไส้ นั่นเอง ซึ่งแต่แรกเริ่มก็ถูกนำเข้ามาเพื่อเป็นไม้ประดับสวยงามทั้งสิ้น

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ป่าดิบชื้นที่คาบเกี่ยวสองจังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาสและยะลา โดย สิริพรรณี สุปรัชญา
ถ้าลองใช้รายชื่อต้นไม้ 18 ชนิด ที่สื่อมวลชนร่วมปลูกเป็นจำนวน 1,000 ต้น เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาเป็นกรณีศึกษา
- พะยอม
- มะฮอกกานี
- อินทนิลบก
- อินทนิลน้ำ
- พะยูง
- ประดู่
- มะค่าแต้
- กฤษณา
- แคนา
- เสม็ดแดง
- ตะเคียนทอง
- ยางนา
- เหลืองปรีดียาธร
- แคแสด
- ทองกวาว
- กุ่มบก
- ตีนเป็ดน้ำ
- ทองอุไร
เราจะเห็นพืชต่างถิ่นคือ มะฮอกกานี ซึ่งถิ่นเดิมมาจากอเมริกากลาง-ใต้ เหลืองปรีดียาธรที่มาจากอเมริกาใต้ แคแสดจากแอฟริกา และทองอุไรจากอเมริกา ถึงแม้ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ในปัจจุบันยังไม่มีผลเสียชัดเจนแต่อนาคตนั้นไม่แน่นอน และพื้นที่สวนสาธารณะเป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองในการวางรากฐานแนวคิดอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น
ยางนาและตะเคียนทอง ที่ต้นสูงใหญ่มากและมีทรงพุ่มที่อาจไม่เหมาะต่อการเป็นต้นไม้ในสวนสาธารณะ ยางนามีผลร่วงด้วยเช่นกัน แต่ไม่เป็นปัญหาหนักเท่าผลของต้นตีนเป็ดน้ำ
พะยอม ซึ่งเป็นไม้จากถิ่นป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง สภาพแวดล้อมในเมืองจึงอาจไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
ประดู่ แคนา ทองอุไร เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักล้มง่ายเมื่อเจอลมพายุพัดแรง
มะค่าแต้ ฝักมีหนาม ร่วงเป็นอันตรายได้
ตีนเป็ดน้ำที่ทรงพุ่มอาจจะสวย แต่ยางจากหลายส่วนมีพิษร้ายแรงจนมีชื่อเรียกเล่นในภาษาอังกฤษว่า suicide tree กรณีที่แพ้ยางมากๆ เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจถึงขั้นหยุดหายใจ ผลของต้นตีนเป็ดน้ำมีขนาดใหญ่และหนัก เป็นอันตรายได้ตอนร่วง (ส่วนตัวเคยจอดรถใต้ต้นตีนเป็ดน้ำและรถบุบมาแล้ว) และตอนที่มันหล่นอยู่บนพื้นถนน ก็สามารถทำให้พาหนะขนาดเล็ก เช่น มอเตอร์ไซค์ จักรยาน และเซิร์ฟสเก็ต ที่สัญจรไปมาสะดุดล้มได้
หลุมปลูกต้นไม้ ซึ่งส่วนมากเป็นกล้าของไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ขุดเว้นระยะค่อนข้างถี่ ซึ่งจะเกิดปัญหาในภายหลัง รวมทั้งทำให้ต้นไม้บางชนิด เช่น พะยูง ไม่น่ารอดมากนัก
จากที่เห็นรายชื่อซึ่งมีไม้ยืนต้นสูงเป็นส่วนมาก จุดประสงค์ในการเลือกกล้าไม้เหล่านี้น่าจะเป็นไปเพื่อให้ร่มเงาเป็นหลัก นอกจากอินทนิลน้ำและทองกวาวแล้ว อาจเพิ่มตะแบก เสลา กันเกรา ตานดำ สมอพิเภก อุโลก โมกมัน หรือไม้ป่าดิบกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นพืชดั้งเดิมในท้องถิ่นด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาข้อมูลประกอบว่าจะปลูกตรงไหน พื้นที่เป็นอย่างไร และตรงนั้นจะใช้ประโยชน์อะไรบ้าง อาทิ ปลูกริมน้ำเพื่อให้ร่มเงา ให้ดอกผลแก่นกและสัตว์ ให้ดอกเพื่อความสวยงาม ต้นไม้ดังกล่าวมีใบร่วงมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น การพิจารณาต้นไม้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคในเมืองเช่นนี้ เราอาจใช้แนวคิดของนิเวศบริการ (ecosystem services) เพื่อเลือกชนิดต้นไม้ให้เหมาะสมต่อความต้องการ ดังนี้
- บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (provisioning services); ให้ดอก ผล เนื้อไม้
- บริการด้านการควบคุม (regulating services); ลดความร้อนและมลภาวะ ชะลอน้ำฝน กักเก็บคาร์บอน
- บริการด้านวัฒนธรรม (cultural services); ชนิดไม้มงคล สร้างพื้นที่ทำกิจกรรมชุมชน
- บริการด้านการสนับสนุน (supporting services); เป็นพืชอาหารของหนอนผีเสื้อ เป็นที่ทำรังของนกและสัตว์ป่าในเมือง

ป่าเต็งรังในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อเข้าหน้าแล้ง ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมแต่อย่างใด โดย สิริพรรณี สุปรัชญา
อีกปัญหาชุดใหญ่ของต้นไม้ในเมืองเทพสร้างที่เรื้อรังไม่แพ้กันคือเรื่องของการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ตกแต่งสถานที่ในกรุงเทพฯ มักเป็นไม้ที่ล้อมขุดมาจากที่อื่นจึงมีระบบรากไม่แข็งแรง ประกอบกับชั้นดินของที่ราบลุ่มมีน้อยแต่มีน้ำมาก ทำให้ต้นไม้ใหญ่ที่ล้อมมาเช่นนี้ไม่มั่นคง เกิดปัญหาต้นไม้ล้มได้ง่าย
ต้นไม้ที่ปลูกตามฟุตบาทยังมีปัญหารากดันพื้นแตก รากเน่าจากน้ำท่วมขังและการเว้นพื้นที่หน้าดินน้อยเกินไปจนรากต้นไม้ไม่ได้รับอากาศเพียงพอ รวมไปถึงต้นไม้ริมทางไม่ได้รับการตัดแต่งอย่างถูกวิธีที่จะทำให้ทรงพุ่มสวยและไม่ตาย ไม่กิ่งหักร่วงจนเกิดอุบัติเหตุ
โดยสรุป การปลูกต้นไม้ให้ได้ต่างจากการปลูกต้นไม้ให้ดี และก็เช่นเดียวกันกับศาสตร์อื่นๆ ที่ต้องพึ่งพิงความรู้ความชำนาญของผู้มีความรู้ในแขนงต่างๆ เช่น ภูมิสถาปัตย์ วนศาสตร์ รุกขกร ฯลฯ
ในเมื่อการปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ กลายเป็นกระแสขึ้นมาแล้ว ก็ออกจะน่าเสียดายถ้าไม่มีการให้ความสำคัญต่อการวางมาตรฐานใหม่ในการปลูกต้นไม้ให้กรุงเทพฯ เหมาะจะเป็นกรุงเทพฯ ของ “ทุกชีวิต” อย่างแท้จริง
ขอขอบคุณ
ไบโอเอ็ม และ กลุ่มภูมิสถาปนิก LALI ที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของบทความ