ในฐานะ รมว.สิ่งแวดล้อม ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
วราวุธ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงที่ใครหลายคนคุ้นชื่อกันดี แต่อาจเผลอมองข้าม ทั้งที่เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในไทย
ตลอดวาระเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา วราวุธไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้แต่ครั้งเดียว เป็นรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีข่าวฉาว และไม่ค่อยมีดราม่าใหญ่ๆ ที่ชวนให้นึกถึงเหมือนใครบางคน แต่เราเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยไม่น้อยว่า เขาทำอะไรไปแล้วบ้าง?
เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม) The MATTER จึงขอรวบรวมผลงานบางส่วนของ รมว.สิ่งแวดล้อม มาให้ดูกัน
[ หมายเหตุ: ผลงานเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีผลงานอื่นๆ ที่ไม่ได้รวบรวมมา ]
ปลูกต้นไม้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีคำถามว่าต้นไม้ที่ปลูกเหมาะสมไหม?
“แม้แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยากที่สุด ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การปลูกต้นไม้” คือวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส.
หนึ่งในผลงานเด็ดของ วราวุธ ศิลปอาชา คือโครงการปลูกต้นไม้นี่แหละ! ตั้งแต่โครงการ ‘รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน’ ที่มีเป้าหมายชวนประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (และเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยแหละ) ไปจนถึงโครงการอื่นๆ ยิบย่อยที่รัฐมนตรีมักจะรณรงค์อยู่เสมอ
ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา วราวุธเผยว่าตัวเองปลูกต้นไม้ไปแล้วอย่างน้อย 183 ต้น แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักคือหวังฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ขยายพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงคุณภาพอากาศ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน และสร้างจิตสำนึกหวงแหนธรรมชาติให้แก่สังคม
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นไม้เป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพราะต้นไม้มีคุณสมบัติจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ผ่านการสังเคราะห์แสง แต่การปลูกต้นไม้-ปลูกป่าที่ขาดการวางแผน ก็อาจสร้างมลพิษและทำลายระบบนิเวศได้ ดังนั้น การศึกษาว่าจะ ‘ปลูกต้นอะไร’ และ ‘ปลูกที่ไหน’ จึงสำคัญไม่แพ้กับจำนวนที่เราปลูก
สอดคล้องกับที่นักวิทยาศาสตร์ด้านการฟื้นฟูป่าจากองค์กร Nature Conservacy เคยอธิบายไว้ว่า การปลูกป่าเป็นทางเลือกที่ทรงพลังจริง แต่การจะปลูกต้นไม้ที ก็ต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าโปรเจคการปลูกไม่ถูกวางแผนมาให้ดี ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาวก็ได้ แถมยังทำให้เสียทรัพยากรเปล่าด้วย
ย้อนกลับมาที่โครงการ ‘รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน’ เว็บไซต์ของโครงการเผยว่า มีต้นไม้ที่ลงทะเบียนโครงการไปแล้วกว่า 110 ล้านต้น ด้วยความสงสัยเราจึงลองลงทะเบียนดู ก่อนพบว่า ลงทะเบียนง่ายมาก ขาดระบบตรวจสอบที่เข้มข้นเพียงพอจะวัดผลได้ว่าบุคคลนั้นปลูกจริงหรือไม่
จึงน่าสนใจว่า จำนวนต้นไม้หลักร้อยล้านต้นนั้นเกิดขึ้นจริงทุกต้นหรือไม่ หรือถูกปลูกในแบบฉบับที่เหมาะสมเพียงพอแล้วหรือยัง ไปจนถึงคำถามว่า ที่ปลูกๆ ไปเป็นล้านเนี่ย เหลือกี่ต้น เหลือที่ไหนบ้าง
ชวน ปชช. เลิกใช้ถุงพลาสติก แต่โดนวิจารณ์ว่าเอื้อนายทุน
อีกหนึ่งประเด็นที่ รมว.สิ่งแวดล้อม มุ่งมั่น คือ การลดใช้พลาสติก วราวุธจึงจัดทำโครงการ Everyday Say No To Plastic Bag ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงจับมือกับห้างสรรพสินค้า-ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่กว่า 40 ราย ชวนกันงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วละโฟมบรรจุอาหารทั่วประเทศ
นโยบายนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2563 เอกชนในเครือข่ายเริ่มหยุดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว จนเชื่อว่าใครหลายคนคงเคยประสบกับสถานการณ์ ‘ซื้อของแต่ไม่มีถุงใส่’ กันบ่อยๆ ในช่วงปีนั้น
อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ก็นำมาสู่คำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เคยตั้งคำถามกับวราวุธว่า นโยบายนี้เป็นการเอาเปรียบและผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่ พร้อมกับแสดงความคิดเห็นว่า “การทำแบบนี้เหมือนรัฐบาลไปเอื้อให้นายทุนรายใหญ่” เพราะไม่ต้องแจกถุงฟรี แถมได้เงินค่าถุงอีกต่างหาก
ทั้งนี้ วราวุธเคยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต่อยอดโครงการหยุดแจกถุงก็อบแก็บไปยังตลาดสดและร้านค้ารายย่อยด้วย และหวังจะให้ผ่านกฎหมายแบนพลาสติกหูหิ้วจากประเทศไทยภายในปี 2564 พร้อมกับฝันอยากให้หลอดพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก และกล่องโฟมบรรจุอาหารใช้ครั้งเดียวทิ้งหายไปจากบ้านเราในปี 2564 ด้วยเช่นกัน
อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปี 2566 แล้ว แต่เป้าหมายที่วราวุธตั้งไว้ยังคงไม่สำเร็จ หลายร้านเริ่มกลับมาแจกถุงพลาสติกหูหิ้วดังเดิม ขณะที่หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก รวมถึงกล่องโฟมบรรจุอาหารใช้ครั้งเดียวทิ้งก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ได้ทุกมุมเมือง ส่วนนึงเข้าใจว่าเพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้เราต้องพึ่งพลาสติกเพื่อสุขอนามัย แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น นโยบายลดพลาสติกก็อาจปรับแก้และเดินหน้าเพื่อความต่อเนื่อง รวมทั้งอาจขยายผลไปถึงวิธีการจัดการขยะที่เหมาะสมด้วย
ดัน ‘แก่งกระจาน’ เป็นมรดกโลก แม้โดนติงเรื่องสิทธิมนุษยชน
หนึ่งในผลงานเด่นที่สำเร็จในยุคของวราวุธ คือ การที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564
แต่การเลื่อนสถานะนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพราะปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นนเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่ หรือที่เราอาจคุ้นกันในชื่อของ ‘กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย’
จริงๆ แล้วการผลักดันให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับสถานะมรดกโลกเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวราวุธได้รับตำแหน่ง แต่รัฐมนตรีคนปัจจุบันก็สนับสนุนประเด็นนี้ต่อในสมัยของตัวเอง โดยก่อนที่จะได้สถานะมรดกโลก วราวุธเผยว่า รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชุมชนบ้านบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง
แต่การแก้ปัญหาเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการ ‘ทวงคืนผืนป่า’ ที่วราวุธบอกให้ชาวบ้านบางกลอยออกจากป่าแก่งกระจาน กีดกันการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า ก่อนจะตามมาด้วยกรณีการแจ้งจับ-ดำเนินคดีชาวบ้านหลายสิบคนฐานบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติโดยอุทยาน (กรมในกำกับของกระทรวง ทส.) จนหลายคนต้องลำบาก
นอกจากสหประชาชาติที่คัดค้านแล้ว กลุ่ม ‘ภาคีเซฟบางกลอย’ ก็เคยเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนก่อน แล้วค่อยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะเชื่อว่า ปัญหาด้านสิทธิชุมชนที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับการแก้ไขและรับผิดชอบ
และเมื่อวราวุธได้ลงพื้นที่หมู่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จนเจอคนที่ลำบากและไร้ที่ดินทำกินจริงๆ เข้ามาขอความช่วยเหลือ สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า สิ่งที่วราวุธทำ คือ ไม่ตอบกลับถึงข้อเรียกร้อง แต่กลับชวนให้คนคนนั้นมาถ่ายภาพเซลฟี่ร่วมกันแทน
โครงการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ที่ถูกวิจารณ์ว่าฟอกเขียวนายทุน
หากอธิบายแบบกระชับ คาร์บอนเครดิต คือ เครดิต-สิทธิที่แต่ละบริษัทมีจากการทำกิจกรรมที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม แบบที่สามารถคำนวณเป็นปริมาณได้ และเป็นสิทธิที่สามารถซื้อขายได้ ด้วยเป็นกลไกที่หวังสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ว่าง่ายๆ ก็คือ บริษัทที่เจอปัญหาลดปริมาณก๊าซไม่ได้ ก็อาจใช้วิธีควักเงินจ่าย ซื้อโควต้าคาร์บอนเครดิตจากผู้ประกอบการอื่น เพื่อกรรมสิทธิในการปล่อยก๊าซมลภาวะเพิ่ม
ทีนี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา วราวุธเพิ่งแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกในไทย ทำให้ไทยมีตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนแบบมีเงื่อนไขว่า ผู้ปลูก (ภาคเอกชน) จะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10% ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานเพื่อดูแลป่า
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาค้านว่า มันไม่แก้ปัญหาให้ประชาชน และอาจนำไปสู่การช่วงชิงทรัพยากรเพื่อใช้สร้างภาพรักโลก จนเป็นการฟอกเขียวให้นายทุนรายใหญ่
“นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนแล้ว ยังนำไปสู่การช่วงชิงทรัพยากรเพื่อใช้สร้างภาพรักษ์ป่า รักษ์โลก ฟอกเขียวให้นายทุน โดยเอาประชาชนที่ควรจะเป็นเจ้าของทรัพยากร และได้สิทธิในการบริหารจัดการป่า และได้ประโยชน์จากการซื้อขายนี้ ต้องกลายเป็นขี้ข้ารับประโยชน์จากค่าแรงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น” นิติพล กล่าว
แนวคิดคาร์บอนเครดิตยังถูกวิจารณ์บ่อยๆ ด้วยว่า อาจเป็นเพียงช่องทางที่นายทุนจะสามารถปล่อยของเสียต่อไปได้ เพราะซื้อคาร์บอนเครดิตจนตัวเลขกรีนๆ ของบริษัทเพิ่มมากขึ้น
ชวน ปชช.เสนอมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5
ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือปัญหาระดับชาติที่ รมว.สิ่งแวดล้อมต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง
ปลายปี 2563 วราวุธในฐานะ รมว.สิ่งแวดล้อม เคยยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยแก้ไขเบื้องต้นไปแล้วผ่านการประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ลดการเผาเกี่ยวกับการเกษตร รวมถึงประสานกระทรวงคมนาคมให้กวดขันรถยนต์ที่ผลิตไอเสียเกินค่ามาตรฐาน
และเคยขอให้ประชาชนช่วยกันเสนอความคิดเห็นว่าจะให้มีมาตรการอย่างไรในการจัดการปัญหาฝุ่น เพราะที่ผ่านมา มาตรการบางอย่างมักจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และถูกคัดค้าน
วราวุธยังกล่าวว่า หากปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน ทั้งรถสาธารณะและรถส่วนตัว ยังอยู่เต็มถนนแบบนี้ ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำอะไรเลยนะ เพราะทางกระทรวง ทส. เองก็มีแผนรับมือฝุ่น PM 2.5 อยู่เหมือนกัน เช่น ขอให้ประชาชนงดใช้เครื่องยนต์ที่อาจปล่อยมลพิษออกมามากกว่าปกติ ขอให้ประชาชนช่วยลดการก่อฝุ่น PM 2.5 พัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรที่ทดแทนการเผา เป็นต้น
วราวุธ เคยตอบกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงประเด็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ว่า ปริมาณ PM 2.5 ในประเทศลดลง และคุณภาพอากาศดีขึ้นแล้ว ส่วน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 20,000 รายยื่นเข้ารัฐสภานั้น วราวุธชี้ว่า เป็นเรื่องน่ายินดี แต่มี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 บังคับใช้อยู่แล้ว ซึ่งจะนำไปปรึกษาและพิจารณาต่อไปแบบรับปากว่าจะคำนึงถึงประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน และยังไม่มีกำหนดด้วยว่าจะตัดสินแล้วเสร็จโดยรัฐสภาภายในเมื่อไหร่
ตั้งกรมน้องใหม่ กรม Climate Change
รมว.สิ่งแวดล้อม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า “ชวนทุกคนทำความรู้จักกรมฯ น้องใหม่ ‘กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘กรม Climate Change’”
กรมนี้จัดขึ้นเพื่อดูแล ศึกษา และรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานอย่าวยั่งยืน และปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรม Climate Change ไม่ใช่กรมที่มีกันทั่วไปในทุกประเทศทั่วโลก
ภารกิจหลักและหน้าที่ของหน่วยงานนี้ ถูกระบุไว้ว่า เป็นการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นต้น
นอกจากจัดตั้งกรมแล้ว กระทรวง ทส. ยังอยู่ระหว่างผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเป็นฉบับแรกของไทยที่จะยกระดับความเข้มข้นของกฎหมายขึ้น และคาดว่าจะนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา ครม. ภายในต้นปี 2566 ได้
เป็นที่น่าจับตาว่า ทิศทางของกรมนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับประเทศอื่นในโลกหรือเปล่า จะดันให้เรากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริงได้หรือไม่ หรือท้ายที่สุดจะกลายเป็นเพียงกรมหนึ่งที่ติดกับดักของระบบราชการ ระบบที่ถูกวิจารณ์ว่าล่าช้าและไม่ทันสมัย
ไม่รับค่าจ้าง 3 เดือน ช่วยคนที่เดือดร้อนจาก COVID-19
เพื่อข่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากวิกฤตโรคระบาด วราวุธ เสียสละไม่รับเงินเดือน 3 เดือน (รวมเป็นเงินประมาณ 347,220 บาท)
การประกาศไม่รับเงินเดือน เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในขณะนั้น ประกาศไม่รับเงิน 3 เดือน เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์แก้สถานการณ์วิกฤติโรคระบาด ทำเอาคณะรัฐมนตรีหลายคนออกโรงปฏิเสธรับเงินเดือนตาม เช่น จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ
ทั้งนี้ วราวุธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรายรับรวมเดือนละ 115,740 บาท แบ่งเป็นเงินเดือน 73,240 บาท และเงินเดือนประจำตำแหน่ง 42,500 บาท
ย้ำอีกทีตรงนี้ว่า นี่ไม่ใช่ผลงานทั้งหมดที่ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ ทำในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนะ ว่าแต่คุณละ จำผลงาน-นโยบายชิ้นไหนของวราวุธได้บ้าง?
อ้างอิงจาก