เป็นที่ยืนยันแล้วกับการเสียชีวิตของ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น วัย 67 ปี จากการถูกลอบยิงในงานปราศรัยที่นารา ประเทศญี่ปุ่น
ภาพวินาทีโกลาหลหลังเกิดกลุ่มควันสีขาวพร้อมเสียงปืน ก่อนที่อาเบะ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขึ้นปราศรัยอยู่ริมถนนในเมืองนารา ถูกส่งต่อในโลกออนไลน์ กลายเป็นอีกบันทึกทางการเมืองญี่ปุ่น ที่มาพร้อมกับความเศร้าสลด และสร้างความตื่นตระหนกทั้งต่อชาวญี่ปุ่นเอง รวมถึงคนทั่วโลกที่ติดตามข่าว
ชื่อของ ‘ชินโซ อาเบะ’ เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป ในฐานะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งด้วยยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ทำให้ยิงเป็นที่นิยม จนถูกเรียกกว่าเป็น ‘อาเบะโนมิกส์’ (Abenomics)
และหากใครติดตามการแข่งขันโอลิมปิก คงจะจำเหตุการณ์ที่นายอาเบะปรากฏตัวเพื่อรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพในปี 2020 โดยสวมบทบาทเป็นมาริโอ้ เดินทางด้วยท่อระบายน้ำจากญี่ปุ่นไปโผล่ที่ริโอฯ ในพิธีปิด เรียกเสียงกรี๊ดกันไปทั่วโลก
The MATTER จึงชวนไปย้อนดูเส้นทางชีวิตทางการเมืองของ ชินโซ อาเบะ ผู้ที่ถูกบันทึกกว่าเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดขณะก้าวขึ้นรับตำแหน่งครั้งแรก และเป็นนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด
เขาเติบโตมาในครอบครัวของนักการเมืองโดยแท้ ด้วยการเป็นลูกชายของนายชินทาโร อาเบะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และหลานชายของนายโนบุสึเกะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี
แล้วเส้นทางการเมืองก็เริ่มต้นขึ้นในปี 1993 เมื่ออาเบะได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาครั้งแรก ก่อนที่เขาจะได้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สมัยที่จุนอิชิโร โคอิซูมิ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในปี 2005 ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดหลังสงครามญี่ปุ่น ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อมา
ถ้าจะว่าตลอดการครองเก้าอี้ของเขา เต็มไม่ด้วยเรื่องอื้อฉาวก็ว่าได้ โดยเฉพาะในกรณีทำเอกสารเบี้ยบำนาญสูญหาย จนกระทบประชาชนว่า 50 ล้านคน ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่พอที่สร้างความไม่มั่นคงให้กับรัฐบาลของเขา จนในปี 2007 พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ก็ได้เสียที่นั่งจำนวนมากในการเลือกตั้งสภาสูง
ท้ายสุดในปีเดียวกัน นายอาเบะจึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่า มีปัญหาสุขภาพย่ำแย่จากอาการลำไส้อักเสบ
อย่างไรก็ดี ในปี 2012 เขาก็สร้างความฮือฮากับการกลับมาสู่เส้นทางการเมือง และลงชิงเก้าอี้นายกฯ อีกครั้ง ด้วยคำมั่นว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา แก้ไขข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ และฟื้นฟูความเป็นอนุรักษนิยม จนได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด
ต่อมาในฤดูร้อนปี 2020 จะเกิดข้อกังขาเกิดขึ้นส่งผลให้ความนิยมลดฮวบ ทั้งจากการจับกุมอดีตรัฐมนตรียุติธรรมในสมัยของเขา รวมถึงเหตุผลใหญ่ อย่างความไม่พอใจต่อการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนจะลาออกด้วยเหตุผลสุขภาพเดิม ในวันที่ 28 ส.ค. 2020
แม้จะลงจากตำแหน่งแล้ว แต่หน้าของเขาก็ไม่เคยห่างหายไปจากสื่อ ยังคงปรากฏตัวผ่านการสัมภาษณ์ในประเด็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงร่วมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเสรีประชาธิปไตยในการหาเสียง จนนำมาสู่เหตุการณ์ไม่คาดคิดครั้งนี้
ต้องขอความเสียใจต่อการจากไปอีกครั้ง
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-53938094
https://www.theguardian.com/world/2022/jul/08/shinzo-abe-japans-former-prime-minister-dies-after-being-shot
https://www.washingtonpost.com/world/2022/07/08/japan-shinzo-abe-legacy-shooting-gun-attack/
#Brief #TheMATTER