1
สิ้นปี ค.ศ.2018 ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันวัย 62 ปี เผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ หลังพรรค DPP ซึ่งประธานาธิบดีไช่เป็นหัวหน้า เผชิญกับ ‘ความตกต่ำ’ ครั้งสำคัญ เมื่อพรรคแพ้การเลือกตั้งทั้งผู้แทนสภาท้องถิ่น ผู้บริหารเมืองและเทศมณฑลอย่างไม่เป็นท่า จนใครก็คิดว่าประธานาธิบดีไช่จะหมดอนาคตทางการเมืองไปพร้อมๆ กับการเติบโตของพรรคฝ่ายตรงข้าม อย่างพรรค ‘ก๊กมินตั๋ง’ ที่ชูนโยบาย ‘เอาใจ’ จีนแผ่นดินใหญ่ และใช้การค้านำการลงทุน
ในเวลานั้น คนไต้หวันเห็นว่าพรรค DPP แข็งกร้าวเกินไป ไม่เป็นผลดีกับการเสี่ยงเอาเกาะไต้หวันไปสู้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีทั้งอำนาจมากกว่า มีอิทธิพลทางการเมือง ทางเศรษฐกิจเหนือกว่า และควรจะใช้แนวทางเจรจา ‘สายพิราบ’ มากกว่า ‘สายเหยี่ยว’
แต่นั่นเป็นเรื่องของปี ค.ศ.2018 เพราะปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา ภูมิทัศน์การเมืองไต้หวัน การเมืองในระดับภูมิภาค และการเมืองระดับโลกเปลี่ยนไปมาชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า และกลายเป็นไช่ที่ ‘ขี่กระแส’ นั้นได้แข็งแรงกว่าคู่แข่ง ส่งให้เธอกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักในดินแดนที่การเมืองเขี้ยวลากดินแบบไต้หวัน
2
หลังจบปริญญาเอกจาก LSE ไช่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายนาน 10 ปี ก่อนจะเริ่มเส้นทางการเมืองด้วยการเป็นผู้แทนเจรจาทางการค้ากับแผ่นดินใหญ่ เธอเป็นสาย ‘ร่างกฎหมาย’ ให้กับรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ก่อนจะเริ่มตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่อายุ 40 เศษๆ และไต่เต้ามาเป็นผู้นำพรรค แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีไปหนึ่งรอบ ก่อนจะได้เป็นประธานาธิบดีเต็มตัว ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเมื่อปี ค.ศ.2016
ไช่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในช่วงเวลาใกล้เคียงกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กำลัง ‘แข็งแรง’ มากๆ ด้วย จากประสบการณ์ทางการเมืองที่เชี่ยวกราก เธอรู้ดีว่าหากอ่อนไปในที่สุดสีจิ้นผิงจะสยายปีกเข้ามาในไต้หวันเรื่อยๆ ภายใต้นโยบาย ‘จีนเดียว’ ซึ่งประธานาธิบดีสีย้ำนักย้ำหนาว่าต้องทำให้ได้
แต่ในทศวรรษที่ 21 การผนวกไต้หวันเข้ากับจีนไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
ไต้หวันนั้นเจริญเกินไป และแข็งเกินไปในการที่จะรวมด้วยอำนาจ อิทธิพล หรือด้วยการทหาร อีกทั้งยังไม่เคยมีข้อตกลงที่ชัดเจนแบบเดียวกับฮ่องกง มีเพียงฉันทามติเรื่อง ‘จีนเดียว’ เมื่อปี ค.ศ.1992 ที่พรรคก๊กมินตั๋งลงนามกับรัฐบาลจีนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นจีนอีกนั่นล่ะที่มักจะอ้างถึงฉันทามตินี้อยู่ฝ่ายเดียว ว่าในที่สุดแล้วความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันจะเป็นแบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ไม่ใช่เป็นอิหลักอิเหลื่อแบบทุกวันนี้
ในระยะหลัง ไต้หวันนั้นแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์ไต้หวันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่ได้หยุดนิ่ง การพัฒนาไต้หวันมีเส้นทางที่ค่อนข้างชัด ไต้หวันมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค มีบริษัทไอทีระดับโลก พร้อมกับเปิดปริมณฑลใหม่ๆ อย่าง ‘การท่องเที่ยว’ หรือธุรกิจด้าน ‘สุขภาพ’ ซึ่งไต้หวันโดดเด่นตลอดมา ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาจีน
อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่ไต้หวันเร่งพัฒนาตัวเอง จีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง หากไต้หวันโตแล้ว จีนก็โตด้วย ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของจีนลงทุนดูดนักวิจัย-นักวิทยาศาสตร์ในอุตสาหกรรมไฮเทคของไต้หวันไปทำงานด้วยเงินเดือนสูงกว่าเดิม 4-5 เท่า ส่วนอุตสาหกรรมไฮเทคก็ย้ายไปลงทุนในแผ่นดินใหญ่ที่ค่าแรงถูกกว่าตามไปด้วย
นั่นทำให้นักการเมืองไต้หวันอย่างพรรคก๊กมินตั๋งรู้ทิศทางลมดีว่า เมื่อจีนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรในการกอดความเป็นประชาธิปไตยไว้กับตัวเอง สู้ยอมให้แผ่นดินใหญ่คุมแล้วหันมาร่วมมือกันทางเศรษฐกิจดีกว่า
แต่ทั้งหมดนี้ ถือเป็นเรื่องก่อนสงครามการค้าระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสีจะเริ่มต้น
3
หลังสงครามการค้าระอุขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ยิ่งกลายเป็นว่าไต้หวันวาง positioning ของตัวเองได้ถูกทาง แม้ไช่และพรรค DPP จะเสียหน้าไปมากจากการแพ้เลือกตั้งท้องถิ่นอย่างราบคาบจนต้องประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค พร้อมๆ กับถูกรัฐบาลจีนและสื่อจีนเยาะเย้ยว่าคนไต้หวันไม่ต้องการเป็นเอกราชแล้ว ต้องการซบจีนแล้ว
แต่หลังขึ้นปีใหม่ ค.ศ.2019 มาไม่กี่วัน เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวสุนทรพจน์อันมีใจความ ‘กดดัน’ ให้ไต้หวันรวมชาติ ส่งข้อความไปยังคนไต้หวัน (ที่จีนมองว่าเริ่มเปลี่ยนทัศนคติแล้วหลังการเลือกตั้ง) รวมถึง ‘ไม่สัญญา’ ว่าจะละทิ้งการใช้กำลังทางทหาร โดยตั้งใจจะให้ไต้หวันอยู่ภายใต้การเป็น ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เลือดรักชาติของคนไต้หวันก็ดูจะเข้มข้นขึ้นทันที
หลังจากนั้น ท่าทีของไช่ก็เปลี่ยนไป เธอกลับสู่การหวงแหน ‘ประชาธิปไตย’ เคารพใน ‘สิทธิมนุษยชน’ มากขึ้น นอกจากนี้ ไช่ยัง ‘แทงหวย’ ได้ถูก ในเวลาเดียวกับที่ธุรกิจข้ามชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ไช่อำนวยความสะดวกให้กับเอกชนที่เคยหนีประเทศตัวเอง—ข้ามช่องแคบไปตั้งรกรากแถวเสิ่นเจิ้น—ให้กลับมายังไต้หวัน ไปพร้อมๆ กับชวนชาติตะวันตก ชวนนักธุรกิจเอเชียใต้ ชวนนักธุรกิจอาเซียนมายังไต้หวันแทน ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันไม่ได้แย่ตามเศรษฐกิจโลก ซ้ำยังทำให้ไต้หวันมีทางเลือกใหม่ๆ ของตัวเอง แทนที่จะพึ่งพาจีนเพียงอย่างเดียว
เมื่อพรรค DPP ถึงเวลาต้องเลือกผู้นำพรรคใหม่ในการคัดแคนดิเดตเข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี กลับกลายเป็นว่า ทีมบริหารของไช่แข็งแรงขึ้นจากความพ่ายแพ้ปลายปีที่ผ่านมา จนทำให้ได้กลับมาเป็นผู้นำพรรคอีกครั้ง แม้กระแส ณ ขณะนั้น ผลสำรวจจากโทรทัศน์แห่งชาติยังพบว่าเป็นเป็นรอง ฮั่น กั๋วหยู จากพรรคก๊กมินตั๋งก็ตาม
4
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คะแนนไช่ดีวันดีคืนกลับกลายเป็นเรื่อง ‘นอกบ้าน’ เมื่อฮ่องกงเข้าสู่การชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากกฎหมาย ‘ส่งผู้ร้ายข้ามแดน’ ก่อนจะลามไปยังเรื่องการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก และเพิ่มปากเสียงให้คนฮ่องกงมากขึ้น กลายเป็นเหตุให้คนไต้หวันยิ่งกลัวความเป็นหนึ่งประเทศ สองระบบ แบบฮ่องกง รวมถึงหวาดวิตกมากว่าหากจีนเข้ามายุ่มย่ามกับคนไต้หวันมากขึ้น สักวัน ไต้หวันจะ ‘เละ’ เหมือนฮ่องกง
ซ้ำยังไม่รู้อนาคตอีกด้วยว่า แผนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอนาคตหากเป็น ‘จีนเดียว’ แล้ว ไต้หวันจะมีที่ทางอยู่ตรงไหน และถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ไต้หวันสร้างมาด้วยตัวเอง (โดยมีสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นผู้สนับสนุนหลัก) อาจสั่นคลอนหากเข้าใกล้จีนยุคสีจิ้นผิง ซึ่งบรรดาสื่อตะวันตกพยายามยกย่องให้เป็น ‘จักรพรรดิ’ จีนยุคใหม่มากเกินไป
ตลอดการชุมนุมต่อเนื่องยาวนานในฮ่องกง ไช่ประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมในฮ่องกงทุกวิถีทาง ถึงขั้นประกาศด้วยซ้ำว่าจะให้ที่พักพิงกับแกนนำที่ถูกหมายหัวจากปักกิ่ง South China Morning Post ระบุว่า จนถึงตอนนี้ มีผู้ประท้วงมากกว่า 200 คนแล้วที่ใช้ไต้หวันเป็นที่พักพิงเพื่อหนีอิทธิพลจากปักกิ่ง โดยไต้หวันขยายระยะเวลาวีซ่าให้ รวมถึงประกาศจะหาโรงเรียนให้ หางานให้ทำ
นั่นทำให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนโกรธมากที่ไต้หวันออกอาการกระเหี้ยนกระหือรือมากขนาดนี้
5
กลับกลายเป็นฝั่งตรงข้ามอย่างพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ฮั่น กั๋วหยู นั้นอ่อนประสบการณ์อย่างเห็นได้ชัดเมื่อการเมือง ‘เปลี่ยนทิศ’ กลายเป็นเรื่องของ ‘ชาตินิยม’ และความรักในอัตลักษณ์ของไต้หวัน แม้จะใกล้เลือกตั้ง เขาก็ยังย้ำเรื่องนโยบายพรรคที่ต้องใกล้ชิดกับแผ่นดินใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากปักกิ่ง
หากการเลือกตั้งในไทยเมื่อ 24 มีนาคม ปีที่แล้วของบ้านเราคือการต่อสู้กันด้วยแนวคิด ‘เอาประยุทธ์’ หรือ ‘ไม่เอาประยุทธ์’ การเลือกตั้งในไต้หวันก็คือการต่อสู้กันด้วยการจะเอา ‘จีนเดียว’ หรือไม่ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนชัดเจนว่า คนไต้หวันทั้งคนรุ่นเก่าวัย 50-60 ซึ่งโตมาในยุค ‘โชติช่วงชัชวาล’ ไม่ง้อจีน และ ‘คนรุ่นใหม่’ วัย 20-39 ซึ่งเคยเมินเฉยทางการเมือง มาเลือกตั้งรอบนี้มากกว่า 6.6 ล้านคน
ทุกกลุ่มล้วนแสดงออกโดยพร้อมเพรียงว่า ไม่เอาด้วยกับท่าทีขึงขังของสีจิ้นผิง และรวมตัวกันเลือกเลือกไช่ อิงเหวิน ให้คัมแบ็กกลับมาเป็นแถว จนได้คะแนนเสียงไปกว่า 8.1 ล้านเสียง เอาชนะพรรคก๊กมินตั๋งไป 2.5 ล้านคะแนน ชนะ แม้กระทั่งในเกาสง ฐานที่มั่นของแคนดิเดตจากก๊กมินตั๋ง ด้วยตัวเลขผู้ลงคะแนนรวมซึ่งสูงกว่าการเลือกตั้งหนก่อนถึง 7.5%
นั่นทำให้ท่าทีของรัฐบาลปักกิ่งเมื่อรู้ผลการเลือกตั้ง ก็ออกอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงไม่แพ้ตอนที่กลุ่มสนับสนุน ‘ประชาธิปไตย’ ชนะเลือกตั้งท้องถิ่นในฮ่องกงแบบ ‘แลนด์สไลด์’ เมื่อสองเดือนก่อนหน้า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนถึงกับย้ำด้วยท่าทีแข็งกร้าวว่า การเลือกตั้งไต้หวันนั้นเป็น ‘กิจการภายใน’ ของจีน และไม่ใช่เรื่องดีงามนักถ้าต่างชาติจะเข้ามายินดีกับไช่ อิงเหวิน ผู้ซึ่งไม่เอาด้วยกับหลักการจีนเดียว
แน่นอน ชัยชนะอันถล่มทลายของไช่ อิงเหวิน อาจทำให้จีนคิดหนักว่าจะเอาอย่างไรต่อกับไต้หวัน เพราะกลยุทธ์ของสีจิ้นผิง สะท้อนชัดว่าเขาไม่มีทางปล่อยให้เกาะไต้หวัน เป็นตัวของตัวเองมากไปเหมือนที่ผ่านมา แต่จะใช้กำลังทหารบีบให้ไต้หวันทำตามหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ก็ดูจะเกินเหตุไป
ส่วนประธานาธิบดีสมัยสองอย่างไช่ก็เช่นกัน แม้จะกล่าวในสุนทรพจน์ว่ายินยอมเจรจากับจีนทุกวิถีทาง หากไต้หวันไม่เสียผลประโยชน์ ทว่าในฐานะผู้นำดินแดนที่เล็กกว่า บทบาทนี้ย่อมท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะหากวันหนึ่ง จีน สามารถทำให้เกาะฮ่องกงยอมสิโรราบได้สำเร็จ เป้าหมายต่อไปย่อมหันเป้าเปลี่ยนทิศมาที่เกาะไต้หวันอย่างแน่นอน
การเมืองหลังการเลือกตั้งจึงไม่ใช่เรื่องของ ‘ความกลัว’ อีกต่อไป แต่คือเรื่องของความสามารถ และการรักษาตัวตนให้กับผู้ลงคะแนนเสียงไม่ให้เลื่อนลอยไปตามปัจจัยรอบด้าน ซึ่งนับว่ายากมากในการเมืองที่อุดมไปด้วย ‘ความรู้สึก’ อย่างการเมืองไต้หวัน