ถึงจะรู้กันดีว่า การจะเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้สำหรับคนไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนต้องเตรียมตัวหนักยิ่งกว่าสมัยเรียนเสียอีก แต่ไม่มีสิ่งใดรับรอง คุณอาจเป็นผู้ถูกเลือกให้กลับบ้านก็ได้
แต่ปรากฏการณ์ที่ภายในสัปดาห์เดียว จะมีผู้ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศรวมกันครึ่งพัน ดูจะไม่ใช่ภาพที่ปกติเสียเท่าไหร่ และยังสะท้อนปัญหาอมตะอย่างการหนีไปขายแรงงานอย่างผิดกฎหมายของบ้านเรา ซึ่งเป็นเหตุผลหลักในการสกัดคนจากเที่ยวบินตรงไปยังเกาะเชจู ที่เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้
แล้วทำไมเกาะเชจู (JeJu Island)จึงกลายเป็นจุดหมายการเดินทาง ก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และแต่ละฝ่ายรับมือต่ออย่างไร The MATTER รวบรวมและจะมาอธิบายให้ฟังกัน
เกิดอะไรขึ้นบ้าง
เกาหลีใต้นับเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจากนานาชาติหลังเปิดประเทศ และขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จนปรากฏข่าวในสื่อเจ้าดังอย่าง KBS ในวันที่ 2 ส.ค. รายงานว่า ชาวไทย 115 คน ที่มาถึงเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำของเชจูแอร์ เที่ยวบินที 7C2244 ถูกตรวจสอบและปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ
สำหรับตัวเลขผู้ที่ถูกปฏิเสธการเดินทางในวันดังกล่าว อาจยังสับสนอยู่บ้าง เนื่องจากทาง The Korea Times ระบุจำนวน 112 คน จากผู้เดินทาง 183 คน หรือราว 61% ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย
ถัดมาเพียงวันเดียว ผู้เดินทางอีก 110 คน จาก 182 คนก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน ตอกย้ำด้วยเหตุการณ์วันที่ 6 ส.ค. ที่เพิ่งผ่านมา มีคนไทยจำนวน 106 คนที่ถูกปฏิเสธให้เข้าประเทศในลักษณะเดียวกัน
หากสงสัยว่า มาตรการของเจ้าหน้าที่เข้มงวดไปหรือไม่ คงต้องตอบด้วยข้อมูลนักท่องเที่ยว ซึ่งสัปดาห์ก่อนมีคนไทย 280 คน ที่บินตรงไปยังเกาะเชจูในรูปแบบกลุ่มทัวร์ ภายในระยะเวลา 3 วัน แต่กลับมีถึง 55 คน หรือเกือบ 20% ที่หายตัวไป ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังติดตามตัวอยู่
แล้วทำไมต้องเป็นเชจู
คงต้องย้อนกลับไปช่วงโควิด-19 ระบาดหนักหน่วง เกือบทุกที่ต่างใช้มาตรการปิดประเทศเพื่อควบคุมโรค เกาหลีใต้ก็เช่นกัน พอถึงคราวกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ขั้นตอนหลายอย่างก็เปลี่ยนไป จะว่ายุ่งยากขึ้นก็ไม่ผิด อย่างบ้านเรามีระบบ Thailand pass ที่โน่นใช้ระบบที่ชื่อว่า ‘K-ETA’
สำหรับ K-ETA คร่าวๆ คือ ระบบออนไลน์ในการลงทะเบียนผ่านเข้าเมือง ซึ่งอนุญาตให้ชาวต่างชาติจาก 112 ประเทศ ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศเกาหลีใต้ ต้องขออนุญาตก่อนออกเดินทางเสียก่อน
นั่นจึงเป็นที่มา ที่ทำให้เชจูกลายเป็นเส้นทางบินยอดนิยมของคนไทยกลุ่มใหญ่ ด้วยเหตุผลว่า ระบบนี้บังคับใช้ทั่วทั้งประเทศมาตั้งแต่ ก.ย. ปีที่แล้ว เว้นเพียงเกาะเชจูเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การยกเว้นมาตรการเป็นกรณีพิเศษบนเกาะเชจู ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ด้วยความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาตินี่เอง ทำให้ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าเกาะโดยไม่ต้องมีวีซ่า จนเคยมีผู้มาเยือนสูงสุดราว 3.6 ล้านคนในปี 2562
ผลที่ตามมา คือ บรรดาคนที่พยายามเข้าเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย จึงต่างเลือกเชจูเป็นทางเข้า ไม่เพียงแค่แรงงานไทยเท่านั้น
คนไทยถูกจับตา
คงต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงก่อนมีโรคระบาดในปี 2562 กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ เคยเผยสถิติน่าสนใจว่า ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศ 15% อยู่โดยผิดกฎหมาย คิดเป็น 3.7 แสนคน ในจำนวนนั้นกว่าครึ่งมาจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ซึ่งคนไทยไม่มีแผ่ว รั้งอันดับหนึ่ง เป็นชาติที่มีจำนวนการอยู่แบบผิดกฎหมายมากที่สุดถึง 1.4 แสนคน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวไทยจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
อีกประเด็น คือ นักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก ที่เลือกเดินทางเข้าเกาหลีใต้ผ่านทางเชจู มักมีประวัติถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าสนามบินอินชอน และที่อื่นๆ มาก่อน
ยิ่งไปกว่านั้น กว่า 93% ของคนไทยที่ถูกปฏิเสธการเข้าประเทศที่สนามบินเชจูตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับอนุญาตตามระบบ K-ETA ก่อนออกเดินทาง ซึ่งนั่นเท่ากับไม่มีสิทธิในการเข้าประเทศอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้น
ทางการไทย-เกาหลีว่าอย่างไร
‘คนไทยถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง’ เป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการของ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าปัญหานี้กำลังกระทบนักท่องเที่ยวโดยรวม ซึ่งมากกว่า 5,000 คน จากผู้เดินทาง 10,000 คน ถูกปฏิเสธการเข้าประเทศ
“การลักลอบเข้าประเทศเพื่อทำงานอย่างไม่ถูกต้องของคนเพียงบางส่วน นอกจากทำให้คนไทยทั้งหมดเสียชื่อเสียง เสียโอกาสในการท่องเที่ยวหรือทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงจนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ด้วย”
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงร่าง MOU เพื่อเพิ่มโควตางานเกษตรตามฤดูกาลกับเมืองต่างๆ ในเกาหลีใต้
อย่างไรก็ดี ฟากรัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มส่งสัญญาณ ว่าอาจพิจารณาใช้ระบบลงทะเบียนเข้าประเทศออนไลน์กับเกาะเชจู เพื่อป้องกันการอยู่ในประเทศเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
ไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวที่เตรียมกุมขมับ หากมาตรการนี้ถูกใช้จริง เพราะแม้แต่ องค์กรการท่องเที่ยวเชจูยังแสดงความกังวล ว่าการตัดสินใจของรัฐบาล อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เพิ่งกลับมาคึกคักอีกครั้ง
คงต้องรอดูต่อไปว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะปรับเปลี่ยนมาตรการไปในทิศทางใด แต่หากคนไทยที่ไปทำงานที่นั่นอย่างถูกต้อง สามารถติดตามข่าวสารจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ doe.go.th/overseas หรือสอบถามสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
อ้างอิงจาก
#ผีน้อย #Explainer #TheMATTER