ช่วงเช้าวันนี้ มีรายงานว่าประเทศไทยพบผู้ติดโอไมครอน BQ.1 ในไทยแล้ว 1 ราย
ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น เพราะขณะนี้มีรายงานจากนานาประเทศว่าพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธ์ุ BQ.1 และ BQ.1.1 แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น
โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้สร้างความกังวลใจในหมู่ผู้เชี่ยวชาญจากไทยและต่างประเทศ แต่สรุปแล้ว ไวรัสสายพันธุ์ BQ.1 และ BQ.1.1 คืออะไรกันนะ โลกเรารู้จักสายพันธุ์นี้มากน้อยขนาดไหน The MATTER รวบรวมรายละเอียดไว้แล้ว ดังนี้
– ไทยเจอผู้ติดเชื้อโอไมครอน BQ.1 แล้ว 1 ราย
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ไทย รพ.รามาธิบดี รายงานว่า จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าในโลก โดย GISAID พบว่าผู้ติดเชื้อโอไมครอน BQ.1 ในประเทศแล้ว 1 ราย
– กลายพันธุ์มาจากโอไมครอนสายพันธุ์ BA.5
2 สายพันธุ์นี้เปรียบเสมือน ‘ลูก’ ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และเป็น ‘หลาน’ ของโอไมครอนอีกที มีรายงานว่า สายพันธุ์ BQ.1 กลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญ คือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ขณะที่สายพันธุ์ BQ.1.1 จะกลายพันธุ์เพิ่มจาก BQ.1 อีกหนึ่งตำแหน่ง คือ R346T
– กำลังระบาดในสหรัฐฯ
โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 กำลังแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐฯ ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย 2 ชนิดนี้รวมกันอยู่ที่ประมาณ 11% ของผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ
ขณะนี้ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 คือสายพันธุ์หลักๆ ที่กำลังระบาดในอเมริกา (อยู่ที่ราวๆ 68% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายกังวลว่า สายพันธุ์ BQ.1 และ BQ.1.1 อาจเอาชนะ BA.5 ได้ในไม่ช้า และอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดแทน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่สหรัฐฯ
– มีความสามารถในการเพิ่มจำนวน-แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลการระบาดในสหรัฐฯ นพ.แอนโทนี เฟาชี (Anthony Fauci) แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรค COVID-19 ของทำเนียบขาว ระบุว่า โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 มีการเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัว (doubling time) ภายใน 1 สัปดาห์ ติดต่อกันมาแล้วหลายสัปดาห์ ซึ่งถือว่าสูงมาก และเป็นมาตรวัดที่ชี้ให้เห็นถึงความเร็วของการแพร่ระบาด
ซึ่งทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ไทยก็ชี้แจงไว้เช่นกันว่า โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนและ แพร่ติดต่อได้เร็วกว่า โดยระบุไว้ด้วยว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่น่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2566
– มีแนวโน้มดื้อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปที่กำลังใช้รักษาอยู่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ไทยเผยว่า โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 ดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปตัวสำคัญที่เราใช้เพื่อรักษาโรค COVID-19 เช่น เอวูเชลด์ (Evusheld) และ เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab)
สถานการณ์นี้อาจทำให้วงการแพทย์ต้องเปลี่ยนไปใช้ยา ‘แอนติบอดีค็อกเทล’ ซึ่งเป็นยาแอนติบอดีรุ่นใหม่ที่จะเหมาะกับการรักษาผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่มากกว่า
– มีแนวโน้มหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน-การติดเชื้อโควิดก่อนหน้า
แพทย์ผู้ดูแลด้านการควบคุมโรค COVID-19 ประจำทำเนียบขาวระบุว่า โอไมครอนสายพันธุ์ BQ.1.1 จะมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า รวมถึงภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนกันได้ดี ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ไทยก็รายงานว่า สายพันธุ์ BQ.1 มีแนวโน้มหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อในอดีตและการฉีดวัคซีนเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ที่เคยฉีดวัคซีน และเคยติดเชื้อโอไมครอน BA.5 จะมีภูมิต้านทานการติดเชื้อ BQ.1 ได้ดีกว่าเล็กน้อย หากเทียบกับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนและติดเชื้อโอไมครอน BA.2, ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนและติดเชื้อโอไมครอน BA.1, และผู้ที่เคยฉีดวัคซีนแต่ไม่เคยติดโรค COVID-19 ตามลำดับ
– BQ.1.1 น่ากังวลกว่า BQ.1
นพ.อีริก โทโพล (Eric Topol) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Scripps Research Translational Institute และนักวิจัยที่ติดตามประเด็น COVID-19 เผยว่า โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1.1 เป็นการกลายพันธุ์ที่มีปัญหา และอาจเป็นอันตรายต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์
– วัคซีนเข็มกระตุ้นอาจป้องกันได้
นพ.เฟาซี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีบีเอสว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นใหม่ที่ผลิตมาเพื่อป้องกันโอไมครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะมีแนวโน้มป้องกันสายพันธุ์ BQ.1 และ BQ.1.1 ได้
วัคซีนรุ่นใหม่ที่ใช้ส่วนหนามของ BA.5 เป็นตัวกระตุ้น จึงน่าจะยังมีความสามารถในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์ BQ.1 และ BQ.1.1 ได้ เพราะ 2 สายพันธุ์ใหม่นี้ก็กลายพันธุ์มาจาก BA.5 อีกที จึงมีส่วนหนามคล้ายคลึงกัน
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญรายอื่นก็สนับสนุนให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน ตลอดจนแนะนำว่า อาจป้องกันตัวเองได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง
แม้จะมีแนวโน้มว่าจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและแพร่ระบาดรวดเร็ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 จะก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงหรือมีผู้เสียชีวิตต่างไปจากสายพันธุ์โอไมครอนเดิมอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
อ้างอิงจาก