ในที่สุด ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็มีมติ ‘รับทราบ’ กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรู–ดีแทค ด้วยมติ มติ 2:2:1 (ประธาน กสทช. ใช้สิทธิลงเสียงชี้ขาด หลังเสียงเสมอกัน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม)
พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งออกมาเป็นข้อกังวล 5 ข้อ ได้แก่ ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการ, อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด, คุณภาพการให้บริการ, การถือครองคลื่นความถี่ และข้อกังวลเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ท่ามกลางข้อมูลตัวเลขมากมาย ดีลควบรวม ทรู–ดีแทค จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเราๆ ในฐานะผู้บริโภค? The MATTER สรุปไว้สั้นๆ ดังนี้
1. ค่าบริการแพงขึ้น
เรื่องราคาค่าบริการที่สูงขึ้น ถือเป็นประเด็นแรกๆ ที่หลายคนหยิบยกมาพูดถึง 101 PUB หรือ ‘ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ เคยวิเคราะห์ด้วยการสร้างแบบจำลองและพบว่า ส่วนต่างระหว่างค่าบริการและต้นทุนจะสูงขึ้นทั้งตลาด กลายเป็นค่าบริการที่แพงขึ้น
ทั้งนี้ ยึดตามค่าบริการเฉลี่ยของทั้งตลาดก่อนควบรวม ที่ 220 บาท/เลขหมาย/เดือน เมื่อคำนวณแล้ว หลังควบรวมจะมีค่าตามแบบจำลอง 3 แบบ ดังนี้
- แบบที่ 1 ถ้าแข่งขันกันรุนแรง ราคาจะสูงขึ้นเป็น 235-242 บาท/เดือน (7-10%)
- แบบที่ 2 ถ้าแข่งขันกันปกติ ราคาจะสูงขึ้นเป็น 249-270 บาท/เดือน (13-23%)
- แบบที่ 3 ถ้าไม่แข่งขันกัน (ฮั้วกันได้) ราคาจะสูงขึ้นเป็น 245-260 บาท/เดือน (66-120%)
2. คุณภาพสัญญาณอาจแย่ลง
อีกประเด็นหนึ่งที่จะกระทบกับผู้บริโภคโดยตรง ก็คือ คุณภาพสัญญาณที่อาจจะแย่ลง 101 PUB เสนอข้อถกเถียงว่า การเหลือผู้ให้บริการ 2 ราย จะทำให้แรงจูงใจในการแข่งขันลดลง ทำให้ไม่ต้องเร่งพัฒนาสัญญาณเหมือนช่วงที่ยังมีการแข่งขันรุนแรง
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขของ กสทช. ก็กำหนดในเรื่องนี้ด้วยว่า “จะต้องไม่ลดคงจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (cell sites) ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม”
แต่ในความเป็นจริงก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ถึงแม้จำนวนระบบสื่อสารจะไม่ได้น้อยลง แต่ด้วยราคาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คุณภาพจะพัฒนาดีขึ้นตามไปด้วยหรือเปล่า? ยังไม่นับรวมถึงคุณภาพในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องสัญญาณอีก เช่น คุณภาพการให้บริการ
3. ตัวเลือกผู้ให้บริการน้อยลง
การ ‘ผูกขาด’ ตลาดโทรศัพท์มือถือ ถือเป็นประเด็นใหญ่อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนมีความกังวล จะเห็นได้จากการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องและคัดค้านในเรื่องนี้ด้วยการติดแฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ เพราะเมื่อผู้ให้บริการหลักเหลืออยู่แค่ 2 รายแล้ว การจะมีรายใหม่ขึ้นมาแข่งขันก็เป็นเรื่องยาก
ประเด็นนี้ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย ก็หยิบยกมาเพื่อเป็นเหตุผลในการคัดค้านด้วย โดยระบุว่า “การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก”
สอดคล้องกับความเห็นของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ระบุว่า การควบรวมจะทำให้ตลาดมือถือมีโครงสร้างผูกขาดมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการหลักลดเหลือ 2 ราย ยากที่จะแก้ไขให้กลับมามี 3 รายและแข่งขันในแบบเดิมได้อีก เพราะตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว และไม่น่ามีรายใหม่สนใจเข้ามาให้บริการ
4. ผู้ใช้ที่มีกำลังซื้อต่ำถูกละเลย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ 101 PUB หยิบยกขึ้นมา คือ ปัญหาของ ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล’ หรือ ‘digital divide’ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ให้บริการขาดแรงจูงใจที่จะเข้าหาประชากรที่มีกำลังซื้อต่ำ เช่น ผู้ใช้บริการในชนบท
อธิบายอย่างง่ายๆ คือ ผู้ให้บริการมีแรงจูงใจที่จะเน้นประชากรในเมืองมากกว่า เนื่องจากมีอัตราการใช้งานสูง มีกำลังซื้อมากกว่า และไม่ต้องวางลงทุนวางเสาสัญญาณเพิ่มเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ใช้บริการในชนบทจะมีกำลังซื้อต่ำ และมีความหนาแน่นของประชากรต่ำ แถมต้องลงทุนเพิ่มเสาสัญญาณมากกว่า
การลงทุนโดยเน้นประชากรในเมืองย่อมได้ผลตอบแทนมากกว่า ท้ายที่สุดผู้ใช้บริการที่มีกำลังซื้อต่ำซึ่งอยู่ห่างไกลก็จะถูกละเลย
อ้างอิงจาก
facebook.com/pirongrong.ramasoota