จบกันไปแล้วสำหรับนัดเปิดสนามฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์ และเชื่อว่าแฟนบอลหลายคนน่าจะรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและอดใจไม่ไหวที่จะดูการถ่ายทอดสดอีก 63 คู่ที่เหลือ
อย่างไรก็ตาม กว่าคนไทยจะได้ดูบอลโลกครั้งนี้ก็เต็มไปด้วยปัญหามากมาย และได้จารึกกลายเป็นชาติที่ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกช้าที่สุดในอาเซียน และประเทศสุดท้ายของโลก ด้วยการปิดดีลที่ราคา 1,400 ล้านบาท ก่อนนัดเปิดสนามเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น วันนี้ The MATTER มาไล่เรียงไทม์ไลน์การซื้อลิขสิทธิ์และประเด็นที่เกิดขึ้นให้อ่านกัน
1. ก่อนอื่นต้องปูพื้นทำความเข้าใจกันก่อนว่า นับตั้งแต่ปี 2555 กสทช. ได้ออกกฎที่ชื่อว่า Must Have หมายถึงมหกรรมกีฬา 7 ประเภท ที่อย่างไรคนไทยก็ต้องได้ดูฟรี อาทิ โอลิมปิก, พาราลิมปิก เอเชียนเกมส์ และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ถึงแม้กฎดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่า ‘ระหว่างทาง’ ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด กล่าวคือจะเป็นการร่วมทุนของภาคเอกชน รัฐ-เอกชน หรือรัฐทั้งหมดก็ได้ แต่สุดท้าย ‘ปลายทาง’ คนไทยต้องได้ดูฟุตบอลโลก
ซึ่งกฎนี้เองเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจา และใช้ภาษีประชาชนเพื่อจัดให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้
2. ทางด้านบริษัท อินฟรอนท์ ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างฟีฟ่ากับประเทศต่างๆ ในการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ได้ตั้งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 สำหรับไทยไว้ที่ 1,360 ล้านบาท บวกภาษีการซื้อลิขสิทธิ์รายการทีวีอีก 240 ล้านบาท รวมเป็นเงินรวมทั้งหมด 1,600 ล้านบาท
โดยลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจะคิดจากมูลค่าการตลาด รวมถึงมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนของประเทศนั้นๆ ซึ่งในฟุตบอลโลกคราวที่แล้ว ไทยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกอยู่ที่ราคาราว 1,400 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมลงทุนของบริษัทเอกชน 9 แห่ง ผ่านการประสานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย
3. ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ถูกวางตารางแข่งขันไว้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. แต่ถ้าเราจำได้ กระแสฟุตบอลโลกในไทยนั้นเงียบมาก เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนหลังไวรัส COVID-19 ระบาดทำให้ภาคเอกชนลังเลที่จะลงทุน
จนล่วงเลยมาถึงวันที่ 2 พ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ออกมายืนยันกับสื่อมวลชนว่าคนไทยจะได้ดูบอลโลกอย่างแน่นอน โดยรัฐบาลจะมอบหมายให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เป็นคนกลางในการประสาน และ กสทช. เป็นคนปิดดีลนี้
4. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท. ได้ส่งหนังสือถึงบอร์ด กสทช. เพื่อขอให้อนุมัติเงินจำนวน 1,600 ล้านบาทสำหรับเป็นค่าลิขสิทธิ์บอลโลก ซึ่งทาง กสทช. ก็ได้มีหนังสือตอบกลับให้ กกท. ทำหนังสือแจกแจงว่าเงินจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นค่าอะไรบ้าง และนัดประชุมบอร์ด กสทช. ทันทีในวันที่ 9 พ.ย.
ระหว่างนั้น มีข่าวแว่วออกมาว่าทางบอร์ด กสทช. จะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก
5. ก่อนที่บอร์ด กสทช. จะมีคำตัดสิน หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินลงทุนจาก กทปส. เช่น สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเงินดังกล่าวควรถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น เช่น ขยายพื้นที่บริการ 5G ในพื้นที่ห่างไล หรือช่วยเหลือคนพิการให้เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตมากกว่า
หรือแถลงการณ์ร่วมจากนักวิชาการด้านสื่ออิสระนำโดย รศ.ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งคัดค้านการใช้เงินจากกองทุน กทปส. โดยให้ความเห็นคล้ายกันว่าไม่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และยังเสี่ยงส่งผลต่อสภาพคล่องของเงินทุนในอนาคต
6. ซึ่งประเด็นนี้นำไปสู่คำถามต่อเนื่องถึงกฎ Must Have ว่าเหตุใดต้องมีการใช้เงินภาครัฐเพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกด้วย เพราะไม่ใช่ทุกคนในประเทศที่ดูฟุตบอลและประเทศไทยก็ไม่ได้ไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ดังนั้น เงินจำนวนนี้ควรถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า
นอกจากนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาครัฐต้องจ่ายเงินเพื่อให้คอบอลไทยได้ดูฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ย้อนกลับไปในปี 2557 หลังรัฐประหาร คสช. ต้องการคืนความสุขให้คนในชาติจึงมีคำสั่งให้ กสทช. หาแนวทางทำอย่างไรก็ได้ให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ผ่านช่องฟรีทีวี ทำให้ทาง กสทช. ต้องจ่ายเงิน 427 ล้านบาทให้แก่บริษัทอาร์เอส ซึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกปีนั้นมาตั้งแต่ก่อนมีการประกาศใช้กฎ Must Have นั่นคือบทเรียนคร้ังแรกที่ภาครัฐต้องเสียเงินอย่างไม่สมเหตุผลนัก
สำหรับประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ทาง ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้ออกมายอมรับว่าจะต้องมีการทบทวนกฎ Must Have ใหม่อีกครั้ง เพราะภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป และเมื่อภาครัฐยื่นมือเข้าไปยุ่งแบบนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วนของราคาตลาด ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตหลังจากนี้ คนไทยอาจจะไม่ได้ดูฟุตบอลโลกฟรีแบบนี้อีกแล้ว
7. กลับมาที่เรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทดสดฟุตบอลโลก ในวันที่ 9 พ.ย. บอร์ด กสทช. ได้มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนค่าถ่ายทอดสดลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกตามที่ กกท. ร้องขอ แต่ไม่ครบตามจำนวนโดยได้รับเพียง 600 ล้านบาทเท่านั้น ขาดอีก 1,000 ล้านบาท
ต่อมาได้มีการยืนยันจาก กกท. ว่า มีภาคเอกชนมาสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มอีก ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันที่ 14 พ.ย. ผู้ว่า กกท. ระบุว่ายังไม่สามารถตกลงค่าลิขสิทธิ์กับทางฟีฟ่าได้ โดยระบุว่าวงเงิน 1,600 ล้านบาทนั้นสูงเกินไป และถ้าฟีฟ่าไม่ยอดลดราคาลงมา คนไทยคงต้องทำความเข้าใจว่าคงไม่ได้ดูฟุตบอลโลกในปีนี้
8. ในที่สุดคอบอลชาวไทยได้เฮ เมื่อ 18 พ.ย. สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า กกท. ปิดดีลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่กาตาร์ 2022 ได้แล้วด้วยมูลค่า 1,400 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ 1,200 ล้านบาท และค่าภาษีต่างๆ อีก 200 ล้านบาท ทำให้คนไทยได้จะดูบอลโลกครั้งนี้ครบ 64 แมตช์ ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มจนถึงรอบชิงชนะเลิศ
มีการเปิดเผยต่อมาว่า ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจำนวน 1,400 ล้านบาท มีผู้ร่วมลงขัน ดังนี้
- กสทช. 600 ล้านบาท
- กกท. 100 ล้านบาท
- บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 300 ล้านบาท
- น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง (บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน)) 100 ล้านบาท
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท
- บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 20 ล้านบาท
- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท
- บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 10 ล้านบาท
- บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
- ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
9. แต่เรื่องวุ่นๆ ของลิขสิทธิ์บอลโลกในไทยยังไม่จบเท่านี้ เมื่อ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ หนึ่งในกรรมการสมาคมทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งใน 18 ช่องทีวีที่จ่ายเงินสมทบให้กองทุน กทปส. ออกมาระบุว่า การแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไม่ได้ทั่วถึงเท่าเทียมตามหลักการของ กสทช.
ขณะที่ทางด้าน เดียว วรตั้งตระกูล เลขาฯ สมาคมทีวีดิจิทัลและผู้บริหารช่อง One ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันว่า “ทั่วถึง เท่าเทียม?” โดยพาดพิงถึงบริษัททรูที่จ่ายเงิน 300 ล้านบาท แต่ได้สิทธิถ่ายทอดสดจำนวนครึ่งนึงของแมตช์แข่งขันทั้งหมด ในทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม ได้นาทีโฆษณา รวมถึงยังได้เลือกคู่ถ่ายทอดสดก่อน ขณะที่ทางด้านกลุ่มฟรีทีวีต้องรอคู่เหลือจากบริษัททรู และต้องเสียนาทีโฆษณา
โดยมีการรายงานว่าเงินอุดหนุนจากบริษัททรูจำนวน 300 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
- ค่าลิขสิทธิ์ทีวี 200 ล้านบาท สำหรับการออกอากาศทางช่อง True4U จำนวน 32 นัด พร้อมสิทธิในการเลือกคู่ฉายก่อน
- ค่าลิขสิทธิ์ OTT 100 ล้านบาท สำหรับการออกอากาศทางเคเบิลทีวี True Vision และ OTT ผ่าน True ID
- และลิขสิทธิ์เวลาโฆษณาระหว่างแข่งขันจำนวน 85 นาที
10. ต่อมาทางด้าน สรยุทธ สุทัศนะจินดา สื่อมวลชนได้ออกมาตั้งคำถามผ่านเพจเฟซบุ๊ก ถึงคุณภาพของการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ว่า เมื่อ กสทช. ใช้เงินอุดหนุนค่าลิขสิทธิ์ไปแล้ว 600 ล้านบาท ทำไมคุณภาพการถ่ายทอดสดถึงไม่ใช่ระดับ HD หรือสูงกว่านั้น
ข้อความดังกล่าวมีสาเหตุจากช่อง TRUE4U ที่ได้รับสิทธิถ่ายทอดสด 32 คู่ มีคุณภาพระดับ SD เท่านั้น เท่ากับว่าประชาชนที่ไม่ได้สมัครสมาชิกทรูวิชั่นส์จะไม่มีโอกาสได้ดูฟุตบอลโลกด้วยคุณภาพสูงระดับ 4K
สรยุทธยังเสนอความเห็นต่อเนื่องว่า “ถ้าเกรงเป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งกับ ‘ทรู’ สปอนเซอร์ใหญ่ ก็ให้ถ่ายสดคู่ขนานกับช่อง HD ของรัฐก็ได้ ทั้ง NBT , ททบ.5 หรือ ไทยพีบีเอส (ซึ่งกำลังจะทดลองระบบ 4K พอดี)” โพสต์ดังกล่าว
11. ในวันนี้ สมาชิก 13 ช่องจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ได้ยื่นหนังสือแก่บอร์ด กสทช. เพื่อให้ตรวจสอบว่า กกท. ได้แจกจ่ายสิทธิถ่ายทอดบอลโลกอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ถูกต้อง และเป็นธรรมหรือไม่ มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใดหรือเปล่า โดยเฉพาะบริษัททรูที่ให้การสนับสนุน 300 ล้านบาท แต่ได้รับสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมการถ่ายทอดสด และยังได้เลือกแมตช์แข่งขันก่อน
โดยทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัลมายื่นหนังสือถึง กสทช. เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ กกท. และให้ กสทช. วินิจฉัยว่าการจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดเป็นตามหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช.หรือไม่
แม้คอบอลไทยจะได้มีความสุขกับฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปีนี้อีกครั้ง แต่มหากาพย์ครั้งนี้ก็ได้เปิดหลายบาดแผลในวงการสื่อให้เหวอะหวะอีกครั้ง พร้อมหวนกลับสู่คำถามสำคัญอีกครั้งถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนบางกลุ่มกับภาครัฐไทย
อ้างอิงจาก:
https://www.bbc.com/thai/thailand-63662204
https://www.bbc.com/thai/thailand-63552027
https://voicetv.co.th/read/grpyI7dq8
https://workpointtoday.com/explainer-fifa-world-cup/
https://workpointtoday.com/live-broadcast-world-cup/
https://www.thansettakij.com/sport/sport/547756
https://www.thansettakij.com/sport/sport/547828
https://workpointtoday.com/explainer-fifa-world-cup/
https://www.matichonweekly.com/sport/article_612357
https://www.prachachat.net/ict/news-1122597
https://www.pptvhd36.com/sport/news/185050
https://plus.thairath.co.th/topic/speak/102392