หลังกลุ่มนักวิชาการร่วมกันออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีนักวิจัยจากหลากสถาบันที่ ‘ช็อปปิ้ง’ งานวิจัย เพื่อใส่ชื่อตัวเองลงไปในงานนั้นๆ ก็ทำเอาวงการวิชาการปั่นป่วน และทำเอาบางคนต้องเขียนหนังสือชี้แจงสถาบัน
“กระผมขอชี้แจงว่า กระผมไม่เคยกระทำ และไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อออนไลน์ที่ทุจริต” คือข้อความที่ วานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุในบันทึกข้อความชี้แจงกรณีซื้องานวิจัย
อาจารย์รายนี้ คือคนที่ถูกตั้งคำถามบนโลกออนไลน์ว่า ทำไมถึงตีพิมพ์ผลงานวิจัยได้กว่า 40 ฉบับภายใน 1 ปี (เฉลี่ย 9 วัน ออก 1 เปเปอร์!) ทำไมตีพิมพ์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งที่เชี่ยวชาญด้านพยาบาล จนบางคนถึงกับแซวว่าเป็น ’มหัศจรรย์ทางวิชาการ’
ตลกร้ายคือ มีนักวิชาการรายหนึ่งร่วมแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “9 วันนี่ยังเขียน abstract (บทนำ) ไม่เสร็จเลยจ้า” สะท้อนว่าการเขียนงานวิจัย 1 ชิ้น ภายใน 9 วัน ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
รายละเอียดคำชี้แจงจากวานิชค่อนข้างยาว The MATTER ขอสรุปเนื้อหาไว้ ดังนี้
1. ยืนยันว่ามีส่วนร่วมในทุกผลงาน ไม่ว่าจะงานด้านพยาบาล และงานวิจัยข้ามศาสตร์ แต่จะมีส่วนร่วมตามสัดส่วนการวิจัยในแต่ละเรื่อง เช่น ถ้าเป็นผู้วิจัยหลัก (first author) ก็จะเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นหลัก และจะเป็นผู้ดำเนินการหลักๆ ในงาน แต่ถ้าผู้ร่วมงานวิจัย (co-author) ก็คือเป็นผู้ร่วมเขียนระเบียบวิธีวิจัย ร่วมตรวจสอบการเขียน และรูปแบบการเขียน
2. ที่ร่วมงานกับนักวิจัยต่างชาติ เพราะมีประสบการณ์กับฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ภาษาอังกฤษดี ทำให้ได้รับเชิญเป็นผู้ประเมินบทความและบรรณาธิการวิชาการกับสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง จนชาวต่างชาติรู้จัก และเชิญให้มาร่วมงานวิจัย
3. เหตุที่ถูกถอดถอนงานวิจัย 2 ชิ้น ในวารสาร Applied Nanoscience เพราะบรรณาธิการวินิจฉัยว่า งานวิจัยเหล่านี้ไม่อยู่ในขอบเขตของวารสาร และชี้ว่ากระบวนการตรวจสอบของบรรณาธิการรับเชิญไม่รัดกุม (งานวิจัย 2 เรื่องผ่านการ peer-review และตรวจสอบยอมรับจากบรรณาธิการรับเชิญมาก่อน) ยืนยันว่าไม่ได้ถูกถอดถอนเพราะเหตุผลทางวิชาการ หรือทางจริยธรรม
4. ไม่เคยซื้อขายผลงานวิจัย ไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ ทำหน้าที่อย่างแท้จริงทุกเรื่อง ยินดีให้มีการตรวจสอบทุกกรณี
5. เหตุที่ตีพิมพ์ได้หลายผลงานต่อปี เพราะมีส่วนรับผิดชอบหลายบทบาทในงานวิจัยที่มีชื่ออยู่ เช่น ผู้วิจัยหลัก (principal investigator) ผู้รับผิดชอบบทความ (corresponding author) และผู้ร่วมวิจัย (co-author) แต่ละตำแหน่งมีส่วนรับผิดชอบไม่เท่ากัน
“ผลงานของกระผมที่เป็นผู้วิจัยหลัก และผู้รับผิดชอบบทความมีเพียงจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมวิจัย” วานิช ชี่แจง
วานิชอธิบายว่า เพราะเคยเป็นบรรณาธิการวิชาการ (academic editor) มาก่อน ทำให้ถูกขอความร่วมมือให้ออกความเห็นเรื่องระเบียบวิธีวิจัย ให้วิเคราะห์ข้อมูล เนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอ และมีส่วนร่วมพิจารณารายงานการวิจัยบางชิ้นเพื่อตีพิมพ์ จึงมีชื่อร่วมตีพิมพ์ด้วย ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติโดยทั่วไปในสากล
“กระผมมีความตะหนักอย่างยิ่งที่ได้รับทุนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ .. ถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของชีวิต และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อสั่งสมประสบการณ์ให้มากที่สุดเพื่อกลับมารับใช้ประเทศชาติ”
“กระผมมีความสำนึกในพระกรุณาธิคุณขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ความอนุเคราะห์ของท่านคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อครรราชกุมารี และคณาจารย์เพื่อนร่วมงานทุกคน และตระหนักเสมอว่า การเป็นอาจารย์ของสถาบันนี้ กระผมต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และรักษาชื่อเสียงของสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ไว้ตลอดไป” วานิช ระบุทิ้งท้าย
แน่นอนว่า คำอธิบายนี้ยังชวนให้ใครหลายคนตั้งคำถามอยู่ว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่
ทั้งนี้ สำนักพิมพ์ elsevier ที่ตีพิมพ์งานวิชาการระดับโลก อธิบายไว้ว่า ระเบียบหนึ่งในการอ้างการเป็น ‘เจ้าของ’ หรือมีส่วนร่วมในเปเปอร์งานวิชาการ จะต้องจำกัดให้กับคนที่มี ‘ส่วนร่วมสำคัญ’ ในการวิจัย ทั้งในแง่แนวคิด การออกแบบงานวิจัย การปฏิบัติ และการรายงานผลการศึกษา จึงนำมาสู่การตั้งคำถามในโลนออนไลน์ว่า ทำไมวานิชจึงมีชื่อในงานวิจัยด้วย จากการรับบทบาทบรรณาธิการ (editor)
ธรรมนาถ เจริญบุญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กว่า “ประเด็นที่ 5 นี่ไถสุดๆ ละ คือเป็น editor แล้วจะมีคนไม่รู้จักมาขอปรึกษานี่ก็ตลก ยิ่งปรึกษาวิจัยข้ามสาขามั่วไปหมดใครจะมาปรึกษา ไถแบบรู้เลยว่าเด็กน้อย ไม่ได้เข้าใจระบบวิชาการนักวิจัยจริงๆ คนเชื่อต้องไร้เดียงสาทางสมองและวิชาการขนาดไหนเนี่ย”
“อ่อ และถ้า editor ใส่ชื่อตัวเองลงไปในเปเปอร์ในวารสารที่ตัวเองเป็น editor นี่ผิดจริยธรรมของ editor นะ เรียกว่า abuse เลย” ธรรมนาถ ระบุ
วานิชไม่ใช่อาจารย์–นักวิชาการเพียงคนเดียวที่โดนตั้งคำถามว่า F งานวิจัยมารึเปล่า ยังมีอาจารย์จากอีกหลากมหาวิทยาลัย หลายสาขา ที่โดน (และกำลังจะโดน) ตรวจสอบในประเด็นดังกล่าวอยู่
น่ากลัวเหมือนกันนะเนี่ย ว่าเหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดที่เราเห็น เป็นผู้มากประสบการณ์จริงๆ หรือเปล่า?
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/brief/194023/194023