ไม่ได้ทำงานเองแท้ๆ แต่มีชื่ออยู่ในงานได้อย่างไร?
นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในประเด็นเดือดประจำสัปดาห์ เมื่อมีการเปิดเผยว่า นักวิชาการจำนวนมากไม่ได้ทำงานวิจัยเอง แต่กลับมีชื่ออยู่ในงานวิจัยเหล่านั้น กลายเป็นมหากาพย์ ‘ช้อปปิ้ง’ งานวิจัยไปเสียอย่างนั้น
ถ้าให้เล่าแบบละเอียด ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ For Better Science เปิดเผยว่า มีคนทำงานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว และอัพลงเว็บไซต์ จากนั้นก็ให้คนที่อยากได้งานวิจัย มาเลือกช้อปปิ้งเลือกหัวข้องานว่า จะให้ชื่อของตัวเองได้อยู่งานไหนและตำแหน่งอะไร
เดิมทีเรื่องนี้ยังไม่แมสในหมู่คนไทยเท่าไหร่หนัก แต่เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา อาจารย์หลายคนออกมาเปิดเผยว่า มีนักวิชาการในไทยที่ตีพิมพ์งานวิจัยกว่า 40 ฉบับในหนึ่งปี หรือเฉลี่ยแล้ว 9 วันออก 1 เปเปอร์ เรื่องราวจึงปะทุขึ้นมา และนักวิชาการอีกหลายท่านก็ออกมาร่วมกันเปิดเผยถึงเรื่องนี้ ยิ่งสะท้อนว่า ไม่ใช้แค่คนสองคนเท่านั้นที่ช้อปปิ้งงานวิชาการ แต่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในวงวิชาการทั่วประเทศ
เพื่ออธิบายให้เข้าใจอย่างทั่วกัน เราขอสรุปประเด็นนี้มาในรูปแบบแผนภาพ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และเห็นภาพชัดขึ้นว่า เรื่องการช้อปปิ้งงานวิชาการนี้ สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมเราบ้าง
เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น เราขอเริ่มกันที่ ‘ตำแหน่งวิชาการ’ ก่อน
ตำแหน่งวิชาการ คือตำแหน่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสูง มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณในการสอน การวิจัย และวิชาการ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการพิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ความรู้ ความสามารถด้านการสอน ผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ที่มีปริมาณและคุณภาพที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น
เช่น ตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ ได้แก่ ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์
นั่นแปลว่า ผลงานการวิจัย เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะทำให้ได้มาซึ่งตำแหน่งวิชาการนั่นเอง ถึงอย่างนั้นการจะนำผลงานการวิจัยไปขอตำแหน่งวิชาการ ผู้ขอก็ต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก (first author) หรือก็คือเป็นผู้วิจัยหลัก
ทีนี้ พอได้ตำแหน่งวิชาการแล้วยังไงต่อ ทำไมนักวิชาการหลายคนต้องดั้นด้นให้ได้ตำแหน่งนี้มาด้วย? สิ่งที่ตามมาก็คือ สามารถนำตำแหน่งวิชาการไปของบเพื่อออกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะให้งบที่ต่างกันไป แต่จะอยู่ที่ราว 100,000-120,000 บาท
ไม่เพียงเท่านั้น งานที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ จะได้รางวัลพิเศษจากคณะวิชาด้วย และซึ่งแต่ละคณะวิชาก็จะให้เรทที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ งานวิจัยยังถูกนำไปนับคะแนน KPI เพื่อใช้ในการพิจารณาเงินเดือนได้ด้วย ซึ่งเกณฑ์นี้ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เงินเดือนประจำตำแหน่งทางวิชาการ (บาทต่อเดือน) ดังนี้
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 5,600 บาท
- รองศาสตราจารย์ 9,900 บาท
- ศาสตราจารย์ 15,600 บาท
การมีงานวิจัยเยอะๆ ยังมีผลพลอยได้อีกอย่าง คือ งานวิจัย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่หน่วยงานหรือสถาบันจัดอันดับต่างๆ ใช้ในการคำนวณอันดับของมหาวิทยาลัยด้วย เช่น Times Higher Education World University Ranking จัดอันดับโดยใช้ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ 5 ด้าน 13 ตัวชี้วัด ได้แก่ การสอน การวิจัย (ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียง) การอ้างอิง (ดูจากจำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย) มุมมองระหว่างประเทศ และรายได้จากอุตสาหกรรม
แล้วอันดับของมหาวิทยาลัยให้ผลตอบแทนอย่างไร ใช้แค่วัดว่าที่ไหนได้อันดับดีกว่าที่ไหนงั้นเหรอ? อันดับของมหาวิทยาลัยนี้ มีผลสัมพันธ์ไปกับงบประมาณแผ่นดินที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะได้รับจากรัฐบาล นั่นแปลว่า ยิ่งติดอันดับมากเท่าไหร่ แนวโน้มที่จะได้งบประมาณก็เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น
นั่นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ‘ตำแหน่งวิชาการ’ และ ‘ผลงานการวิจัย’ ให้อะไรกับนักวิชาการและมหาวิทยาลัยบ้าง และการผูกติดความก้าวหน้าทางอาชีพของอาจารย์กับงานวิจัยนี้ ก็ทำให้หลายคนหันไปพึงพิงการช้อปปิ้งงานวิจัย
แล้ววิธีการช้อปปิ้งงานวิจัย มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
- เข้าเว็บขายงานวิจัย
- เลือกงานที่สนใจ
- เลือกว่าจะใส่ชื่อตัวเองในอันดับไหน ซึ่งราคาของงานจะลดหลั่นกันไปตามลำดับ
- กดซื้อตำแหน่ง จบ!
หากมองในภาพใหญ่ เราจะเห็นว่า เส้นทางอาชีพของเหล่านักวิชาการ ถูกผูกติดอยู่กับปริมาณงานวิจัย ซึ่งเพทาย เย็นจิตโสมนัส นักวิชาการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Today ว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทย อยากมีอันดับสูงๆ ในการจัดอันดับของสถาบันการศึกษาระดับโลก และวิธีที่จะได้อันดับสูงๆ ก็ต้องมีงานวิจัยเยอะๆ ดังนั้น จึงมีแรงกดดันใส่อาจารย์ผู้สอนให้ออกงานวิจัยบ่อยๆ
ยิ่งกว่านั้น งบด้านวิจัยของไทยก็ยังอยู่ที่ 13,000 – 20,000 ล้านบาท เหมือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แปลว่า ความสำคัญของงานวิจัยไม่ได้ถูกทำให้เห็นคุณค่าเท่านั้น
นั่นแปลว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการผิดจริยธรรมในตัวปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงระบบที่เน้นแต่ปริมาณงานวิจัย จนทำให้โลกของวิชาการไทยบิดเบี้ยวไปหมด
อ้างอิงจาก