‘กรรมกรวิชาการ’ อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยบางคนเรียกตัวเองแบบนั้น..
นอกจากงานสอนนักศึกษาที่ต้องทำเป็นประจำ อาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบันยังต้องทำงานอื่นอีกมาก ไม่ว่า งานเอกสาร, งานกิจกรรมมหาวิทยาลัย หรืองานวิจัย ที่ไม่ทำนานเข้าก็เสี่ยงถูกยกเลิกสัญญาและกลายเป็นคนตกงาน จนทำให้บางคนถึงกับต้องจ่ายเงินเพื่อมีชื่อเป็นผู้เขียนงานวิจัยกันทีเดียว
และอันที่จริง เส้นทางของนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้เริ่มตอนเป็นอาจารย์เต็มตัวแล้ว แต่มันเริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยสอนในระดับปริญญาตรี หรือตัดสินใจเรียนปริญญาเอกแล้ว จึงน่าสนใจว่าระบบของไทยมีการรองรับคนกลุ่มนี้เพื่อสนับสนุนให้เขาเข้าสู่วงวิชาการมากแค่ไหน
The MATTER ได้อ่านสารนิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่อง ‘การพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมของสัญญาจ้างงานแรงงานในวิชาการ’ โดย นัทกาญจน์ โชติกมาศ เพื่อเปรียบเทียบดูว่าคนในแวดวงวิชาการของไทย ฝรั่งเศส และเยอรมนีแตกต่างกันอย่างไรบ้าง มหาวิทยาลัยอยู่ในสถานะอะไร และคนที่เตรียมเข้าสู่เส้นทางอาชีพด้านวิชาการมีการรองรับอย่างไร
รูปแบบของมหาวิทยาลัย
สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตรกรรม) ได้มีการจัดทำ ‘แผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี’ จากแผนดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยในไทยเริ่มออกนอกระบบราชการ หรือที่เรียกว่า ‘สถาบันศึกษาในกำกับของรัฐ’ เพื่อความคล่องตัว ทันสมัย และรวดเร็วตามนโยบายของตัวเอง โดยในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย 29 แห่งแล้วที่อยู่ในกำกับของรัฐ และมีอีก 9 แห่งอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณา
สำหรับมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสและเยอรมนีเรียกว่ามีสถานะเป็น ‘องค์กรมหาชนอิสระ’ มีอำนาจบริหารตัวเอง แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ หรือถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยไทยก็มีความใกล้เคียงกัน
ผู้ที่กำลังเข้าสู่วงวิชาการ
ในแวดวงวิชาการไม่ได้ประกอบไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่ยังมีคนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาเอกและผู้ช่วยอาจารย์ ซึ่งเปรียบเสมือนกลุ่มที่กำลังตั้งไข่เตรียมพร้อมเข้าสู่วงวิชาการในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ทั้งนักศึกษาปริญญาเอกและผู้ช่วยอาจารย์ไม่ได้มีสัญญาจ้างที่แน่นอนตามกฎหมาย แต่ทั้งสองกลุ่มนี้มักจะมีโอกาสได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย ซึ่งแลกมาด้วยข้อกำหนดบางประการ เช่น ช่วยอาจารย์ผู้อื่นทำงานวิจัย ช่วยบรรยาย หรือช่วยเตรียมเอกสาร
สำหรับฝรั่งเศส ได้มีการจำแนกบุคลากรทางวิชาการออกเป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และกลุ่มที่ยังไม่เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ สำหรับกลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการถือว่าเป็นต้นน้ำของวงวิชาการฝรั่งเศสสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกตามสัญญาจ้างและกลุ่มผู้ช่วยสอนวิจัย
ในฝรั่งเศสได้มีการกำหนดการจ้างงานสำหรับผู้ที่เรียนปริญญาเอกโดยเฉพาะ โดยมีการกำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจนว่า
- ต้องผ่านการคัดเลือกจากองค์กรมหาชนในด้านต่างๆ
- มีหน้าที่ต้องทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมง/ สัปดาห์ และ 1,607 ชั่วโมง/ ปี
- งานดังกล่าวรวมถึงการเตรียมวิจัยปริญญาเอก หรืองานอื่น เช่น การสอน (ได้รับค่าตอนแทนเพิ่มเติม)
- ได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 1,758 ยูโร/ เดือน (ประมาณ 63,297 บาท/ เดือน)
- สัญญาจะมีระยะเวลาจ้าง 3 ปี และขยายได้เพิ่มอีก 1 ปี
เมื่อเรียบจบจากปริญญาเอก กลุ่มนี้มักกลายมาเป็นผู้ช่วยสอนและวิจัย ซึ่งเรียกว่าเป็นตำแหน่งเตรียมพร้อมก่อนเป็นอาจารย์อีกขั้น
- ได้รับสัญญาจ้างงานไม่เกิน 1 ปี
- มีหน้าที่ เช่น บรรยาย 128 ชั่วโมง/ ปี สอนภาคปฏิบัติ 228 ชั่วโมง/ ปี เป็นต้น
- ได้รับอัตราค่าจ้างตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย
สำหรับเยอรมนีก็มีความคล้ายคลึงกับฝรั่งเศส โดยกำหนดเส้นทางสู่อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้ 2 ช่วง ได้แก่ กลุ่มที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ
สำหรับกลุ่มที่ยังไม่เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ก็มีกลุ่มผู้ช่วยงานทางวิชาการชั่วคราว ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ยังเรียนระดับปริญญาตรี และกลุ่มผู้ช่วยงานทางวิชาการ โดยกลุ่มหลังจะได้รับสัญญาจ้างงานตามกฎหมายที่เรียกว่า ‘กฎหมายกำหนดเวลาการจ้างงานตามวิชาการ’ โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเรียนปริญญาเอก 6 ปี และหลังจบปริญญาเอกอีก 6 ปี รวมทั้งหมด 12 ปี แต่สำหรับสาขาแพทย์กำหนดช่วงเรียนไว้ที่ 9 ปี และหลังเรียนจบอีก 6 ปี รวมทั้งหมด 15 ปี
สำหรับผู้ที่จบปริญญาเอกในเยอรมนี และยังไม่มีตำแหน่งอาจารย์ว่างลง จะได้รับการจ้างงานที่เรียกว่า ‘อนุศาสตราจารย์’ เพื่อดึงคนกลุ่มนี้ไว้ในวงวิชาการก่อน โดยคนกลุ่มนี้มีหน้าที่สอนและวิจัยตามที่คณะหรือมหาวิทยาลัยกำหนด โดยจะมีสัญญาจ้างไม่เกิน 6 ปี และอาจอยู่ในรูปแบบสัญญาจ้างทั่วไปหรือข้าราชการที่มีวาระดำรงตำแหน่งก็ได้
สถานะของอาจารย์มหาวิทยาลัย
แม้โดยรูปแบบแล้ว มหาวิทยาลัยไทย ฝรั่งเศส และเยอรมนีจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แต่ในเรื่องของบุคลากรหรือสถานะของอาจารย์แล้วมีความต่างกันค่อนข้างมาก
สำหรับมหาวิทยาลัยไทย ตั้งแต่ออกนอกระบบของราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ หรือกลุ่มที่สมัครเข้ามาเป็นพนักงานภายหลังมหาวิทยาลัยเปลี่ยนโครงสร้าง จะไม่ถือว่าเป็นข้าราชการอีกต่อไป แต่จะได้รับสัญญาที่เรียกว่า ‘พนักงานของมหาวิทยาลัย’ มาแทน
ข้อมูลจากสารนิพนธ์ ‘การพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมของสัญญาจ้างงานแรงงานในวิขาการ’ ระบุว่า โดยทั่วไปผู้ที่สมัครเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะได้รับสัญญาทดลองงาน 1 ปี ก่อนจะมีการขยายสัญญาเป็นรูปแบบ 3-5 ปี โดยกำหนดว่าต้องปรับตำแหน่งวิชาการของตัวเองให้สูงขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าทำได้ตามเป้าสัญญาถึงจะกลายเป็นระยะยาวจนถึงเกษียร
สำหรับประเด็นนี้ ในวงวิชาการไทยยังมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะกระบวนการประเมินงานวิจัยเองก็มีปัญหา เช่น ผู้ประเมินขาดองค์ความรู้ในการประเมิน หรือบางครั้งผู้ประเมินก็ใช้ความรู้สึกส่วนตัวแทนองค์ความรู้ในการประเมิน
แต่สำหรับกลุ่มที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในฝรั่งเศส (อาจารย์ผู้บรรยายและศาสตราจารย์ประจำ) จะถือว่ามีสถานะเป็นข้าราชการ และต้องผ่านการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้าเป็นข้าราชการของรัฐก่อน โดยการเลื่อนระดับของตำแหน่งวิชาการทั้งสอง จะต้องผ่านการประเมินของที่ปรึกษากิจการมหาวิทยาลัยเสียก่อน
ทั้งนี้ สำหรับอาจารย์ผู้บรรยายที่ต้องการเลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำ เมื่อมีตำแหน่งศาสตราจารย์ว่างลง กลุ่มอนุศาสตราจารย์ต้องผ่านการทำงานวิชาการที่เรียกว่า Habilitation และเมื่อสำเร็จจึงยื่นให้สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติตรวจสอบและสมัครเป็นศาสตราจารย์ต่อไป
เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ซึ่งจะถือว่าเป็นข้าราชการคนหนึ่ง ทำให้มีรูปแบบการจ้างงานที่ถาวรไปจนเกษียรเช่นเดียวกัน
โดยสำหรับอนุศาสตราจารย์ที่ต้องการเลื่อนเป็นศาสตราจารย์ต้องมีปัจจัย 3 อย่างประกอบคู่กัน ได้แก่ ทำงานวิชาการระดับ Habilitation, มีตำแหน่งศาสตราจารย์ว่าง และผ่านการคัดเลือกจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในมลรัฐที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ก่อน จึงจะถือว่าได้เป็นศาสตราจารย์
ถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่าชีวิตของนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทยไม่ง่าย ไม่มั่นคง เหนื่อยหนักตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และยังน่ากังวลยิ่งขึ้นในอนาคตว่าคนเก่งๆ ทั้งหลายจะหนีออกจากวงวิชาการกันหมด
อ้างอิงจาก
การพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมของสัญญาจ้างงานแรงงานในวิชาการ